xs
xsm
sm
md
lg

The Martian : มายาคติแห่งชาตินิยมอเมริกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



“ไม่มีอะไรภายใต้จักรวาลนี้ที่อเมริกาทำไม่ได้
แม้กระทั่งการยังชีพบนดาวอังคารด้วยมันฝรั่ง”

.............................

นับจนถึงตอนนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับระดับอาวุโสแห่งวงการ “ริดลี่ย์ สก็อตต์” ได้เทียบท่าเข้าจอด ณ กลางใจของคนดูผู้ชมชนิดที่แทบจะกล่าวได้ว่า “สมบูรณ์แบบ” เพราะมองซ้ายหันขวา ก็แทบจะแลหาผู้ที่ไม่รื่นรมย์ในการรับชม เดอะ มาร์เชี่ยน แทบไม่เจอเลยสักคน หรือแม้กระทั่งผู้ที่เฉยๆ หรือไม่ชอบ ก็ดูจะไม่ค่อยกล้าว่ากล่าวแบบเต็มปากเต็มคำนักว่าหนังเรื่องนี้มีจุดบกพร่องอย่างไร ด้วยเหตุนี้ เราจึงสามารถอนุมานได้ว่า เดอะ มาร์เชี่ยน เป็นหนังยอดนิยมเรื่องหนึ่ง ซึ่งขออนุญาตเกริ่นกล่าวไว้ตั้งแต่บรรทัดนี้ครับว่า บทความนี้อาจไม่ได้แตะโดยตรงต่อความดีงามในด้านการนำเสนอของภาพยนตร์ตลอดจนเทคนิคอะไรต่างๆ ที่ประกอบสร้างกันขึ้นมาเป็นเดอะ มาร์เชี่ยน หากแต่อยากชวนคิดถึงแนวคิดบางอย่างที่แฝงฝังมาพร้อมกับภาพยนตร์เรื่องนี้

โดยพื้นฐาน ผมก็เหมือนกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ไม่ได้รังเกียจรังงอนกับผลงานของ “ปู่ริดลีย์” ที่ใน พ.ศ.นี้ก็อายุ 77 ปีเข้าไปแล้ว (มากกว่าปู่จอร์จ มิลเลอร์ แห่ง Mad Max: Fury Road ถึง 7 ปี) แต่ทว่าก็ยังมีพละกำลังที่จะทำหนังให้สำเร็จออกมาได้ การทำหนังให้เสร็จสักเรื่องนี่ เป็นงานโหดนะครับ อย่าว่าแต่ผู้สูงวัย แม้กระทั่งคนหนุ่มสาวหลายคนยังออกอาการ “เหี่ยว” ได้ แต่ริดลี่ย์ สก็อตต์ ตลอดระยะเวลากว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา ก็ทำหนังใหม่ออกฉายตลอด และถ้าจะว่ากันจริงๆ หนังของปู่แต่ละเรื่องก็น่าจะต้องเปลืองพลังงานมากมาย นึกภาพในใจครับว่า คนที่จะทำหนังอย่าง Alien ได้ Blade Runner ได้ ไปจนถึง Gladiator, Black Hawk Down, American Gangster, Body of Lies มาจนถึงยุคล่าสุดอย่าง Prometheus และ Exodus: Gods and Kings งานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องข้องเกี่ยวกับคนและเทคนิคจำนวนมาก แค่นึกภาพก็น่าเหนื่อยแล้วล่ะครับ แต่ริดลี่ย์ สก็อตต์ ในวัย 77 ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเขายังสามารถที่จะทำงานซึ่งชวนให้อลหม่านวุ่นวายในชีวิตได้อยู่ และลึกๆ ปู่ริดลี่ย์ ก็อาจจะเหมือนกับไดอะล็อกเชิงเทศนาที่ตัวเอกของ “เดอะ มาร์เชี่ยน” พูดไว้ในตอนท้ายเรื่องก็ได้ว่า คุณจะลุกขึ้นสู้หรือยอมแพ้...แน่นอน ริดลี่ย์ สก็อตต์ ไม่เคยยอมแพ้กับการทำหนัง

