xs
xsm
sm
md
lg

ป ร บ มื อ ใ ห้ ดั ง ๆ : ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ น่าจะเป็นชื่อที่รู้จักในวงกว้างนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพราะหลังจากเวลากว่าสิบปีบนเส้นทางคลุกคลีอยู่กับภาพยนตร์ แม้ชื่อและผลงานของเขาจะได้รับการกล่าวชมมากถึงมากที่สุด แต่ก็ในวงวงหนึ่ง ซึ่งพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือวงของผู้ชมที่ดูหนังนอกกระแส แม้ว่าตามความจริง เต๋อ-นวพล จะมีส่วนร่วมในหนังดังๆ โดยการเขียนบทให้กับภาพยนตร์ของค่ายจีทีเอชมาแล้วถึงสองเรื่องคือ “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” และ “Top Secret วัยรุ่นพันล้าน” และถึงวันนี้ ไม่ว่าเขาจะยินดีหรือไม่ยินดี (แต่เชื่อว่าน่าจะยินดี) ผลงานอย่างฟรีแลนซ์: ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ จะทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักตั้งแต่คนรักหนังโรงเล็ก ไปจนถึงคนดูหนังโรงใหญ่

เพราะอย่างน้อยที่สุด นี่คือหนังเรื่องแรกของเขาที่ “ฉายทุกโรงภาพยนตร์” จริงๆ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากสำหรับหนังไทยสักเรื่องที่จะได้ฉายครบทุกโรงภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่องนี้ ตั้งแต่ลิโด้ไปจนถึงพารากอนและเอสเอฟ และตั้งแต่เฮาส์อาร์ซีเอไปจนกระทั่งเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ นั่นยังไม่นับรวมว่า การมีดาราระดับแม่เหล็กทั้งสองคนแสดงนำ ทั้งซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ และ “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” ก็คือแรงผลักชั้นดีที่ทำให้หนังเรื่องนี้ “ดัง” ตั้งแต่ยังไม่เข้าฉาย

ยังไม่ก้าวเข้าไปในรายละเอียด และมองอย่างพื้นผิว ผมเห็นว่า ในงานของเต๋อ-นวพล มักจะมีอารมณ์ขันเป็นส่วนประกอบเสมอๆ และอารมณ์ขันนี้ก็ชัดเจนว่าไม่ใช่เป็นการยิงมุกต่อมุก หากแต่เป็นอารมณ์ขันเมื่อฉุกคิด หนังอย่าง “แมรี่ อิส แฮปปี้, แมรี่ อิส แฮปปี้” เอาเข้าจริงก็มีความเป็นหนังตลกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่เป็นตลกตั้งคำถาม ต่อกฎเกณฑ์ ต่อความเป็นไป และต่ออะไรๆ ต่างๆ ที่โอบล้อมชีวิตวัยรุ่น (หญิง) หรือแม้แต่หนังสั้นที่เขาเขียนบทและกำกับซึ่งฉายในรายการ “บันทึกกรรม” เมื่อเกือบสิบปีก่อน อย่าง “มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน เกลียดเมธาวี” ก็เป็นหนังที่ดูบันเทิง แต่ในความบันเทิงนั้นกลับแฝงไว้ด้วยประเด็นอันน่าขันขื่นหรือตลกเจ็บปวด ในแง่ที่กล่าวถึงจริตนิสัยของมนุษย์ที่มีธรรมชาติตัดสินผู้อื่นโดยไม่คิดแม้แต่จะอยากทำความรู้ความเข้าใจคนผู้นั้นอย่างถ่องแท้ สักแต่เล่ากันไป ฟังกันไป และนินทาว่าร้ายกันไปต่อๆ กัน ยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เข้ามามีบทบาท การจะทำให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นปีศาจหรือมารร้าย ก็ทำได้โดยง่ายเพียงคลิกไลค์แล้วกดแชร์ หรือรีทวิต โลกและชีวิตในความคิดของหนังของเต๋อ-นวพล บ่อยครั้งบ่อยหน มันดูขันขื่นอย่างน่าประหลาด คือมี “สาระ” อยู่ในมุกตลก ต่อเมื่อขำแล้วขบและคิด เราจะพบว่า เอ้อ ชีวิตมันก็เป็นเช่นนี้นี่สินะ!

