แม้แต่นักดนตรีระดับโลก ก็ยังเคยยอมรับว่า หากไม่ได้ขึ้นครองราชย์แล้ว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ก็น่าจะสามารถเป็นนักดนตรีได้ และยังกล่าวว่าพระองค์ คือ “กษัตริย์สุด Cool” ของประเทศไทย
พระปรีชาสามารถในด้านต่าง ๆ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ประจักษ์กันดีอยู่แล้ว แต่ด้านที่โดดเด่นที่สุดก็คงหนีไม่พ้นด้านของการเป็นสังคีตกวี และนักดนตรีของพระองค์นั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักแซกโซโฟนฝีมือดี แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ แห่งวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ วงดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยอธิบายว่า แนวทางดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีความเป็น “ดิกซีแลนด์” หรือ ดนตรีแจ๊ซ ในแบบนิวออร์ลีน และทรงโปรดปรานศิลปินระดับตำนานอย่าง เบนนิ คาร์เตอร์ เป็นพิเศษ ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ก็เคยมีโอกาสได้ทรงดนตรีร่วมกับ คาร์เตอร์ มาแล้ว
ไม่เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ยังร่วมบรรเลงเพลงกับศิลปินระดับตำนานของวงการดนตรีสหรัฐฯ อย่าง สแตน เกตซ์, เบนนี กูดแมน และ ไลโอเนล แฮมป์ตัน มาแล้วด้วย
“พูดได้ง่าย ๆ ว่า ทรงเป็นกษัตริย์ที่ Cool ที่สุดของดินแดนแห่งนี้ก็ว่าได้” ไลโอเนล แฮมป์ตัน มือไวบราโฟนชื่อดังระดับตำนาน เคยกล่าวเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์
เช่นเดียวกับ เลส บราวน์ ตำนานดนตรีอีกคนที่เคยนำบทเพลงในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาบันทึกเสียงใหม่เมื่อปี 1996 ก็กล่าวชื่นชมว่า พระองค์ “เป็นนักดนตรีผู้ยอดเยี่ยม” และยังบอกในสารคดีคีตราชันอีกว่า “ผมค่อนข้างมั่นใจว่าหากพระองค์ไม่ได้มีพระราชภารกิจที่ต้องทำในตอนนี้ ก็คงประสบความสำเร็จกับการเป็นผู้นำวงไปแล้ว”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรี เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา ระหว่างประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาส ชื่อ นายเวย์เบรชท์ โดยทรงเรียนการเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และการบรรเลงดนตรีสากลต่าง ๆ ในแนวดนตรีคลาสสิก แต่กลับทรงชื่นชอบในดนตรีแจ๊ซเป็นพิเศษ เพราะความประทับใจในเสียงทรัมเป็ตของนักดนตรีในโรงแรมแห่งหนึ่ง
ซึ่งในจำนวนนักดนตรีระดับโลกที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยร่วมบรรเลงเพลงด้วยกัน เบนนี กูดแมน มือคลาลิเน็ตคนดัง น่าจะเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการพูดถึงมากที่สุด
นักดนตรีชาชิคาโกที่เกิดเมื่อปี 1909 ได้ชื่อว่าเป็นทั้ง “ศาสตราจารย์แห่งแจ๊ซ” , เป็น “ศิลปินแจ๊ซที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสร์” และยังได้ชื่อว่าเป็นคนทำให้ “แจ๊ซ ได้รับการยอมรับในวงกว้างในวงการดนตรี” จนมีการตั้งฉายาให้กับ เบนนี กูดแมน ว่าเป็น “ราชาแห่งแจ๊ซ” หรือ “King of Swing” ซึ่งต่อมาก็มีคนเรียก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยฉายา “King of Swing” นี้เช่นเดียวกัน
โดยในปี 1956 กูดแมน ได้มาเยือนประเทศไทย และได้มีโอกาสร่วมเล่นดนตรีกับพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทยด้วย กระทั่งในปี 1960 พระองค์ก็เป็นฝ่ายที่เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และได้เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ไปที่บ้านพักของ กูดแมน โดย เคิร์ต มูลเลอร์ หนึ่งในผู้ตามเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น ได้บอกเล่าเรื่องนี้ผ่านบทความ “ตามเสด็จฯ บ้านเบนนี กูดแมน” ของ ประทักษ์ ใฝ่ศุภการ (เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2549) ว่า
“เบนนี กูดแมน พร้อมเพื่อนนักดนตรีแจ๊ซชั้นนำหลายคนได้ถวายการต้อนรับ โดยจัดให้มีการบรรเลงดนตรีสังสรรค์กันขึ้นอย่างครึกครื้น เป็นกันเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทั้งคลาริเน็ตและอัลโตแซกโซโฟน ทรง “แจม” กับเหล่านักดนตรี”
ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม