xs
xsm
sm
md
lg

หนังฉาวแห่งปี! LOVE ที่เสิร์ฟคู่กับ SEX แบบเอ็กซ์ตร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


สำหรับคอหนังนอกกระแสที่สามารถรับได้กับความฮาร์ดคอร์ คงไม่แปลกแยกนักกับชื่อเสียงเรียงนามของ “กัสปาร์ โนเอ” ที่งานของเขา อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรากฏการณ์มาแทบตลอด แม้จริงๆ จะทำหนังยาวมาเพียงสี่เรื่อง แต่ก็เป็นสี่เรื่องที่เลื่องลือ โดยเฉพาะชื่อหนังอย่าง Irréversible นั้น เคยลือลั่นสั่นสะเทือนมากในบ้านเรา เมื่อ 12-13 ปีที่แล้ว

แต่ก่อนหน้านั้น หนังอย่าง I Stand Alone ซึ่งเป็นหนังยาวเรื่องแรก ก็แบกคำชมไปเต็มสองบ่า และไม่ควรลืมว่า ในปี 2006 ผู้กำกับชาวอาร์เจนตินาซึ่งไปทำหนังในฝรั่งเศสคนนี้ เคยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในชบวน “Destricted” ด้วยการกำกับหนังสั้นหนึ่งเรื่องที่ชื่อแรงๆ อย่าง We Fuck Alone และตัวเรื่องก็สมกับชื่อเรื่องคือไม่มีอะไรมากไปกว่าการตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างหนุ่มสาวสองคนต่างสถานที่ แต่มีกิจกรรมเดียวกันคือการมาสเตอร์เบท (สำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง) และจะว่าไปมันก็แทบไม่ต่างจากหนังโป๊ดีๆ นี่เอง เพราะเปิดเปลือยกันอย่างโล่งโจ้ง แต่ความเจ๋งของหนังอยู่ที่เทคนิคด้านภาพที่จงใจใช้แสงวูบวาบแบบติดๆ ดับๆ จนตาลายกันทั้งเรื่อง บวกกับซาวด์ประกอบที่ชวนให้ปั่นป่วนเมามึน

“ผู้กำกับหนังอื้อฉาว” หรืออะไรราวๆ นี้ กลายเป็นอีกหนึ่งสรรพนามที่มักจะถูกยกขึ้นเป็นเฮดไลน์ได้เสมอ เมื่อกล่าวถึงกัสปาร์ โนเอ ส่วนหนึ่งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเพราะผลพวงของ Irréversible ซึ่งได้สร้างภาพจำอย่างแน่นหนาไว้ในความทรงจำของคนดู กับฉากข่มขืนที่ถ่ายทำแบบ Long Take และกินเวลายาวนานกว่าสิบนาทีซึ่งเป็นสิบนาทีที่แสนอึดอัดทรมาทรกรรม (ซ้ำมิหนำ เหยื่อยังตั้งท้องอ่อนๆ อยู่ด้วย!) ฉากใช้ถังแก๊สทุบหัวจนหัวแบะแบบไม่เซ็นเซอร์ ทั้งหมดนี้มันก็เป็นเหตุผลหนักแน่นเพียงพอที่จะทำให้คนดูตอนหนังฉายในเทศกาลเมืองคานส์พากันเดินออกจากโรงพร้อมเสียงสบถ แต่ก็นี่แหละ กัสปาร์ โนเอ ผู้ไม่ประนีประนอมในการนำเสนอความเหี้ยมเกรียมวิปริตผิดมนุษย์มนาของสิ่งมีชีวิตที่ได้ชื่อว่าคน

