โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
หนึ่งก้าวชำนาญ การกล้าก้าว เส้นทางดวงดาว ที่กล้าวกล้า
๖๐ ปีผ่าน กาลเวลา คือหนึ่งก้าวฝ่า กระแสกาล
หนึ่งก้าว ๖๐ ทิพยธาตุ ทรนงองอาจ กล้าหาญ
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เทพดนตรีอวตาล อมรรตัย
คือความไม่ตาย ของพงษ์เทพ คือบทสังเขป แห่งยุคสมัย
คือเพื่อนพี่น้อง ของคนไทย คือใจให้กัน นิรันดร
บทกวีที่ร้อยรจนาโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ให้เนื้อความกินใจและภาษาอันสวยงามฝากไว้ในปกในของอัลบั้ม “หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” อัลบั้มที่เป็นดังการฉลองแซยิด 60 ปีให้กับ “น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” อีกหนึ่งศิลปินเพื่อชีวิตแถวหน้าระดับตำนานของเมืองไทยที่มีเพลงไพเราะ เพลงฮิต เพลงความหมายดีๆ และบทเพลงซึ้งกินใจมากมาย
น้าหมู พงษ์เทพ ได้รับฉายาว่า “กวีศรีชาวไร่” เป็นคนโคราชบ้านเอ็ง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 ที่ บ้านหัวเลิง (ศีรษะละเลิง) ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มาวันนี้เพิ่งผ่านอายุ 61 ขวบปีมาได้ไม่นาน
และเพื่อเป็นการฉลองแซยิด 60 ขวบปีของน้าหมู(ที่ตอนนี้เป็นลุงเป็นปู่แล้ว) เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการเพลงมากมาย โดยเฉพาะวงการเพลงเพื่อชีวิตได้ระดมพลมาร่วมร้องเพลง เล่นดนตรี ให้กับอัลบั้มพิเศษชุดนี้ โดยคัดสรรนำเพลงดัง เพลงเด็ด อันฮอตฮิตของน้าหมูมาขับร้องใหม่ในลีลาและสไตล์ของแต่ละคน โดยมีน้าเอ็ดดี้-สุเทพ ปานอำพัน (มือเบสวงซูซู และศิลปินอีกมากมาย) มาเป็นผู้ดูแลการผลิต
อัลบั้ม”หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” มีบทเพลงมากถึง 18 เพลง แต่ไอ้ครั้นจะคัดเฉพาะเพลงเด่นๆมานำแนะนำเล่าสู่กันฟัง ผมก็รู้สึกเสียดาย เพราะบทเพลงทั้งหมดล้วนน่าฟัง มีดีมีเด่นไปคนละอย่าง
เอาหละ ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงกันมากมาย อัลบั้มนี้เปิดตัวกันด้วย “ตังเก” บทเพลง 3 ช่าสุดดังของน้าหมู ที่วันนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงอมตะตลอดกาลของเขา ตามงานรื่นเริง งานวัด ผับเพื่อชีวิต วงเหล้า ร้านคาราโอเกะ เพลงนี้ยังขายดีเสมอ
ตังเกเวอร์ชั่นแซยิดร้องโดย “ติ๊ก ชีโร่”(ศิริศักดิ์ นันทเสน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มนัสวิน นันทเสน) เพลงนี้ขึ้นต้นด้วยเสียงกลองกับซาวอิเลคโทรนิกส์ในอารมณ์ดิสโก้มันๆก่อนจะเล่นอินโทร.ด้วยเสียงเครื่องเป่าด้วยตัวโน้ตเมโลดี้เดิม พี่ติ๊ก ชีโร่-โต้ชีริ๊ก ร้องได้อย่างสนุกสนานและกวน(Teen) ทีเดียว
