xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส..ผีบาบาดุค : เราต่างขุนเลี้ยงความเจ็บปวดทั้งหลายไว้

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


***บทความนี้ไม่เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดู
เพราะอาจมีการพาดพิงจุดสำคัญของเนื้อเรื่อง
แต่ถ้าใครดูแล้ว “เงิบ” มาแลกเปลี่ยนกัน***
..................................................................................................

เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า กระแสของหนังสยองขวัญอย่างเรื่อง “เดอะ บาบาดุค” ที่ได้คะแนนดีเยี่ยมมากๆ มาจากต่างประเทศ เกิดการเหวี่ยงอย่างรุนแรงในหมู่คนดูชาวไทย เพราะดูเหมือนจะมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างสุดขั้ว ชนิดที่กล่าวได้ว่า ถ้าใครไม่ชอบ ก็มีหวังได้ชังกันไปเลย

ทั้งที่ตามเป็นจริง ผมเชื่อว่าถ้าเราทำความเข้าใจหนังอย่างที่มันเป็น โดยไม่เอียงเอนเพราะการชี้นำในเชิงการตลาดของโฆษณา ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ามันน่าจะเป็นหนังผีในบล็อกเบ้าแบบพวกเดอะ คอนจูริ่ง (The Conjuring) หรืออะไรแบบนั้น...ถ้าไม่ถูกชักนำไปทางนั้น แล้วมองหนังเรื่องนี้ใหม่ บางที เดอะ บาบาดุก อาจจะเป็นหนังที่คุณนึกอยากจะเก็บไว้ในลิสต์ของหนังที่ชอบไปเลยก็เป็นได้

ผมคิดว่าความคาดหวังมหาศาลที่การโปรโมตโปรยหว่านยั่วคนดู ก็น่าจะเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเข้าถึงหนังเรื่องนี้แบบที่เต็มไปด้วยความคาดหวัง “หนึ่งในภาพยนตร์สยองขวัญดี่ที่สุด”, “น่ากลัวยิ่งกว่า อินซีเดียส (Insidious) และ เดอะ คอนจูริ่ง (The Conjuring)” รวมถึงรางวี่รางวัลที่หนังไปคว้ามาได้จากเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ยิ่งก่อตัวเพิ่มความหวัง

โดยพื้นฐานที่มา เดอะ บาบาดุค นั้นเป็นหนังจากประเทศออสเตรเลีย (ไม่ใช่ฮอลลีวูดนะครับ) และเคยเป็นหนังสั้นความยาวราวสิบนาที ก่อนที่กระแสตอบรับที่ดี จะทำให้ผู้กำกับขยับความยาวสู่เวอร์ชั่นที่เราได้ดู พล็อตย่อๆ นั้นออกสตาร์ทที่เรื่องราวของแม่ลูกคู่หนึ่งในช่วงระยะเวลาหกปี หลังการเสียชีวิตของสามี เอมิเลียต้องเลี้ยงดูซามูเอลลูกชายวัยหกขวบของเธอเพียงลำพัง โดยสิ่งที่เราจะเห็นตั้งแต่หนังเปิดเรื่องก็คือ ซามูเอลผู้เป็นลูกชายวัยเด็กนั้น หมกมุ่นอย่างรุนแรงกับเรื่องปีศาจผีร้าย เขามักแสดงพฤติกรรมประหลาดๆ และพยายามบอกแม่ว่ามีปีศาจที่มุ่งหมายจะมาเอาชีวิตตัวเองและแม่ จนกระทั่งบังเอิญได้พบนิทานก่อนนอนเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “เดอะ บาบาดุค” ซามูเอลก็ยิ่งมั่นใจว่าปีศาจในหนังสือเล่มนั้นมันเหมือนกับผีร้ายที่เขาหวาดผวาและฝันเห็นทุกคืน และมันกำลังย่างกรายเข้ามาหลอกหลอนเขาและแม่

