xs
xsm
sm
md
lg

“มานี ชูใจ” ในบทเพลง รำลึกแด่ อ.รัชนี ผู้แต่งแบบเรียนสุดคลาสสิก/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
มานะ มานี วีระ ปิติ ชูใจ เจ้าแก่ เจ้าโต ตัวละครในแบบเรียนสุดคลาสสิก
สมัยเรียน ป.1- ป.6 “มานะ มานี ปิติ ชูใจ วีระ ดวงแก้ว เพชร ครูไพลิน เจ้าแก่ เจ้าโต” คือชื่อที่คุ้นเคยมากกว่าชื่อเพื่อนหลายๆคนเสียอีก เพราะนี่คือชื่อของตัวเอกในหนังสือเรียนภาษาไทยชั้นประถม 1-6 ซึ่งผมกับใครหลายคนจำนวนมากในประเทศนี้ต่างมีความหลัง มีความทรงจำอันสุดแสนคลาสสิกกับแบบเรียนชุดนี้

ตอนเรียนประถม ผมไม่รู้หรอกว่าเพื่อนๆส่วนใหญ่มีพี่-น้อง ชื่ออะไร ที่บ้านเลี้ยงสัตว์อะไร ช้าง ม้า วัว ควาย ปู แรด คางคก นกแสก (แต่สำหรับบางคนกับรู้ดีว่า พ่อ-แม่ของมันชื่ออะไร และยังคงเรียกชื่อพ่อแทนชื่อตัว(มัน)มาจนทุกวันนี้)

แต่กลับรู้ว่า มานีมีพี่ชายชื่อมานะ มานีมีเพื่อนหญิงคนสนิทคือชูใจ มานีมีเพื่อนชายคนสนิทคือปิติ ปิติเคยมีม้าชื่อเจ้าแก่ก่อนจะเสียมันไป มานะ-มานี มีหมาแสนรักชื่อเจ้าโต
อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์แบบเรียนประถมสุดคลาสสิก
เรื่องเหล่านี้เป็นการรับรู้แบบจำฝังลึก วันนี้ยังคงจำได้ดี เพราะตัวผม(และใครอีกหลายๆคนในประเทศนี้)เคยอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เริ่มหัดอ่านภาษาไทย มานี มี ตา, ตา มี นา, กา มี นา ฯลฯ จากนั้นเราก็อยู่กับตัวละครเหล่านี้มาทุกสัปดาห์(ยกเว้นช่วงปิดเทอม)เป็นเวลา 6 ปีเต็ม จนค่อยๆซึมซับเรื่องราวของพวกเขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (ไม่นับพวกไม่ปกติที่เรียนเกินหรือเรียนไม่ครบ)

แม้วันนี้ผมจะมีความทรงจำอันเลือนรางกับแบบเรียนชุดนี้ แต่ถ้าได้พูดคุยกับผู้ที่เคยผ่านแบบเรียนนี้มาเหมือนกัน ความทรงจำต่างๆมันจะค่อยๆผุด ค่อยๆประติดประต่อเข้ามา จนสามารถร้อยเรียงเป็นเรื่องราวแล้วพาเราย้อนอดีตไปรำลึกถึงเยาว์วัยอันเพริศแพร้ว

อย่างไรก็ดีในตอนเด็กผมไม่รู้ และไม่ได้สนใจหรอกว่า ใครเป็นคนแต่งบทเรียนชุด มานี ชูใจ กระทั่งเมื่อโตขึ้น มีกูเกิ้ล มีวิกิพีเดีย ผมจึงรู้ว่าแบบเรียนนี้แต่งโดย “อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ” (วาดภาพประกอบ โดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล)
ขอไว้อาลัยต่อการจากไปของ อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ
แบบเรียนชุดมานีชูใจ มี 12 เล่ม ตั้งแต่ ป.1-ป.6 ภาคเรียนละ 2 เล่ม ใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2521–2537 ในแต่ละปี แต่ละ ป. จะมีการวางระดับการใช้ภาษาไทยค่อยๆไล่จากการอ่านง่ายๆไปสู่การใช้ภาษาไทยที่เข้มข้นขึ้น ลึกซึ้งขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระ องค์ความรู้ คุณธรรมจริยธรรม คติเตือนใจ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี วรรณคดี ฯลฯ สอดแทรกไปกับเนื้อหาที่อ่านสนุก อ่านง่าย แต่กลับจำได้ดี

ทว่า...เป็นที่น่าเสียดายยิ่ง เมื่อในปี 2537 กระทรวงศึกษาได้ยกเลิกแบบเรียนนี้ไปด้วยเหตุผลว่า เนื้อหาไม่ทันสมัย กระนั้นแบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ ก็ยังเป็นแบบเรียนที่อยู่ในใจของใครหลายๆคนไปแบบไม่รู้ลืม

ครั้นเมื่อทราบข่าวว่าท่านอาจารย์รัชนี อำลาจากโลกนี้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 ที่ผ่านมา ผมจึงพลอยรู้สึกอดเศร้าใจไปด้วยไม่ได้ เพราะผมถือว่า อ.รัชนี ท่านคือผู้สร้างทักษะ วางรากฐานการอ่านภาษาไทยให้กับคนจำนวนมากในประเทศนี้ ที่สำคัญคือแบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ นั้น ทรงคุณค่าและคลาสสิกสุดๆ
เพลงมานี มานา โดย เทดดี้ คุง
และเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปของ อ.รัชนี ในส่วนของคอลัมน์แนะนำเพลง ผมจึงขอนำ 3 บทเพลงที่ว่าด้วยเรื่องราวของบทเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ มารำลึกถึงความทรงจำในวัยเยาว์

