หวิดจะกลายเป็นข่าวเศร้าของวงการมายาไปแล้วกับข่าวคราวว่าที่ พ.ต.นพพร อินทรสวัสดิ์ อายุ 45 ปี. "นายทุน" หนังไทยเรื่อง "ศรีธนญชัย 555+" พยายามจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย!
สอบสวนสาเหตุพบว่ามาเจ้าตัวเกิดความเครียดหลังภาพยนตร์ที่ลงทุนทั้งเงินเก็บ เอาบ้านไปขายฝากและหยิบยืมญาติมารวมกันกว่า 40 ล้านบาทซึ่งเข้าฉายไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมานั้นขาดทุนไม่เป็นท่า โดยทำรายได้วันละประมาณ 3 หมื่นกว่าบาทเนื่องจากทางเจ้าของโรงหนังให้หนังเข้าฉายในโรงย่านปริมณฑลเพียงวันละ 2 รอบเท่านั้น (11.00 น. และ 21.30 น.)
ย้อนกลับไปในอดีตแวดวงการหนังบ้านเราก็เคยเกิดข่าวคราวในทำนองนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนักวิจารณ์หนัง "สนานจิตต์ บางสะพาน" ที่ผันตัวเองมาเป็นผู้กำกับหนังเรื่องแรก "ขังแปด" ที่มี "เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ" แห่งค่ายสหมงคลฟิล์มฯ เป็นนายทุน ก่อนเกิดอาการเครียดและกดดันอย่างหนัก(บวกรวมกับอาการของโรค "ซึมเศร้า") จนคิดจะปลิดชีพตัวเองมาแล้ว
เรื่องนี้ใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊กเพจ "40 ปี สนานจิตต์ บางสพาน." ที่เจ้าตัวเพิ่งจะโพสต์เล่าถึงความหลังเรื่องนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้เอง
อีกหนึ่งกรณีก็คือในรายของผู้กำกับรุ่นใหญ่ "ทรนง ศรีเชื้อ" กับภาพยนตร์เรื่อง "สึนามิ" ที่ว่ากันว่าเจ้าตัวลงทุนไปถึง 160 ล้านบาท ซึ่งนอกจากหนังจะเจ๊งไม่เป็นท่าแล้วกระแสวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกไซเบอร์ยังเป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เล่นเอาตัวเจ้าของหนัง/ผู้กำกับเองเครียดหนักก่อนจะเป็นที่มาของการรายงานข่าวที่ว่า“ทรนง” คิดสั้นฆ่าตัวตาย หนัง “สึนามิฯ” ไม่เปรี้ยง
ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกับข่าวคิดสั้นของนายทุนหนังศรธนญชัยฯ นอกจากเรื่องของตัวเลขการลงทุนทำหนังตามข่าวโปรโมตจำนวน 40 ล้านบาทซึ่งต้องถือว่าสูงมากหากคิดถึงเรตการทำหนังในบ้านเราที่แบ่งออกเป็น หนังฟอร์เล็กๆ คือหนังที่ใช้เงินราวๆ 10 ถึง 15 ล้านบาท, หนังฟอร์มกลางๆ ที่ 20 - 25 ล้านบาท และหนังฟอร์มใหญ่จำนวนตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไปแล้ว (จำนวนตัวเลขไม่รวมการทำโฆษณา+การตลาด) อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือรายละเอียดที่ว่าเจ้าตัวไม่มีความรู้เรื่องการทำหนังมาก่อนเลย แต่ที่ทำไปก็เพราะมีญาติที่เคยทำหนังแผ่นมาชวนทำนั่นเอง
ต้องยอมรับว่าในช่วงหลายปีหลังมานี้มีหนังไทยที่เข้าโรงฉายจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่หากไม่ใช่คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในแวดวงภาพยนตร์แล้วก็ต้องบอกว่าแทบจะไม่รู้จักเอาเสียเลย
แน่นอนว่าหลายเรื่องนั้นล้วนออกจากโรงไปด้วยตัวเลขรายได้ที่น้อยนิดพร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา
บางเรื่องมองว่าเป็นเพราะระบบการจัดฉายของโรงหนังใหญ่ที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้หนังฟอร์มเล็กที่ไร้ดาราคนดังมาเป็นแรงดึงดูด มีการจำกัดโรง จำกัดรอบ, บางเรื่องให้เหตุผลถึงงบประมาณที่น้อยนิดจนไม่สามารถจะไปว่าจ้างนักโฆษณานักประชาสัมพันธ์ค่าตัวแพงๆ มาทำการตลาดให้ รวมถึงอีกมายมายหลายประการจนมองข้ามไปว่าจริงๆ แล้วสินค้าของตนเองล่ะเป็นเช่นไร? ต้องการขายใคร
