xs
xsm
sm
md
lg

‘ออเตอร์’ ที่ชื่อหม่อมน้อย-ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


พอๆ กับความอมตะแห่งเรื่องรักระหว่างหนุ่มสาวชาวทุ่งบางกะปิอย่างขวัญกับเรียม ชื่อและผลงานของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือที่ทุกคนเรียกขานด้วยความเคยคุ้นว่า “หม่อมน้อย” ก็จะยังยืนยงคงอยู่คู่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของเมืองไทย ในฐานะผู้กำกับที่มีสไตล์โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ที่เพียงเห็นแวบแรกก็รู้ว่า นี่คือหนังของหม่อมน้อย

อย่างที่คนดูหนังทุกคนคงรับรู้ครับว่า หลังจากเวลา 13 ปีผ่านพ้นไป การกลับมาสู่งานบนจอเงินอีกครั้งของหม่อมน้อย นับตั้งแต่เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” นั้น มีนัยยะสำคัญอย่างจับต้องได้ มองด้วยสายตาอันผิวเผินที่สุด หลายคนอาจจะพูดว่า นี่เป็นการกลับมาหากินกับของเก่า เอาบทประพันธ์หรือหนังเก่าๆ ซึ่งดีอยู่แล้วมาผลิตซ้ำ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการรีเมกหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้ง “ชั่วฟ้าดินสลาย”, “อุโมงค์ผาเมือง”, “จัน ดารา (ปฐมบท-ปัจฉิมบท)” และ “แผลเก่า” เราจะพบเห็น “ทาง” ที่มุ่งไปในหนังของหม่อมน้อยเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมองในเชิงเนื้อหา แทบจะกล่าวได้ว่า แต่ละเรื่องสามารถวิเคราะห์หรือวิพากษ์แบบเชื่อมโยงกันได้ ในหลากหลายแง่มุม

พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบหรือเนื้อหา คือโปรดักชั่นงานสร้างและเนื้อหาแก่นสาร (กระทั่งตัวนักแสดงหน้าเดิมๆ แต่วนเวียนเปลี่ยนบท) เราจะเห็น “ลักษณะร่วม” หรือรูปรอยบางประการที่เกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันในหนังของหม่อมน้อยสี่ห้าเรื่องหลัง เป็นน้ำเนื้อทางความคิด เป็นแก่นสารของชีวิต เป็นแบบฟอร์มของการนำเสนอ จนอาจจะพูดได้ว่าเป็น “ลายเซ็นเฉพาะตัว” ซึ่งสามารถอธิบายตัวตนหรือวิธีการทำงานในสไตล์ของผู้กำกับภาพยนตร์ที่ชื่อหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้

ในโลกภาพยนตร์ มีถ้อยคำหนึ่งที่ถูกเอ่ยถึงมาตั้งแต่ยุค 1940 คือ Theory of Auteurism หรือ “ทฤษฎีประพันธกร” ซึ่งใช้อธิบายหรือตีความภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่เพียงแค่เห็นแวบแรกก็รู้ว่า นี่คือหนังของผู้กำกับคนไหน และผู้กำกับคนนั้นๆ ก็จะได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ออเตอร์” (Auteur) หรือ “ประพันธกร” ไปด้วย ขอบเขตที่ใช้อธิบายออเตอร์คนหนึ่งๆ นั้น ตามหลักการ ไม่ได้แค่ต้องศึกษาผลงานของเขาอย่างถี่ถ้วนครอบคลุมเท่านั้น หากแต่ยังเข้าไปตรวจสอบปูมหลังชีวิตของออเตอร์คนนั้นๆ ด้วยว่าเติบโตมาอย่างไร ผ่านการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและศึกษามาแบบไหน รวมไปจนถึงมีโลกทัศน์ต่อเรื่องราวต่างๆ อย่างไร ไม่ว่าจะต่อชีวิต สังคม หรือแม้กระทั่งการเมือง

