มาเพื่อร้องเพลงให้พ่อฟัง
แต่เสียงร่ำระงมดังกลบกว่า
อกสะอื้นครืนคลั่งคร่ำครวญ
น้ำตานองท่วมฟ้าท่วมทั้งหัวใจ
**********
นับเนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่พสกนิกรชาวไทยร่ำน้ำตาอาดูรต่อข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงผู้ทรงดูแลทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเนตรเพียงข้างเดียวมาตลอดระยะเวลา 70 ปี
อีกหนึ่งวันแห่งประวัติศาสตร์ที่มั่นใจได้ว่าปวงประชาชาวไทยทุกผู้ทุกนามจะจารจำกันไปตลอดชีวิต ก็คือวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา วันที่บทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” กังวานกึกก้องทั่วท้องสนามหลวง โดยผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ นับหมื่นนับแสนคนที่พร้อมใจกันมาร่วมขับขานบทเพลงเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงของแผ่นดิน ด้วยพลานุภาพแห่งความจงรัก และด้วยความตระหนักในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เสียงสะท้อนจากบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ในคราครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของ 2 ราชสกุล ที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกอุนี้เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน
ราชสกุลแรก คือ “ยุคล” ซึ่งเป็นราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีต้นสกุลคือ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์”
ชื่อชั้นของ “ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล” หรือ “ท่านมุ้ย” คงไม่ต้องอรรถาธิบายให้มากความ โดยเฉพาะผลงานภาพยนตร์ในลำดับหลังๆ อย่าง “สุริโยไท” และ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวร” ล้วนบ่งบอกว่าทรงอุทิศแรงกายแรงใจ ในการทำงานเพื่อเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์มากเพียงไร
แหละในการนี้ ท่านมุ้ยก็ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลในส่วนของงานโปรดักชั่น หมายรวมถึงการบันทึกภาพ และเสียงของวันแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ ซึ่งใช้กล้องสำหรับถ่ายทำ รวมทั้งสิ้น 25 ตัว เครน 3 ตัว พร้อมโดรนถ่ายมุมสูงอีก 2 ตัว โดยได้กล่าวถึงดำริแห่งผลงานชิ้นสำคัญนี้ว่า หวังเพียงอยากให้มีบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่พสกนิกรชาวไทยได้ร้องร่วมกัน ก่อนจะมีการเปลี่ยนผ่านแผ่นดิน จากที่มองภาพไว้ว่าจะมีเครื่องดนตรีเพียง 2-3 ชิ้น และมีผู้คนมาเปล่งเสียงร้องร่วมกันเพียง 1 พันคน หากในความเป็นจริง ความยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คิดฝันไว้มากมายนัก
“สิ่งที่จุดประกาย แนวความคิดคือ เราต้องการให้ประชาชนช่วยกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายให้กับในหลวง แต่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมีเครื่องดนตรีถึง 400 ชิ้นและก็ไม่คิดด้วยว่าจะมีประชาชนมารวมตัวกันมากขนาดนี้นะครับ ต้องขอบอกก่อนว่าที่เขามากันด้วยใจจริง ๆ ไม่มีการเกณฑ์คนมา หรือบังคับให้เขามากัน ทุก ๆ คนยืนตากแดดกันตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงตอนนี้
ผมรู้สึกไม่เชื่อเลยว่าจะมีวันนี้ จะมีคนมาได้มากมายขนาดนี้ และเราจะถ่ายกันไปเรื่อย ๆ จนถึงตอนเย็นเลยครับ เพราะช่วงเย็นเราจะให้ทุกคนจุดเทียนเหมือนกับเป็นดวงตาล้านดวง และให้เห็นว่าทั้งหมดนี้คือประชาชน