ต่อกันด้วย “คนจนรุ่นใหม่” ร้องโดยเจ้าพ่อเพลงเฮฟวี่แห่งเมืองไทย “น้าโป่ง หินเหล็กไฟ”(ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์) กับซาวนด์ดนตรีหนักในแบบฮาร์ดร็อกตามสไตล์ของน้าโป่ง แต่งานนี้แกไม่ได้ร้องแบบแหกปากขึ้นเสียงสูงลิบ แต่ร้องแบบดุๆในสไตล์ฮาร์ดร็อกผสมเพื่อชีวิต กับแนวดนตรีหนักๆมันๆ ที่ได้ยอดมือกีตาร์คู่บุญอย่าง “พี่ป๊อบ เดอะซัน”(จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย) มาวาดลวดลายขยี้กีตาร์ขั้นเทพ ทั้งสับคอร์ด เล่นริทึ่ม และลูกโซโลอันยอดเยี่ยม
“ลมรำเพย” ดึงอารมณ์ลงมาหน่อย ไม่งั้นนักร้องรุ่นปู่ ลุง น้า ที่มาร่วมร้องเพลงจะเมามันกันเพลินจนลืมแก่ กระดูกกระเดี้ยวเคล็ดขัดยอกได้ เพลงนี้ขับรองโดย “สุนารี ราชสีมา” มีเสียงทรัมเป็ตนุ่มๆของ“ป๋าดุก คาราบาว”(ลือชัย งามสม) มาเป่าเติมสีสันกับทางเพลงออกแนวเพื่อชีวิตกลิ่นลูกทุ่ง
ถัดมาเป็น “ตรงเส้นขอบฟ้า” ที่ได้คนเก็บฟืน อย่าง“น้าเล็ก คาราบาว”(ปรีชา ชนะภัย)มาขับร้อง ซึ่งร้องได้นิ่งแต่ว่าน้ำเสียงของน้าแกฟังบางไปหน่อย ทำให้ขาดพลังไปนิด ส่วนที่เป็นทีเด็ดในเพลงนี้คือท่อนโซโลซอของน้าเล็กที่เล่นได้อย่างอ้อยสร้อยบาดลึกถึงอารมณ์
“ด.ญ.ปรางค์” เพลงพูดถึงเด็กเลยให้ “น้องลูกศร”(วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล) จากโฮปแฟมมิลี่ ที่เป็นเด็กที่สุดในอัลบั้มชุดนี้มาขับขาน ดนตรีเป็นโฟล์คเบาๆที่เข้ากันได้ดีกับเสียงใสๆของน้องลูกศร พร้อมกับแนวทางการร้องแบบร่วมสมัยแต่ก็ส่งภาษาไทยได้อย่างชัดเจน ไม่ดัดจริตร้องสำเนียงฝรั่งอย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นจำนวนมากจากนักร้องร่วมสมัยในยุคนี้
เปลี่ยนโหมดเข้าสู่อารมณ์สนุกๆกับ “เจ้าผีเสื้อ” ขับร้องโดย“เทียรี่ เมฆวัฒนา” ที่มาในแบบเสียงพระเอก หล่อ นุ่ม เท่ กับดนตรีออกโจ๊ะๆ มีเครื่องทองเหลืองเป่าสนุกสนาน ชวนขยับแข้งขยับขา
จากนั้นก็ได้เวลา กำ 2 มือขึ้นมาไว้ที่หน้าอก แล้วเต้นท่ากวนๆในสไตล์จิ๊กโก๋บ้านนอกของน้าหมูกับ เพลง “ฝนจางนางหาย” ที่ได้รุ่นใหญ่ พี่ใหญ่ อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต “น้าหงา คาราวาน”(สุรชัย จันทิมาธร) ศิลปินแห่งชาติมาถ่ายทอดอารมณ์ เด็ดครับเพลงนี้ ลงตัวทั้งเสียงร้องและดนตรี สามารถเต้นในวงเหล้าได้แบบลืมเมากันเลย
ต่ออารมณ์มันๆกันด้วยรุ่นใหญ่อีกคนจากคาราวาน คือ “น้าหว่อง คาราวาน”(มงคล อุทก) ที่มาขับขานในเพลง “หนุ่มก่อสร้าง” ในอารมณ์สนุกๆมันๆแบบรุ่นใหญ่ที่สิงห์รายวันอย่างน้าหว่องทำได้ดีทีเดียว
เบรกอารมณ์ลงมากับ “ลำตะคอง” ได้คนเคยหนุ่มแห่งคนด่านเกวียน อย่าง “น้าสีเผือก”(อิศรา อนันตทัศน์) มาขับขาน ฟังเหงาๆในอารมณ์ออกลูกทุ่งๆนิดๆ ยิ่งมีเสียงไวโอลินในสำเนียงเศร้าๆมาเล่นคลอเคล้า ยิ่งหม่นเศร้าไปใหญ่