ตัวอย่างที่พอจะยกได้แบบไม่ไกลตัวเกินไปนัก ก็คงจะเป็นหนังของหว่องกาไว ถ้าใครได้ดูครบทุกเรื่อง ก็จะพอมองออกถึงความหมายของ “ทฤษฎีประพันธกร” เพราะสิ่งที่หนังของหว่องกาไวทำไว้เป็นสิบเรื่องนั้น นอกเหนือจากเทคนิควิธีการต่างๆ แล้ว แทบทุกส่วนขององค์ประกอบของหนัง เราสามารถนำเอาเรื่องหนึ่งไปเชื่อมโยงกับอีกเรื่องหนึ่งหรือหลายๆ เรื่องได้แบบสอดประสานกลมกลืนทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา และถ้าต้องการจะสืบสาวไปให้กว้างขึ้นในโลกของออเตอร์ ผู้กำกับระดับตำนาน ไล่มาตั้งแต่ ฟรังซัวต์ ทรุฟโฟต์, ยาสึจิโร โอสุ, อิงมาร์ เบิร์กแมน หรืออย่างที่คนส่วนใหญ่รู้จัก เช่น สตีเว่น สปีลเบิร์ก, มาร์ติน สกอร์เซซี่ ส่วนคนไทยเราก็น่าจะได้แก่ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล เหล่านี้ล้วนเคยได้รับการเอ่ยนามถึงในฐานะของออเตอร์ด้วยกันทั้งสิ้น

การเรียกใครสักคนว่าออเตอร์นั้น คือการชื่นชมครับ รากเหง้าแห่งการก่อเกิดของถ้อยคำนี้ มันมาจากยุคแห่งผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศสที่ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่แตกต่างออกไปจากขนบเดิมและหาทางสร้างสรรค์ในแบบของตัวเอง ซึ่งขนบเดิมที่ฝังรากลึกนั้นคือกลุ่มที่เรียกว่า “ซีเนม่า ออฟ ควอลิตี้” (Cinema of Quality – ผมขอนำไปกล่าวถึงอีกทีในตอนหลัง) เพราะในเบื้องต้น คงมีคนเริ่มสงสัยว่าผมจะมาร่ายเรื่องของทฤษฎีประพันธกรนี้ทำไม และมันเกี่ยวข้องตรงไหนกับหม่อมน้อย

ครับ, ปฐมเหตุแห่งเรื่องราวก็สืบเนื่องมาจากหนัง “แผลเก่า” ซึ่งกำลังเข้าฉายในตอนนี้ อันที่จริง ตำนานรักจากปลายปากกาของ “ไม้ เมืองเดิม” เรื่องนี้ มีการสร้างมาแล้วหลายครั้ง รวมเวอร์ชั่นของคุณเชิด ทรงศรี ผู้ล่วงลับ ก็นับเป็นสามหน และฉบับของหม่อมน้อยนี้ก็เป็นครั้งที่สี่ที่เรื่องราวความรักของขวัญกับเรียมแห่งทุ่งบางกะปิได้ผลิบานบนจอเงิน

เหมือนอย่างที่เราจะสัมผัสได้ตั้งแต่เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ซึ่งนับเป็นการกลับมาทำหนังอีกครั้งของหม่อมน้อย นอกเหนือไปจากการเป็นงานที่มีพื้นฐานมาจากบทประพันธ์หรือวรรณกรรมและล้วนเป็นเรื่องย้อนยุคเช่นเดียวกัน สิ่งหนึ่งซึ่งโดดเด่นเป็นอย่างมากและถือเป็นลักษณะร่วมในผลงาน 4-5 เรื่องหลังคืองานด้านโปรดักชั่นที่ผ่านการประดิษฐ์มาอย่างประณีตพิถีพิถัน โลเกชั่น เสื้อผ้าหน้าผม พูดได้ว่าเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว และทั้งหมดนี้ก็ก่อให้เกิดเป็นความงามด้านทัศนียภาพยามรับชม