หลังจาก Irréversible กัสปาร์ โนเอ มีหนังยาวออกมาอีกหนึ่งเรื่องในปี 2009 Enter the Void ซึ่งเล่นกับสไตล์ภาพประหลาดๆ หลอนๆ ชวนวิงเวียน อันสะท้อนถึงความเป็นจริงบางประการในโลกของฤทธิ์การติดยา และเหนืออื่นใดก็คือภาพแห่งความวาบหวิวโป๊เปลือยที่แทบจะเดินคู่ขนานไปกับการควานหาคุณค่าความหมายชีวิตและสำรวจตรวจสอบโลกหลังความตายของตัวละครในเรื่อง มาถึงงานชิ้นใหม่ล่าสุดของเขาซึ่งตั้งแต่ปล่อยโปสเตอร์ตัวแรกๆ ออกมา ก็เรียกเสียงฮือฮาไปทั่ว เพราะมันคือภาพที่แสดงการหลั่งของผู้ชาย โดยมีองค์ประกอบสำคัญสามส่วน คืออวัยวะของผู้ชาย และกำมือ (คาดว่าน่าจะเป็นมือของผู้หญิง) และหน้าอกที่เปิดเปลือย (แน่นอน เป็นหน้าอกผู้หญิง)

ในทางตรงกันข้ามกับภาพ...หนังเรื่องนี้มีชื่อเรียกสั้นๆ อันชวนให้รู้สึกวาบหวามโรแมนซ์ว่า “เลิฟ” (หรือ LOVE 3D เพราะหนังเรื่องนี้ทำเป็นสามมิติ) แต่ก็อย่างที่เราจะรู้ว่า “เลิฟ” ในแบบของกัสปาร์ โนเอ คงจะไม่ใช่เลิฟธรรมดาๆ แน่ๆ และมันก็ไม่เหนือความคาดหมาย...

ในความวาบหวามแบบวาบหวิว “เลิฟ” พาเราก้าวไปในโลกของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งเล่าผ่านความทรงจำของชายหนุ่ม “เมอร์ฟี่” (Murphy) ซึ่งในปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่ดูแล้วก็น่าจะแสนสุข เมียหนึ่งลูกหนึ่ง แต่ทว่าในห้วงคะนึง เมอร์ฟี่กลับกำลังจ่อมจมงมดิ่งสู่เรื่องราวแห่งวันวาน ณ ที่เขากับแฟนสาวคนก่อน “อีเล็คตร้า” ร่วมกันฟูมฟักถักทอ และจากความทรงจำที่ถูกขุดขึ้นมานี้ เราจะได้รับรู้ความเป็นมาของเมอร์ฟี่ ที่สุดท้ายได้ก่อให้เกิดมโนภาพเกี่ยวกับ “ความรัก” ซึ่งมีทั้งความหอมหวานน่าจดจำและความขื่นขมตรมจิต...

โดยลักษณะของเส้นเรื่อง ใช้รูปแบบของ Boy meets girl ตั้งแต่พบรัก สร้างรัก ก่อนจบลงตรงจากลา น่าสนใจมากก็คือว่า เรื่องราวราวนี้เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ประเทศที่ผู้คนคาดหวังภาพพจน์เกี่ยวกับความรักโรแมนติก ละเมียดละไม ลุ่มลึกและเร่าร้อน อีกทั้งชื่อหนังอย่างคำว่า LOVE ก็ตรงไปตรงมาในการพูดถึงความรัก (ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส) จำได้ว่าครั้งหนึ่ง อาจารย์นพพร ประชากุล ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมฝรั่งเศส เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทความเรื่อง “ว่าด้วยความรักในวรรณกรรมฝรั่งเศส” ว่า เอาเข้าจริง ความรักในฝรั่งเศสไม่ได้หอมหวานเหมือนฝันปานนั้น หากแต่มันยังมีรสชาติที่ซีเรียสจริงจัง และบ่อยครั้งก็ขมขื่นทรมาน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในนวนิยายของ “สแต็งดาล” (เรื่อง De L’Amour หรือ “อันว่าด้วยความรัก”) ซึ่งได้แจกแจงขั้นตอนที่ความรู้สึกรักค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตามลำดับ ไล่ตั้งแต่ความชื่นชม ความพึงใจที่ได้ใกล้ชิด ความหวัง การเริ่มรัก การสร้างผลึก (ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เพราะหมายถึงการเห็นแต่ด้านดีๆ ของฝั่งตรงข้ามจนอาจทำให้มองข้ามทุกสิ่งอย่าง) ความคลางแคลงใจ และการสร้างผลึกซ้ำ...กระบวนการหกขั้นตอนดังกล่าวนี้ถูกตอกย้ำอย่างเด่นชัดอีกครั้งในนวนิยายของ “มาร์แซล พรุสต์” เรื่อง An Amour de Swann (ความรักของสวานน์)