ผมคิดว่าอันดับแรกสุดที่เราจำเป็นจะต้องหมายเหตุตัวโตๆ ไว้ตั้งแต่ต้นเลยก็คือว่า ถึงแม้เดอะ บาบาดุค จะมีลุคไปทางหนังผี แต่หนังเรื่องนี้มันมีอะไรที่ลึกกว่าซ่อนอยู่ ถ้าให้นิยาม ความเป็น “หนังสยองขวัญ” คิดว่าน่าจะเหมาะสมที่สุดกับหนังเรื่องนี้ มันอาจจะมีผีหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่จุดมุ่งหมายของหนังคือสร้างความสยองขวัญหวั่นผวาให้แก่คนดู แน่นอนว่าหนังแบบนี้จะให้ดี ต้องมีการปูพื้นฐานของตัวละครได้แน่นพอสมควร และสำหรับเดอะ บาบาดุค หนังก็ค่อยๆ จัดวางสภาวะแวดล้อมของตัวละครได้แบบรัดกุมรอบด้าน

ไล่ตั้งแต่ตัวของคนที่เป็นแม่ นับตั้งแต่การสูญเสียคนรักไปเมื่อหกปีก่อน และความสูญเสียนั้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่เคยจางหายจากใจของเธอเลย มันยึดกุมและเกาะติดจิตใจเธอมาตลอดระยะเวลาเหล่านั้น และในอีกหนึ่ง การเลี้ยงลูกคนเดียวในแบบซิงเกิ้ลมัมน่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการบ่มเพาะภาวะตึงเครียด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ลูกชายตัวน้อยยังดูแปลกประหลาดกว่าเด็กทั่วไป อยู่ที่บ้านก็เล่นกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง (เช่น อาวุธไว้ล่าปีศาจ) แถมยังหมกมุ่นกับเรื่องผีร้าย เมื่อไปอยู่โรงเรียนก็เบียดเบียนเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นจนถึงขั้นที่ต้องเรียกผู้ปกครองไปตำหนิ และหนักถึงขั้นให้ย้ายโรงเรียน...แน่นอนว่า ด้วยสภาวะความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอยู่ มันเป็นขุมพลังชั้นดีในการที่จะก่อความเครียดให้กับผู้หญิงที่โดดเดี่ยวคนหนึ่ง ถึงขนาดที่ว่าแม้แต่จะปลดปล่อยตัวเองให้โลดแล่นไปในความสุขสม (ฉากช่วยตัวเองด้วยไวเบรเตอร์) ยังถูกขโมยซีนเพราะลูกชายที่ตื่นด้วยการฝันร้ายว่าเห็นปีศาจ

บทบาทตัวตนของหนัง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเน้นหนักไปในเชิงจิตวิทยา การเล่นกับสภาวะทางจิตของตัวละคร โดยหลอกล่อคนดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่าตกลงแล้ว ปีศาจตัวนั้นจะโผล่มาตอนไหน และมันมาจากในหนังสือจริงหรือไม่ ในความเป็นหนังสยองขวัญ หนังมีฉากที่เล่นกับอารมณ์ของคนดูได้ดีครับ ไล่ตั้งแต่ฉากที่ชวนให้สะดุ้ง (หรือเหมือนจะชวนให้สะดุ้งตกใจ) ไปจนถึงฉากที่กดดันบีบคั้น ผมคิดว่าความดีงามที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดีที่สุดคือเรื่องการสร้างบรรยากาศ ทั้งเซ็ตติ้งฉากหรือแม้กระทั่งคาแร็กเตอร์ของตัวละครให้ดูน่าประหวั่นพรั่นพรึง

