xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ นั่นแหละจะ “ลำไย” เสียเอง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ออกมาติติงการเต้นของลำไย ไหทองคำ เจ้าของเพลงดัง “ผู้สาวขาเลาะ” ว่าเต้นจนเกือบโชว์ของสงวน ก่อนจะสำทับในวันต่อมาให้สื่อไปช่วยกันเตือน

ในขณะที่เจ้าของค่ายเพลงก็ออกมาขานรับคำติติงของนายกฯ และบอกว่า “จะแก้ไขจากการกระเด้า 9 ชั้นเหลือแค่ 3 ชั้น ไม่ขยี้มาก”

แต่ถามว่าปรากฏการณ์ “ลำไย” นั้น เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เพียงแต่ “ลำไย” กลายเป็นเพลงดังที่มีคนเข้าไปชมจำนวนมากกว่าร้อยล้านวิว และดังยิ่งขึ้นเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ช่วยโฆษณาให้ทางอ้อม

แต่จะว่าไปแล้วมีลีลาแบบ “ลำไย” เต็มไปหมดในโซเซียลมีเดียและในชีวิตจริงตามร้านอาหารผับบาร์ทั่วไป มันมาสรุปตรงที่พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับนั่นแหละว่า “คนชอบดู”

มันคล้ายกับกรณีของเปรี้ยว “นั่นแหละ มีข่าวสารของเปรี้ยวจนท่วมสังคมทั้งที่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะความสนใจของคนนั่นเอง”

ไม่ทราบเหมือนกันนะว่า ลำไย ไหทองคำ ฮิตจนนายกฯ ต้องไปหาคลิปมาดูด้วยตัวเองหรือลูกน้องเล่าให้ฟัง แต่มันสะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาของลำไยนั่นแหละที่ทำให้คนระดับนายกรัฐมนตรีต้องพูดถึงและกลายเป็นข่าวระดับชาติไป ไม่รู้เหมือนกันว่า หลังนายกฯ พูดแล้วยอดวิวของลำไยจะกระฉูดไปอีกสักเท่าไหร่

ถามว่า “ลำไย” เป็นเรื่อง “อุจาด” หรือไม่ บอกตรงๆ ว่า มีเจตนายั่วยวนทางเพศและขายเรือนร่างนั่นแหละ แต่ถามว่า เป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ เท่าที่ดูผมก็ไม่คิดว่าจะผิดกฎหมายข้อไหนนะ เพราะถ้าผิดกฎหมายแล้วปล่อยให้ทำแบบนี้ได้มาตั้งนานจนนายกฯ ต้องออกมาตำหนิ ข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีปัญหาและมีความผิดเสียเองที่ปล่อยปละละเลยแล้ว

ดังนั้น สิ่งที่จะนำมาจับความเป็น “ลำไย” ก็คือ บรรทัดฐานของสังคม ในเรื่องแบบแผนประเพณีจารีตที่สังคมยึดถือ แต่แบบแผนประเพณีและจารีตมันก็เปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย บรรทัดฐานของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นนี้อาจจะไม่เหมือนกัน และเมื่อเรายอมรับว่า “คนชอบดู” เราพอจะอนุมานได้ไหมว่ามันกำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมต่อไปในภายภาคหน้ามันจะกลายเป็นเรื่องปกติ หรืออาจจะเป็นเพียงความนิยมชั่วครู่ชั่วคราวของยุคสมัยและมันจะค่อยเลือนหายไปเอง

ต้องยอมรับว่า เจตนาการพูดของนายกฯ ก็คือการห่วงใยสังคมนั่นแหละ ห่วงว่าจะกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีของสังคม แต่ถามว่า เรามีกลไกรัฐไหมที่จะสะท้อนปัญหานี้ของสังคม แน่นอนว่า เราไม่สามารถบังคับให้คนนิยมหรือคลั่งไคล้อะไรได้ เราจะไม่สามารถออกกฎหมายให้คนชอบไม่ชอบแบบไหนได้ แต่เราน่าจะมีคนในหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ทำหน้าที่ก่อนที่นายกฯ จะออกมาบ่น ถ้าคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำลายความดีงามของสังคม

ไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้รัฐเข้ามาควบคุมสังคมเพราะไม่มีรัฐไหนที่ควบคุม “รสนิยม” ของพลเมืองได้ เพียงแต่ต้องการบอกว่า เรื่องแบบนี้มันกลายเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องเอ่ยปากพูดด้วยตัวเองไปได้อย่างไร หรือว่ากลไกรัฐระบบราชการมันล้มเหลวจนต้องเอ่ยปากให้สื่อเข้าไปจัดการ

ไม่ต้องถึงกับแบบยุคจอมพลป.ที่สั่งห้ามประชาชนกินหมาก ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ใครไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา ฯลฯ