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราจะเคลมเอาว่า การที่กัสปาร์ โนเอ ที่จากถิ่นฐานบ้านเกิดคืออาร์เจนตินาแล้วไปทำหนังในฝรั่งเศส น่าจะเคยผ่านหูผ่านตาศิลปะวรรณกรรมทำนองนี้มาบ้าง (เพราะดูจากองค์ประกอบของตัวละครที่เมอร์ฟี่เป็นเด็กเรียนฟิล์ม อีเล็กตร้าเป็นเด็กอาร์ตสกูล ก็น่าจะบอกถึงพื้นฐานความสนใจในงานศิลปะอย่างเต็มเปี่ยมของโนเอ) เราก็จะพบว่า เรื่องของ “เลิฟ” นั้น มีรสชาติแบบสแต็งดาลและพรุสต์อยู่พอสมควร เพราะนับจากวันแรกที่เมอร์ฟี่ได้พบกับอีเล็คตร้า กระบวนการแห่งรักแบบสแต็งดาลก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และมันก็ได้ผ่านขั้นตอนตามที่กล่าวมา ซึ่งโดยธรรมดาธรรมชาติของความรัก เมื่อเดินทางไปถึงจุดที่เป็น “ความคลางแคลงใจ” เขาหรือเธอจะสามารถ “สร้างผลึกซ้ำ” เพื่อดำรงรักไว้ได้หรือไม่อย่างไร (ในแง่นี้ เมื่อรักไปถึงที่สุด นักเขียนฝรั่งเศสอีกคนอย่าง “ออนอเร่ เดอ บัลซัก” เคยแนะนำไว้แบบขำๆ ว่า ถ้าอยากให้ผลึกแห่งรักคงอยู่ สามีทั้งหลายควรระลึกไว้เรื่อยๆ ว่า ภรรยาเป็นเมียน้อยคนใหม่ เพื่อที่ว่าผลึกนั้นจะได้ไม่สลายตัว)

อย่างไรก็ตาม ขยายความไปถึงวรรณกรรมของฝรั่งเศสอีกเรื่องอย่าง “บทเรียนชีวิต” (L’Education Sentimentale) ของกุสตาฟ โฟลแบรต์ นักเขียนในยุคถัดมาซึ่งถือว่าเป็นยุคของนวนิยายแนวสัจนิยมอันมีรากฐานที่สแต็งดาลและบัลซักได้ปูไว้ เราจะพบว่า เรื่องราวของเมอร์ฟี่กับเด็กหนุ่มในนวนิยายเรื่องนั้นของโฟลแบรต์มีความคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่งก็คือ “การสร้างผลึก” และ “การสลายผลึก” ในวิถีชีวิตสมัยใหม่ และเมื่อผลึกสลายตัว ทั้งสองคนต่างก็รู้สึกว่าตนเองได้พลาดสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในชีวิตไปแล้วเรียบร้อย ซึ่งในกรณีของเมอร์ฟี่ สิ่งนี้จะเห็นได้เด่นชัดถึงความรู้สึกสูญเสีย หดหู่ กับวันคืนปัจจุบัน หลังจากวันวานอันหวานหอมได้โบยบินจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน ชีวิตในปัจจุบันกลับเป็นการดำรงอยู่อย่างไร้สาระ เพราะแกนของชีวิตอย่างความรัก (Love) ได้พังทลายลงไปหมดสิ้นแล้ว คำถามที่น่าถามก็คือ แล้วรักในปัจจุบันของเมอร์ฟี่ไม่ดีงามหรือ? คำตอบก็คือ มันมีที่มาแห่งการครองคู่ระหว่างเมอร์ฟี่กับ “โอมิ” ที่เพียงออกสตาร์ทก็ดูจะเป็นความตลกอันน่าขันขื่น

