โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
--------------------------------------------------------------------------------
ประกาศิตจากนิ้วชี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะต้องมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน ซึ่งสอดรับต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำลังจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาเดินหน้าทั้ง 2 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวในวันที่ 17 ก.พ.ที่จะถึงนี้ จากนั้นจะนำข้อสรุปเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
แน่นอนหากมองปรากฏการณ์การชี้นิ้วของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างผิวเผิน ก็จะสามารถตีความได้ 2 แนวทางว่า ผู้เผด็จอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ไปไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จเวลานี้ ต้องการเพียงให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ทั้ง 2 แห่งจะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่า ถ้าเดินหน้าได้ ก็จะสั่งลุยเต็มกำลัง หรือหากเดินหน้าไม่ได้ ก็จะได้สั่งให้ยกเลิกไปในที่สุด
แต่ถ้าพิจารณาจากความระหว่างบรรทัดที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ประกอบกับท่าทีทั้งของรัฐบาล และกลุ่มทุนผู้อยู่เบื้องหลังผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ครั้งนี้ ไม่น่าจะตีความเป็นอื่นไปได้
นอกเสียจากต้องเดินหน้าผลักดันให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างให้ได้โดยเร็วอย่างที่สุดเท่าที่จะทำได้เท่านั้น?!
เอาแค่เฉพาะประเด็นที่ประชุม ครม.ในวันนั้นได้เห็นชอบโครงการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ วงเงิน 3.54 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การจัดทำสายส่งขนาด 500 เควี ใน จ.ชุมพร จ.ระนอง จ.สุราษฎร์ธานี จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ระหว่างปี 2559-2563 และระยะที่ 2 การจัดทำสายส่งขนาด 500 เควี ใน จ.สงขลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งนี้น่าจะยืนยันได้ชัดเจนแจ๋วแหววที่สุดว่า มีแต่จะต้องเดินหน้าลุยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งเท่านั้น
แถมที่ประชุม ครม.ยังตั้งข้อสังเกตว่า โครงการสายส่งไฟฟ้าระยะที่ 2 ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ไม่เกิดขึ้น เพราะเดิมขนาดสายส่งในภาคใต้ประมาณ 115-230 เควี ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหากระแสไฟฟ้าดับ จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดความจุของขนาดสายส่ง แต่หากไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่งดังกล่าว ย่อมไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการปรับปรุงระบบสายส่งในระยะที่ 2 แต่อย่างใด
ความจริงแล้วการปักหมุดโรงไฟฟ้าถ่านหินบนแผ่นดินด้ามขวานทองของไทยไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้น และไม่ใช่แค่ 2 แห่งนี้เท่านั้น โดย กฟผ.เปิดฉากลุยมาแล้วนับสิบปี และพื้นที่ที่เคยปักหมุดไว้ก็นับเนื่องตั้งแต่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไล่ลงมายัง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ตรัง จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลา จ.สตูล ลงไปถึงยังแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังลุกโชนด้วยเปลวไฟใต้ โดยเฉพาะที่ จ.ปัตตานี แต่ที่ผ่านๆ มา ถูกประชาชนลุกขึ้นต้านมาโดยตลอด
มีเรื่องราวเล่าขานชนิดที่คน กฟผ.ก็ไม่เคยปฏิเสธเลย กล่าวคือ ที่ จ.นครศรีธรรมราช กฟผ.มีแผนจะขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรงในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร นับแต่กลับถูกประชาชนรวมตัวจัดขบวนต่อต้านครั้งละเป็นหมื่นๆ คน นับจากปี 2557 เป็นต้นมา กฟผ.แม้ไม่ประกาศ แต่ก็ล่าถอยออกไปอย่างไมเป็นกระบวน แถมยังไม่กล้าจัดกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่มาจนเดี๋ยวนี้
แต่สำหรับการปักหมุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างที่ อ.เทพา จ.สงขลา และภาคใต้ตอนบนที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จนนำมาสู่อาการชี้นิ้วประกาศิตของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ ทั้งกลุ่มทุนหนุนเนื่อง กลุ่มผู้กุมกลไกอำนาจรัฐ โดยเฉพาะ กฟผ.เองกลับมั่นใจว่าจะเดินหน้าได้สำเร็จ เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนหลักๆ ได้แก่ สถานที่ตั้งของทั้ง 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินมีที่ดินรองรับอยู่แล้ว
และที่สำคัญที่ กฟผ.มั่นใจอย่างสุดติ่งว่า ในยามนี้รัฐบาลรัฐประหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเวลานี้ กฟผ.จะสามารถทำทุกวิถีทางทั้งเคลียร์ และสยบประชาชนกลุ่มแสดงออกคัดค้านละลุกขึ้นต่อต้านได้
สำหรับความคืบหน้าของกระบวนการเดินหน้าผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ของ กฟผ.นั้น ที่ผ่านมา ทั้ง 2 พื้นที่มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั้ง ค.1 ค.2 และ ค.3 ผ่านไปแบบทุลักทุเล เพื่อนำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ยังไม่ได้อนุมัติเท่านั้น
แต่เมื่อปีที่แล้ว ทาง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ใช้ ม.44 ประกาศให้มีการยกเว้นเรื่องผังเมือง รวมถึงให้สามารถเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ที่จำเป็นแบบไม่ต่อรอผลศึกษา EHIA ได้รับการอนุมัติก่อนก็ได้ ซึ่งรวมเอาเมกะโปรเจตก์อย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าไปด้วยนั้น
ส่งผลให้ กฟผ.สามารถเดินหน้าเปิดประมูลก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค.2559 โดยผู้ชนะประมูล คือ กิจการค้าร่วม พาวเวอร์ คอนสตรัคชั่น คอร์เปอเรชั่น ออฟไชน่า และบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
ขณะที่กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินเทพา เมื่อเดือน ธ.ค.2559 มีข่าวหนาหูว่า กฟผ.ได้ดำเนินกระบวนการเปิดประมูลการก่อสร้างไปแล้วเช่นกัน แต่ข่าวคราวที่ต่อเนื่องจากนั้นกลับแทบไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากทั้งฝ่าย กฟผ.และรัฐบาล แม้กลุ่มประชาชนที่ลุกขึ้นคัดค้านจะทำเรื่องสอบถามไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่คำตอบที่ได้รับกลับยังเป็นที่คลุมเครือ เคลือบแคลง และสร้างความฉงนสนเท่ห์มาจนเดี๋ยวนี้
ดังนี้แล้ว สังคมมีแต่จะต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเท่านั้นว่า ห้วงเวลาที่เหลือไม่ถึง 1 เดือน ตามประกาศิตชี้นิ้วของผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ผู้เดียวในเวลานี้ จะมีเหตุการณ์อะไรเกินขึ้นบ้าง โดยเฉพาะจะสามารถ “เคลียร์” หรือ “สยบ” ม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาลได้หรือไม่?!?!