ในทำนองเดียวกันนั้น การลุกขึ้นสู้ หรือจะยอมแพ้ ก็เป็นแกนเนื้อหาที่ถูกวางไว้บนบ่าของตัวละครเอกของเรื่องอย่าง “มาร์ค วัทนีย์” (แมตต์ เดม่อน) นักบินอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปสำรวจดาวอังคารพร้อมกับเพื่อนสมาชิกอีก 5 คน แต่ในวันที่กำลังจะถอยทัพกลับคืนสู่โลกนั้น กลับเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้มาร์คพลัดหลุดจากเพื่อนร่วมทีม ซึ่งในท่ามกลางพายุที่โหมกระหน่ำอย่างโหดร้าย ทุกคนและทุกฝ่ายต่างก็ลงความเห็นว่ามาร์คน่าจะตายไปแล้วเรียบร้อย ทางนาซ่าที่รับผิดชอบภารกิจนี้ก็แถลงข่าวการตายและจัดงานศพอย่างใหญ่โตมโหฬารให้แก่มาร์คผู้ล่วงลับ...ก่อนผู้ชมจะได้เห็นภาพต่อมา ซึ่งนักบินอวกาศของเรากำลังคลานต้วมเตี้ยมขึ้นจากกองทรายที่ถมทับ และในลำดับถัดจากนั้นก็เป็นเรื่องของการเอาตัวรอดอย่างโดดเดี่ยวบนดวงดาวที่ไม่สามารถติดต่อกับใครได้

เดอะ มาร์เชี่ยน คือผลงานที่สร้างมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันของ “แอนดี้ เวียร์” บรรยากาศบางส่วนของนิยาย อาจชวนให้นึกถึงหนังอย่าง Apollo 13 ที่ตัวละครหลัก แม้ไม่ถูกโดดเดี่ยว แต่ก็ต้องดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว รอคอยมือที่จะมาเกาะเกี่ยวหยิบยื่นความช่วยเหลือ แต่ระหว่างนั้น ก็ต้องต่อสู้คับเคี่ยวกับความยากลำบากไปตามลำพัง ความสนุกของหนังก็คงอยู่ตรงนี้ ที่นำพาหนังให้เดินไปข้างหน้าด้วยคำถามว่าเขาจะรอดหรือตาย ด้วยวิธีการไหนอย่างไร และก็อย่างที่ผู้ชมทุกท่านจะรู้สึกได้ว่าในพาร์ทของมาร์คนั้นมีส่วนผสมหลายๆ แบบรวมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแบบทอม แฮงก์ ติดเกาะ ในเรื่อง Cast Away, การหลุดลอยเคว้งคว้างกลางห้วงหาวแบบแซนดร้า บุลล็อก และจอร์จ คลูนี่ย์ ในเรื่อง Gravity ทั้งนี้อาจรวมถึง Interstellar ในส่วนของแม็ทธิว แม็คคอนนาเฮย์ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งหนึ่งซึ่งอาจนับว่าเป็นเสน่ห์ที่แตกต่างออกไปในบทของแม็ตต์ เดม่อน แห่ง เดอะ มาร์เชี่ยน น่าจะเป็นเรื่องของการเสริมเพิ่มอารมณ์ขันเข้าไป เป็นอารมณ์ขันแบบตลกร้ายและเจ็บปวดของคนที่โดดเดี่ยวลำพังและแทบจะหมดสิ้นความหวังในการอยู่รอด

ความเก่งกล้าสามารถ ความฉลาดเฉลียวในการเอาตัวรอดของมาร์ค วัทนี่ย์ พูดจริงๆ มันคือการฉีดอุดมคติแบบอเมริกันผ่านเข้าไปในเส้นเลือดของตัวละครได้อย่างแนบเนียน ซึ่งก่อนอื่น เราคงไม่ปฏิเสธนะครับว่า หนังฮอลลีวูดนั้น ในสัญลักษณ์แบบหนึ่ง มันคือตัวแทนแห่งการส่งผ่านอุดมคติบางประการของความเป็นอเมริกัน เราจะได้เห็นความเป็นชาตินิยมแบบอเมริกันที่ถูกเล่าผ่านหนังแทบจะทุกปี ซึ่งอุดมคตินิยมนั้น ส่วนใหญ่จะถูกเล่าผ่านความเป็นฮีโร่หรือความเจ๋งของตัวละคร (ที่ก็เป็นอเมริกัน) แต่การพูดแบบนี้นั้น อาจจะเป็นการกล่าวหาลอยๆ เพราะอันที่จริง แต่ละชาติก็มีการฮีโร่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่พูดถึงอเมริกัน ภาพที่รู้สึกจะเป็นภาพที่ชัดกว่า

