xs
xsm
sm
md
lg

ยอดภาพยนตร์ ๗ เรื่อง ที่พ่อหลวง ร.๙ เคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“นอกจากทรงโปรดการถ่ายภาพแล้ว ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย ทรงเคยนำภาพยนตร์ส่วนพระองค์ออกฉายแล้วนำเงินรายได้มาสร้างอาคารสภากาชาดไทย ที่ รพ.จุฬาฯ โรงพยาบาลภูมิพล รวมทั้งใช้ในโครงการโรคโปลิโอและโรคเรื้อนด้วย”

ข้อความข้างต้นนั้น เป็นอีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ซึ่งได้รับการแชร์และส่งต่อกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสนพระทัยของพระองค์ในด้านศิลปะวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการทรงดนตรีและพระราชนิพนธ์บทเพลง ยังสนพระทัยการถ่ายภาพยนตร์ด้วย

จากความสนพระทัยในการถ่ายภาพยนตร์ พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรภาพยนตร์หลากหลายเรื่อง ตามวโรกาสต่างๆ ซึ่งนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ พระราชกรณียกิจประการหนึ่งซึ่งพระองค์ทรงกระทำอยู่เป็นนิจ คือการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรภาพยนตร์เพื่อการกุศล ในเขตกรุงเทพมหานคร ยังความปลาบปลื้มใจอย่างหาที่สุดมิได้แก่พสกนิกรซึ่งเฝ้ารับเสด็จและได้เข้าชมภาพยนตร์ในรอบนั้นๆ รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจแก่ทีมงานผู้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์นั้นๆ

ช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ถือเป็นคืนวันอันน่าประทับใจ ซึ่งยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์เสมอมา และตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นมา ทาง “หอภาพยนตร์” อันเป็นองค์การมหาชน ก็ได้จัดกิจกรรม“เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” ฉายภาพยนตร์ ๗ เรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเคยเสด็จฯ ทอดพระเนตร ให้คนไทยผู้สนใจได้ชมกัน ดังต่อไปนี้

๑. สันติ - วีณา

เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ขณะที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ก็ได้จัดกิจกรรม “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” โดยคัดเลือกหนังเรื่องนี้มาฉายเป็นเรื่องแรกในกิจกรรม คือเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา

และเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นไฮไลต์ที่สื่อมวลชน ไม่เฉพาะบ้านเรา แต่ยังรวมถึงสื่อเมืองนอก พร้อมใจกันลงข่าวกล่าวถึง หลังจากได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ซึ่งถือว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอีกงานหนึ่ง

“สันติ-วีณา” อำนวยการสร้างและกำกับโดยปรมาจารย์ภาพยนตร์ไทยยุคบุกเบิกนามว่า “รัตน์ เปสตันยี” เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มตาบอด สันติ (พูนพันธ์ รังควร) กับประสบมรสุมชีวิตมากมาย วีณา (เรวดี ศิริวิไล) เป็นหญิงสาวผู้มอบความรักและความเมตตาแก่สันติด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่แล้วความรักของทั้งคู่ก็พบอุปสรรคจากไกร (ไพจิต ภูติยศ) เป็นคู่หมั้นของวีณา ผู้พยายามกลั่นแกล้งสันติในทุกทางมาโดยตลอด สุดท้ายเขาต้องสูญเสียคนที่รักไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ในตอนจบของเรื่องสันติยุติปัญหาด้วยการหันเข้าหาศาสนาซึ่งเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตของคนไทย

สันติ-วีณา ได้รับการส่งเข้าประกวดในงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 1 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รับ 3 รางวัล คือถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษเป็นกล้องถ่ายภาพยนตร์ จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกา สำหรับภาพยนตร์ที่มีการเผยแพร่วัฒนธรรมดีเด่น นอกจากนี้ “สันติ-วีณา” ยังถือว่าเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้ไปฉายในเมืองจีน โดยนิตยสารภาพยนตร์มหาชน เล่มที่ 16 ปี ค.ศ.1957 (พ.ศ. 2500) ได้ลงบทวิจารณ์ภาพยนตร์ไทยเรื่องสันติ-วีณา ซึ่งเขียนโดยนักวิจารณ์ชาวจีนนามว่า “จินเค่อมู่” เขาเขียนเอาไว้ส่วนหนึ่งว่า ...

“ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบบริบูรณ์นั้น ภาพยนตร์เรื่อง “สันติ-วีณา” ได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้สัมผัสกับความงามของทัศนียภาพของประเทศไทย สีสันที่สดใสงดงาม อันเป็นตัวแทนของภูมิภาคในเขตร้อน ทำให้ผู้ชมเสมือนอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรและสายน้ำ หลังจากชมภาพยนตร์จบลง ก็ยังประหนึ่งถูกตราตรึงไว้ด้วยกลิ่นอายแห่งพระศาสนา และสองหูก็ยังแว่วเสียงแห่งพระธรรมคำสอน

“หลังจากชมภาพยนตร์จบแล้ว เราคงไม่สามารถตอบได้ว่าสันติ-วีณาโชคร้ายหรือโชคดี ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องนำไปขบคิดด้วยตนเอง เพราะเราคงไม่อาจประเมินค่าของภาพยนตร์ด้วยความไม่สมหวังของเนื้อเรื่อง หรือที่สุดแล้วก็ไม่สามารถเอาความสูญเสียในท้องเรื่องมาประเมินเป็น “โศกนาฎกรรมทั้งหมด” เพราะทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตของคนเราทั้งสิ้น

“แต่ละคนมีมุมมองต่อโลกและชีวิตที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไป ดังนั้นพลังที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอย่างแท้จริงย่อมมิใช่แค่เพียงความสะเทือนใจแต่เพียงเท่านั้น ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เสนอให้เห็นถึงความจริงของสัจนิยมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งถ่ายทอดให้เห็นเรื่องราวในสังคมไทยที่แท้จริงได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

“ความสามารถอันแพรวพราวของผู้กำกับภาพยนตร์ และศิลปะการแสดงของบรรดานักแสดง ช่างภาพ และทีมงาน ได้ให้แนวทางและแง่คิดในการสร้างภาพยนตร์กับพวกเราชาวจีนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในส่วนของการถ่ายทำทัศนียภาพและการถ่ายทอดของตัวละคร ความลุ่มลึกทางอารมณ์ของตัวละคร โดยเฉพาะการแสดงออกทางอารมณ์โดยไม่ต้องใช้คำพูด (เช่น ฉากที่พ่อปลงผมลูกให้ออกบวช) การสอดแทรกบรรยากาศให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกอันเข้มข้น (เช่น ฉากที่หินถล่ม มีเสียงขลุ่ยครวญมาตามสายลมฉากโคลสอัพไปที่พระพุทธรูป และเสียงสวดมนต์ เป็นต้น)

“กระบวนการทางศิลปะเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราควรสนใจให้การศึกษา รวมไปถึงสุนทรียศาสตร์ของการใช้ดนตรีประกอบ การร่ายรำ การประดิษฐ์กระทง ซึ่งล้วนเป็นลายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามไป” (ข้อมูลประกอบบางส่วนจากเฟซบุ๊ก “classic.santi.vina”)

๒. The Sound of Music (มนต์รักเพลงสวรรค์)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์กรุงเกษม เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ และงานชิ้นนี้ก็เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่หอภาพยนตร์ คัดเลือกหนังมาฉายในกิจกรรม “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ สิงหาคมที่ผ่านมา

The Sound of Music เป็นภาพยนตร์เพลง (มิวสิเคิล – Musical) รางวัลออสการ์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ด้วยเนื้อหาที่ลึกซึ้งสะเทือนใจและบทเพลงประกอบที่ไพเราะ ตัวภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์ที่ดัดแปลงมาจากหนังสืออีกทอดหนึ่ง หนังสือเล่มดังกล่าว ชื่อว่า The Story of the Trapp Family Singers” เป็นงานที่เขียนขึ้นโดยอิงจากเรื่องราวชีวิตจริงของครอบครัวแทรปป์

“มนต์รักเพลงสวรรค์” เล่าเรื่องราวของ “มาเรีย” สาวสวยผู้มีใจรักอิสระและเสียงดนตรี พยายามศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้เป็นแม่ชี แต่คุณแม่อธิการไม่คิดว่าเธอพร้อมจะเป็นแม่ชี จึงส่งเธอมาที่บ้านของกัปตันจอร์จ วอน แทรปป์ พ่อม่ายอดีตทหารกองทัพเรือ ให้มาเป็นพี่เลี้ยงลูกทั้ง 7 คนของเขา กัปตันปกครองลูกด้วยกฎของทหารอย่างเข้มงวด มาเรียจึงพยายามใช้เสียงดนตรีและความเมตตาที่จะทำให้เด็กๆ รวมถึงกัปตันยอมรับในตัวเธอ และในที่สุดก็สำเร็จ ก่อนที่ครอบครัวแทรปป์จะถูกคุกคามด้วยกองทหารนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

๓. Doctor Zhivago (ด็อกเตอร์ชิวาโก้)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙

ภาพยนตร์ที่มีความปราณีตงดงาม ซาบซึ้ง และโศกซึ้งสะเทือนใจ ด้วยเรื่องราวเนื้อหาซึ่งมีทั้งมุมมองชีวิต ความรัก และสงคราม ตัวเรื่องดัดแปลงมาจากนวนิยายจากปลายปากกาของ “บอรีส ปาสเตอร์แน็ก” เนื้อหาโดยรวม บอกเล่าเรื่องราวของนายแพทย์และกวีชาวรัสเซียชื่อ นายแพทย์ยูริ อังเดรเยวิช ชิวาโก และความรักของเขาที่มีต่อหญิงสาวสองคน คือ ลาริซซา “ลารา” แอนติโปวา และ ทันยา โกรมีโก ฉากหลังในเรื่องกินเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การปฏิวัติรัสเซีย สงครามกลางเมืองรัสเซีย ไปจนถึงการโค่นล้มพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ และสถาปนาสหภาพโซเวียต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๓ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๓

