xs
xsm
sm
md
lg

“รักจังเลย รักจังเลย” รุ่นพี่ : หนังผีดีๆ ของปี 2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ในภาพจำที่โดดเด่น “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” อาจจะเคยกำกับภาพยนตร์ที่คนมักแปะป้ายให้ว่าเป็น “หนังแนวๆ ติสต์ๆ” ไม่ว่าจะเป็น “ฟ้าทะลายโจร” หรือ “หมานคร” แต่อันที่จริง อดีตหนุ่มครีเอทีฟที่เติบโตในสายงานโฆษณามาก่อนคนนี้ เคยมีชื่อปรากฏในหนังมากเรื่องกว่านั้น ทั้งในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับ ไม่ว่าจะเป็น “2499 อันธพาลครองเมือง”, “นางนาก” และ “เฉือน” ที่เขารับหน้าที่เขียนบท และต้องไม่ลืมว่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เคยกำกับหนังผีมาแล้วหนึ่งเรื่อง คือ “เปนชู้กับผี” ที่แม้เขาจะไม่ได้เขียนบทเอง แต่มี “ก้องเกียรติ โขมสิริ” เขียนบทให้ ทว่าหนังเรื่องดังกล่าวก็คือประจักษ์พยานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งซึ่งยืนยันในศักยภาพด้านการกำกับหนังผีของเขาได้เป็นอย่างดี นั่นยังไม่นับรวมว่าก่อนหน้านี้ หนังผีที่ทำเงินถล่มทลายระดับร้อยกว่าล้านในบ้านเราอย่างเรื่องนางนากซึ่งถือเป็นหนึ่งในคลื่นลูกแรกๆ ที่ช่วยฟื้นคืนชีพให้แก่อุตสาหกรรมหนังไทย หลังจากซบเซามานานนับทศวรรษ ก็มี “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” นั่งในตำแหน่งเขียนบท

ดังนั้น นอกจากหนัง “แนวๆ” ที่หลายคนชื่นชอบ เรายังอาจกล่าวได้ว่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นคนที่ทำหนังผีได้ดีมากๆ คนหนึ่ง เขามีความเข้าใจในไวยากรณ์ของหนังผีสมัยใหม่ที่บวกรวมเอาสีสันแห่งวันวานเข้าไปผสานได้อย่างลงตัว อันที่จริง เรื่องการหยิบเอาสีสันและชีวิตชีวาในคืนวันอันเก่าก่อนนี้มานำเสนอ ดูจะเป็น “ลายเซ็นเฉพาะตัว” ของเขาเลยก็น่าจะว่าได้ เพราะนอกจากจะแสดงออกอย่างชัดเจนในหนังอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” และ “หมานคร” แล้ว หนังอย่าง “เปนชู้กับผี” ก็มีกลิ่นอายความเก่าในทุกองค์ประกอบ ไล่ตั้งแต่พร็อพ เซ็ตติ้ง ไปจนถึงความคิดความเชื่อหรือกระทั่งแหล่งที่มาหรือแรงบันดาลใจของหนังที่ก็มาจากของเก่าอย่างนิยายภาพของบรมครูเรื่องผีนามว่า “เหม เวชกร” นอกจากนี้ งานอย่าง “นางนาก” นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะเก่าอยู่แล้วแน่ๆ แม้แต่ผลงานเมื่อสองปีก่อนอย่าง “อินทรีแดง” ก็เก่าจริงอะไรจริง

แต่ถึงจะเป็นนักเล่นของเก่า แต่เราก็ยอมรับว่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง คือนักเล่นของเก่าที่มีรสนิยม เรื่องราวจากวันวานสำหรับเขานั้น ดูเหมือนจะเป็นความทรงจำที่งดงามเสมอๆ และพูดก็พูดเถอะ ในหนังเรื่องใหม่ที่หน้าหนังดูต้องการจะตีตลาดวัยรุ่นแบบเต็มๆ อย่าง “รุ่นพี่” (ไล่ตั้งแต่การมีคุณพลอยชมพู ไอดอลของวัยรุ่นเป็นดารานำนั้นก็ชัดเจนในเส้นทางการตลาด) ก็ยังมีร่อยรอยความทรงจำจากวันวาน โดยเฉพาะการพูดถึงการเขียนจดหมายซึ่งเคยเป็นเสน่ห์แห่งการสื่อสารในยุคก่อน หรือแม้แต่ภาพถ่ายใส่กรอบและร้านถ่ายรูปสมัยรุ่นคุณพ่อคุณปู่เมื่อหลายสิบปีก่อน เหล่านี้ได้รับการหยิบมาถ่ายทอดใน “รุ่นพี่” ได้อย่างมีอารมณ์คะนึงหา และถ้าคิดว่าแค่นั้น ยัง “เก่า” น้อยไป ตัวเรื่องราวสามารถให้ความเก่าได้อีก เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังนั้น เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ตอนที่โรงเรียนคอนแวนต์แห่งหนึ่งในหนัง ยังเป็นวังก่อนภายหลังจะปรับเป็นโรงเรียน (อีกทั้งชื่อหนังอย่างคำว่า “รุ่นพี่” ก็มีอารมณ์ของความเก่าด้วยเช่นกัน)

และถ้าแค่นั้น คิดว่ายังเก่าไม่พอ...ก็ต้องบอกว่า นี่คือการนำเอาสไตล์หนังผีสืบสวนสอบสวนกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ยุคหนังชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ หรือแม้แต่ “เปนชู้กับผี” บุกเบิกไว้และได้รับความนิยมอีกหลายปีต่อมา ก่อนที่จะซาไป เพราะคนเริ่มชินกับหนังผีสืบสวนสอบสวนและหมดความตื่นเต้นกับหนังผีหักมุมแล้ว (เพราะรู้แล้วว่ายังไงมันก็ต้องมีหักมุม) ขณะเดียวกัน หนังผีแนวนี้ช่วงหลังๆ หลายต่อหลายเรื่องก็ต้องยอมรับว่าทำออกมาไม่สนุก อย่างไรก็ดี กล่าวในเบื้องต้นนี้ ผมกลับรู้สึกว่า นี่คือการนำเอา “แนวทางเก่า” ที่คนดูเหมือนจะเลิกฮิตไปแล้ว กลับมาทำใหม่อีกครั้งได้อย่างไม่เชย แถมดูสนุก และมันเป็นการยืนยันว่า การทำหนังไม่ได้เกี่ยวกับซ้ำหรือไม่ซ้ำ เก่าหรือใหม่ หากแต่เป็นเรื่องของทักษะฝีมือของคนทำที่จะพาหนังไปได้ดีเพียงใด เพราะพูดกันอย่างถึงที่สุด หนังในโลกนี้มันก็จะวนอยู่ในวงจรไม่กี่แบบ เช่น หนังผีหักมุม หนังรัก หนังแอ็กชั่น หนังตลก ฯลฯ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือว่า สุดท้ายแล้ว ใครจะประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องได้มากกว่ากัน และสำหรับ “รุ่นพี่” ถือว่าเป็นหนังผีที่ประสบความสำเร็จในแง่ดังกล่าวนั้น

...หลังจาก “อินทรีแดง” ออกฉายเมื่อสองปีก่อน หลายคนอาจนึกว่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง คงเลิกร้างห่างลาจากการทำหนัง เพราะอินทรีแดงนั้นไม่เป็นไปตามเป้าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากพักมือไปสองปี วิศิษฏ์ก็กลับมาพร้อมหนังเรื่องนี้ “รุ่นพี่” หนังผีเชิงสืบสวนซึ่งมีศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ “ม่อน” นักเรียนหญิงชั้น ม.6 ผู้ไม่ชอบสุงสิงกับใคร และสายตาที่คนอื่นมองมา เธอเหมือนตัวประหลาดในโรงเรียน ชอบพูดคนเดียวจนใครๆ มองว่าเธอเพี้ยนและบ้า แต่ไม่มีใครรู้ว่าเธอมีความสามารถพิเศษ คือการได้กลิ่นวิญญาณ และเพราะสัมผัสพิเศษนั้น นำพาให้เธอได้พบกับวิญญาณลึกลับของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเธอเรียกเขาว่า “รุ่นพี่” แม้จะมองไม่เห็น แต่เธอก็สามารถสื่อสารกับวิญญาณลึกลับนั้นซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากเธอในการคลี่คลายคดีที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 กว่าปีก่อน และเมื่อเข้าสู่การเป็นคู่หูนักสืบ แม้จะต่างมิติ แต่การได้ร่วมกันสืบหาความจริงซึ่งต้องใช้เวลา ก็กลายเป็นว่า วันเวลาเหล่านั้นได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างม่อนกับวิญญาณลึกลับให้ขยับเป็นความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกันมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ตัวละครหลักของเรื่อง ดำรงอยู่ในโลกสองมิติที่แตกต่าง เราจะพบว่า “รุ่นพี่” นั้นคือหนังผีที่มีอะไรๆ ให้เลือกมองได้มากกว่าสองมิติ ไม่ว่าจะในแง่ของบรรยากาศที่ควบรวมทั้งความเป็นผี หนังวัยรุ่น หนังสืบสวน และหนังรัก ผสมกันออกมาอย่างกลมกลืน หรือแม้แต่ในแง่ของเนื้อหาที่ไล่เรียงไปตั้งแต่สิ่งซึ่งเป็นฐานรากของเรื่องอันเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่อง “ผี” หรือ “โลกแห่งวิญญาณ” ที่ถือว่าทำการบ้านมาดีและทำให้เราเข้าโจผีได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าวิญญาณที่ตายด้วยเหตุปัจจุบันทันด่วนหรือถูกฆาตกรรม (อย่างที่เกิดขึ้นในเรื่อง) นอกจากนั้นยังฉายภาพให้เห็นถึงโลกหลังความตายของดวงวิญญาณเหล่านั้นที่หลายต่อหลายดวง ยังเหมือนติดห่วงร้อยรัด ติดขัดวนเวียนอยู่ในที่เดิมที่ตนตาย ไม่ไปผุดไปเกิด อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับภาพรวม เมื่อมองในเชิงโครงสร้างที่ครอบคลุมเรื่องทั้งเรื่อง เนื้อหาของหนังทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับประเด็นความรุนแรงอันเป็นที่มาของฆาตกรรม-โศกนาฏกรรม

ความรุนแรงที่ว่านั้น เกิดขึ้นมาทั้งจากความไร้เดียงสา และเดียงสามากจนโลภหลง...ในฟากฝั่งของ “คนเป็น” หนังเพิ่มตัวละครเข้ามาหนึ่งตัว คือ “แอ้น” สาวน้อยคอนแวนต์ที่ดูเหมือนจะตกอยู่ในชะตาคล้ายๆ กับม่อน เพราะต่างถูกโดดเดี่ยวจากสังคมรอบข้าง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับแอ้น พูดตามความจริงก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม(วัยรุ่น)ร่วมสมัยที่เราได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยครั้งตามสื่อต่างๆ เป็นความรุนแรงอันน่าเศร้าของวัยไร้เดียงสา ซึ่งหนังหยิบมานำเสนอได้อย่างสะท้อนถึงความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน...ขณะที่ในฟากของ “คนตาย” (ซึ่งยังเกี่ยวพันกับใครบางคนที่ยังไม่ตาย) ก็กล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดทั้งมวล ล้วนเป็นผลพวงแห่งการถูกกระทำและความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่เราจะปฏิเสธว่า เนื้อหาภาพรวมของเรื่องรุ่นพี่...แม้อาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วน...แต่ในส่วนที่สำคัญ นี่คือสารจากหนังที่บอกกล่าวเล่าแจ้งผลลัพธ์แห่งการใช้ความรุนแรงได้สะเทือนอารมณ์

ในความเป็นหนังผี คำถามธรรมดาๆ ที่คนน่าจะอยากรู้ ก็คือ “รุ่นพี่” มันเป็นหนังผีแบบไหน น่ากลัวหรือเปล่า หรือไล่เลยไปจนถึงว่ามันทำให้เราตกใจได้หรือไม่ คำตอบก็คงจะเป็นว่า มันมีอยู่แน่นอนเรื่องแบบนั้น อันที่จริง จังหวะการหลอกต่างๆ ที่เราเห็นใน “รุ่นพี่” มันก็คือสไตล์ที่หนังผีเรื่องก่อนๆ ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ใช้กันหมดแล้ว แต่สิ่งที่จะวัดกันจริงๆ คือใครจะนำมาใช้ได้เหนือชั้นกว่ากัน เหมือนกับที่หนังผีฝรั่งอย่าง เดอะ คอนจูริ่ง (The Cojuring) ที่ใช้ไวยากรณ์การหลอกแบบเดิมมาเล่นอย่างได้อรรถรส และสำหรับ “รุ่นพี่” นี้ก็ราวๆ นั้น หนังใช้สอยผีแบบไม่พร่ำเพรื่อ แต่ถึงจังหวะที่ผีจะออกมาหลอกแต่ละครั้งนั้น ถือว่าทำได้ดีมาก และถ้าพูดจริงๆ หนังเรื่องนี้มีดีตรงที่การรักษาบรรยากาศความน่าสะพรึงให้ตรึงอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะในโลกของผีหรือโลกของคน มันล้วนมีความน่ากลัวแฝงอยู่ในอณูบรรยากาศ และพูดจากใจ มีบางฉากในหนังซึ่งทำได้ดีมากๆ อย่างเช่นฉากในห้องชั้นบนของบ้านของภรรยาทนาย ที่ที่ความวุ่นวายระหว่างโลกของคนกับโลกของผีโคจรมาพบกัน นอกไปจากนั้น ตัวละครอย่างภรรยาของทนายนั้นก็กล่าวได้ว่าเป็นคนที่นำพาบรรยากาศความหลอกหลอนได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมการกระทำของเธอ

ปี 2258 นี้ นึกถึงหนังผีที่เข้าฉาย จำได้ชัดเจนก็น่าจะมีเพียง “อาปัติ” ที่คุณภาพคับแก้ว นอกนั้นก็พูดได้ว่าผ่านมาแล้วผ่านเลย และพูดกันจริงๆ ถ้าหากไม่มี “อาปัติ” มาคั่นก่อนหน้านี้ “รุ่นพี่” ก็คงจะเข้าวินในฐานะหนังผีที่ดีที่สุดของ พ.ศ.นี้ อย่างไรก็ดี ในเรื่องคุณภาพ ถือว่าทั้งสองเรื่องตีคู่กันมาแบบกระทบไหล่ ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลต่อวงการหนังโดยรวมที่มีงานคุณภาพให้คนไทยได้ดูกัน

ในส่วนของคุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ก็ได้แสดงศักยภาพให้ปรากฏอีกครั้งในการทำหนัง เช่นเดียวกับดารานักแสดงทุกคนก็ไม่มีอะไรต้องติติง ไม่ว่าจะดาราหน้าใหม่ที่มาจากสายเน็ตไอดอลเจ้าแม่เพลงคัฟเวอร์อย่าง “พลอยชมพู-ญานนีน ภารวี ไวเกล” กับบทของม่อน หรือแม้กระทั่ง “พงศกร โตสุวรรณ” ที่มาในบทของผี “รุ่นพี่” ซึ่งจริงๆ ตัวละครตัวนี้ ถ้าจะว่าจริงๆ มันมีสองอย่างที่ต้องพูดเกี่ยวกับเหตุผลที่เขาเล่นแข็งๆ แบบนั้น หนึ่งเป็นเพราะบทบาทของผีนักสืบ นิ่งๆ ไม่แสดงอารมณ์อะไรมากมาย และสอง นี่ถือเป็นลายเซ็นที่เราได้เคยเห็นมาบ้างแล้วในงานของคุณวิศิษฏ์ โดยเฉพาะเรื่อง “หมานคร” ที่ตัวละครทุกตัวเล่นแข็งหมด ทั้งนี้ สไตล์การกำกับการแสดง “แข็งแต่ไม่ทื่อ” แบบนี้ คุณวิศิษฏ์ได้อิทธิพลมาจาก “อากิ คอริสมากิ” ผู้กำกับชาวฟินแลนด์ (ผลงานเช่น Drifting Cloud, Shadows in Paradise)

และถ้าจะว่ากันที่ลายเซ็นอีกอย่าง น่าจะเป็นเรื่องของการใช้สอยคำพูดเด่นๆ เป็นที่จดจำ อย่างที่เคยทำไว้ในหนังเรื่อง “2499 อันธพาลครองเมือง” ซึ่งมีเวิร์ดดิ้งที่คนดูจดจำได้มาจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น “แถวนี้แม่งเถื่อน บอกตรงๆ ถ้าไม่แน่จริงอยู่ไม่ได้” หรือ “เรื่องนี้เราไม่รู้ว่ะ แล้วแต่ปุ๊” ไปจนถึง “เป็นเมียเรา ต้องอดทน” ฯ ซึ่งมาถึง “รุ่นพี่” เรื่องนี้ เชื่อว่า คำพูดอย่าง “รักจังเลย รักจังเลย” ก็น่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งกิมมิกที่ทำให้ระลึกถึงหนังเรื่องนี้ได้

และที่สำคัญ “รักจังเลย รักจังเลย” ที่ถูกใช้ในหนังนั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อจะให้อารมณ์สนุก หากแต่ยังกระทบกระเทียบเหน็บแนมถ้อยคำอันฟรุ้งฟริ้งมุ้งมิ้งชวนผู้หญิงไม่เดียงสาถอดเสื้อผ้าอาภรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เพียง “คำอ้าง” ของบางคนที่มักจะใช้เป็นเครื่องมือในการเผด็จใจใครอีกคน แต่ในเบื้องลึกของจิตใจ หาได้ “รักจังเลย” อย่างคำที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด และคำนี้ก็ทำให้ใครต่อใครเจ็บปวดมาแล้วไม่รู้กี่รายต่อกี่ราย

แต่นั่นคงไม่ใช่ “รุ่นพี่” ของพลอยชมพู
และไม่ใช่ “รักจังเลย” ของคนดูผู้ชม
เพราะ “ม่อน” นั้นรู้สึกดีต่อรุ่นพี่จริงๆ
ขณะที่เราคนดูก็จะรู้สึกดีต่อ “รุ่นพี่” เรื่องนี้จริงๆ เช่นกัน...










ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น