ในความเป็นหนังหนึ่งเรื่อง... “เลิฟ” หาได้ใช่หนังอาร์ตแบบติสต์แตกหรือดูเข้าใจยาก เพราะมันเล่าเรื่องแบบเป็นขั้นเป็นตอน เพียงใช้เทคนิคเล่าย้อนกลับหลังทวนความจำของเมอร์ฟี่และทำให้คนดูได้รู้ที่มาของเขา ที่สำคัญคือเข้าใจง่าย แต่ก็ตามสไตล์ของหนังรักดีๆ ที่ย่อมจะมีการเล่นกับความรู้สึกอันซับซ้อนของตัวละคร เอาเข้าจริง มันมีความอ่อนหวานละเมียดละไมอยู่สูง มีทั้งความเข้าใจ-ไม่เข้าใจ มีเร่งเร้าและเบาผ่อน เร่าร้อนและลุ่มลึก สูญเสียและนึกถึงคะนึงหา ฯ และถ้าใครที่คิดจะ “ค้นความ” ตามชื่อเรื่อง เชื่อว่า “Love” ก็น่าจะตอบโจทย์ของคำว่า “รัก” ได้ตามสมควร สุดแท้แต่ใครจะ “ได้ความ” แบบไหนเท่าไหร่จากหนัง ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่โดยรวมแล้ว บรรยากาศของหนังดำเนินไปคล้ายๆ กับหนังรักวัยรุ่นดาษดื่นที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งวันวัย มีหวังมีฝันร่วมกัน ผ่านการใช้จ่ายวันเวลาร่วมกัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่ย่อมจะมีอะไรๆ กัน

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจ ถ้าไม่นับรวมชื่อของตัวละครหลัก ไม่ว่าจะเป็น “อีเล็คตร้า” (Elcetra) ที่ชวนให้รู้สึกถึงพลังดึงดูดอันเร่าร้อนสว่างไสว และนั่นก็จึงไม่น่าแปลกใจ หากเมอร์ฟี่ลุ่มหลงฝังใจกับพลังดังกล่าวนั้น ขณะที่ชื่อของเมอร์ฟี่เอง ก็เขียน “Murphy” แบบที่มีการเฉลยไว้ในหนัง เกี่ยวกับ “กฎของเมอร์ฟี่” (Murphy’s Law) ที่มีภาษิตว่า “อะไรที่สามารถจะผิดพลาด จะผิดพลาด” (Anything that can go wrong, will go wrong.) ซึ่งเมื่อมองตามความหมายของคำนี้ ชื่อ “เมอร์ฟี่” ก็ได้สะท้อนอย่างตรงไปตรงมาถึงชีวิตของชายหนุ่มที่อะไรต่อมิอะไร สุดท้ายแล้วไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง มนุษย์เป็นสิ่งที่ผิดพลาดได้ และเขาก็หนีไม่พ้นกฎเกณฑ์เช่นนั้น

อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ “เชื่อว่า” หนังใส่เข้ามาแบบจงใจ และคล้ายเป็น “เชิงอรรถอ้างอิง” ความสนอกสนใจของผู้กำกับด้วยประมาณหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่นับรวมความหลงใหลที่มีต่อหนังชั้นครูอย่าง 2001 : A Space Odssy ของสแตนลี่ย์ คูบริก ที่โนเอถึงกับหยิบเอามาใส่ปากตัวละครให้พูดถึง อีกหนึ่งองค์ประกอบที่มักเห็นในฉากก็คือแผ่นภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่แปะติดตามผนัง สิ่งนี้ในทางศิลปะภาพยนตร์ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “มีล์ ซอง เซน” (Mise en Scene) หรือการจัดวางองค์ประกอบภาพเพื่อให้เกิดความหมายบางประการ (ซึ่งแต่เดิมเริ่มแรกใช้กับการจัดฉากของพวกละครเวที)

