xs
xsm
sm
md
lg

ชอบหลอนต้องรัก Annabelle กำเนิดตุ๊กตาผี

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ผมเคยเขียนไว้ตอนที่ Annabelle ภาคแรกเข้าฉายว่า หนังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่มวลสารตั้งต้นอย่างตุ๊กตาแอนนาเบลล์นั้น มีความพร้อมที่จะสร้างความหลอนให้กับผู้คนได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า มาถึงภาคสองนี้ ทางทีมผู้สร้าง ถือว่าได้ “แก้หน้า” สำเร็จแล้ว ใครที่ชอบดูหนังผีหลอนๆ ผมเชื่อว่าจะต้องชอบ

จากความตั้งใจในการทำหนังผีเกี่ยวกับตุ๊กตาตัวนี้ แต่เริ่มเดิมที ตอนแรกที่คิดทำภาคแยกให้กับแอนนาเบลล์ครั้งแรก (แยกออกมาจาก เดอะ คอนจูริ่ง) เพราะเห็นว่าตุ๊กตาตัวนี้มีความน่ากลัวในตัวของมัน เพียงแต่ภาคแรกนั้น แอนนาเบลล์จะมาแนวตั้งใจมาหลอก ยังไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของเธอ ซึ่งนั่นก็เป็นหัวใจสำคัญของหนังภาคใหม่นี้ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ว่า “แอนนาเบลล์” เป็นใครมาจากไหน และเพราะอะไร ถึงได้กลายมาเป็น “ตุ๊กตาผี”

“กำเนิดตุ๊กตาผี” (Annabelle : Creation) เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งสูญเสียลูกสาววัยเยาว์ นำมาซึ่งความโศกเศร้าอย่างยากจะลบเลือน กระทั่งเวลาผ่านไปนานหลายปี ครอบครัวนี้ก็ได้รับเด็กหญิงกำพร้าจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในบ้าน ด้วยหวังว่า “เสียงแห่งชีวิต” ของเด็กๆ เหล่านั้น จะช่วยฟื้นคืนชีวิตชีวาให้กับบ้านและครอบครัว อีกทั้งยังคิดว่าการรับเด็กเข้ามาอุปการะ จะเป็นการช่วยไถ่ถอนชำระบาปให้กับตนได้ อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายดังกล่าวนั้น ดูเหมือนจะพลิกกลับด้านโดยสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่แค่เพียงจะไม่ได้ไถ่บาป แต่การทำแบบนั้นยังเหมือนกับเป็นการหยิบยื่นเหยื่ออันโอชะให้กับสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งกลายมาเป็นประสบการณ์สุดหลอนตลอดทั้งเรื่องราว

109 นาทีของการรับชมหนังเรื่องนี้ ยอมรับครับว่า มันดำเนินไปในบรรยากาศที่ชวนอึดอัดบีบคั้น ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ คือคนที่กำกับหนังผีเรื่อง Lights Out มาก่อน ซึ่งพอมาจับแอนนาเบลล์ ก็ดูเหมือนเข้าทางที่ถนัด การเล่นกับสถานที่ที่จำกัด อย่างบ้านหนึ่งหลัง (และโรงนาอีกเล็กน้อย) ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนถูกบีบอัดกดดันไปพร้อมๆ กับตัวละคร ลุ้นระทึกไปกับตัวละคร

เหนืออื่นใดคือการจัดวางจังหวะการหลอกที่ต้องบอกว่า สามารถนับญาติกับ “เดอะ คอนจูริ่ง” ได้ แม้จะไม่เทียบเท่า แต่นับเป็นก้าวสำคัญของหนังที่ว่าด้วยเรื่องตุ๊กตาสุดหลอน และเชื่อได้แน่นอนว่า จะต้องมีการทำภาคต่อไป

สำหรับใครที่ชอบหนังผี ทั้งแบบทำให้ตกใจ ทั้งแบบบิลท์ให้เราหลอนระทึก เชื่อได้ครับว่าน่าจะต้องชอบหนังเรื่องนี้ หนังมีเทคนิคในการเล่นกับความกลัวของเรา ทั้งในลักษณะ “โฉ่งฉ่าง” คือทำให้สะดุ้งผวา และแบบมี “ชั้นเชิง” คือใช้จังหวะ ใช้องค์ประกอบด้านวัตถุ (ลิฟต์เก้าอี้, หุ่นไล่กา, บ้านจำลอง ฯลฯ) สร้างบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกชวนหลอกหลอน

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ แบบไม่จำเป็นแตะต้องให้ “ของดี” ต้องถูกเล่าก่อน นี่คือหนังผีที่ทำออกมาได้ดีเรื่องหนึ่ง และคุ้มค่าที่จะตีตั๋วเข้าไปชมครับ








กำลังโหลดความคิดเห็น