อย่าลืมนะครับว่า ถ้าย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์แห่งการสำรวจอวกาศจริงๆ ภารกิจนี้เกิดขึ้นมาใน พ.ศ.ที่สงครามเย็นกำลังร้อนแรง การส่งยานขึ้นไปสำรวจอวกาศของทั้งสองฝ่าย อเมริกาและโซเวียต ล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาตินิยมเพื่อแสดงว่าใครเหนือกว่าใคร เรื่องของชายที่ชื่อ “นีล อาร์มสตรอง” ก็ฟูฟ่องเลื่องลือขึ้นในยุคนั้นกับการเป็น “คนอเมริกัน” คนแรกที่ไปสำรวจดวงจันทร์ได้สำเร็จ หากย้อนกลับไปในยุคนั้น เรื่องของการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เกี่ยวกับภารกิจเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ซึ่งเหตุและผลก็ดูจะไม่ได้มีอะไรมาก เพราะถ้าพูดถึงรายได้หรือผลลัพธ์อะไรที่จะเกิดจากโครงการเหล่านั้นก็ไม่ได้จะเกิดดอกออกผลอะไร แถมจะไปแต่ละครั้งก็ต้องใช้ทุนมหาศาล แต่ก็อย่างว่า ชาติที่ยิ่งใหญ่ ฆ่าได้แต่หยามไม่ได้ มันก็จึงจำเป็นต้องแสดงแสนยานุภาพแห่งชาตินิยมเกทับบลัฟข่มกันไปมาของทั้งสองฝ่าย

สำหรับเดอะ มาร์เชี่ยน นี่ดูเหมือนจะไปไกลยิ่งกว่านั้น เพราะไม่ใช่ดวงจันทร์ และไม่ใช่แค่เพียงสำรวจดาวอังคาร หากแต่ยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บนดาวอังคาร ซึ่งเป็นที่รับรู้กันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า สภาพของมันไม่เอื้อเลยแม้แต่น้อยต่อการมีชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดใด

เจ๋งไหมล่ะ อเมริกัน?

สำหรับคนที่ดูหนังอเมริกันหรือหนังฮอลลีวูดมาระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่าน่าจะพอคุ้นเคยกับภาพแบบหนึ่งซึ่งหนังเหล่านั้นชอบนำเสนอ นั่นก็คือภาพของผู้คนที่แห่ห้อมล้อมกัน ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งแล้วลุ้นระทึกไปกับภารกิจบางอย่างด้วยดวงตาอันตื่นเต้น ขณะเดียวกัน การรวมเอาคนหลายเชื้อชาติภาษามาไว้ในหนังเรื่องเดียวกันของหนังอเมริกัน ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอ และเดอะ มาร์เชียน ก็ไม่พลาดตรงจุดนี้

ในแง่มุมนี้ อาจจำเป็นต้องย้อนไปกล่าวถึงบิดาแห่งวิชา “มายาคติ” (Myth) สักเล็กน้อย คนคนนั้นมีนามว่า “โรล็องด์ บาร์ตส์” เขาเคยเขียนบทความไว้หนึ่งชิ้นด้วยการหยิบยกเอาภาพถ่ายบนปกนิตยสารซึ่งเป็นภาพนายทหารผิวสีคนหนึ่งสวมเครื่องแบบทหารฝรั่งเศสกระทำวันทยาหัตถ์และสายตาจับจ้องไปที่ธงชาติฝรั่งเศสซึ่งปลิวไสวในสายลม โรล็องด์ บาร์ตส์ กล่าวไว้ว่า

“ไม่ว่าข้าพเจ้าจะไร้เดียงสาหรือไม่เพียงใด ข้าพเจ้าก็เห็นได้ชัดว่าภาพนี้กำลังสื่ออะไรแก่ข้าพเจ้า มันสื่อว่าฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ มันสื่อว่าลูกหลานทุกคน ไม่ว่าจะมีผิวสีใด ต่างก็รับใช้จักรวรรดิแห่งนี้ด้วยความจงรักภักดีใต้ร่มธงผืนเดียวกัน”