ส่วน “ขอบฟ้าขอบใจ” ได้ “พี่ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” มาร้องถ่ายทอด เสียงของพี่ปูยังเยี่ยมทรงพลัง ไปกันได้ดีกับดนตรีบัลลาดร็อกเบาๆล่องลอยในทางโพรเกรสซีฟ ที่เด่นด้วยเสียงกีตาร์โซโลอันเฉียบขาด สั้นๆ แต่ถึงอารมณ์ ฟังหวานพลิ้วแฝงความเหงาหม่น ซึ่งลูกโซโลแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่านี่คือฝีมือของ “น้าโอ้ โอฬาร พรหมใจ” ที่ยิ่งอายุเยอะสำเนียงยิ่งโดดเด่น
มาต่ออารมณ์โฟล์คเบาๆกับเพลง “ยิ้มเหงาๆ” ที่ขับร้องโดย “พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง” ฟังเหงาเศร้า ถัดมายังจมจ่อมอยู่กับโหมดเพลงช้าอย่าง “คิดถึงบ้าน” ที่ขับขานโดย “น้าแอ๊ด คาราบาว”(ยืนยง โอภากุล) กับลีลาเสียงร้องฟังให้กำลังใจแบบรุ่นใหญ่ เพลงนี้น้าแอ๊ดร้องถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่าร้องเพลงในอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเสียอีก(ฮา) ขณะที่ภาคดนตรีได้ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มาโซโลขลุ่ย บอกเลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งเพลงไพเราะในอัลบั้มนี้ที่น่าฟังมาก
ส่วน“เขาใหญ่” น้าหงา คาราวาน รับเบิ้ลสองกลับมาร้องอีกครั้งกับภาคดนตรีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเสียงขลุ่ยของ อ.ธนิสร์ ที่มาเป่าเบิ้ล 2 เพลงติดๆกัน เพลงนี้อาจารย์แกโชว์ลีลาพญาขลุ่ยแดนสยามด้วยการอิมโพรไวซ์ได้อย่างพลิ้วไหวสุดติ่ง ช่วยเติมสีสันอารมณ์เพลงให้ทรงเสน่ห์น่าฟังมากขึ้น ซึ่งหากเพลงนี้ขาดเสียงขลุ่ยไป เสน่ห์ของเพลงจะลดน้อยถ้อยลงไปมากโข
กลับไปฟังเพลงดังยุคแรกๆกับ “คนกับหมา” โดย “น้าเขียว คาราบาว”(กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร) ที่มาในแบบบลูส์ร็อกไปได้ดีกับน้ำเสียงร้องฟังสบายๆของน้าเขียว จากนั้นต่ออารมณ์บลูส์กันกับ “เฉย” ที่ "น้าเอ็ดดี้-สุเทพ ปานอำพัน”โปรดิวเซอร์ อยู่เฉยไม่ได้ขอลงมาร้องเพลงกับเขาบ้าง เป็นบลูส์ฟังสบายๆแต่แฝงลูกเล่นลีลาอยู่ในที
ส่วน “คอย” รับหน้าถ่ายทอดเสียงเพลงโดย “โฮป แฟมมิลี่” น้าสุเทพ-น้าแดง สลับร้องชาย-หญิง ฟังอบอุ่น
ส่งท้ายกันด้วย “วันเวลา” ที่ขับร้องโดย อ.ไข่ มาลีฮวนน่า ดนตรีในทางเร็กเก้ช้าๆ เปิดพื้นที่ให้ อ.ไข่โชว์พลังเสียงอันยอดเยี่ยม ปิดท้ายการมาร่วมร้องเพลงฉลองแซยิดแด่น้าหมูของเพื่อนพ้องน้องพี่อย่างสวยงาม
แต่เพลงในอัลบั้มนี้ยังไม่หมด เพราะยังมีโบนัสแทรค คือ “นิทรา” ที่ขับร้องโดยเจ้าตัว คือ น้าหมู-พงษ์เทพ จากงานคอนเสิร์ตมาล่ำลาปิดท้ายอัลบั้มกันอย่างเหงา เศร้า และบาดลึกในอารมณ์ของพี่ชายที่แสนดี ยิ่งใครได้เคยดูมิวสิคเพลงนี้อาจน้ำตารื้นได้
