xs
xsm
sm
md
lg

อะไรเอ่ย เปิดผ้าเห็นขน แกะขนเห็นเม็ด แกะเม็ดเห็นรู/ไก่ อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

เช้าวันหนึ่ง ระหว่างยืนอยู่ในร้านค้าที่สะดวกและไม่สะดวกซื้อหากวันไหนคนเยอะซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับออฟฟิศ

ท่ามกลางสินค้ามากมายและหลากหลาย สายตาของผมก็มองไปเห็นหนังสือเล่มบางๆ เล่มหนึ่งแบบกึ่งๆ บังเอิญ เพราะการมองที่ว่านี้เป็นการมองด้วยความตั้งใจว่าจะมองด้วยความไม่ตั้งใจเนื่องจากตั้งใจไว้ว่าจะไม่ซื้อสินค้าอะไรนั่นเอง

"ปริศนาคำทายอะไรเอ่ย" คือชื่อหนังสือเล่มดังกล่าว

ทันทีที่เห็นชื่อหนังสือแว้บแรกที่นึกถึงก็คือคำถามอะไรเอ่ยที่ผู้ใหญ่ชอบถาม เช่น อะไรเอ่ยสี่ตีนเดินมาหลังคามุงกระเบื้อง, อะไรเอ่ยต้นเท่าครกใบปรกดิน, อะไรเอ่ยสี่ตีนเดินมาหลังคามุงจาก, อะไรเอ่ยต้นเท่าขาใบวาเดียว ฯลฯ

ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าปริศนาคำทายอะไรเอ่ยพวกนี้ใครเป็นคนแรกๆ ที่คิดขึ้น และมีมานานแล้วหรือยัง แต่ถ้ามองไปยังเรื่องของรูปแบบแล้วโดยส่วนตัวผมมองว่าการทายปริศนาอะไรเอ่ยนั้นมีความคล้ายกับการ "เทศน์ปุจฉาวิสัชนา" หรือการถาม-ตอบ อันเป็นวิธีการสอนอย่างหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เหมือนกัน

แต่ถ้าเอาตัวเลขกันแบบค่อนข้างจะเป็นทางการการเล่นปริศนาคำทายอะไรเอ่ยน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้วตามข้อมูลเวบไซต์ http://joke-panus.spatc.net ของ "ชมรมโจ๊กพนัสนิคม" ที่ระบุไว้ว่า...โจ๊กปริศนามีจุดกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชการที่ ๕ในรูปแบบของ "โคลงทาย" หรือการถามด้วยปริศนาทีขึ้นต้นด้วยคำว่า "อะไรเอ่ย ?.." คล้ายกับการเล่น “ผะหมี” ของจีนจนกระทั่งมาพัฒนาเป็น “ปริศนากวี” ที่จังหวัดชลบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๘ แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า "โจ๊ก"...

สมัยก่อนการเล่นคำทายอะไรเอ่ยเป็นอะไรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และมีเล่นกันในทุกภาคแต่จะเรียกต่างกันไป เช่น ภาคใต้ เรียกเล่นทาย อีสานเรียกคำทวย ภาคเหนือเรียก เล่นตวายปัญหา

ภาคกลางจะขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" เช่น อะไรเอ่ยนกกะปูดตาแดง น้ำแห้งก็ตาย (ตะเกียงน้ำมัน), ภาคเหนือจะถามด้วย "อะหยังเอ๊าะ" เช่น อะหยังเอ๊าะหัวสองหัว ตั๋วมีตั๋วเดียว (ไม้คาน), ภาคอีสาน "แม่นหยัง" เช่น แม่นหยังต่ำต้อป้อ มีข้อสู่ตา (สัปปะรด) ส่วนภาคใต้ก็จะใช้คำว่า "ไอ้ไหรหา" เช่น ไอ้ไหรหาเมื่อแกรองนอน เมื่อออนต้มจุ้ม (ไม้ไผ่)

ไม่ว่าใครก็ตามที่คิดการละเล่นชนิดนี้ขึ้นมาเป็นคนแรกๆ ต้องยอมรับว่าหัวสมองจะต้องไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน เพราะมองให้ลึกๆ เราจะพบว่าการเล่นปริศนาคำทายอะไรเอ่ยนั้นมันไม่ใช่เพียงการละเล่นธรรมดาๆ โดยทั่วไปที่เน้นเรื่องของความสนุกสนานหรือผลการแข่งขันเท่านั้น หากถึงขั้นที่เรียกได้ว่าเป็น "ภูมิปัญญา" กันเลยทีเดียว

นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาด ความมีปฏิภาณไหวพริบของคนเล่นแล้ว ในคำทายเหล่านี้ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องของจินตนาการ การใช้ภาษา ศิลปะในการเลือกใช้คำ การฝึกให้ผู้เล่นเป็นคนช่างสังเกตช่างจดจำ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวของความรู้รอบตัวในด้านต่างๆ ตลอดจนเรื่องของรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีอีกต่างหาก

ยกตัวอย่างคำทายที่เกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ เช่น "ใครหรือชื่อตกแล้วไม่หล่น คิดวัตถุชอบกลแปลกไซร้ ของนี้แหละให้ผลพิลึก ช่วยการเป็นไทได้แต่เบื้องโบราณ" (ตอบ "พระร่วง" ท่านทรงคิด "กะละออม" หรือ "ครุ" ที่สามารถบรรจุน้ำได้)

หรือจะแสดงความสวยงามทางด้านภาษา เป็นโคลง-กลอน เช่น "วัดหนึ่งนามเรียกคล้าย เวลา ราตรีต่อทิวา นั่นไซร้ มีนามซึ่งชนสา-มัญเรียก แปลว่าวัดซึ่งไร้ ร่มไม้ชายคา" (ตอบ วัดอรุณหรือวัดแจ้ง)

แบบถามด้วยโคลงแล้วก็ตอบด้วยโคลก็ยังมี เช่น
ถาม - สามชายแนบสนิทด้วย นารี
ใช่บุตรใช่สามี ร่วมท้อง
เข็ญใจไพร่ผู้ดี มีทั่ว กันนา
บุรุษใดแนบน้อง ช่วยชี้เฉลยความ

ตอบ - สามชายซึ่งแนบน้อง นารี
อันออกบอกวาที ที่ตั้ง
ใช่ชายชาติชาตรี ตรงเหมาะ แล้วพ่อ
ชายพกชายสะไบทั้ง อีกไซร้ชายกระเบน

นอกจากนี้ก็ยังฝึกให้เป็นคนช่างสังเกตธรรมชาติรอบๆ ตัว เช่น อะไรเอ่ยยามน้อยนุ่งเตี่ยวเขียว เฒ่ามานุ่งเตี่ยวแดง (พริกขี้หนู), อะไรเอ่ยเมื่อจะใช้เอาไปทอด เมื่อจะจอดเอาไปทิ้ง (สมอเรือ) อะไรเอ่ยต้นเท่าลำเรือ ใบห่อเกลือไม่มิด (ต้นมะขาม) อะไรเอ่ย “เช้ามา กลับเย็น” (ดวงอาทิตย์) “อะไรเอ่ย ยามน้อยนุ่งเตี่ยวเขียว เฒ่ามานุ่งเตี่ยวแดง” (พริกขี้หนู) “อะไรเอ่ย เมื่อเด็กนุ่งผ้า โตขึ้นมาแก้เปลือย” (หน่อไม้)

ฝึกเรื่องของจินตนาการ เช่น "อะไรเอ่ย เปิดผ้าเห็นขน แกะขนเห็นเม็ด แกะเม็ดเห็นรู" (ข้าวโพด)

หรือจะสอนเกี่ยวกายวิภาคของสัตว์ เช่น "อะไรเอ่ยเรือนสองเสา หญ้าคาสองตับ นอนไม่หลับลุกขึ้นร้องเพลง" ตอบ "ไก่" (เรือนสองเสา หมายถึงขา 2 ขา หญ้าคาสองตับ ก็คือปีกทั้งสองข้างที่มีลักษณะเหมือนตับหญ้าคาที่ใช้มุงหลังคา) ฯลฯ

สำหรับปัจจุบันต้องบอกว่ารูปแบบการเล่นคำทายปัญหา ปริศนาอะไรเอ่ยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรทีเดียวครับ ยกตัวอย่างเช่น ชาวนาประเทศอะไรเอ่ยรวยและขี้เมาที่สุดในโลก ตอบประเทศนามีเบีย)

ปลาอะไรเอ่ยไม่มีสัมมาคาราวะ ตอบปลาตาย เพราะปลาตายไม่ว่าย(ไหว้)

เป็ดอะไรเอ่ยทำสวน? ตอบเป็ดปักกิ่ง

อะไรเอ่ย? เข้าก็ร้อง ออกก็ร้อง เข้าไปลึกๆ มีน้ำ? คำตอบเซเว่น อีเลเว่น

ถ้างูตกลงไปในถังขยะ ถามว่างูฉกอะไร ตอบฉกกะปรก ฯลฯ

ถึงภาษาอาจจะไม่สวยงาม เพราะพริ้งไม่เท่ากับของโบราณ ไม่เน้นเรื่องคำคล้องจอง แถมยังให้น้ำหนักไปกับความกวนทีน มุ่งสร้างอารมณ์ขันเป็นหลัก แต่กระนั้นเรื่องของจินตนาการก็ต้องบอกว่ายังคงอยู่ย่างเต็มเปี่ยมครับ
...
"เอ่อพี่ ตกลงจะซื้อมั้ยเนี่ย..." พนักงานในร้านที่คุ้นเคยส่งเสียงทักถามมาด้วยความเป็นกันเองหลังคงสังเกตเห็นว่าผมพลิกหนังสือในมือไปมาอยู่นานสองนาน

"ไม่ล่ะครับ ขอบคุณครับ..." ว่าพลางวางหนังสือไว้ที่เดิมพร้อมๆ กับที่ในหัวก็พลันนึกไปถึงมุกที่ตลกในทีวีเล่นกัน

"แกว่าในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ตัวอะไรโง่ที่สุด..."

"ควาย..."

"ผิด"

"วัว"

"ไม่ถูก"

"งั้นตัวอะไรวะ..."

"แกะ"

"ทำไมถึงเป็นแกะ...?"

"เพราะแกะไม่ได้อ่านหนังสือ"

"อ้าว ก็แล้วทำไมแกไม่ได้อ่านหนังสือ..."

"เอ๊า ก็เค้าห้าม 'แกะอ่าน' ยังไงเล่า"
กำลังโหลดความคิดเห็น