อีกส่วนหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าหม่อมน้อยมีความพยายามที่จะทำและทำได้ดี คืออารมณ์หนังที่มุ่งไปทางดราม่า บางคนอาจจะพูดว่าเป็นการบิลท์อย่างฟูมฟายเหมือนละครหลังข่าวมากเกินไป แต่การทำหนังดราม่าและบิลท์ได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้โดยง่ายนะครับ และสำหรับหนังอย่าง “แผลเก่า” นั้น ก็พูดได้ว่าหม่อมน้อยโน้มนำคนดูไปสู่จุดแห่งความสะเทือนใจได้เป็นผลสำเร็จ เรื่องรักอันงดงาม ความจริงอันอัปลักษณ์และน่าเศร้าเกี่ยวกับมนุษย์ ถูกถ่ายทอดควบคู่กันไปในเรื่องแผลเก่า แน่นอนว่า ด้วยต้นทุนที่ดีจากฉบับนิยาย เป็นองค์ประกอบหนึ่ง แต่เรื่องแบบนี้ที่ทำไม่ถึงก็มีอยู่มากมาย

หม่อมน้อยนั้นเป็นเอกในด้านการกำกับการแสดง ผู้คนต่างยกย่องเชิดชูเป็นปูชนียบุคคลในด้านนี้ เรื่องดารานักแสดงหลักๆ จึงไม่เป็นปัญหา ทั้งคุณใหม่ ดาวิกา กับบทเรียม หรือนิว ชัยพล กับบทของไอ้ขวัญ ทั้งสองคนถ่ายทอดได้ดี โดยเฉพาะฝ่ายดารานำหญิงนั้น นอกเหนือจากความสวยงามซึ่งชายทุกผู้ที่พบพร้อมจะสยบให้ความรัก คุณใหม่ ดาวิกา ก็เตรียมแต่งเนื้อแต่งตัวไปลุ้นรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในฤดูกาลมอบรางวัลปีหน้าได้เลย

ทั้งนี้ นักแสดงขาประจำแต่ละคนของหนังหม่อมน้อย ก็ได้บทบาทตามสมควร เด่นมากหรือเด่นน้อยแตกต่างกันไป ทั้งคุณรัดเกล้า อามระดิษ (บทน้อยแต่ทรงพลัง) คุณศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (ไม่มีเขา ก็คงไม่ใช่หนังหม่อมน้อย) ไปจนถึงคุณพงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง แต่เหนืออื่นใด คือคุณสินจัย เปล่งพานิช ศิษย์ก้นกุฏิรุ่นลายครามของหม่อมน้อยที่ไม่ได้ร่วมงานกับหม่อมมาเกือบยี่สิบปี ก็กลับมารับบทในเรื่องนี้ด้วย และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทของคุณสินจัย หนุนส่งบทของคุณใหม่ ดาวิกา อย่างเต็มที่ ช่วยให้ภาพและตัวตนของเรียมเฉิดฉายเด่นชัด
ไม่ใช่เรื่องที่มโนหรอกครับ หากคุณสินจัยจะกลับมารับรางวัลด้านการแสดงอีกครั้งจากบทสมทบในหนังเรื่องนี้

มองในภาพรวมก็ต้องกล่าวว่าแผลเก่าเวอร์ชั่นใหม่ ยังคงได้มาตรฐานแบบหนังหม่อมน้อย แม้เราจะรู้สึกว่าดูหนังของหม่อมมาสี่ห้าเรื่องก็เหมือนได้ดูเรื่องเดียว เพราะภาพลักษณ์พื้นผิวที่สัมผัสได้ง่ายอย่างงานโปรดักชั่น ดูคล้ายกันในทุกเรื่อง อันที่จริง หนังของหลายคนก็เป็นอย่างนี้ อย่างหว่องกาไวยุคหนึ่งก็ทำหนังที่มีกลิ่นอายแบบเดียวกันในหนังแต่ละเรื่อง กระนั้นก็ตาม หนังแบบนี้ มันจะสนุกตรงที่เมื่อเราได้ดูหนังของเขาครบทุกเรื่องแล้วจับความต่อเนื่องเชื่อมโยงในมุมมองหรือประเด็นร่วม เอามาคิดวิเคราะห์ จะสนุกมากยิ่งขึ้น

อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นครับว่า การกลับมาของหม่อมตั้งแต่เรื่องชั่วฟ้าดินสลาย มันมีลักษณะร่วมหลายอย่างซึ่งหนังเรื่องหนึ่ง ส่งไปถึงหนังอีกเรื่อง อย่างน้อยที่สุด ถ้าไม่นับรวมโปรดักชั่นงานสร้างที่พอจะกล่าวได้ว่าเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของหม่อมน้อยไปแล้วนั้น เรื่องของแก่นสารเนื้อหา ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถหยิบมาพิจารณาเชื่อมโยงกันได้ในบางแง่มุม และแง่มุมนี้ก็มักจะเป็นโลกทัศน์ที่เราสัมผัสได้ในหนังแต่ละเรื่องของหม่อมน้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หม่อมน้อยนำเอาฉากทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวเนื่องกับหนัง มันไม่ใช่แค่การทำเพื่อเอาเท่ เพราะหากพินิจพิเคราะห์จริงๆ เราจะพบว่า “การเมืองของบ้านเมือง” ก็สะท้อนไปถึง “การเมืองของตัวละครในเรื่อง” อย่างมิอาจปฏิเสธ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การเมืองของตัวละคร ก็ส่งสะท้อนไปถึงการเมืองของบ้านเมืองด้วยเช่นกัน

ใน “ชั่วฟ้าดินสลาย” เราได้เห็นการสอดแทรกฉากการเปลี่ยนผ่านการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อเรามองย้อนไปยังเรื่องราวในหนัง ก็อาจจะทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าเพราะอะไร หม่อมน้อยถึงใส่ฉากการเมืองนี้เข้ามา เพราะอำนาจที่ล้นฟ้าของพะโป้ จริงๆ แล้วก็คืออำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดชนิดที่มิอาจมีช่องว่างให้อะไรอื่น

เช่นเดียวกัน ใน “จัน ดารา” นั้น โครงสร้างอำนาจก็เป็นสิ่งที่สัมผัสได้...อย่างผิวเผินที่สุด คือการใช้อำนาจ ใครเป็นใหญ่ก็กุมทุกอย่างไว้ในมือ การต่อสู้และเอาคืนกันและกันระหว่างคุณหลวงกับจัน ดารา จริงๆ ก็คือสงครามการเมืองดีๆ นี่เอง และนี่ก็เป็นสารคล้ายๆ กันที่ส่งผ่านออกมาในหนังเรื่องแผลเก่าอีกครั้ง เพราะไม่ว่าจะพ่อของเรียมหรือแม้กระทั่งคุณนายทองคำ ทั้งสองคนตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจที่มีเหนือผู้อื่น เหนือชะตาชีวิต เหนือหัวจิตหัวใจ และเหนือไปกระทั่งว่าสามารถบงการชีวิตของผู้คนได้ในฐานะเจ้าชีวิต

ใน “อุโมงค์ผาเมือง” แม้ว่าแบ็กกราวน์ฉากหลังของเรื่อง จะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับยุคไหนสมัยใดอย่างเด่นชัด (ส่วนหนึ่งเพราะต้นทางแห่งการดัดแปลงมาจาก “ราโชมอน” ของญี่ปุ่น) แต่หม่อมน้อยก็แสดงความสนอกสนใจในความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยการสอดแทรกวาทกรรมบางอย่างที่ชวนให้คิดถึงความเป็นจริงของการเมืองร่วมสมัยเข้ามา เช่น วาทะของตัวละครบางตัวที่พูดทำนองว่ารวยแล้วไม่มีทางคดโกง

