เมื่อปี 2011 สำหรับคนที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการหนังอย่างหายใจรดต้นคอ ย่อมจะเห็นว่า มีการผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งออกมา แม้จะไม่ดังมากและบ้านเราน่าจะไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ Transcendent Man ก็เขย่าวงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ฝักใฝ่ในเรื่องของนาโนเทคโนโลยี
ความสนใจของชายผู้นี้ที่อยู่ในภาพยนตร์สารคดีเรื่องดังกล่าว และมีตัวตนอยู่จริงในโลก อย่าง “เรย์ เคิร์ธซเวล” ที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักเขียนเรื่องไซไฟ เขาพยายามเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสังเกตนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการรวมเอาจิตวิญญาณหรือความรู้สึกนึกคิดจิตใจของมนุษย์เข้ากับระบบคอมพิวเตอร์
นี่คือเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษยชาติที่หนังอย่าง “ทรานเซนเดนซ์” (Transcendence) ให้นิยามเอาไว้ว่า ไม่เคยมีพัฒนาการมาเนิ่นนานมากแล้ว
แน่นอนครับว่า หนังอย่างทรานเซนเดนซ์นั้น มีส่วนเกี่ยวพันอย่างแกะไม่ออก กับหนังสารคดีเรื่อง Transcendent Man อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ของแนวคิดที่ว่า มนุษย์จะสามารถดำรงตนเป็นอมตะเหนือธรรมชาติได้ ด้วยการหลอมรวมตนเองเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ผ่านการอัพโหลด และสิ่งที่ “เรย์ เคิร์ธซเวล” กับหนังทรานเซนเดนซ์พูดไว้เหมือนกันก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เอกภาวะ” (Singularity) เพียงแต่งานชิ้นนี้อาจจะไปไกลกว่าในแง่ที่กล่าวถึงภาวะอีกภาวะหนึ่งซึ่งเรียกว่า “อุตรภาพ” ซึ่งก็ได้แก่คำว่าทรานเซนเดนซ์อันเป็นชื่อหนังนั่นเอง
“อุตรภาพ” ที่บวกรวมคำว่า “อุตระ” ซึ่งหมายถึง อยู่เหนือสิ่งต่างๆ ขึ้นไป สำหรับคนที่ได้ดูหนังก็คงจะกระจ่างชัดว่า สิ่งที่ตัวละครในหนังเรื่องนี้พยายามที่จะไปให้ถึง ก็คือภาวะที่อยู่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ
ทรานเซนเดนซ์ เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ วอลลี่ ฟิสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพให้กับคริสโตเฟอร์ โนแลน (เจ้าของผลงานอันลือลั่นอย่าง Batman) ซึ่งวอลลี่ เขาทำหน้าที่กำกับงานด้านภาพให้กับโนแลนมาตั้งแต่เรื่องแรกจวบจนผลงานยุคปัจจุบัน นั่นจึงไม่แปลกแต่อย่างใด หากเราจะเห็นชื่อของคริสโตเฟอร์ โนแลน นั่งแท่นในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ให้กับหนังเรื่องนี้ด้วย
เนื้อเรื่องโดยย่อเท่าที่เขาใช้โปรโมท เล่าถึงนักวิทยาศาสตร์สามคน ทั้งวิลล์ แคสเตอร์, อีฟว์ลีน และแม็กซ์ ได้ทำการคิดค้นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แต่พวกเขากลับถูกต่อต้านอย่างรุนแรง ในที่สุดวิลก็ถูกลอบสังหารโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เกลียดชังเทคโนโลยีจนมีสภาพเป็นเจ้าชายนิทรา อีฟว์ลีนผู้เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและภรรยาของวิลล์ ตัดสินใจเชื่อมต่อสมองของเขาเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์เพื่อยื้อชีวิตของวิลล์ไว้ จนเกิดเป็นคอมพิวเตอร์สามารถคิดเองได้เครื่องแรกของโลก วิลล์สามารถแสดงความรู้สึกและใส่ความคิดของเขาเข้าไปในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องบนโลกได้ด้วยการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เมื่อองค์กรก่อการร้ายรู้เรื่องนี้เข้า จึงวางแผนที่จะหยุดยั้งและทำลายวิลล์ให้สิ้นซาก
โดยไม่อยากจะมานั่งเฉลยเนื้อหาของหนังให้เสียเรื่อง ผมคิดว่าผลงานชิ้นนี้ได้ทำหน้าที่ของมันในแง่ตอบสนองความสนใจของผู้กำกับ กับการตั้งโจทย์โยนคำถามให้กับคนดู ที่วางคู่ขัดแย้งไว้ค่อนข้างชัด นั่นก็คือ มนุษย์กับธรรมชาติ และธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์ ผมนั่งคิดเล่นๆ ว่า ชื่อตัวละครอย่าง “วิลล์” หรือ Will ในภาษาอังกฤษนั้น สามารถหมายถึงปณิธานความตั้งใจหรือฝันใฝ่ทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุด ขณะที่คำว่าอีฟว์ลีน (Evelyn) เมื่อสืบค้นไปจนถึงรากคำ จะพบหนึ่งความหมาย ได้แก่ ความสวยงาม (Beauty) หรือความสว่างไสว (Radiance) และแน่นอนว่า ตามเนื้อเรื่องแล้ว ทั้งสองตัวละคร คือวิลล์และอีฟว์ลีน ต่างกำลังมุ่งมั่นไปให้ถึงจุดที่เป็นความงามอันสมบูรณ์แบบของมนุษยชาติและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ นั่นคือสิ่งที่หนังใช้คำเรียกว่า “อุตรภาพ”