และนั่นก็เป็นบทเพลงทั้งหมดจาก”หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” ที่ล้วนต่างเป็นเพลงดังฟังคุ้นหู ดังนั้นไม่แปลกที่อัลบั้มชุดนี้จะฟังติดหูง่ายนับแต่แรกเริ่ม
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ได้เป็นการนำเพลงเด่นดังของน้าหมูมาตีความใหม่ ใส่รสชาติใหม่เข้าไป หากแต่เป็นการนำเพลงเก่ามาทำดนตรีใหม่ ที่แม้เพลงโดยรวมจะคงไว้ซึ่งอารมณ์เดิม ทั้งทำนอง ตัวโน้ต จังหวะ หรือแม้กระทั่งกับเครื่องดนตรีที่ถ่ายทอดออกมาในบางเพลง แต่หากฟังกันให้ลึกลงไป จะพบว่าหลายเพลงมีรายละเอียดที่ฉีกออกไปจากต้นฉบับ แต่เป็นการฉีกแนวแบบไม่ให้เสียอารมณ์เดิม เช่น ตังเก-มาในทางดิสโก้มันๆ, คนจนรุ่นใหม่-กับฮาร์ดร็อกหนักดุ, หนุ่มก่อสร้าง-มีการใส่สำเนียงพื้นบ้านเข้าไป, ขอบฟ้าขอบใจ-กับโพรเกรสซีฟร็อกล่องลอย, วันเวลา-ที่มาในแบบเร็กเก้แต่พองาม
ขณะที่ในภาคเนื้อร้องนั้น นักร้องแต่ละคนสามารถร้องตีความตัวเพลงต้นฉบับออกมาได้เป็นอย่างดี ไม่เสียอรรถรสของเก่าแต่ก็ฟังมีเสน่ห์กับสีสันใหม่ที่เสียงร้องของนักร้องแต่ละคนโดดเด่นมีสไตล์ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งผมไม่รู้ว่านักร้องเลือกเพลงมาขับร้องเอง หรือโปรดิวเซอร์เลือกให้ ถ้าโปรดิวเซอร์เลือกก็ต้องชมน้าเอ็ดดี้ว่าเลือกคนมาร้องเพลงได้เหมาะสมกับเนื้อหาและอารมณ์ของเพลงเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการไล่เรียงลำดับเพลงก็ทำออกมาได้อย่างเนียน มีสลับอารมณ์ช้าเร็วแบบไม่มีสะดุด คล้ายการเรียงเพลงในคอนเสิร์ตยังไงยังงั้น
สรุปแล้วนี่ถือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ เป็นเหล้าในกลิ่นรสของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ กับขวดใบใหม่ที่แต่ละใบล้วนต่างมีลักษณะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นที่แตกต่าง ฟังเป็นตัวของตัวเองในเพลงนั้นๆ แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นบทเพลงของพงษ์เทพให้เสียอารมณ์
ที่สำคัญที่สุดของอัลบั้มชุดนี้ก็คือเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาร่วมงานนั้นต่างเป็นบิ๊กเนม เป็นยอดฝีมือ ชนิดหาตัวจับยาก ซึ่งการจะมารวมกันทำเพลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะบรรดาขุนพลเพื่อชีวิตนั้น นี่ถือเป็นการรวมพลคนเพื่อชีวิต(เพื่อมาร่วมออกอัลบั้ม)ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่บทเพลงแนวนี้ถือกำเนิดขึ้นในบ้านเรา
สำหรับในยุคนี้ที่วงการเพลงเพื่อชีวิตซบเซาอ่อนล้าระโหยโรยแรง(อย่างหนัก) อัลบั้มชุดนี้ถือเป็นยาชูกำลังให้คอเพลงเพื่อชีวิตได้คึกคักกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาบ้าง