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับความนิยมติดต่อกันหลายปี และในปีที่เข้าฉาย ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์มากถึง 10 สาขา ก่อนจะคว้ามาได้จำนวนครึ่งหนึ่ง รวมถึงบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

๔. Psycho (ไซโค)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔

“ไซโค” ภาพยนตร์แนวระทึกขวัญจิตวิทยาเรื่องที่โด่งดังและเป็นที่กล่าวขานมากที่สุดของอัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก สร้างจากนวนิยายของ โรเบิร์ต บล็อช เป็นภาพยนตร์ขาวดำ ความยาว 109 นาที “ไซโค” นับเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมและวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในช่วงปีที่เข้าฉาย อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับคำชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่เพียบพร้อมไปด้วยศิลปะและความบันเทิงไปพร้อมกันและยังเป็นภาพยนตร์ที่มีประเด็นให้วิเคราะห์ตีความทางจิตวิทยาอย่างที่ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนทำได้มาก่อน

๕. Goldfinger (จอมมฤตยู 007)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์เมโทร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗

ภาพยนตร์แฟรนไชส์สายลับลำดับที่ ๓ ในชุดเดอะ บอนด์ ซีรี่ส์ และมี “ฌอน คอนเนอรี่” รับบทเจมส์ บอนด์ เป็นครั้งที่ 3 และเป็นภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ที่ขายดีเป็นอันดับที่ 2 จากภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ อย่างเป็นทางการ 22 เรื่อง รวมทั้งได้รับรางวัลออสการ์ ๑ สาขา คือ ลำดับเสียงยอดเยี่ยม ผลงานชิ้นนี้มีความดีงามตามสไตล์หนังสายลับ และดีงามถึงขั้นที่ “โกโช อาโอยาม่า” นักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน” ชอบมากที่สุด ถึงกับหยิบยกไปแนะนำบนปกหนังสือการ์ตูนของตนเอง

๖. Spartacus (สปาตาคัส)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

ภาพยนตร์ความยาวราว 3 ชั่วโมงเรื่องนี้ กำกับโดยสแตนลีย์ คูบริค เล่าเรื่องราวของทาสคนหนึ่งซึ่งมีชื่อเดียวกันกับหนัง “สปาตาคัส” ซึ่งเกิดมาในยุคสมัยที่อาณาจักรโรมันกำลังรุ่งเรือง และยังมีการใช้แรงงานทาส (ก่อนที่จะมีการยกเลิกในอีก ๒๐๐ ปีต่อมา) ข้อแตกต่างของ “สปาตาคัส” ที่แตกต่างไปจากทาสทั่วไปก็คือ เขาไม่ยอมตกเป็นทาสอย่างเชื่องๆ และเป็นผู้นำกองทัพทาส ลุกขึ้นสู้ และประกาศอิสรภาพ ปลดแอกตัวเอง

๗. Lawrence of Arabia (ลอว์เรนซ์แห่งอาราเบีย)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ณ โรงภาพยนตร์ควีนส์ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

“ลอว์เรนซ์แห่งอาราเบีย” นับเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์สงครามที่ยิ่งใหญ่มากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีการสร้างกันมา เนื้อหาโดยย่อ เล่าเรื่องราวของ “ที. อี. ลอว์เรนซ์) โทมัส เอดเวิร์ด ลอเรนซ์ ทหารชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตในอาหรับ เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าชายไฟซาล (ไฟซาล บิน อัล-ฮุสเซน บิน อาลี อัล-ฮาเชมี, ต่อมาคือ กษัตริย์ไฟซาลที่ 1 แห่งซีเรียและอิรัก) ในช่วงการปฏิวัติอาหรับ เพื่อปลดแอกจากจักรวรรดิออตโตมัน-เติร์ก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ – ๒๔๖๑ (ค.ศ. 1916 – 1918)

แม้จะมีความยาวกว่าสามชั่วโมงครึ่ง แต่ทว่าผลงานชิ้นนี้กลับตรึงคนดูผู้ชมได้อยู่หมัด ด้วยเรื่องราวเนื้อหาอันทรงพลัง เพราะเหตุนี้ หนังจึงคว้ารางวัลออสการ์ไปได้มากถึง 7 สาขา รวมทั้ง “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” และ “ผู้กำกับยอดเยี่ยม”

*** ข้อมูลประกอบ : วิกิพีเดีย, และเว็บไซต์ “หอภาพยนตร์”



ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น