และไม่มากไม่มาย ผมเห็นว่า สไตล์ความตลกหรืออารมณ์ขันแบบนั้น ก็มาเต็มๆ ในงานหนังเรื่องใหม่ของเขานี้ที่ชื่อเรื่องก็ฟังดูชวนขำ “ห้ามป่วย ห้ามพัก” แถม “ห้ามรัก” อีกต่างหาก ซึ่งทั้งสามสภาวะนี้ เอาเข้าจริง มีใครที่ไหนจะห้ามกันได้ ห้ามป่วยนี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะใครจะรู้ว่ามันจะป่วยเอาตอนไหนยังไง ห้ามพักหรือก็เป็นไปได้ยาก เพราะการพักผ่อนเป็นส่วนสำคัญของชีวิต จะป่วยกล่าวไปไยถึงเรื่องหัวใจ ห้ามน้ำห้ามไฟได้ ค่อยห้ามหัวใจไม่ให้รัก...

“ฟรีแลนซ์: ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” ดำเนินอยู่บนเส้นเรื่องของตัวละครหลักที่รับบทโดยซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ เขาคือ “ยุ่น” ยอดมนุษย์ขั้นเทพผู้หากินด้วยการเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ พิสูจน์ได้จากตารางงานบนปฏิทินที่แน่นเอี้ยดทุกวัน แถมยังทุ่มเทให้กับงานชนิดที่พูดได้ว่าไม่ยอมหลับยอมนอนจนกว่างานจะเสร็จและส่ง (หรือแม้แต่แก้ไขให้เรียบร้อยตามความต้องการของลูกค้า) หนังในพาร์ทแรกๆ บอกกล่าวเล่าถึงโลกของฟรีแลนซ์ได้แบบเห็นภาพ และยิ่งฟรีแลนซ์ผู้ไม่ยอมศิโรราบให้กับอุปสรรคเรื่องความเร่งรีบอย่างยุ่นด้วยแล้ว ฟรีแลนซ์แบบเขาจึงเป็นที่ต้องการตัว ภาพของ “เจิด” เด็กหนุ่มผู้มุ่งมั่นในเส้นทางสายกราฟฟิกดีไซน์ที่หัวใจเต้นพองโตเมื่อได้พบหน้ายุ่นตัวเป็นๆ คือตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่าชายหนุ่มวัยสามสิบกว่า ผู้สามารถอดนอนได้ติดต่อกันหลายวันเพื่อทำงานให้เสร็จ เป็นที่กล่าวขวัญถึงของคนในวงการและเป็นไอดอลของน้องๆ มากเพียงใด

แต่เมื่อ “ร่างกาย” ถูกใช้มากใช้เยอะ ต่อเนื่องยาวนานหลายปี ก็เป็นธรรมดาที่มันจะประท้วงและส่งสัญญาณเตือนถึงการเสื่อมโทรม ซึ่งสำหรับยุ่น มันคือปุ่มปมผื่นคันที่เริ่มขึ้นตามผิวหนังร่างกาย และเม็ดผื่นทั้งหลายที่ลุกลามจากเม็ดสองเม็ดเป็นหลายๆ เม็ด ก็ส่งผลให้สปีดในการทำงานของยุ่นด้อยประสิทธิภาพลง เพราะเขาต้องใช้มือซึ่งควรจะได้ทำงานไปคุ้ยแคะแกะเกาผื่นคันเหล่านั้น จนกระทั่งอดรนทนไม่อยู่ ก็ต้องไปหาหมอ และการหาหมอก็นำพาให้เขาได้พบกับ “อิม” (ดาวิกา โฮร์เน่) คุณหมอแสนสวยที่จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของชายผู้ไม่เคยอ่อนข้อให้กับงาน หรือว่าฟรีแลนซ์ผู้กำลังเดินออกห่างจากจุดที่เป็นบาลานซ์ จะได้รับการเรียกขานให้กลับมาอีกคราหนึ่ง...