แม้จะเป็นแค่พอหอมปากหอมคอแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย
หนึ่งก้าวชำนาญ การกล้าก้าว เส้นทางดวงดาว ที่กล้าวกล้า
๖๐ ปีผ่าน กาลเวลา คือหนึ่งก้าวฝ่า กระแสกาล
หนึ่งก้าว ๖๐ ทิพยธาตุ ทรนงองอาจ กล้าหาญ
พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เทพดนตรีอวตาล อมรรตัย
คือความไม่ตาย ของพงษ์เทพ คือบทสังเขป แห่งยุคสมัย
คือเพื่อนพี่น้อง ของคนไทย คือใจให้กัน นิรันดร
บทกวีที่ร้อยรจนาโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ให้เนื้อความกินใจและภาษาอันสวยงามฝากไว้ในปกในของอัลบั้ม “หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” อัลบั้มที่เป็นดังการฉลองแซยิด 60 ปีให้กับ “น้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” อีกหนึ่งศิลปินเพื่อชีวิตแถวหน้าระดับตำนานของเมืองไทยที่มีเพลงไพเราะ เพลงฮิต เพลงความหมายดีๆ และบทเพลงซึ้งกินใจมากมาย
น้าหมู พงษ์เทพ ได้รับฉายาว่า “กวีศรีชาวไร่” เป็นคนโคราชบ้านเอ็ง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 ที่ บ้านหัวเลิง (ศีรษะละเลิง) ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา มาวันนี้เพิ่งผ่านอายุ 61 ขวบปีมาได้ไม่นาน
และเพื่อเป็นการฉลองแซยิด 60 ขวบปีของน้าหมู(ที่ตอนนี้เป็นลุงเป็นปู่แล้ว) เพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการเพลงมากมาย โดยเฉพาะวงการเพลงเพื่อชีวิตได้ระดมพลมาร่วมร้องเพลง เล่นดนตรี ให้กับอัลบั้มพิเศษชุดนี้ โดยคัดสรรนำเพลงดัง เพลงเด็ด อันฮอตฮิตของน้าหมูมาขับร้องใหม่ในลีลาและสไตล์ของแต่ละคน โดยมีน้าเอ็ดดี้-สุเทพ ปานอำพัน (มือเบสวงซูซู และศิลปินอีกมากมาย) มาเป็นผู้ดูแลการผลิต
อัลบั้ม”หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” มีบทเพลงมากถึง 18 เพลง แต่ไอ้ครั้นจะคัดเฉพาะเพลงเด่นๆมานำแนะนำเล่าสู่กันฟัง ผมก็รู้สึกเสียดาย เพราะบทเพลงทั้งหมดล้วนน่าฟัง มีดีมีเด่นไปคนละอย่าง
เอาหละ ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลงกันมากมาย อัลบั้มนี้เปิดตัวกันด้วย “ตังเก” บทเพลง 3 ช่าสุดดังของน้าหมู ที่วันนี้เป็นหนึ่งในบทเพลงอมตะตลอดกาลของเขา ตามงานรื่นเริง งานวัด ผับเพื่อชีวิต วงเหล้า ร้านคาราโอเกะ เพลงนี้ยังขายดีเสมอ
ตังเกเวอร์ชั่นแซยิดร้องโดย “ติ๊ก ชีโร่”(ศิริศักดิ์ นันทเสน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มนัสวิน นันทเสน) เพลงนี้ขึ้นต้นด้วยเสียงกลองกับซาวอิเลคโทรนิกส์ในอารมณ์ดิสโก้มันๆก่อนจะเล่นอินโทร.ด้วยเสียงเครื่องเป่าด้วยตัวโน้ตเมโลดี้เดิม พี่ติ๊ก ชีโร่-โต้ชีริ๊ก ร้องได้อย่างสนุกสนานและกวน(Teen) ทีเดียว