โดยส่วนที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ในระยะเวลาเกือบสามสิบนาทีแรก หนังเล่นกับตัวละครคนที่เป็นลูกก่อน กิริยาอันน่าหลอนทุกประการถูกสื่อผ่านตัวละครตัวนี้อย่างรู้สึกถึงความลี้ลับและน่าพิศวง นักแสดงเด็กที่รับบทลูกชายก็ถ่ายทอดบทบาทได้ดีเยี่ยม เขาสามารถทำให้เด็กคนหนึ่งดูมีความน่ากลัวและไม่น่าเข้าใกล้เลยแม้แต่น้อย (ขนาดลูกสาวคนเล็กของน้า ยังปฏิเสธในการร่วมจัดงานวันเกิดด้วย) ซามูเอลเป็นเด็กที่น่ากลัวจนน่าตบให้หัวทิ่ม...ถ้าเป็นคอละครบ้านเราที่อินมากๆ คงจะใช้คำทำนองนี้

ฝ่ายแม่นั้นไม่ต้องบรรยาย แม้จะไม่ใช่ดาราดังมีชื่อเสียง แต่ฝีมือการแสดงนั้น พวกมืออาชีพก็ต้องเหลียวมอง โดยเฉพาะเมื่อหนังเดินเข้าสู่องก์ที่สอง หลังจากให้ฝ่ายลูกหลอกหลอนจนเพียงพอ ก็ถึงทีของแม่ที่เหมือนว่าทุกเรื่องราวในชีวิตตลอดระยะเวลากว่าสามสิบนาทีที่ผ่านมาในหนัง จะบ่มเพาะความตึงเครียดให้เธออย่างเต็มที่ และพาเธอเดินไปสู่จุดวิกฤติทางจิตใจอย่างถึงที่สุดจนกระทั่งเกิดภาวะคล้ายคนจิตหลุดสติแตกในเวลาต่อมา

คือหนังเรื่องนี้ เอาเข้าจริง มันมีการหลอกคนดูถึงสองชั้นสามชั้น หมายถึงเล่นกับความคาดหมายของผู้ชมแบบเดาทางไม่ได้ การโหมโรงคนดูเรื่องพาร์ทของเด็ก แล้วค่อยกระหน่ำซ้ำด้วยบรรยากาศความกดดันของผู้เป็นแม่ ว่าเหนือการคาดเดาแล้ว เมื่อถึงตอนที่ให้ข้อสรุป ยังทุบและตบหัวคนดูจนอาจจะกล่าวได้ว่าหัวทิ่มกันไปเลย (หรือใครจะเรียกว่า “เงิบ” ก็ไม่ผิด)

ดังนั้น นี่คือชั้นเชิงของหนัง นี่คือจิตวิทยาของภาพยนตร์ เหมาะกับตัวตนของหนังที่เป็นหนังเชิงจิตวิทยา และแน่นอนว่า เมื่อหนังมุ่งเน้นให้เห็นแง่มุมเชิงจิตวิทยา เราจะพิจารณาเพียงความน่ากลัวของความเป็นหนังสยองขวัญ มันก็อาจจะเป็นมุมมองพื้นฐานเพียงแค่เบื้องต้นที่หนังให้แก่คนดู

ผมว่า รหัดโค้ดที่สำคัญซึ่งหนังให้แก่คนดู เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในมุมมองที่ลึกซึ้งขึ้นไป มีอยู่สองจุด จุดแรกนั้น เราจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องว่า วันที่สามีของเอมิเลียหรือพูดอีกแบบคือพ่อของซามูเอลเสียชีวิตนั้น เป็นวันเดียวกันกับวันเกิดของซามูเอล (ซึ่งการเสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์ตอนที่สามีของเอมิเลียขับรถไปส่งเธอเพื่อไปคลอดซามูเอล)