ความชัวร์ที่คิดว่าใช่ และคุณจะได้คืนมาชัวร์ๆ สำหรับค่าตีตั๋วเข้าไปดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ความตลก...มาตรฐานแบบจีทีเอชยังคงเส้นคงวา ในความฮาและรอยยิ้ม และเหนืออื่นใด ผมคิดว่าเป็นเรื่องของสารที่ตกค้างทั้งในระหว่างที่ดูและดูจบแล้วกลับบ้านก็ยังเก็บมาคิดได้ นี่คือหนังที่ผมคิดว่าไปได้ไกลกว่าหนังหลายๆ เรื่องของจีทีเอชที่ผ่านมา การเห็นตัวอย่างของหนังแล้วคิดว่ามันไม่น่าจะมีอะไรมากไปกว่าคนไข้ถูกใจหมอ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะมันยังมีอะไรมากกว่านั้นและพูดได้ว่าดีถึงดีมาก ขณะเดียวกัน นี่เป็นหนังที่เกี่ยวกับคนทำงานแบบฟรีแลนซ์ก็จริง แต่ผมกล้ารับประกันว่าเนื้อหามันสามารถแตะมือและสัมผัสใจได้กับคนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนฟรีแลนซ์หรือมนุษย์ออฟฟิศ นึกสภาพตอนที่งานเร่งหรือตั้งใจจะให้เสร็จทันเด๊ดไลน์ ก็วุ่นวายขอบตาดำพอๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น ผมรู้สึกว่า ถึงที่สุด สิ่งที่หนังต้องการจะพูดผ่านตัวละครของซันนี่ ก็ไม่ใช่อะไรที่จะมาเชิดชูบูชามนุษย์ฟรีแลนซ์หรือเรียกร้องความเห็นใจ (แม้ว่าจริงๆ จะน่าเห็นใจอยู่หลายส่วน) หากแต่ประเด็นที่เด่นชัดผ่านตัวละครตัวนี้ เป็นเรื่องของการดำเนินชีวิตและสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ

สำหรับ “ยุ่น” นั้น ลึกลงไปในตัวตนของเขา มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าจะทำสิ่งใดก็ต้องทำให้ถึงที่สุด งานไม่ได้มีความหมายสำหรับเขาแค่เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าจ้าง (ถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าเขาจำเป็นต้องใช้จ่ายอะไร ทำไมต้องหาเงินเป็นบ้าขนาดนั้น เพราะจริงๆ ก็อยู่แค่คนเดียว แฟนก็ไม่มี) หากแต่มันยังมีส่วนชุบย้อมตัวตนของเขาด้วย งานมันทำให้เขารู้สึกถึงชีวิตที่มีคุณค่ามีแก่นสาร ผมชอบบทพูดประโยคหนึ่งซึ่งหมออิมพูดกับยุ่นและยุ่นโต้กลับว่า นี่มันจะเป็นการวิจัยชีวิตในขั้นลึกเกินไปแล้วหรือเปล่า คำนั้นที่หมออิมพูดก็คือ เขาไม่มีใครสักคนในชีวิตให้คิดถึงเลยหรือ...ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะเท่าที่เห็น ยุ่นน่าจะเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ากรุงเทพฯ มา ก็อยู่ตัวคนเดียว และการอยู่ตัวคนเดียว เพื่อนไม่มา แฟนไม่มี วันเวลาในชีวิตของเขาก็หมดไปกับงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หิวก็เดินเข้าร้านเซเว่นฯ โดยมีความรู้สึกว่างานคือสิ่งที่ทำให้มีค่า เป็นเสมือนเพื่อนทางใจ หรือพูดจริงๆ น่าจะมีแค่คนเดียวเท่านั้นที่เดินเข้าเดินออกในชีวิตของยุ่นจริงๆ ก็คือ “เจ๋” (วี-วิโอเล็ต วอร์เทียร์) รุ่นน้องที่คอยหางานมาป้อนให้ ดีลกับลูกค้าในฐานะตัวกลางระหว่างผู้จ้างกับคนทำ

...ทั้งหมด ต้องชมความเป็นคนช่างคิดของผู้กำกับและเขียนบท ซึ่งก็คือเต๋อ-นวพล คนเดียวกัน ที่นำพาหนังไปได้ไกลกว่าการเป็นหนังรักคอมิดี้ธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง ทุกบทพูดมีความหมายและแล้วแต่ใครจะต่อยอดไปขบคิด ตัวละครทุกตัวมีมิติและหนุนส่งกันและกัน โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าซันนี่ในหนังเรื่องนี้ ดูแตกต่างจากบทบาทที่เขาได้รับมาในช่วงหลังๆ บทในหนังเรื่องนี้ของเขามีพลังทั้งในแง่ความน่าขบขันและแก่นสารเนื้อหา ผมชอบเทคนิคที่หนังใช้กับเขา อย่างการให้พูดคนเดียวในความคิด มันสะท้อนอยู่กลายๆ ว่าเขาอาจจะอยู่ตัวคนเดียวมานานเกินไป และวันๆ ก็ไม่ค่อยได้คุยกับใคร นอกจากคุยกับตัวเอง...มุมกล้องที่แพนซ้ายแพนขวาเวลาตัวละครสนทนากันแล้วเหลือเพียงใบหน้าของคนที่กำลังพูด คือวิธีการที่หนังเล่นแทบจะทั้งเรื่อง ถ้าจะคิดแบบเอาเรื่อง มันก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องความโดดเดี่ยวของชีวิตได้อีกเช่นกัน เพราะถึงแม้คนสองคนกำลังคุยกัน กลับปรากฏใบหน้าบนจอภาพคนละที ซึ่งส่งผลในเชิงอารมณ์คือความรู้สึกโดดเดี่ยว

ตัวเรื่องและอะไรต่างๆ นั้นมีความเรียลจนเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดภาพชีวิตออกมาอย่างตรงไปตรงมา ภาษาหนังแบบนี้ดูจะเป็นความสนใจเป็นพิเศษสำหรับเต๋อ-นวพล ดังเช่นที่เขาเคยพูดว่าช่วงหลังๆ เขาสนใจในหนังของ “รอย แอนเดอร์สัน” (ผู้มีผลงานเช่น You, The Living) ซึ่งงานของผู้กำกับชาวสวีเดนคนนี้มักนำเสนอออกมาในลักษณะที่เป็น “เรียล ไลฟ์” เหมือนว่าเราได้สัมผัสกับชีวิตจริงๆ ตัวละครในหนังก็ไม่ใช่คนไกลอื่น เพราะอาจจะเป็นใครสักคนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา เดินผ่านและพบเห็นหรือกระทั่งเป็นคนรู้จักในชีวิตจริงๆ ของเรา ซึ่งในฟรีแลนซ์ฯ ก็เหมือนอย่างนั้น ตัวละครแบบยุ่น แบบเจ๋ หรือหมออิม ก็เป็นคนที่เราจะพบเห็นได้ในสังคมรอบตัว ประเด็นที่น่าพูดถึงในหนังแบบนี้ก็คือเรื่องของการบิลด์อารมณ์คนดูที่มักจะไม่ทำอย่างโจ้งแจ้ง เมื่อจับเปรียบเทียบกับหนังดราม่าหรือโรแมนติกทั่วๆ ไป เมื่อถึงเวลาที่อยากจะให้คนดูร้องไห้หรือซาบซึ้งก็จะเค้นกันเต็มที่ แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าหนังจะอาร์ตอะไรแบบนั้นนะครับ เพราะจริงๆ หนังสัมผัสจับต้องได้ง่ายมาก และงานชิ้นนี้ของเต๋อ-นวพล ก็นับเป็นงานคลี่คลายตัวตนสูงมาก ส่วนผสมระหว่างตัวตนของค่ายและตัวตนของผู้กำกับ ผสานออกมาได้อย่างลงตัว

ถามว่าซึ้งไหมในแง่ของการเป็นหนังรัก...ใช้คำว่า “ลึกซึ้ง” จะเหมาะมากกว่าคำว่า “ซึ้ง” ผมชอบการที่หนังเก็บรักษาบรรยากาศอันคลุมเครือระหว่างยุ่นกับหมออิมไว้แบบพอเหมาะพอดี ก่อเกิดเป็นความรักที่เรียลมากในระดับหนึ่ง ที่รู้สึกลึกซึ้งอยู่ข้างใน คือเราอาจจะคุ้นเคยกับหนังกับละครที่พอใครสักคนรักใครอีกคนก็ต้องแบบหวานซึ้งใส่กันจนน้ำตาลเรียกพี่ ทั้งที่จริงแล้ว ชีวิตบางทีก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่นเดียวกัน อาการอกหักก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องแบบส่งเสียงดังเป๊าะแล้วร้องห่มร้องไห้ได้อย่างเดียว แต่มันมีและเป็นได้หลากหลายอาการกว่านั้น

“ลงตัว” และ “ดีงาม” ครับ สำหรับฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก และอาจจะห้ามรักหมอ แต่เชื่อว่าคงจะทำได้ยาก ถ้าจะห้ามรักหนังเรื่องนี้...








ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น