และถ้าจะเชื่อมโยงความคิดหรือเนื้อหาสาระที่มักจะปรากฏในหนังของหม่อมน้อยตลอดมา หรือตลอดหนังสี่ห้าเรื่องในยุคหลัง เรื่องราวของมนุษย์และความลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสโลกีย์ ตลอดจนมุมมองเรื่องบาปเวรอันเป็นวิถีความคิดความเชื่อพื้นฐานของไทยเรา เหล่านี้เป็นประเด็นร่วมซึ่งเราสามารถจับต้องสัมผัสจนอาจจะกล่าวได้ว่า มันก่อเกิดเป็นภาพรวมแห่งโลกทัศน์อันสำคัญประการหนึ่งในหนังของหม่อมน้อย เป็นตัวตนและความคิดของผู้กำกับที่สื่อผ่านผลงานออกมา

ถ้าจะบอกว่านี่คือลักษณะการทำงานแบบหนึ่งของผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งถูกเรียกขานว่า “ออเตอร์” หรือ “ประพันธกร” ก็ไม่น่าจะเกินเลย อย่างไรก็ตาม หากจะมีอะไรที่พึงนำมาขบคิดต่ออีกเล็กน้อย สิ่งนั้นก็คงหมายถึงรากเหง้าที่มาของคำว่าประพันธกร เพราะแรกเริ่มเดิมที ทฎษฎีเกี่ยวกับออเตอร์นี้ มุ่งเน้นการก้าวไปจากกรอบการทำหนังในขนบ “ซีเนม่า ออฟ ควอลิตี้” (Cinema of Quality) คำนี้ใช้เรียกผู้กำกับภาพยนตร์ยุคก่อนหน้าที่มักจะนำเอาบทประพันธ์ดีๆ มาทำหนังและเน้นความหรูหราปราณีตของงานสร้างจนกลบทับแนวทางหรือตัวตนของผู้กำกับ

ตรงกันข้าม ลักษณะอย่างหนึ่งซึ่งเป็นพื้นฐานของผู้กำกับในแบบออเตอร์จะเหมือนกับนักประพันธ์ซึ่งแต่งเรื่องราวขึ้นมาเองใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตนสูง แน่นอนว่า ถ้ามองในมุมนี้ หนังของหม่อมน้อยก็มีรูปรอยบางอย่างที่ยังคาค้างอยู่กับขนบการทำหนังแบบซีเนม่า ออฟ ควอลิตี้ เพราะหนังของหม่อมน้อยที่ทำมาสี่ห้าเรื่อง ยังอาศัยต้นทุนมาจากบทประพันธ์ แม้จะบอกว่าเป็นการหยิบมา “ตีความใหม่” แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญก็ยังสัมผัสได้ไม่เด่นชัดนักว่าตีความใหม่อย่างไร

ท้ายที่สุด ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ได้ต้องการจะให้ไปซีเรียสเครียดเคร่งอะไรหรอกครับกับนิยามของถ้อยคำหรือคำเรียก อย่างออเตอร์หรือประพันธกร เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าหม่อมน้อยจะได้รับการขนานนามว่าออเตอร์หรือไม่อย่างไร แต่ความชัดเจนในสไตล์หลายอย่าง ก็คงเป็นประจักษ์พยานได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว
เพราะทันทีที่เห็น เราก็จะรู้ว่า แบบนี้แหละคือ “ลายเซ็น” ของหม่อมน้อย




ติดตามรับชมช่อง “Super บันเทิง” ได้ที่ Super บันเทิง live

ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม



เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ “ซ้อ 7” ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก








กำลังโหลดความคิดเห็น