เราจะพบว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่หนังเล่าในเรื่องตลอดเวลากว่าสองชั่วโมงนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนและหลังวันเกิดของซามูเอล ไม่มากไม่น้อยไปกี่วัน และ...จุดที่สอง ซึ่งผมคิดว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจเรื่องราวได้แจ่มชัดขึ้น คือคุณยายข้างบ้านที่เป็นโรคพาร์กินสัน เธอเข้ามาในหนังไม่กี่ฉาก แต่ฉากที่สำคัญอยู่ตอนที่เธอมาเคาะประตูบ้านเอมิเลียในยามดึกเพราะได้ยินเสียงโครมคราม และถ้อยคำที่เธอพูด ผ่านประตูเข้ามา ทำนองว่า “ฉันเข้าใจว่ามันเป็นช่วงเวลายากๆ สำหรับเธอ(เอมิเลีย) ฉันหวังว่าเธอจะผ่านพ้นมันไปได้เหมือนทุกๆ ครั้ง”

ถ้อยคำนี้ของยายข้างบ้าน เหมือนจะบอกกล่าวกับเราเป็นนัยๆ ว่า ทุกๆ ปี เมื่อถึงรอบของวันเกิดของลูก ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันตายของพ่อ ครอบครัวนี้จะต้องผจญเผชิญกับเหตุการณ์สั่นประสาทเหล่านั้น มันคือผลพวงที่ยังไม่จางสิ้นของความทรงจำอันเจ็บปวดในคืนวันเก่าก่อน พวกหนอนและไส้เดือนซึ่งแม่ของซามูเอลใส่ชามเดินลงไปยื่นให้กับตัวอะไรสักตัวในห้องใต้ถุน ก็ไม่ต่างอะไรกับการขุนเลี้ยงอดีตที่ปวดร้าวให้ยังมีชีวิตอยู่ และมันก็ส่งผลให้เรื่องราวความทรงจำนั้นยังคงตามหลอกหลอนเธอไม่เลิกรา

มองอย่างธรรมดา มันก็เหมือนกับเรื่องราวธรรมดาสามัญของเราท่านทั่วไปนั่นล่ะครับ เรามักจะมีปฏิทินแห่งความทรงจำของเราเอง และกับบางเรื่องราว เราจะจำได้หมายรู้อย่างแน่ชัดว่าวันนั้นวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับเราบ้าง ยิ่งถ้าเป็นเรื่องราวที่สั่นสะเทือนความรู้สึกเรามากๆ เรื่องราวนั้นก็ยิ่งยากที่จะจากเราไป และเมื่อวัน(คล้าย)วันนั้นเวียนมาถึงอีกรอบใน พ.ศ.ต่อมา ถ้าเรายังยึดอยู่ อารมณ์ความรู้สึกแบบนั้นก็จะหวนมาอีกหน

เดอะ บาบาดุค ได้ชื่อภาษาไทยว่า “ปลุกปีศาจ” ผมคิดว่าชื่อนี้ไม่ใช่แค่ฟังน่าสนใจ หากแต่ยังสื่อความหมายได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะเอาเข้าจริง เราทุกคน ไม่ใช่เพียงขุนเลี้ยงความปวดร้าวไว้ตลอด ด้วยเยื่อใยผูกพันอะไรก็ตาม แต่เราก็ยังไม่วายที่จะปลุกความเจ็บปวด (ปีศาจ) ที่ว่านั้นให้ลุกขึ้นมาสร้างความปวดปร่าให้เราได้อยู่ร่ำไป

ลองนึกถึงวันที่ถูกคนที่รักมากๆ ตีจากไปก็ได้ครับ แม้ผ่านไปสิบปีสิบห้าปี นึกถึงวันนั้นคราวใด มันจะเจ็บแปลบในใจขึ้นมาทันทีอย่างที่เพลงเขาว่า...สำหรับคนที่หลุดพ้นได้แล้ว คงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับใครอีกหลายคน หวังว่าปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป คุณจะไม่ปลุกผีบาบาดุคมาหลอกหลอนตัวคุณเองอีก
ขอให้โชคดี...




ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก









กำลังโหลดความคิดเห็น