ต่อกันด้วย “คนจนรุ่นใหม่” ร้องโดยเจ้าพ่อเพลงเฮฟวี่แห่งเมืองไทย “น้าโป่ง หินเหล็กไฟ”(ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์) กับซาวนด์ดนตรีหนักในแบบฮาร์ดร็อกตามสไตล์ของน้าโป่ง แต่งานนี้แกไม่ได้ร้องแบบแหกปากขึ้นเสียงสูงลิบ แต่ร้องแบบดุๆในสไตล์ฮาร์ดร็อกผสมเพื่อชีวิต กับแนวดนตรีหนักๆมันๆ ที่ได้ยอดมือกีตาร์คู่บุญอย่าง “พี่ป๊อบ เดอะซัน”(จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย) มาวาดลวดลายขยี้กีตาร์ขั้นเทพ ทั้งสับคอร์ด เล่นริทึ่ม และลูกโซโลอันยอดเยี่ยม
“ลมรำเพย” ดึงอารมณ์ลงมาหน่อย ไม่งั้นนักร้องรุ่นปู่ ลุง น้า ที่มาร่วมร้องเพลงจะเมามันกันเพลินจนลืมแก่ กระดูกกระเดี้ยวเคล็ดขัดยอกได้ เพลงนี้ขับรองโดย “สุนารี ราชสีมา” มีเสียงทรัมเป็ตนุ่มๆของ“ป๋าดุก คาราบาว”(ลือชัย งามสม) มาเป่าเติมสีสันกับทางเพลงออกแนวเพื่อชีวิตกลิ่นลูกทุ่ง
ถัดมาเป็น “ตรงเส้นขอบฟ้า” ที่ได้คนเก็บฟืน อย่าง“น้าเล็ก คาราบาว”(ปรีชา ชนะภัย)มาขับร้อง ซึ่งร้องได้นิ่งแต่ว่าน้ำเสียงของน้าแกฟังบางไปหน่อย ทำให้ขาดพลังไปนิด ส่วนที่เป็นทีเด็ดในเพลงนี้คือท่อนโซโลซอของน้าเล็กที่เล่นได้อย่างอ้อยสร้อยบาดลึกถึงอารมณ์
“ด.ญ.ปรางค์” เพลงพูดถึงเด็กเลยให้ “น้องลูกศร”(วฤทธรัชต์ ถวัลย์วิวัฒนกุล) จากโฮปแฟมมิลี่ ที่เป็นเด็กที่สุดในอัลบั้มชุดนี้มาขับขาน ดนตรีเป็นโฟล์คเบาๆที่เข้ากันได้ดีกับเสียงใสๆของน้องลูกศร พร้อมกับแนวทางการร้องแบบร่วมสมัยแต่ก็ส่งภาษาไทยได้อย่างชัดเจน ไม่ดัดจริตร้องสำเนียงฝรั่งอย่างที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นจำนวนมากจากนักร้องร่วมสมัยในยุคนี้
เปลี่ยนโหมดเข้าสู่อารมณ์สนุกๆกับ “เจ้าผีเสื้อ” ขับร้องโดย“เทียรี่ เมฆวัฒนา” ที่มาในแบบเสียงพระเอก หล่อ นุ่ม เท่ กับดนตรีออกโจ๊ะๆ มีเครื่องทองเหลืองเป่าสนุกสนาน ชวนขยับแข้งขยับขา
จากนั้นก็ได้เวลา กำ 2 มือขึ้นมาไว้ที่หน้าอก แล้วเต้นท่ากวนๆในสไตล์จิ๊กโก๋บ้านนอกของน้าหมูกับ เพลง “ฝนจางนางหาย” ที่ได้รุ่นใหญ่ พี่ใหญ่ อาจารย์ใหญ่แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต “น้าหงา คาราวาน”(สุรชัย จันทิมาธร) ศิลปินแห่งชาติมาถ่ายทอดอารมณ์ เด็ดครับเพลงนี้ ลงตัวทั้งเสียงร้องและดนตรี สามารถเต้นในวงเหล้าได้แบบลืมเมากันเลย
ต่ออารมณ์มันๆกันด้วยรุ่นใหญ่อีกคนจากคาราวาน คือ “น้าหว่อง คาราวาน”(มงคล อุทก) ที่มาขับขานในเพลง “หนุ่มก่อสร้าง” ในอารมณ์สนุกๆมันๆแบบรุ่นใหญ่ที่สิงห์รายวันอย่างน้าหว่องทำได้ดีทีเดียว
เบรกอารมณ์ลงมากับ “ลำตะคอง” ได้คนเคยหนุ่มแห่งคนด่านเกวียน อย่าง “น้าสีเผือก”(อิศรา อนันตทัศน์) มาขับขาน ฟังเหงาๆในอารมณ์ออกลูกทุ่งๆนิดๆ ยิ่งมีเสียงไวโอลินในสำเนียงเศร้าๆมาเล่นคลอเคล้า ยิ่งหม่นเศร้าไปใหญ่