ในมุมมองเดียวกันนั้น เราจะพูดอย่างไรกับการที่หนังฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่อง มักจะรวมเอาคนหลากหลายเชื้อชาติภาษา หลายประเทศ มาไว้ในเรื่องเดียวกัน (โดยเฉพาะในกลุ่มหนังที่ขับเน้นให้เห็นถึงความเก่งกล้าสามารถของมนุษย์) แน่ล่ะว่า ในยุคหลังๆ เราอาจได้ยินได้ฟังเหตุผลทำนองว่ามันก็เป็นเรื่องของการตลาด คือนำซูเปอร์สตาร์หรือดาราดังจากประเทศนั้นๆ มาใช้สอย บทน้อยบทมากก็ว่ากันไป เพื่อให้หนังขายได้ง่ายขึ้นในประเทศนั้นๆ เป็นการตีตลาดอีกรูปแบบของหนังฮอลลีวูด แต่แง่มุมที่ซ้อนทับอยู่ในความจริงข้อนี้ ก็คล้ายจะส่งเสียงอยู่เบาๆ ว่า จักรวรรดินิยมอเมริกันนั้น สามารถที่จะรวมชาติรวมผู้คนทั่วโลกไว้ได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน เอเชีย แอฟริกา หรือตะวันออกไกล เช่นเดียวกับการที่ภาพบนปกนิตยสารภาพนั้นที่แสดงถึงความเกรียงไกรภายใต้ผืนธงชาติของฝรั่งเศส

ฉากที่น่าสนใจมากฉากหนึ่ง คือตอนที่ประชาชนไปห้อมล้อมร่วมลุ้นกับภารกิจของนักบินอวกาศที่จัตุรัสไทม์สแควร์ กลางกรุงนิวยอร์ก ที่จริง สถานที่แห่งนี้ถูกใช้มาแทบนับครั้งไม่ถ้วนในหนังฮอลลีวูด แม้แต่สไปเดอร์แมนก็เคยไปวัดฝีมือกับตัวร้ายตรงสี่แยกแห่งนี้ ไทม์สแควร์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด หลายท่านคงทราบดี และความหมายที่ถูกมอบให้แก่จัตุรัสแห่งนี้ก็คือมันเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งทุนนิยม (Capitalism) และทุนนิยมนี่ก็คงจะรู้กันนะครับว่าใครเป็นพี่ใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางบรรยากาศอารมณ์แห่งการลุ้นระทึกว่าภารกิจอันสำคัญยิ่งนั้นจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แบบเดียวกับบรรยากาศที่เคยเกิดขึ้นในหนังอเมริกันหลายต่อหลายเรื่อง เช่น ดิ อินดิเพนเดนซ์ เดย์ (แบบรอส่งเสียงเฮและซาบซึ้งกับภารกิจ) สิ่งที่หนังกำลังสื่อสารแทรกซ้อนเข้ามาก็คือความยิ่งใหญ่ของอเมริกา โดยมีไทม์สแควร์เป็นสัญลักษณ์ ประชาชนที่มุงดูทีวีจอยักษ์ซึ่งถูกถ่ายจากมุมกล้องด้านล่างมองขึ้นไปข้างบน เห็นตึกรามใหญ่โต เป็นสายตาเดียวกับที่มักจะใช้ในการมองสิ่งที่ยิ่งใหญ่เฉกเช่นการมองพระเจ้า

เมื่อมองในมุมนี้ ความยิ่งใหญ่ของมาร์ค วัทนีย์ แท้ที่จริงก็คือตัวแทนแห่งลัทธิวิธีคิดแบบเชิดชูอเมริกันฮีโร่ “ไม่มีอะไรภายใต้จักรวาลนี้ที่อเมริกาทำไม่ได้ แม้กระทั่งการยังชีพบนดาวอังคารด้วยมันฝรั่ง” แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็เป็นเรื่องปกติครับ ไม่มีชาติไหนในโลกหรอกกระมังที่จะไม่อวยชาติตัวเอง

ถ้าเปรียบชาติเป็นปัจเจก ปัจเจกก็ย่อมจะมีห้วงขณะที่หลงใหลในปัจเจกหรือหลงใหลในตน แต่หลงใหลแล้วอย่างไรนั่นเป็นประเด็นหนึ่ง เพราะถ้าหลงใหลว่าตนเองประเสริฐกว่าคนอื่นแล้วยืนอยู่เฉยๆ ก็คงไม่เท่าไหร่ หากถ้าหลงใหลในตนแล้วรุกรานคนอื่นหรือพานคิดว่าคนอื่นต่ำต้อยด้อยค่ากว่าเสมอ นั่นก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เช่นกัน...

*** ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "มายาคติ" เขียนโดย โรล็องด์ บาร์ตส์, แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ










ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น