ไทยเปิดประชุมดนตรีนานาชาติ ครั้งที่ 3 ระดมผู้เชี่ยวชาญประเทศอาเซียน และผู้ทรงคุณด้านดนตรีระดับโลก ร่วมใช้ดนตรีสู่ผู้ด้อยโอกาส ด้านสถาบันดนตรีกัลยาฯ เล็งเปิดสาขาดนตรีภูมิภาค ปี 62 ผลิตนักดนตรีอาเซียนสู่เวทีโลก
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวในการประชุมวิชาการนานาชาติ “ดนตรีกับการพัฒนาสังคมวัฒนธรรมอาเซียน 2015 - 2016” ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา จัดการประชุมดังกล่าวขึ้นเป็นปีที่ 3 ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน และนานาประเทศ ได้แลกเปลี่ยนทักษะทางด้านดนตรี และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาจิตใจเยาวชน และประชาชนของแต่ละประเทศ ซึ่งการจัดกิจกรรมปีนี้จะเน้นการนำเสนอดนตรีคลาสสิก และพื้นเมืองของแต่ละประเทศมานำเสนอ นับเป็นครั้งแรกที่มีนักวิชาการ และนักดนตรีต่างชาติมาร่วมประชุมมากที่สุด จากอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศอาเซียน มาแลกเปลี่ยนความรู้ และหาแนวทางนำดนตรีไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
รศ.คุณหญิง วงจันทร์ พินัยนิติศาสตร์ อธิการบดีสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะหารือถึงทิศทางการพัฒนาดนตรีคลาสสิก และดนตรีภูมิภาคในยุคศตวรรษาที่ 21 ที่จะมีการผสมผสานสร้างดนตรีที่มีต่อมวลมนุษยชาติ และนำสื่อดนตรีไปใช้สำหรับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนการพัฒนาทางด้านจิตใจ ดังพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์อุปถัมภ์ด้านดนตรีคลาสสิก และทรงมีพระกรุณาธิคุณแก่ผู้ด้อยโอกาสทั่วประเทศ จากการประชุมที่ผ่านมา ทำให้เกิดความร่วมมือหลาย ๆ ด้าน เช่น การพัฒนาดนตรีเยาวชนในกัมพูชา ลาว รวมทั้งมีการมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนประเทศอาเซียน เข้ามาศึกษาระดับปริญญาตรีสถาบัน ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนจากฟิลิปปินส์เข้ามาศึกษาด้านดนตรีคลาสสิกเป็นประเทศแรก นอกจากนี้ ในปี 2562 สถาบันจะทำการเปิดสาขาวิชาดนตรีไทยและดนตรีภูมิภาคเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นการตอบสนองนโยบายการพัฒนาสร้างโอกาสด้านดนตรีต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
“การเปิดสอนวิชาดนตรีไทยและดนตรีภูมิภาคจะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างอาชีพด้านดนตรีอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีประเทศเกาหลี จีน ญี่ปุ่น ที่จะทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาการดนตรีและทางด้านสังคม การเมือง อีกทั้งต้องการให้โอกาสกับเยาวชนประเทศอาเซียน สามารถทำงานในสาขาอาชีพด้านดนตรีระหว่างประเทศได้ และในภาคอาเซียนจะมีนักดนตรีที่มีศักยภาพเทียบเท่าระดับโลก” รศ.คุณหญิง วงจันทร์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่