ส่วน “ขอบฟ้าขอบใจ” ได้ “พี่ปู พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์” มาร้องถ่ายทอด เสียงของพี่ปูยังเยี่ยมทรงพลัง ไปกันได้ดีกับดนตรีบัลลาดร็อกเบาๆล่องลอยในทางโพรเกรสซีฟ ที่เด่นด้วยเสียงกีตาร์โซโลอันเฉียบขาด สั้นๆ แต่ถึงอารมณ์ ฟังหวานพลิ้วแฝงความเหงาหม่น ซึ่งลูกโซโลแบบนี้เดาได้ไม่ยากว่านี่คือฝีมือของ “น้าโอ้ โอฬาร พรหมใจ” ที่ยิ่งอายุเยอะสำเนียงยิ่งโดดเด่น
มาต่ออารมณ์โฟล์คเบาๆกับเพลง “ยิ้มเหงาๆ” ที่ขับร้องโดย “พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง” ฟังเหงาเศร้า ถัดมายังจมจ่อมอยู่กับโหมดเพลงช้าอย่าง “คิดถึงบ้าน” ที่ขับขานโดย “น้าแอ๊ด คาราบาว”(ยืนยง โอภากุล) กับลีลาเสียงร้องฟังให้กำลังใจแบบรุ่นใหญ่ เพลงนี้น้าแอ๊ดร้องถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่าร้องเพลงในอัลบั้มเดี่ยวของตัวเองเสียอีก(ฮา) ขณะที่ภาคดนตรีได้ อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี มาโซโลขลุ่ย บอกเลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งเพลงไพเราะในอัลบั้มนี้ที่น่าฟังมาก
ส่วน“เขาใหญ่” น้าหงา คาราวาน รับเบิ้ลสองกลับมาร้องอีกครั้งกับภาคดนตรีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือเสียงขลุ่ยของ อ.ธนิสร์ ที่มาเป่าเบิ้ล 2 เพลงติดๆกัน เพลงนี้อาจารย์แกโชว์ลีลาพญาขลุ่ยแดนสยามด้วยการอิมโพรไวซ์ได้อย่างพลิ้วไหวสุดติ่ง ช่วยเติมสีสันอารมณ์เพลงให้ทรงเสน่ห์น่าฟังมากขึ้น ซึ่งหากเพลงนี้ขาดเสียงขลุ่ยไป เสน่ห์ของเพลงจะลดน้อยถ้อยลงไปมากโข
กลับไปฟังเพลงดังยุคแรกๆกับ “คนกับหมา” โดย “น้าเขียว คาราบาว”(กิรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร) ที่มาในแบบบลูส์ร็อกไปได้ดีกับน้ำเสียงร้องฟังสบายๆของน้าเขียว จากนั้นต่ออารมณ์บลูส์กันกับ “เฉย” ที่ "น้าเอ็ดดี้-สุเทพ ปานอำพัน”โปรดิวเซอร์ อยู่เฉยไม่ได้ขอลงมาร้องเพลงกับเขาบ้าง เป็นบลูส์ฟังสบายๆแต่แฝงลูกเล่นลีลาอยู่ในที
ส่วน “คอย” รับหน้าถ่ายทอดเสียงเพลงโดย “โฮป แฟมมิลี่” น้าสุเทพ-น้าแดง สลับร้องชาย-หญิง ฟังอบอุ่น
ส่งท้ายกันด้วย “วันเวลา” ที่ขับร้องโดย อ.ไข่ มาลีฮวนน่า ดนตรีในทางเร็กเก้ช้าๆ เปิดพื้นที่ให้ อ.ไข่โชว์พลังเสียงอันยอดเยี่ยม ปิดท้ายการมาร่วมร้องเพลงฉลองแซยิดแด่น้าหมูของเพื่อนพ้องน้องพี่อย่างสวยงาม
แต่เพลงในอัลบั้มนี้ยังไม่หมด เพราะยังมีโบนัสแทรค คือ “นิทรา” ที่ขับร้องโดยเจ้าตัว คือ น้าหมู-พงษ์เทพ จากงานคอนเสิร์ตมาล่ำลาปิดท้ายอัลบั้มกันอย่างเหงา เศร้า และบาดลึกในอารมณ์ของพี่ชายที่แสนดี ยิ่งใครได้เคยดูมิวสิคเพลงนี้อาจน้ำตารื้นได้
