xs
xsm
sm
md
lg

มิตรภาพในโลกมืด : โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ โต๊ะล้มคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


คอลัมน์ : คนดูหนังไทย
__________________________________

การเข้าฉายของหนังเรื่องใหม่อย่าง “โจหัวแตงโม นักสืบออนไลน์” อาจดำเนินไปในความเงียบเชียบจากฝั่งของคนดู แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถมองข้ามชื่อของ “เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล” ผู้กำกับที่นับได้ว่าเป็นคนทำหนังดีคนหนึ่งของบ้านเรา หลังจากผลงานล่าสุด ผมย้อนกลับไปดูภาพยนตร์เก่าๆ หลายเรื่องของเรียว กิตติกร อีกครั้ง ที่แม้จะเคยดูมาแล้ว แต่ก็พบว่าแทบทุกเรื่องสามารถดูได้อีกและดูได้อีก และยังคงสนุกกับมัน ซึ่งเท่าที่ผ่านตาผลงานของเรียว กิตติกร มาตั้งแต่ยุคก่อนนั้น ผมมีความคิดว่า งานของเขา มักจะผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ออกมาได้กลมกล่อม เหมือนนักปรุงอาหารชั้นดี ที่ทำให้เมนูแต่ละเมนู ออกมาดูดี และมีรสชาติที่อร่อย ถ้าในมุมของหนังก็คือ มีความสนุก ดูแล้วบันเทิง แต่ขณะเดียวกัน หลายต่อหลายเรื่องก็แวววาวด้วยไอเดียสร้างสรรค์ อีกทั้งฝากฝังมุมมองแง่คิดที่คมคายไว้ในงานชิ้นนั้นด้วย

อย่างงานเก่าของเรียวสองสามเรื่องที่ผมหยิบมาดูและอาจจะถือว่าเป็นมาสเตอร์พีซหรือหนังยุคทองของเขาก็ว่าได้ เรื่อง “เมล์นรกหมวยยกล้อ” ที่ก็เล่นล้อกับสภาพความเป็นไปของสังคมและผู้คนในสังคมบ้านเราได้แบบถึงรากถึงโคน และมันเป็นหนังที่พูดแบบหยาบๆ ได้ว่า “สนุกบรรลัย” , “อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม” หนังที่หยิบเอาความคิดความเชื่อเรื่องเวรเรื่องกรรมมาเล่าได้อย่างบันเทิงและมีแง่คิด...ใน พ.ศ.นั้น ผมเชื่อว่ามีคนรุ่นใหม่หลายคนที่อยากทำหนังได้อย่างเรียว กิตติกร แบบเดียวกับที่ใครต่อใครในหลาย พ.ศ.ต่อมา อยากจะเป็น “เป็นเอก รัตนเรือง” อยากจะเป็น “อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล” หรืออยากจะเป็นเช่นหกผู้กำกับแฟนฉัน สมัยก่อนนี้ฮิตมากนะครับ คำว่า “6 ผู้กำกับแฟนฉัน” นี่ หนังจีทีเอชยุคนั้นก็ออกมาจากผู้กำกับกลุ่มนี้ จนกระทั่งว่าเวลาโปรโมตหนังเรื่องใหม่ของค่ายต้องใช้คำว่า “หนึ่ง(หรือสอง)ในหกผู้กำกับแฟนฉัน” ก่อนที่ในเวลาต่อมารู้สึกว่าจะเริ่มเฝือ จึงได้เลิกใช้ไป

ไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าจะย้อนไปดูกันถึงขั้นนี้แล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธความดีงามของผลงานเรื่องนี้ไปได้ “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ” (Goal Club) อันเป็นผลงานภายใต้การผลิตของบริษัท ฟิล์ม บางกอก ค่ายหนังลูกหม้อของบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งจริงๆ ก็คือกิ่งก้านสาขาของทีวีสีช่อง 3

ช่วงทศวรรษ 40 นั้น ถึงแม้เศรษฐกิจบ้านเราจะยังล้มลุกคลุกคลานอันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ฟองสบู่แตก แต่ก็ยังมีองค์กรทางธุรกิจพยายามจะเข้ามาทำหนังผลิตหนังกันหลายเจ้า อย่างฟิล์มบางกอกหรือบีอีซี-เทโรฯ นี้ เริ่มผลิตหนังตั้งแต่ปี 2543 กับหนังเปิดตัวที่ฉูดฉาดหวือหวาอย่างฟ้าทะลายโจร นับต่อมาจนถึงปี 2548 ค่ายหนังค่ายนี้ได้ให้กำเนิดหนังที่น่าจดจำไว้หลายเรื่อง เช่น “บางกอก แดนเจอรัส เพชฌฆาตเงียบอันตราย” (2543), “บางระจัน” (2543) ไปจนถึง “ทวิภพ” และ “ขุนกระบี่ ผีระบาด” ฯ รวมถึง “โกลคลับ เกมล้มโต๊ะ”

ฝีไม้ลายมือที่สื่อผ่านผลงานออกมาของ “เรียว กิตติกร” ในช่วงปีนั้น พูดภาษาวัยรุ่นก็คงจะบอกได้ประมาณว่าเฟี้ยวฟ้าวมาก เวลาดูภาพยนตร์ของเขา เราจะสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความกระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ตลอดจนความสนุกสนานในงานที่ทำ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่สนุกกับงานนะครับ เพียงแต่มันอาจจะเป็นเรื่องของวันวัยที่พลังแห่งความสดแบบคนหนุ่มและความสุขุมแบบผู้ใหญ่มันให้ผลต่อเนื้องานไม่เหมือนกัน โดยสิ่งหนึ่งซึ่งเราจะเห็นได้ในโกล คลับ (และเหมือนกับงานอีกหลายชิ้นต่อมา โดยเฉพาะ “อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม” และ “เมล์นรกหมวยยกล้อ”) ก็คือความหวือหวาในการเล่าเรื่องทั้งภาษาพูดและภาษาภาพที่นำพาให้คนดูติดตามได้สนุกและมีอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราว ดนตรีประกอบหรือมิวสิกสกอร์ตัวหลักเวลาที่ต้องการขับเน้นความเป็นเพื่อนหรือในสถานการณ์ที่สำคัญ ก็เป็นดนตรีที่มีสำเนียงและจังหวะที่เร้าใจ กระแทกกระทบสั่นสะเทือนความรู้สึกได้ดีมาก

“โกลคลับ” หยิบจับเอาความเป็นไปในโลกด้านมืดของสังคมเกี่ยวกับการพนันฟุตบอลซึ่งเฟื่องฟูอยู่ในมือของพวกเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพล (สมัยนี้คงเป็นออนไลน์) มาบอกเล่าบวกรวมเข้ากับตัวละครวัยรุ่นวัยเรียนที่จะเปลี่ยนจากความรักในกีฬาลูกหนัง ไปสู่โลกแห่งการพนันขันต่อ หนังแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของการเดินเข้าสู่แห่งการพนัน จากที่เล่นทายกันสนุกสนาน ไปสู่การกินเงินกันไม่กี่บาท และก็คงจะเหมือนที่เขาว่า เมื่อฝักใฝ่ในด้านใด ก็มักจะมีมือที่มองไม่เห็นผลักไสให้ไปทางด้านนั้นเสมอๆ และสำหรับพวกเขาเหล่าเพื่อนพ้องห้าสหายซึ่งฝักใฝ่ในทางพนันฟุตบอล ในที่สุดโลกใบนั้นก็เปิดประตูรับพวกเขาเข้าเป็นสมาชิกอย่างเต็มตัว โดยการเป็นลูกน้องของยี่ปั๊ว ทำหน้าที่เดินโพยและเก็บเงิน

ตามสไตล์หนังวัยรุ่นซึ่งมีทิศทางตัวละครในลักษณะแก่นๆ สิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้เหมาะสมยิ่ง ก็คือการแคสติ้งนักแสดง ที่แต่ละคนต่างก็สามารถสื่อความยียวนกวนโอ๊ยตามสไตล์วัยรุ่นจิ๊กโก๋ออกมาได้สมจริงสมจัง ไม่ว่าจะเป็น “ปริญญา งามวงศ์วาน” ผู้รับบท “แบงก์” ลูกนายตำรวจที่กำลังเดินเข้าสู่โลกซึ่งสวนทางกับกฎหมาย, “เคนทร์สมุทร์ ฮัมเมอลิงก์” ในบท “เน” นักวางแผนประจำกลุ่ม, “วงศ์วรุตม์ ตันตระกูล” กับบท “ง้วน” หนุ่มลูกครึ่งจีนที่อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้แก่น้อง, “ธีรดนัย สุวรรณหอม” ผู้เป็น “อ็อตโต้” ผู้รักมั่นในคำว่าเพื่อน และสุดท้าย “บริวัตร อยู่โต” ที่เป็นเสมือน “ส่วนเกิน” และถูกเก็บไว้เป็น “ลูกไล่” สำหรับเพื่อนในกลุ่ม กับบท “เปเล่” นักแสดงเซ็ตนี้บางคน เกิดมากับหนังของเรียว กิตติกร และได้ร่วมงานกับเรียวในอีกหลายเรื่องต่อมา แต่สำหรับเรื่องนี้ ต้องบอกว่าวัยของพวกเขา หน้าตาของพวกเขา และการแสดงของพวกเขา ดูเข้ากันอย่างเหมาะเจาะกับบทบาทที่ได้รับและสามารถสื่อคาแร็กเตอร์ออกมาได้สมบทบาท พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าวัยรุ่นสายเฮ้วๆ กวนๆ ได้ดู ก็คงจะชื่นชอบ

แต่ชอบแล้วอย่างไร? นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะก็อย่างที่เราจะเห็นว่า เรื่องราวของพวกเขามันดูเร้ากิเลสเหมือนโลกสลัวซึ่งพราวไปด้วยแสงสีเย้ายวนใจน่าหลงใหล แต่สุดท้ายแล้ว ความเป็นไปของห้าสหายก็ฝากอะไรไว้ในใจเราอย่างหนักแน่นมีพลัง

หนังดำเนินเรื่องได้สนุกมากครับ สมกับเป็นงานยุคนั้นของเรียว กิตติกร มันมีความน่าติดตามทั้งตัวเรื่องและพัฒนาการของตัวละคร อีกทั้งรายละเอียดจุกจิกที่หนังใส่เข้ามา ก็ล้วนแต่เพิ่มความหวือหวาให้ตัวเรื่องมีความน่าสนใจ อย่างเช่น พาร์ทของเปเล่ที่โดยส่วนตัวของเขาเองก็เป็นตัวละครที่ดูน่าขำอย่างมีเสน่ห์อยู่แล้ว ยังมีประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว (พ่อ) ของเขาเข้ามาเสริมอีก ส่งผลให้ตัวหนังมีมิติมากขึ้นและทำให้บาดแผลจากการเล่นพนันดูเหวอะหวะมากขึ้น ขณะเดียวกัน ในพาร์ทของ “อ๊อตโต้” และ “เน” ก็มีเรื่องผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้อง คนรักของคนแรกคือ “เจ” (สุรัตนาวี สุวิพร) เป็นเด็กสาววัยไล่เลี่ยกัน ซึ่งอ๊อตโต้ดูเหมือนจะมีคู่แข่งคนสำคัญเป็นไอ้หนุ่มลูกคนรวยมีรถขับมารับมาส่ง ผมรู้สึกชอบพาร์ทนี้ของอ๊อตโต้ในแง่ลูกเล่นของหนังที่มีการเปิดช่องให้ความคิดของตัวละครส่งเสียงออกมาดังๆ หรือ “คิดเสียงดัง” ให้เราคนดูได้ยินและรับรู้ถึงความคิดจริงๆ ของพวกเขา สถานการณ์แบบ “ปากอย่างใจอย่าง” ทั้งของเจและอ๊อตโต้ กลายเป็นตลกอันน่าเจ็บปวดอย่างหาที่เปรียบไม่ได้สำหรับเราคนดู ผมขอยกตัวอย่างบทสนทนามาให้เห็นเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย (หมายเหตุ : ในเครื่องหมายวงเล็บ () คือความคิดของตัวละคร)

อ๊อตโต้ : เอางี้มั้ย เราจะพาเจไปเที่ยวยุโรป เพื่อเป็นการไถ่โทษ
เจ : (นั่นงะ จะมีปัญญาพาไปเร้อ?)
อ๊อตโต้ : เรากำลังหาตั๋วอยู่
เจ : แล้วหาได้หรือยังอ่ะ
อ๊อตโต้ : (น้านนน..พอมียุโรปมาล่อ เริ่มเปลี่ยนเลยนะมึ้ง) ยังเลย แต่หาเงินได้แล้ว
เจ : (หรือว่ามันถูกหวยวะ กะจะพาไปปี้ที่นู่นล่ะสิ) หาเงินได้แล้ว ทำไมอ๊อตโต้ไม่เอาไปเรียนอ่ะ
อ๊อตโต้ : ก็เราเห็นเจสำคัญกว่า
เจ : (งั้นเราไปเที่ยวฟรีก่อนดีกว่า กลับมาค่อยเลิก ถ้ามันจะฟันเรา ก็บอกว่ามีเมนส์ ก็จบ) อ๊อตโต้พูดจริงเหรอที่บอกว่าเจสำคัญกว่า
อ๊อตโต้ : จริงสิ (ตอแหลจริงๆ อีนี่ ถ้าไปแล้วบอกว่ามีเมนส์ กูจะฝ่าไฟแดงแม่งเลย)
เจ : ถ้างั้นสัญญาสิว่าจะพาเราไปยุโรป แล้วเราจะยกโทษให้
อ๊อตโต้ : แน่นะ

...ขณะที่ความรักของอ๊อตโต้กับเจ ดูเป็นรักวัยรุ่นที่ไม่รู้ปลายทางอยู่หนใด แต่สำหรับ “เน” เขากลับดูจริงจังมากกับความรักความชอบที่มีให้กับสาวร้านอาหาร ซึ่งหลังจากที่อ๊อฟออกมาครั้งหนึ่งแล้ว จากที่ควรเป็นแค่เรื่องสนุก กลับกลายเป็นคิดจะผูกพันและติดพัน จนนำไปสู่การกระทำแบบอุกอาจฉกาจฉกรรจ์ในเวลาต่อมา

และในเวลาต่อมาอีกเช่นกัน ถึงแม้ว่าเรียว กิตติกร จะบอกว่าเมื่อเทียบกับงานอีกหนึ่งเรื่องอย่าง “อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม” เขาดูจะชอบเรื่องหลังมากกว่าด้วยเหตุผลบางประการ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของคนดู ผมยังรู้สึกว่า “โกลคลับ” เป็นงานที่ทรงคุณค่ามากๆ เรื่องหนึ่ง ทั้งในแง่ความสนุกสนานและได้สาระเป็นอนุสติดีๆ แก่ชีวิตเรื่องหนึ่งที่ส่งผ่านถึงคนทั้งสังคม ไม่ว่าจะคนที่ตกไปในหล่มหลุมแห่งการพนัน หรือคนที่กำลังคิดว่าเส้นทางนี้จะนำความมั่งคั่งมั่งมีมาสู่ตน แม้ในโกลคลับ เราจะเห็นตัวอย่างแห่งการ “ล้มโต๊ะ” แต่ประจักษ์พยานในความเป็นจริงก็คือโต๊ะนั้นได้ล้มคนให้ชีวิตพังมาแล้วนักต่อนัก

หนังแสดงให้เห็นตั้งแต่เส้นทางตั้งต้นไปจนกระทั่งถึงจุดถลำลึกและยากจะหวนกลับ อีกทั้งมายาความยั่วยวนของการได้รับจากการพนันก็หอมหวนชวนให้หลงใหล แต่สัจธรรมก็ยังคงเป็นสัจธรรมว่าเงินที่หามาได้จากโลกมืด สุดท้ายก็มักหลุดลอยออกไปจากกระเป๋าอย่างไร้แก่นสาร ไม่ก่อประโยชน์โพดผลที่จะงอกงามใดๆ เพิ่มขึ้นแก่ชีวิต

กระนั้นก็ตาม เพราะความที่เป็นหนังวัยรุ่นชายซึ่งเอื้อให้สามารถเล่นกับประเด็นความเป็นเพื่อนหรือมิตรภาพ และโกลคลับก็ไม่พลาดที่จะหยิบจับแง่มุมดังกล่าวมาเป็นดั่งเสาหลักเสาหนึ่งของหนัง เราจะเห็นความเป็นเพื่อนที่ลุยไหนลุยกัน เพื่อนคิดว่าโกงได้ใช่ไหม ก็โกงด้วยกัน หรือแม้กระทั่งแยกกันโกง ตอนที่สนุกมากตอนหนึ่งคือช่วงแรกที่พวกเขาเริ่มกล่าวคำสวัสดียุทธจักรการโกงแล้วต้องมีใครคนใดคนหนึ่งยอมทำท่าว่าเจ็บตัวและโดนปล้นเงินไปจากพวกอันธพาล คนที่ต้องรับบทเจ็บตัวนั้นก็คือ “เปเล่” ที่รู้กันว่าถูกรับเข้ามาในกลุ่มในสถานะ “ลูกไล่” ไว้ล้อเล่น คือเราจะเห็นบุคลิกภาพที่หลากหลายผ่านวัยรุ่นกลุ่มนี้ แต่ละคนก็มีลักษณะคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับมีความมุ่งหมายในใจเฉพาะตน แต่ทว่าในการรวมกลุ่มกันเป็นเพื่อน พวกเขาก็คือเพื่อน เหมือนที่เราจะพบเห็นได้ในความเป็นเพื่อนในชีวิตจริง และในความเป็นเพื่อน นอกจากด้านดีๆ ที่มีต่อกัน ก็อาจจะมีคนกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา และในสถานการณ์เช่นนั้น ฝ่ายที่จะต้องประคับประคองความเป็นเพื่อนให้ดำเนินต่อไปได้ ก็มักจะเป็นใครสักคนในกลุ่มที่จิตใจแข็งแรงและเชื่อมั่นในความเป็นเพื่อน ไม่หวั่นไหว...

“มึงกลับมาช่วยพวกกูทำไม” ใครสักคนในกลุ่มถามขึ้น ขณะคนที่ถูกโยนคำถามให้ กล่าวตอบ
“กูอยากรู้ ถ้ากูเลิกเดินโพย พวกมึงจะยังเห็นกูเป็นเพื่อนอยู่หรือเปล่า”

วัยรุ่น ความเป็นเพื่อน และการไหลเลื่อนสู่โลกมืดจนกระทั่งถลำลึกเพราะความคึกคะนอง คือเค้าโครงที่ทรงประสิทธิภาพของโกลคลับ เราสามารถสะท้านสะเทือนไปกับมิตรภาพที่งดงามและชีวิตวัยมันของพวกเขา ขณะเดียวกันหนังก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าสะเทือนใจกับความเป็นไปของพวกเขาด้วยเช่นกัน

บ้านเรามีการสร้างหนังวัยรุ่นมานับเรื่องไม่ถ้วน แต่ “โกลคลับ” จะยืนอยู่ในลำดับต้นๆ เมื่อใครสักคนพูดถึงหนังกลุ่มนี้ มัน “ดี” และ “ดีมาก” ครับ







ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
กำลังโหลดความคิดเห็น