ย้อนไปในปี 2547 ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "โหมโรง" ถูกส่งเข้าฉายและเกือบจะลาโรงไปแล้วแบบเงียบๆ แต่ด้วยคุณภาพของหนังที่การันตีแบบปากต่อปากผ่านช่องทางโลกไซเบอร์นั่นเองที่ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ของบ้านเราอยู่ช่วงหนึ่งกันเลยทีเดียว
ขยับเข้ามาในปัจจุบัน หนังอย่าง "ตั้งวง" และ "Mary is happy Mary is happy" ซึ่งแม้การเข้าฉายเฉพาะโรงและถึงแม้หนังทั้งสองเรื่องจะทำรายได้ไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่นั่นก็หาใช่เรื่องที่น่าตกใจแต่อย่างใดสำหรับคนทำหนังที่วางไว้แต่แรกแล้วว่าหนังของตนเองนั้นอยู่ในประเภทหนังอินดี้-ทุนน้อย-นอกกระแส ซึ่งการที่หนังทั้งสองเรื่องนี้ไปกวาดเอารางวัลโน่นนี่นั่นจากหลากหลายเวทีก็เป็นการการันตีได้ระดับหนึ่งว่าต่อให้หนังคุณทุนน้อย เป็นหนังนอกกระแส แต่ถ้าเป็นงานดีก็ใช่ว่าจะไม่มีคนเหลียวแลเอาเสียเลย
หรือจะเป็นหนังเฉพาะกลุ่มทุนต่ำอย่าง "พี่ชาย" (My Bromance) ซึ่งไม่ได้มีการโปรโมตอะไรมากมายในวงกว้าง ฉายจำกัดโรง แต่กลับเป็นที่พูดถึงอย่างมากกระทั่งตัวผู้กำกับ "ณิชชี่ ณิชภูมิ ชัยอนันต์" จากค่ายวายุฟิล์ม สามารถต่อยอดความสำเร็จที่ว่ากับ "เมื่อฝนหยดลงบนหัว" หนึ่งใน 3 หนังสั้นของโปรเจ็กต์ Wayufilm 2014 Project ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าจะให้เห็นตัวอย่างชัดเจนก็คงจะต้องยกตัวอย่างหนังไทยที่กำลังถูกพูดถึงในตอนนี้อย่าง "ผู้บ่าวไทบ้าน (อีสานอินดี้)" ผลผลิตจาก "กลุ่มคนทำหนังอินดี้อีสาน" (E SAN INDY FILM STUDIO) โดย "อุเทน ศรีริวิ" (Tony Boy) และ จิณณพัต ลดารัตน์ (New J.)
"ก่อนจะทำอะไร คุณต้องรู้ว่าจะทำอะไร ก่อนผมจะทำหนัง ผมรู้แล้วว่าจะทำให้ใครดู ไม่แปลกที่กลุ่มเป้าหมายของหนัง ผบทบ.เป็นคนอีสาน เพราะผมหวังเจาะคนอีสานตรงๆ" เป็นคือแนวความคิดของผู้กำกับ ผบทบ. ที่มีกับหนังตนเองและนั่นเองที่ทำให้ ผบทบ.มีจุดเริ่มต้นด้วยการเข้าฉายเฉพาะโรงหนังในแถบภาคอีสานเท่านั้นก่อนจะได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เก็บรายได้ 3 วันแรกที่เข้าฉาย (5-8 มิ.ย.) ไปถึง 5.63 ล้านบาท
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่ารายได้ก็คือกระแสพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ผ่านโลกไซเบอร์ที่ส่วนใหญ่ต่างก็เป็นไปในลักษณะชื่นชมและ "อยากดู" ซึ่งล่าสุดยุทธวิธีการตลาดที่หลายคนมองว่าเป็นแบบ "ป่าล้อมเมือง" ของหนังเรื่องนี้ก็สัมฤทธิ์ผลเป็นที่เรียบร้อยเมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าหนัง ผบทบ. กำลังจะบินจากดินแดนอีสานเข้ามาให้คนกรุงได้ชมกันในโรงในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ทั้งในเครือเมเจอร์และเอสเอฟ
และก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากในอนาคตหนังเรื่องนี้จะเข้าฉายในภาคอื่นๆ กระทั่งทั่วทั้งประเทศหากกระแสตอบรับในเมืองหลวงนั้นเป็นไปด้วยดีซึ่งนั่นก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่าจริงๆ แล้ว ขนาดหนังจะเล็ก-ใหญ่ ทุนจะหนา-บาง ฯ ก็ไม่ใช่กฏตายตัวเสมอไปที่จะทำให้หนังประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ(ในแง่ที่วางเอาไว้)
หากแต่ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ กลวิธี ที่จะจัดวางสินค้าของตนเองให้ถูกที่ ถูกเวลา และถูกจริตกับกลุ่มเป้าหมายต่างหาก
ท้ายสุด ผมเชื่อนะครับว่าแม้วันนี้หนัง "ศรีธนญชัย 555+" อาจจะมีรายได้ที่ไม่ดีนัก แต่ถ้าตัวหนังมีอะไรที่น่าสนใจ ไม่นานย่อมต้องมีคนพูดถึงอย่างแน่นอน