และนั่นก็เป็นบทเพลงทั้งหมดจาก”หนึ่งก้าว ๖๐ เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” ที่ล้วนต่างเป็นเพลงดังฟังคุ้นหู ดังนั้นไม่แปลกที่อัลบั้มชุดนี้จะฟังติดหูง่ายนับแต่แรกเริ่ม
อย่างไรก็ดีนี่ไม่ได้เป็นการนำเพลงเด่นดังของน้าหมูมาตีความใหม่ ใส่รสชาติใหม่เข้าไป หากแต่เป็นการนำเพลงเก่ามาทำดนตรีใหม่ ที่แม้เพลงโดยรวมจะคงไว้ซึ่งอารมณ์เดิม ทั้งทำนอง ตัวโน้ต จังหวะ หรือแม้กระทั่งกับเครื่องดนตรีที่ถ่ายทอดออกมาในบางเพลง แต่หากฟังกันให้ลึกลงไป จะพบว่าหลายเพลงมีรายละเอียดที่ฉีกออกไปจากต้นฉบับ แต่เป็นการฉีกแนวแบบไม่ให้เสียอารมณ์เดิม เช่น ตังเก-มาในทางดิสโก้มันๆ, คนจนรุ่นใหม่-กับฮาร์ดร็อกหนักดุ, หนุ่มก่อสร้าง-มีการใส่สำเนียงพื้นบ้านเข้าไป, ขอบฟ้าขอบใจ-กับโพรเกรสซีฟร็อกล่องลอย, วันเวลา-ที่มาในแบบเร็กเก้แต่พองาม
ขณะที่ในภาคเนื้อร้องนั้น นักร้องแต่ละคนสามารถร้องตีความตัวเพลงต้นฉบับออกมาได้เป็นอย่างดี ไม่เสียอรรถรสของเก่าแต่ก็ฟังมีเสน่ห์กับสีสันใหม่ที่เสียงร้องของนักร้องแต่ละคนโดดเด่นมีสไตล์ชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งผมไม่รู้ว่านักร้องเลือกเพลงมาขับร้องเอง หรือโปรดิวเซอร์เลือกให้ ถ้าโปรดิวเซอร์เลือกก็ต้องชมน้าเอ็ดดี้ว่าเลือกคนมาร้องเพลงได้เหมาะสมกับเนื้อหาและอารมณ์ของเพลงเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการไล่เรียงลำดับเพลงก็ทำออกมาได้อย่างเนียน มีสลับอารมณ์ช้าเร็วแบบไม่มีสะดุด คล้ายการเรียงเพลงในคอนเสิร์ตยังไงยังงั้น
สรุปแล้วนี่ถือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ เป็นเหล้าในกลิ่นรสของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ กับขวดใบใหม่ที่แต่ละใบล้วนต่างมีลักษณะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นที่แตกต่าง ฟังเป็นตัวของตัวเองในเพลงนั้นๆ แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นบทเพลงของพงษ์เทพให้เสียอารมณ์
ที่สำคัญที่สุดของอัลบั้มชุดนี้ก็คือเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มาร่วมงานนั้นต่างเป็นบิ๊กเนม เป็นยอดฝีมือ ชนิดหาตัวจับยาก ซึ่งการจะมารวมกันทำเพลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะบรรดาขุนพลเพื่อชีวิตนั้น นี่ถือเป็นการรวมพลคนเพื่อชีวิต(เพื่อมาร่วมออกอัลบั้ม)ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่บทเพลงแนวนี้ถือกำเนิดขึ้นในบ้านเรา
สำหรับในยุคนี้ที่วงการเพลงเพื่อชีวิตซบเซาอ่อนล้าระโหยโรยแรง(อย่างหนัก) อัลบั้มชุดนี้ถือเป็นยาชูกำลังให้คอเพลงเพื่อชีวิตได้คึกคักกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาบ้าง
แม้จะเป็นแค่พอหอมปากหอมคอแต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย