กระทรวงวัฒนธรรมเนรมิตบริเวณท้องสนามหลวง จัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 232 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ระหว่าง 19-21 เมษายนนี้ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของประเทศ เมื่อ 21 เมษายน 2325
ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เล่าว่า ปีนี้ วธ. จับมือกับภาครัฐและเอกชน จัดงานอย่างยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา จัดซุ้มนิทรรศการให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนได้เรียนรู้รากเหง้าประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปของกรุงเทพฯตั้งแต่สร้างบ้านแปลงเมืองจนถึงปัจจุบัน สำหรับวันที่ 19 เมษายน จะพบความอลังการของริ้วขบวนธงชาติ และการแต่งกายย้อนยุครัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 และภายในงานจัดมุมให้ประชาชนได้ถ่ายภาพย้อนยุคอีกด้วย
ตลอดงานเฉลิมฉลอง 232 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ นั้น วธ. ได้คัดสรรของดี 50 เขต และของดีบ้านฉันจากทั่วประเทศ นำมาจัดแสดง สาธิตขั้นตอนการทำ และออกร้านจำหน่ายสินค้า อาทิเช่น การสาธิตการทำบาตรด้วยมืออย่างประณีตและสวยงาม จากชุมชนบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งเป็นชุมชนที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพฯเป็นราชธานี มีชื่อเสียงด้านการทำบาตรพระมากว่า 100 ปี
นอกจากนี้ ยังจัดฉายหนังกลางแปลง เช่น คู่กรรม 2499 อันธพาลครองเมือง (2540) เรื่องตลก 69 และจัดฉายวีดิทัศน์ชุด “เพลินกรุง” ซึ่งเป็นการนำภาพยนตร์ข่าว หนังบ้าน ภาพบันทึกเหตุการณ์ สารคดี หนังเรื่อง มาร้อยเรียงให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพการเปลี่ยนผ่านของกรุงเทพฯ จากยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับสุดยอดของการแสดงมาร่วมเฉลิมฉลอง 232 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ อ.นิภา โสภาสัมฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บอกว่า ปีนี้ได้จัดการแสดงที่สื่อความเป็นมรดกของชาติ เช่น ละครนอก เรื่องแก้วหน้าม้า สุดยอดวรรณคดีไทยที่มีเรื่องราวสนุกสนาน และสร้างเสียงหัวเราะทุกครั้งที่รับชม จากตัวละครเด่น คือ “นางแก้วหน้าม้า” ที่มีฟันเหยิน และหน้าตาที่สุดแสนจะอัปลักษณ์ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ผสมผสานกับเนื้อเรื่องที่น่าสนใจแฝงด้วยข้อคิดเรื่อง การไม่มองคนเพียงแค่รูปร่างหน้าตา แต่ให้มองคนที่จิตใจ ก็จะนำมาแสดงเพื่อถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมไทย ทั้งการร้องและการรำ รับรองว่าชมแล้วต้องเป็นที่ชื่นชอบอย่างแน่นอน
นอกจากยังมีการแสดงที่สุดยอดการแสดงแสงเงาและสื่อผสม ชุด “ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” การแสดงชุดภิรมย์รำเพย สมัยรัชกาลที่ 5 มหรสพตั้งแต่ยุครัชกาลที่ 1 - 9 การแสดงโขน ลิเกไชยา มิตรชัย หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก เพลงพื้นบ้าน วงดนตรีลูกทุ่งชิงช้าสวรรค์ การแสดงของสภาวัฒนธรรม กทม. การแสดงศิลปะเพื่อเยาวชน 4 ภาคการแสดงนานาชาติ คอนเสิร์ตทั้งจาก ศิลปินแห่งชาติ สุนทราภรณ์ ศิลปินเดอะสตาร์
ด้าน ปริญญา สุขชิต นักประดิษฐ์ว่าวไทย บอกว่า ดีใจที่ได้ร่วมงานครั้งนี้ และทุกคนจะได้เห็นการขึ้นว่าวพรวน 9,232 ตัว และว่าวงู จำนวน 999 ตัว ในท้องฟ้าท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นการขึ้นว่าวที่มากที่สุดในโลก สำหรับว่าวพรวน 1 ชุด จะประกอบไปด้วยว่าวตัวใหญ่ 1 ตัว ร้อยสายตัวเล็กอีก 40 ตัว ซึ่งตัวว่าวจะติดรูปที่เกี่ยวเนื่องกับรัตนโกสินทร์ เช่น ภาพเก่าวัดพระแก้ว เทียบกับภาพปัจจุบัน ภาพเก่าวัดอรุณราชวราราม กับปัจจุบัน ภาพภูเขาทองเก่า วัดสระเกศราชวรมหาวิหารกับปัจจุบัน เป็นต้น การขึ้นว่าวครั้งนี้จะใช้คนขึ้นว่าวประมาณ 400 คน อีกทั้งจะเปิดให้ประชาชนที่มาชมงานได้ร่วมขึ้นว่าวรูปหัวใจสีม่วง เขียนคำว่า “ทรงพระเจริญ” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีด้วย
ส่วนจำนวนว่าว 9,232 ตัว ได้หลักคิดมาจาก เลข 9 หมายถึงเราอยู่ในยุคของรัชกาลที่ 9 ส่วนตัวเลข 232 หมายถึงปีของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกันนี้ ในช่วงของการจัดงาน ยังมีการจัดแข่งประกวดว่าวจุฬา ปักเป้า ในรูปแบบสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย ซึ่งถือว่าว่าวคือเอกลักษณ์ คู่กับท้องสนามหลวง กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ปัจจุบันนี้แทบไม่มีให้เห็นแล้วโดยในงานนี้จะมีการสอนและสาธิตการทำว่าว พร้อมกับแจกว่าวให้ผู้เข้าร่วมงานวันละ 232 ตัวด้วย
นานทีปีหน งานนี้ชาวไทยไม่ควรพลาดโอกาสมาร่วมเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งจะได้ศึกษารากเหง้าของตนเอง ดื่มด่ำความบันเทิง ลิ้มรสอาหารไทยหลากหลายเมนูที่หารับประทานยาก แถมยังช็อปสินค้าของดีจากทั่วประเทศไปเป็นที่ระลึก