โปสเตอร์หนังแผ่นหนึ่งซึ่งเราจะเห็นก็คือ The Birth of A Nation คิดเล่นๆ ว่าน่าจะเป็นตัวแทนแห่งความเป็นอเมริกันของตัวละครหลักอย่างเมอร์ฟี่ ที่ก็เหมือนหนังจะจิกความเป็นอเมริกันอยู่ลึกๆ ว่าสุดท้ายแล้ว ต้นตอหายนะแห่งรักของชายหนุ่ม ก็อาจจะมาจากความเป็นอเมริกันแบบสุดโต่ง (หรืออย่างน้อยก็ทำให้เขา “มีเรื่อง” จนกลายเป็นความขุ่นเคืองที่ไม่น่าจะเป็นระหว่างเขากับคนรัก) เหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง “ใน” และ “นอก” หนังเรื่อง The Birth of A Nation ที่ปลุกเร้าให้ชาวอเมริกันผิวขาวลุกขึ้นมาเข่นฆ่าคนผิวสีแถมไปสมัครเป็นพลพรรคของกลุ่มคู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan-KKK องค์กรเหยียดผิวแบบสุดโต่ง) มากกว่าสามล้านคน

แต่ที่เด็ดสุดๆ ก็ควรจะยกให้โปสเตอร์หนังเรื่อง Salo ที่โผล่มาบ่อยมากในฐานะส่วนประกอบฉากในห้อง สำหรับคอหนังนอกกระแสสายแข็งๆ ย่อมจะรู้ว่า “สุขนาฏกรรมอเวจี” หนังปี ค.ศ.1975 เรื่องนี้ หฤโหดเพียงใดในการเล่นกับความรุนแรงวิปริตผิดมนุษย์มนาและเปิดเปลือยกันอย่างโจ๋งครึ่มถึงขั้นเป็นหนังต้องห้าม ซาโลสร้างมาจากนวนิยายเรื่อง “หนึ่งร้อยยี่สิบวันที่โซโดม” (Les Cent-Vingt journées de Sodome) ของ “มาร์กี เดอ ซ้าด” ผู้เป็นต้นตำรับที่มาของคำว่า “ซาดิสม์” (ความสุขทางเพศแบบซาดิสม์) กล่าวสำหรับเวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้น ความโหดเถื่อนรุนแรงของมันถึงกับส่งผลให้ผู้กำกับถูกฆาตกรรมภายในบ้านด้วยการที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งขับรถพุ่งชนเข้าไป สาเหตุความนัยแห่งฆาตกรรมก็ดูจะไม่มีอะไรมากไปกว่าความคับแค้นใจที่หนังเรื่องดังกล่าวเสนอไว้อย่างทำร้ายจิตใจจนเกินจะรับได้ สิ่งที่ชวนสงสัยก็คือ แล้วมันมาอยู่ในหนังของกัสปาร์ โนเอ ได้อย่างไร

คำตอบที่พอจะเคลมเอาได้...ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของเขาในการหยิบเอาโปสเตอร์หนังใบนี้มาไว้ในงานตัวเอง...แต่ใช่หรือไม่ว่า ด้านหนึ่งนั้น มันเหมือนกับการทำสัญญาทางวรรณกรรม (ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตามที) กับคนดูผู้ชมไว้ตั้งแต่แรก (เราจะเห็นโปสเตอร์นี้ตั้งแต่ฉากต้นๆ เรื่อง) แล้วว่า สิ่งที่คุณจะได้รู้ โดยเฉพาะภาพที่คุณจะได้เห็น มันอาจเป็นภาพที่เกินลิมิตไปบ้าง นั่นก็จงอย่าตกใจ เพราะอันที่จริง หนังรุ่นคุณปู่คุณพ่ออย่างเรื่อง “ซาโล” ก็ทำฉากแบบนี้มาตั้งแต่นมนานกาเลแล้ว (และอันที่จริง หนังอย่าง In the Realm of the Senses ของญี่ปุ่น ก็โล่งโจ้งโจ๋งครึ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 แล้วด้วยเช่นกัน)

ด้วยเหตุนี้ นี่คือการเคลมเอาความชอบธรรมในการที่จะนำเสนอภาพโจ่งแจ้งในเรื่องเพศของผู้กำกับอย่างกัสปาร์ โนเอ ใช่หรือไม่? ไม่มีใครรู้ชัด แต่จากคำสัมภาษณ์ของโนเอที่ให้กับสื่ออย่างฮอลลีวูด รีพอร์เตอร์ เขาบอกว่า เขานิยมชมชอบเลิฟซีนในหนังอย่าง Don’t Look Now (1973) หรือในหนังซอฟท์พอร์น (Soft Porn ฉากอย่างว่า ระดับน้องๆ หนังโป๊) เรื่อง เอ็มมานูเอล (Emmanuelle 1974) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากรักระหว่างจูลี่ คริสตี้ กับโดนัล ซูเธอแลนด์ ในเรื่อง Don’t Look Now ที่ทำได้วาบหวามและงดงาม ซึ่งก็แน่นอนว่า เอาเข้าจริง ฉากรักในเรื่อง Love ของโนเอ ก็ผ่านการจัดแสงมาอย่างงดงามและดูมีความเป็นอีโรติกอาร์ตอยู่สูงมาก แต่ก็อย่างที่จะบอก การเปิดเปลือยเนื้อหนังมังสาก็มากเช่นเดียวกัน ถึงขั้นที่มีเรื่องเล่าขำๆ ว่า พ่อของโนเอได้ถามเขาว่า “ไอ้จ้อนที่เห็นบนจอนั่นน่ะ ใช่ของลูกหรือเปล่า” ซึ่งเขาก็ตอบว่าไม่ใช่ พร้อมกับหัวเราะ

มุมมองของกัสปาร์ โนเอ ต่อการเปิดเปลือยอวัยวะเพศ โดยเฉพาะของผู้ชายนั้น มีความน่าสนใจอยู่อย่าง เมื่อเขาบอกว่า อันที่จริง เรื่องเปลือยๆ หรือแม้กระทั่งฉากเซ็กซ์พวกนี้ มันมีในหนังมาตั้งนานแล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หนังทั้งฮอลลีวูดหรือแม้กระทั่งหนังยุโรป ทั้งในกระแสและนอกกระแส ก็มีฉากดาราชายเปิดเปลือยอวัยวะเพศมาแล้วไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง ไล่ตั้งแต่ “ฮาร์วี่ย์ ไคเทล” ในเรื่อง Bad Lieutenant (เวอร์ชั่นต้นฉบับ 1992) มาจนถึง “ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์” ในเรื่อง Shame (2011) เพียงแต่หนังเหล่านี้มักจะเปิดเปลือยอวัยวะเพศชายในขณะที่อ่อนตัว ต่างจากหนังของโนเอเรื่องนี้

อันที่จริง ความโป๊เปลือยแบบโจ่งแจ้งชัดเจน เริ่มเป็นกระแสในหนังนอกกระแสมาได้สักพักใหญ่ๆ แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา แม้ว่าเมื่อนับย้อนหลังกลับไปก่อนหน้านั้นสักหนึ่งปี หนังอย่าง Romance (1999) ของแคเธอรีน เบรญาต์ ผู้กำกับหญิงชาวฝรั่งเศส จะเคยสร้างปรากฏการณ์ความอื้อฉาวไว้แล้ว (ด้วยภาพโป๊แบบสุดโต่ง แถมนำเอาพระเอกหนังโป๊อย่างร็อกโก้ เซฟฟริดี เจ้าของฉายา “ม้าป่าอิตาเลียน” มาร่วมแสดงด้วย) แต่อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2000 เป็นต้นมา และยาวนานต่อเนื่องอีกนับทศวรรษจนถึงปัจจุบัน เราแทบจะได้เห็นกองทัพหนังที่เปิดเผยเนื้อหนังกันอย่างคับคั่ง อีกทั้งพูดเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเซ็กซ์กันอย่างโจ๋งครึ่ม

Baise Moi (2000) ซึ่งเปิดทศวรรษอย่างแรงกล้าด้วยการเป็นหนังโป๊อ่อนๆ ที่แรงด้วยประเด็นเฟมินิสม์ INTIMACY (2001) ที่นางเอกของเรื่อง เจอใครเป็นต้องถูกถามถึงฉากอย่างว่าในหนัง เช่นเดียวกับโคลอี้ เซวิญญี่ ในเรื่อง The Brown Bunny (2003) ที่ได้รับปฏิกิริยารุนแรงจากสังคมเพราะฉากออรัลเซ็กซ์ The Dreamers (2003) ที่โชว์เนื้อในแบบจะแจ้งของดาราหนุ่มน้อยและสาวน้อยอีวา กรีน หรือแม้แต่ 9 Songs หนังปี 2004 ก็กล่าวได้ว่าสตรองมากในฉากอย่างว่า นอกจากนั้นยังมี Sex and Lucia (2001) ken park (2002) Anatomy of Hell (2004) Shortbus (2006) หรือแม้เมื่อไม่กี่ปีก่อน หนังรางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์อย่าง Blue is the Warmest Colour ก็มีฉากเลสเบี้ยนที่เร่าร้อนและค่อนข้างจะแจ้งชัดเจน (อีกทั้งผู้สร้างก็เป็นเจ้าเดียวกันกับ LOVE 3D) ทั้งนี้ หลังจาก Nymphomaniac ของผู้กำกับสุดติสม์ผู้สุดโต่ง “ลาส์ ฟอน ทรีเออร์” ออกอาละวาด พร้อมฉากเซ็กซ์แบบจัดเต็มและเปิดเปลือยกันแบบไม่หวงเนื้อหวงตัวทั้งของนักแสดงหญิงและดาราดังอย่างไชอา ลาบัฟ เมื่อปี 2013 มาปีนี้ ก็ไม่น่าจะมีใครแย่งยื้อตำแหน่งหนังอื้อฉาวไปจาก LOVE ได้

คุณจะได้เห็นในสิ่งที่อยากเห็น หรือไม่อยากเห็นก็ตามที ขณะที่มีเรื่องราวให้เล่า หนังก็แทรกฉากอย่างว่าเข้ามาเป็นระยะๆ เหมือนกับหนัง “พอยท์ เบรก” (Point Break) ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเรา ซึ่งพอทำเรื่องท้ายได้สำเร็จที ก็มานั่งเทศนาถกปรัชญาชีวิตกันที เพียงแต่เลิฟเรื่องนี้เป็นการถกถลกผ้าอะร้าอร่าม ภาพธรรมดาอย่างหญิงเปลือยที่เห็นได้เรื่อยๆ ในหนังเรื่องอื่นๆ ไปจนถึงภาพที่ผู้กำกับภูมิใจนำเสนอ ไม่ว่าจะภาพอวัยวะเพศชายที่พร้อมปฏิบัติกิจ ฉากรักระหว่างคนสองคนหรือสามคนหรือแม้แต่หลายๆ คน ฉากการสอดใส่แบบไม่ปิดเม้ม แถมด้วยการหลั่งของผู้ชาย หนักข้อยิ่งกว่าตอนที่ทำ We Fuck Alone เพราะไม่ต้องพึ่งพาเทคนิคภาพที่แสงสว่างวูบวาบ ติดๆ ดับๆ ให้คนดูตาลาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยวิชั่นและวิช่วล ทำให้มวลบรรยากาศภาพบนเตียง (หรือมุมอื่นๆ ตามสะดวก) ออกมาในเชิงสุนทรียะที่มีทั้งความห่ามดิบและหวิวหวาน รวมๆ แล้วก็ถือว่างานด้านภาพถ่ายออกมาสวย หลายๆ ฉากเหมือนกับฉากรักระหว่างจูลี่ คริสตี้ กับโดนัล ซูเธอแลนด์ ในเรื่อง Don’t Look Now ที่กัสปาร์บอกว่าเขาชื่นชอบ