โดยเพลงนี้จะเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ทุกคนร้องพร้อมกัน และอาจจะเป็นการทำลายสถิติโลกที่มีคนร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีมากเป็นประวัติศาสตร์ ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีค่าย ดารามาช่วยกันคนละไม้คนละมือโดยที่เราไม่ได้ไปบังคับเขา ทุก ๆ คนมากันด้วยใจจริง ๆ รวมทั้งผู้สร้างหนังเกือบ 1 พันคน ที่เดินทางมาช่วยกัน พวกอุปกรณ์การถ่ายทำทุกคนก็เอามาช่วยเหลือกันโดยที่ไม่มีใครคิดเงิน แต่ผมก็ไม่ทราบนะครับว่ามีใครมาช่วยบ้าง เพราะไม่ได้มีใครมาบอกรายละเอียดเหมือนกัน ส่วนเรื่องจำนวนคนเรากะเกณฑ์โดยการใช้โดรนถ่ายภาพ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นจำนวนเท่าไหร่
เรื่องงบประมาณไม่ได้เสียเงินเลยแม้แต่บาทเดียว ทุกคนร่วมใจกันมาเอง ผมเองก็ไม่ได้ขอความสนับสนุนจากภาครัฐเลย ไม่เคยขอสปอนเซอร์จากใคร ตรงนี้คืองานของประชาชนทุกคน ดาราศิลปินจากแต่ละค่าย สื่อจากทุกสำนักพร้อมใจกันมาโดยไม่แบ่งช่องแบ่งค่าย
ในส่วนของประชาชนก็อาจจะต้องให้ความร่วมมือด้านการขับร้องบทเพลงสรรเสริญพระบารมี ทุกอย่างสดหมด เรามีเครื่องบันทึกเสียงไมโครโฟนทั้งหมดตรงนี้ 25 ตัว แล้วมีมิกเซอร์เหมือนกับคอนเสิร์ตเลย ทุกอย่างสดหมด เราไม่ได้ถ่ายเจาะเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ถ่ายไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี ประชาชน เราต้องการภาพมุมกว้าง ก็ต้องขอบคุณทุก ๆ คนที่ร่วมใจกันมา ร่วมใจร่วมแรงกันร้องเพลงนี้ หวังว่าพอออกไปฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว ทุกคนคงจะยืนถวายความเคารพ เพราะครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้ทำงานถวายในหลวง คาดว่าจะเริ่มฉายอาทิตย์หน้า จนกว่าจะเปลี่ยนแผ่นดิน ในเวอร์ชันนี้จะเห็นภาพพระราชกรณียกิจที่เราไม่เคยเห็น เพราะในหลายพระราชกรณียกิจคนไทยไม่เห็นมาก่อน ตัดอย่างนี้ดีกว่าตัดไปคงร้องไห้ไป”
กล่าวว่าบริษัท มิสเตอร์ทีม โปรดักชัน จำกัด ที่ดูแลระบบเสียงทั้งหมดในคราครั้งนี้ มีเวลาติดตั้งและเตรียมความพร้อมทุกอย่างเพียงแค่ 9 ชั่วโมง เริ่มจาก 23.00 น. ของคืนวันที่ 21 ต.ค. และจะต้องแล้วเสร็จก่อนเวลา 9.00 น. ของเช้าวันที่ 22 ต.ค. โดยต้องใช้ไมโครโฟนทั้งหมดถึง 300 ตัว รวมถึงต้องใช้ลำโพง ที่สามารถกระจายเสียงให้ครอบคลุมโดยรอบพระบรมมหาราชวัง และครอบคลุมท้องสนามหลวง ตั้งแต่ถนนพระลาน ไปจนถึงฝั่งสะพานพระปิ่นเกล้า ทั้งนี้ล้วนได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์จากผู้ประกอบการหลายบริษัท ทั้งบริษัท เท็นเยียร์ส อาฟเตอร์ออดิโอ จำกัด, บริษัท วันซีสเท็มส์ โปรดักชัน จำกัด, บริษัท มีเดีย วิชชัน จำกัด รวมถึงบริษัทรายย่อยอีกมากมาย โดยทั้งหมดไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ หากมาด้วยจิตอาสา และตั้งใจทำเพื่อพ่อหลวงโดยแท้
ส่วนอีกหนึ่งราชสกุลที่ร่วมกันสร้างหน้าประวัติศาสตร์ให้กับบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ก็คือราชสกุล “สุจริตกุล” ซึ่งเป็นราชสกุลในสายของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7
สำหรับ “อ. สมเถา สุจริตกุล” เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นทั้งวาทยากร คีตกร นักประพันธ์เพลงคลาสสิก ผู้กำกับภาพยนตร์ รวมกระทั่งเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงเป็นสากลคนหนึ่งของเมืองไทย และยังเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิอุปรากรกรุงเทพฯ
อ. สมเถา เป็นคีตกรของวงดุริยางค์สยามฟิลฮาร์โมนิก มีผลงานดนตรีมากมาย โดยเฉพาะงานประพันธ์บทเพลง โอเปร่าร่วมสมัย เช่น มัทนะพาธา, อโยธยา และ แม่นาก ส่วนผลงานด้านวรรณกรรม ใช้นามปากกาว่า SP Somtow ในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีกลิ่นอายเป็นเอเซีย โดยประพันธ์เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ สำหรับฉบับที่แปลเป็นภาษาไทยนั้น ล้วนแปลโดยถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้เป็นมารดา มีผลงานที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณมากมายในต่างประเทศ
และบทบาทสำคัญที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็คือผู้อำนวยเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เวอร์ชันที่จะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยไปชั่วลูกชั่วหลาน
โดย อ. สมเถา ได้กล่าวเปิดเผยความรู้สึกว่า การควบคุมวงออเคสตร้าที่มีนักดนตรีชาวไทยและนานาชาติกว่า 200 ชีวิต และนักร้องประสานเสียงนานาชาติอีกประมาณ 150 ชีวิต ถือเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิต
"การแสดงพลังในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังเป็นเสียงเดียวกันได้ เพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ผมหวังว่าเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่มีประชาชนมืดฟ้ามัวดินมาร่วมกันขับร้องครั้งนี้ จะดังไปถึงไปสรวงสวรรค์ และผมเองจะทำหน้าที่อำนวยเพลงให้ดีที่สุด
ผมตั้งใจอำนวยเพลงให้เหมือนกับสายน้ำ ให้ครอบคลุม ให้เสียงดนตรีไหลไปดั่งสายน้ำจากที่หนึ่งไปจนถึงอีกที่หนึ่ง และไหลมารวมกันเป็นมวลใหญ่ เปรียบดั่งน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านที่หลั่งไหลไปทั่วทุกสารทิศที่มีประชาชนของพระองค์อยู่"
นอกจากนั้น อ.สมเถา ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่ครั้งสำคัญยิ่งในชีวิตที่ท้องสานามหลวงแล้ว ก็มีโครงการที่จะไปอำนวยเพลงในลักษณะเดียวกันนี้ให้ครบทั้ง 4 ภาค เริ่มจากที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยจัดขึ้นที่ลานหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดยมีพี่น้องชาวโคราชเดินทางมาร่วมแสดงความอาลัยถวายแด่ในหลวงพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หากการรวมพลังของประชาชนชาวไทย ที่มาร่วมกันขับขานบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ณ ท้องสนามหลวง มีจำนวนเกินกว่า 2.5 แสนคน ก็จะนับได้ว่าเป็นการทำลายสถิติโลก และจะถูกบันทึกลงกินเนสต์บุ๊ก (สถิติปัจจุบันเกิดขึ้นที่ประเทศบังคลาเทศ ด้วยจำนวน 2.5 แสนคน) แต่เหนือสิ่งอื่นใด การบันทึกลงกินเนสส์บุ๊ก ก็ไม่สลักสำคัญมากไปกว่าการที่ปวงชนชาวไทยร่วมใจกันมาแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย
**********
ภายหลังจากผ่านพ้นวันแห่งประวัติศาสตร์ วันที่บทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เวอร์ชันที่ไพเราะที่สุด ถูกกู่ร้องจนกึกก้องไปทั่วท้องสนามหลวง และดังไกลไปทั่วโลก บ่งบอกถึงบุญญาธิการขององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ไม่มีกษัตริย์ชาติใดในโลกเสมอเหมือนนั้น ก็มีการเผยแพร่มิวสิกวิดีโอเพลงนี้ โดยระบุว่าคลิปวิดีโอ “เพลงสรรเสริญพระบารมี” ฉบับเต็ม ความยาว 02.02 นาที และถูกนำมาส่งต่อกันในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลายเพียงข้ามคืน ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะผู้ชมส่วนใหญ่พากันเข้าใจว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ที่สร้างสรรค์โดยท่านมุ้ย และทีมพลังของแผ่นดิน ร้อนถึง “ม.ร.ว. ศรีคำรุ้ง ยุคล” หรือ “คุณหญิงแมงมุม” ธิดาสาวคนโต ต้องมีการโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @yingmangmoomofficial ระบุว่า
“VDO. กำลังอยู่ใน process ของการตัดต่อนะคะ ตัวที่ออกมาไม่ใช่ของทางเราค่ะ”
พร้อมทั้งมีการนัดหมายสื่อมวลชนมารับฟังรายละเอียดทั้งหมดเมื่อวันพุธที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญในถ้อยแถลงส่วนหนึ่ง ดังนี้
"หลังมีเอ็มวีออกมามากมาย ท่านพ่อไม่พูดอะไรเลย แค่บอกว่าไม่เป็นไร ที่ออกมาพูดเพราะคนถามเยอะ ตอนนี้ทุกคนก็เร่ง พยายามให้เร็วที่สุด เพราะทราบว่าทุกคนอยากดูแล้ว ก็คือทำให้ดีที่สุด ความตั้งใจเราดีอยู่แล้ว ตอนนี้เหลือแค่ด้านเทคนิค ภาพที่เห็นสวยมาก ขอบคุณประชาชนที่มาร่วมกัน ทีมงานเป็นส่วนน้อย สิ่งสำคัญคือประชาชน ที่มาร่วมกันได้เยอะขนาดนั้น ทำให้ทุกอย่างออกมาได้ดีตามที่เราได้หวังกันไว้ ยังไม่ทราบว่าจะออกมาทั้งหมดกี่เวอร์ชัน เพราะมีภาพจำนวนมากและสวยงามทั้งหมด อยากให้ทุกคนเห็นภาพจังเลย ว่าน่าภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย เป็นคนที่ ใน 3 วัน เราสามารถรวมพลังกันได้ พวกเรามีจุดประสงค์เหมือนกัน ใจเราอยู่ตรงนั้น รวมพลังอยู่ตรงนั้นทำให้เห็นความยิ่งใหญ่ ให้เห็นว่าคนไทยแข็งแรงแค่ไหน สามัคคีกันแค่ไหน"
สำหรับมิวสิกวิดีโอเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่นำมาแชร์ต่อกันในหลายๆ เวอร์ชันนั้น คุณหญิงแมงมุมกล่าวเพียงว่าไม่ว่าจะดูเวอร์ชันใดก็รู้สึกขนลุก เพราะได้เห็นถึงความสามัคคีของประชาชน เห็นความจงรักภักดี ความอาลัยที่มีต่อในหลวงทั้งสิ้น พร้อมย้ำว่าทุกคนมีสิทธิ์ในเพลงนี้เท่าๆ กันในฐานะประชาชนคนไทย ไม่มีใครผิดหรือถูก
**********
อนึ่งสำหรับบทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่เชื่อว่าคุ้นหูคนไทยมาเนิ่นนานนั้น พระราชนิพนธ์เนื้อร้องโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งแม้จะนำมาขับร้องกันจนคุ้นชิน แต่ก็เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมาย และเข้าถึงปูมประวัติของเพลงนี้โดยแท้จริง
ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ได้มีการบรรเลงเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญใช้ในเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกท้องพระโรง และเสด็จขึ้น บ้างมีการขานชื่อว่า "สรรเสริญนารายณ์" บ้างก็ระบุว่า "เสด็จออกขุนนาง"
หากการนำเพลงสรรเสริญมาใช้ในสถานะของเพลงชาตินั้น เริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยได้นำทำนองเพลง God save the king ของอังกฤษมาใส่เนื้อร้องไทย โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ชื่อเพลงว่า “เพลงจอมราชจงเจริญ” เพื่อใช้เป็นบทเพลงถวายความเคารพต่อพระมหากษัตริย์
กระทั่งกาลต่อมา ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่ต้องการให้ใช้เพลง God save the Queen ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีของราชวงศ์อังกฤษ โดยมีหลักฐานเป็นบันทึกของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ เกี่ยวกับข้อสงสัยของเจ้าพระยาอนุมานราชธน ความว่า