ทั้งที่จริงแล้วกลไกของรัฐสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่สามารถใช้กลไกที่มีอยู่ที่ครอบคลุมทุกองคาพยพของสังคมไทย ขับเคลื่อนและสะท้อนให้ประชาชนยึดถือปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้ซึบซาบลงไปได้ ผ่านรูปทัศน์ในหลายรูปแบบผ่านมีเดียในหลายทิศทางในรูปแบบสมัยใหม่ที่ไม่น่าเบื่อ และรัฐก็มีองค์กรเพื่อภารกิจแบบนี้อยู่แล้ว

ถามว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำอะไรเพื่อให้ประชาชนมีจิตสำนึกและมีค่านิยมที่ดีงามหรือไม่ คำตอบคือไม่มี

แต่ว่าไปแล้ว “ลำไย” ก็เป็นเพียงเรื่องเปลือกผิวของสังคมไทย มันสะท้อนว่าทุกวันนี้รัฐไม่ใช่เป็นผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ของสังคมอีกต่อไป ประชาชนมีเครื่องมือที่เขาจะแสดงออกในความเป็นตัวตนของเขาหลากรูปแบบ เขาสามารถส่งเสียงสะท้อนของเขาออกมาได้หลายทิศทาง นายกฯ บอกให้สื่อไปเตือน แต่จริงๆ แล้ววันนี้ประชาชนเขาไม่ได้ฟังสื่ออีกแล้ว ทุกคนมีเครื่องมือของตัวเองที่เรียกว่าโซเชียลมีเดียที่ส่งเสียงดีกว่าสื่อมวลชนในระบบเก่าไปแล้ว

อย่าว่าอะไรเลยรัฐบาลก็ไม่ได้ฟังสื่อ แล้วบอกว่าให้สื่อไปเตือนสังคมมันจะได้เหรอ ถ้าจะให้สื่อไปเตือนสังคมก็ขอเริ่มต้นที่เตือนรัฐบาลก่อนนั่นแหละ

เอาเถอะแต่นายกฯ ห่วงใยไม่ใช่ว่าจะไม่ดีก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สังคมในยุคสมัยนี้เป็นสังคมที่รัฐไม่สามารถควบคุมกฎเกณฑ์ได้อีกต่อไป มันสะท้อนมาถึง 4 คำถามนั่นแหละ ถ้าเราต้องไปสู่การเลือกตั้งไม่ว่าผลของการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร มันก็สะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะไปบังคับกะเกณฑ์

เรื่อง 4 คำถามก็เหมือนเรื่อง “ลำไย” ถามว่า กลไกของรัฐ อำนาจที่รัฐบาลรัฏฐาธิปัตย์มีอยู่ ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างของสังคมหรือยัง รัฐบาลที่พูดเรื่องธรรมาภิบาลได้ทำให้องค์กรภายใต้รัฐบาลที่บริหารอยู่มีธรรมาภิบาลหรือยัง ถ้ารัฐสามารถแก้ไขสร้างระบบป้องกันเข้ามาแสวงหาอำนาจของนักการเมืองได้ สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตัวเองในระบอบประชาธิปไตยที่มากกว่าการเข้าไปคูหากาบัตรเลือกตั้งได้ ก็ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลไม่มีธรรมาภิบาลจะกลับมาอีก

ถามว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำอะไรให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ก่อนจะปฏิรูป “ลำไย” สามปีในอำนาจได้ปฏิรูปอะไรบ้างสักกระพีกหรือยัง เรื่องแบบนี้แหละน่าห่วงกว่า “ลำไย” เยอะ หรือเพราะไม่ได้ทำจึงสะท้อนออกมาเป็น 4 คำถามที่ถามอยู่ และมีนัยซ่อนอยู่ใน 4 คำถามว่า สังคมไทยยังเดินหน้าไม่ได้ยังไม่ได้รับการแก้ไขและความขัดแย้งจะกลับมาอีก เหมือนที่เราจมอยู่ใน 10 ปีของความแตกแยกร้าวฉาน

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีน่าจะบ่นเรื่องอื่นบ้าง เช่น ทำไมตำรวจจึงซื้อขายตำแหน่งกัน ทำไมข้าราชการยังหาประโยชน์ทุจริตคอร์รัปชัน ทำไมทุนพลังงานจึงเอาเปรียบประชาชน ทำไมทุนใหญ่จึงเอาเปรียบทุนเล็ก ทำไมกฎหมายบังคับใช้ไม่เท่าเทียมกัน ทำไมสังคมจึงยังมีความเหลื่อมล้ำ

พูดถึง “ลำไย” แล้ววันนี้ “ลำไย” ไม่ใช่เป็นคำนามหรือชื่อผลไม้เพียงอย่างเดียว แต่คนรุ่นใหม่เขาใช้คำนี้ในความหมายว่า รำคาญ เยอะแยะ พิรี้พิไร เพ้อเจ้อ เวิ่นเว้อ มโน ด้วย

นอกจากห่วง “ลำไย ไหทองคำ” จะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของสังคมแล้ว ช่วยทำให้กลไกของรัฐและการใช้อำนาจภายใต้ร่มเงาของนายกฯ เป็นบรรทัดฐานที่ดีของสังคมด้วย ไม่นั้นนายกฯ นั่นแหละจะ “ลำไย” เสียเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan
กำลังโหลดความคิดเห็น