อย่างไรก็ดี การจัดวางองค์ประกอบทางศิลป์ (แสง เสียง ฯ) ให้ดูสวยๆ จนดูประดิษฐ์แบบนี้ สุดท้ายแล้วก็ไม่น่าจะใช่ข้อกล่าวอ้างที่ดีที่จะสร้างความชอบธรรมให้ใครลุกขึ้นมาทำหนังเปิดเปลือยหรือมีเซ็กซ์กันได้ เพราะไม่อย่างนั้น หนังโป๊ของค่ายที่ประดิดประดอยอย่างพวกค่าย X-Art ก็ควรมีสิทธิ์เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลของสถาบันต่างๆ ทางภาพยนตร์บนดินได้เช่นกัน หากแต่ส่วนสำคัญที่ทำให้ LOVE แตกต่างไปจากหนังโป๊ประดิษฐ์พวกนั้นก็คือการมี “เรื่องราว” และ “ประเด็น” ที่แข็งตัวทรงพลังเพียงพอต่อการปลุกเร้าการครุ่นคิดของคนดู และพูดตามจริง สิ่งที่หนังกำลังบอกเล่า ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความหวัง ความฝัน แรงปรารถนา วันเวลาดีๆ ของการอยู่ร่วม รสชาติของการจากพราก ความทรงจำ และการถวิลหา ไปจนกระทั่งการยอมรับกับความเป็นไป รวมทั้งความซับซ้อนแห่งอารมณ์มนุษย์ ทั้งหมดนี้เป็นจุดดีๆ ที่หนังนำเสนอออกมาได้นวลเนียนเหมือนกับงานศิลปะดีๆ ที่เนียนนวลชิ้นหนึ่ง

ส่วนประเด็นที่ว่า โป๊ ลามก กระตุ้นตัณหาราคะ ก็คงเป็นเรื่องวุฒิภาวะของแต่ละคน ร้อยคนยลตามช่อง ก็ร้อยมุมมองที่เกิดขึ้น แต่ก็อย่างว่า เรื่องลับๆ ทั้งหลายแหล่ พอมันลับๆ ก็มักกลับเป็นสิ่งที่น่ารู้น่าเห็นไปซะอย่างนั้น และคงจะเพราะเหตุนี้ กัสปาร์ โนเอ จึงเปิด “ความลับ” ให้เราได้ดูแบบจะๆ แจ้งๆ ด้วยการทำเหมือนกับหนังอีกหลายเรื่อง คือยินดีที่จะไม่ฉายโรง เพื่อคงไว้ซึ่งสิ่งที่คิดและอยากนำเสนอจริงๆ ในหนังของเขา

มีบทสนทนาในหนังระหว่างเมอร์ฟี่กับอีเล็คตร้าตอนท้ายๆ เรื่อง บนถนนที่หิมะโปรยปราย ชายหนุ่มขอร้องให้หญิงสาวเก็บงำเรื่องราวบางเรื่องไว้เป็นความลับ และเขาคงคิดว่าถ้อยคำที่เขาพูดนั้น คมขาดบาดจิตและคิดว่าจะโน้มน้าวใจหญิงสาวของเขาให้เชื่อได้

“Secrets make you stronger.” เมอร์ฟี่ ว่า
ขณะที่อีเล็คตร้าก็ตอบกลับเขาไปอย่างไวว่องคล่องแคล่ว
“Secrets make you darker.”
คำพูดนี้ของหญิงสาว น่าคิดดีนะครับ










ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น