ว่าตามที่หนังนำเสนอ อุตรภาพก็คงหมายถึงสภาพที่พึงปรารถนาอย่างถึงที่สุด เพราะถึงแม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือบาดเจ็บมาหนักหนาสาหัสอย่างไร ก็สามารถเยียวยารักษาได้ พูดง่ายๆ ว่ามันคือยุคที่มนุษย์อาจจะสะกดคำว่าตายไม่เป็นกันอีกต่อไปแล้ว! คำคำหนึ่งซึ่งหลุดจากปากของพวกตัวละครบ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้เผชิญหน้ากับอัจฉริยภาพของ “อุตรภาพ” ก็คือคำว่า God มันอาจจะเป็นคำอุทานง่ายๆ แต่นั่นคือวิธีการหยอดของหนังที่จงใจเลียบเคียงบอกเป็นนัยๆ ถึงสถานะใหม่ของมนุษย์
ทรานเซนเดนซ์ แม้จะมีรูปลักษณ์หน้าตาหนักไปทางเป็นหนังไซไฟ กระนั้นก็ดี นี่ไม่ใช่หนังในแบบที่คุณจะคาดหวังเอาความหวือหวาโครมครามของฉากการต่อสู้แบบล้ำยุคเหมือนกับที่หนังพยายามจะโปรโมทขาย หรืออยากได้อยากดูหนังที่เล่าเรื่องได้ตื่นเต้นระทึกใจ ก็อาจจะหวังได้ยากอยู่สักหน่อย ภาพรวมของ Transcendence ออกมาในโทนของการเป็นหนังที่ดูเนิบๆ เล่าเรื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป และปฏิเสธได้ยากว่ามันมีช่วงเวลาหนืดๆ อยู่ในบางช่วง
วอลลี่ ฟิสเตอร์ ที่เป็นผู้กำกับและทำงานด้านภาพให้กับคริสโตเฟอร์ โนแลน ซึมซับทักษะแนวทางการทำหนังแบบโนแลนมาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของความพยายามที่จะซับซ้อนมีมิติลุ่มลึก เล่นกับภาวะอารมณ์ความรู้สึกอันสับสนปนเปของตัวละครได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่โนแลนมักจะทำได้ยอดเยี่ยมคือการนำเอาความสนุกมาใช้สอยในหนังของตัวเองได้แบบชวนติดตาม ซึ่งตรงข้ามกับวอลลี่ ฟิสเตอร์ ที่อาจจะยังต้องศึกษาวรยุทธ์ตรงนี้เพิ่มเติม ตัวเรื่องนั้นมีประเด็นที่แหลมคมชวนให้คิดและมันถือเป็นชะตากรรมร่วมกันของมวลมนุษยชาติที่ตามความเป็นไปแล้ว ว่ากันว่า เหตุการณ์แบบในหนัง อย่างไรเสียก็ต้องเดินทางมาถึงมวลมนุษย์ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง นี่คือความเจ๋งด้านการคิดหาไอเดียสุดล้ำของภาพยนตร์เรื่องนี้
อันที่จริง โดยส่วนตัวผมกลับชอบสิ่งที่เป็นพล็อตรองของหนังมากกว่าพล็อตหลัก เพราะรู้สึกว่าหนังจับได้อยู่หมัด นั่นก็คือเรื่องในส่วนที่เป็นเลิฟสตอรี่ระหว่างวิลล์กับอีฟว์ลีน ผมว่าเนื้อหาในส่วนนี้มันโยงใยสะท้อนไปถึงภาพรวมของหนังทั้งหมด เพราะมันตั้งคำถามว่า สุดท้ายแล้ว เมื่อถึงวันที่มนุษย์กลายเป็น “สมองกล” บนระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์จริงๆ มนุษย์จะยังมีสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกนึกคิดหรือความอ่อนไหวเช่นเดียวกับมนุษย์แบบเดิมหรือไม่ คำพูดที่เราได้ยินอยู่อย่างน้อยสองครั้งในหนัง อันเป็นคำที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์สมองกล เมื่อถูกคนถามว่า “รู้สึกอย่างไร” คำตอบที่ได้ก็คือ “มันเป็นคำถามที่ค่อนข้างตอบได้ยาก ผม/ฉันไม่รู้จะอธิบายมันได้อย่างไร” ผมว่าคำนี้ แท้จริงแล้ว มันไม่ได้จะบอกว่าคอมพิวเตอร์ไม่มีความรู้สึกนึกคิด แต่มันขยับเข้ามาใกล้ชิดกับภาวะแบบมนุษย์อย่างน่าตกตะลึงด้วยซ้ำ เพราะจริงหรือไม่ ที่ว่าหลายครั้งในชีวิต มนุษย์เราเองก็ไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกหรือ “ตัวตน” ของตัวเองออกมาอย่างไรในรูปแบบของถ้อยคำ (น่าแปลกอีกเช่นกัน ที่หนังก็พูดถึงเรื่องความยากลำบากในการอธิบายตัวตนของตนเองของคนด้วย)
สุดท้ายแล้ว หลายคนได้ยินคำ “อุตรภาพ” หรือ “เอกภาวะ” อาจจะรู้สึกว่ามันเป็นคำอะไรของมัน หนังน่าจะดูยาก จริงๆ ผมอยากจะบอกว่ามันไม่ได้ยากขนาดนั้น “คนเรามักจะกลัวในสิ่งที่เรายังไม่เข้าใจ” จอห์นนี่ เดปป์ พร่ำคำนี้ไว้บ่อยๆ ในหนัง ดังนั้น มันไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ถ้าจะมีอะไรที่ต้องกลัวและใส่ใจ ก็คือ อัดกาแฟเข้มๆ สักแก้วสองแก้ว ก่อนเข้าโรงหนัง ก็น่าจะเวิร์กดี