“เมื่อ พ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์และเมืองชวา ทางเมืองชวาเขาต้องการเพลงคำนับของเรา ไม่ต้องการเพลงสรรเสริญอังกฤษนั่นแหละ เป็นเหตุให้เรากระตือรือร้นหาเพลงคำนับประจำชาติไทยขึ้น”
ด้วยเหตุนี้ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 จึงทรงโปรดให้คณะครูดนตรีไทยแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ ในการนี้จึงมีการนำบทเพลง ”บุหลันลอยเลื่อน” (หรือเพลงทรงพระสุบิน) ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเฮวุดเซน (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็กชาวฮอลันดา เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ เพื่อให้ทันสมัยตามแบบฉบับของดนตรีทางฝั่งตะวันตก และได้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414-2431
บทเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ได้ถูกแต่ง เรียบเรียง และปรับเปลี่ยนเนื้อเพลงอยู่หลายครั้งหลายครา และหลายเนื้อร้องเพื่อใช้เฉพาะในกลุ่ม เช่น กลุ่มทหารเรือ กลุ่มนักเรียนหญิง เป็นต้น สำหรับเนื้อเพลงในฉบับปัจจุบันนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้นำคำร้องที่ประพันธ์โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มาปรับเปลี่ยนบางส่วน โดยทรงรักษาคำร้องเดิมเอาไว้เกือบทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนคำสุดท้ายของเพลงจากเดิมคือ “ฉะนี้” เป็น “ชโย” (ส่วนทำนองนั้น ประพันธ์โดยพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร หรือครูมีแขก) และเรียบเรียบเสียงประสานสำหรับดนตรีตะวันตกโดยปโยตร์ ชูรอฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2431) และทรงประกาศใช้ใน วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2456 จนเมื่อภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพลง “สรรเสริญพระบารมี” ก็ไม่ได้ถูกนำใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม มีการระบุว่าเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ได้รับการบันทึกครั้งแรกในโลกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. 2443 เป็นการบันทึกลงบนบนกระบอกเสียงของเอดิสันชนิดไขขี้ผึ้งเปล่า (Edison brown blank wax cylinder) โดยมีคณะนายบุศย์มหินทร์ (Boosra Mahin) หรือเจ้าหมื่นไววรนาถเป็นผู้บรรเลง และบันทึกเสียงโดย ด๊อกเตอร์ คาร์ล สตุ๊ฟ (Dr. Carl Stumpf) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องของเสียงและการบันทึกเสียงในประเทศเยอรมนี
และนั่นหมายถึงว่า เพลง “สรรเสริญพระบารมี” ที่คนไทยทุกคนเปล่งเสียงร้องได้ทุกผู้ทุกนามนั้น มีอายุยืนยาวกว่า 1 ศตวรรษเลยทีเดียว
กระนั้น ก็เชื่อเหลือเกินว่าสำหรับคนไทยที่เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คงไม่มีเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เวอร์ชันใด ที่จะตราไว้ใจดวงใจเท่ากับฉบับที่ทุกคนร่วมกันเปล่งเสียงขับขาน ซึ่งจะจารจารึกไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์ไปตราบนานเท่านาน
**********
จะสรรเสริญฯ กู่ร้องให้ก้องฟ้า
แสนน้ำตาล้านอาลัยจะขับขาน
ขอน้อมเอามโนและศิระกราน
ให้เพลงก้องกังวานในจารจำ
ที่มา นิตยสาร ผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 363 29 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559