เพลง “มานี มานา”

เพลง “มานี มานา” ร้องโดย เทดดี้ คุง อยู่ในอัลบั้ม “CEO of Hip-Hop” มาในสไตล์อิเลคทรอนิก แด๊นซ์ ฮิปฮอป เนื้อร้องนำเรื่องราวของ มานะ มานี ปิติ ชูใจ และคุณอา ที่อิงกับภาษาในแบบเรียน มาเล่าเรื่อง แรกๆก็ปูพื้นมาดี แต่พอช่วงกลางชักเริ่มแผลงไป ออกลูกฮาๆกวน เพราะมีคุณอาใจดีจะพาไปกินบะหมี่ พาไปถนนอังรีดูนัง รวมถึงพาไปอาร์ซีเอ แต่สุดท้ายคุณอาพาไปดูปูที่พัทยา

เพลงนี้ผู้ใหญ่บางคนที่โตมากับแบบเรียนชุดนี้ฟังแล้วคงขัดใจ แต่กับเด็กรุ่นใหม่หลายคนเขาบอกว่า เพลงนี้แนวมาก สวดยอด มันส์จุงเบย เมพขิง สุดติ่งกระดิ่งแมว

เอาเป็นว่าเพลงมานี มานาเป็นเพลงสนุกๆ ฟังเพลินๆ ส่วนเนื้อหานั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน อย่างไรก็ดีเพลงนี้แม้จะฟังกวนตีน แต่เทดดี้ก็สามารถเชื่อมต่ออดีตกับความร่วมสมัยเข้าเป็นสไตล์ของเขาได้แบบมีคนชอบกันไม่น้อย... (คลิกฟังเพลง “มานี มานา”)
โมเดิร์นด็อกกับเพลงมานี
เพลง “มานี”

นี่คือเพลงที่ผมได้รับแชร์มาเป็นเพลงแรกหลังท่านอาจารย์รัชนีเสียชีวิต เพลงนี้เป็นของวง“โมเดิร์นด็อก” จากอัลบั้มชุดแรกโมเดิร์นด็อก ก่อนที่ตอนหลังหันมาใช้ชื่อว่า“เสริมสุขภาพ”

เพลงมานีมาในแนวฮาร์ดคอร์หนักหน่วง(หนักที่สุดในอัลบั้มชุดแรก) ซาวนด์ออกไปในทางแทรชผสมกรั้นจ์ เนื้อเพลงนี้ในท่อนต้นๆเป็นการนำความคลาสสิกของการเริ่มต้นเรียนๆภาษาไทยของบทเรียนแรกๆ (ป.1 เล่ม1)มาร้อยเรียง คือ “มานี มีตา มีกา มานีดูกามานี มีอา มีนา ในนามีงู...” ก่อนปิดท้ายด้วยการเหน็บแนมการศึกษาในบ้านเราว่า "มานี ดีใจ ได้ขึ้นปอ.สี่ เรียนดี เรียนเก่ง หัวเหม่ง ทั้งปี"... (คลิกฟังเพลง "มานี")
เพลงมานีฯลฯไปไหน? จาก วง Mr.Sunday
เพลง “มานีฯลฯไปไหน?”

เพลง“มานีฯลฯไปไหน?” ร้องเล่น โดย วง “Mr.Sunday” ที่ออกมาเป็นซิงเกิ้ล “มานีฯลฯ ไปไหน?” เพลงนี้เป็นเพลงสนุกๆ ชวนขยับแข้งขยับขา ดนตรีฟังเท่มีลูกเล่น และส่วนผสมทั้ง ป็อบ ร็อก แจ๊ซ การเรียบเรียงดนตรีเจ๋งทีเดียว แถมมีเครื่องเป่ามาสร้างสีสัน ขณะที่ไลน์สไลด์กีตาร์ที่คอยหยอดมาก็เด็ดใช่ย่อย

เนื้อหาเพลงมานีฯลฯไปไหน ฟังต่างออกไปจาก 2 เพลงแรก คือไม่ได้นำภาษาในแบบเรียนมาร้อยเรียงเป็นเพลง หากแต่เป็นการสรุปแนวคิดแล้วตีแผ่ออกมาเป็นบทเพลงสะทกสะท้อนปัญหาการศึกษาในบ้านเรา ด้วยการยกมานีและตัวละครในแบบเรียนมารำลึกถึงความผูกพันในวัยเยาว์ของคนรุ่นนั้นที่เป็นดังเพื่อนผู้คุ้นเคย เปรียบดังความงดงามของภาษาไทย ความงดงามของแบบเรียน จากยุคก่อนเก่าที่วันนี้ถูกหลงลืม ถูกทอดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งในบทเพลงได้มีการตั้งคำถามให้ฉุกคิดว่า ... “มานี ฯลฯ ไปไหน?” ใครกันที่ทำให้เพื่อนของเราต้องจากไป หรือเป็นเพราะว่าเราไม่ใส่ใจ... (คลิกฟังเพลง “มานีฯลฯไปไหน?”)
แบบเรียนแรกสุด ป.1 เล่ม 1 บทที่ 1
เพลงนี้แม้ชื่อเพลง ดนตรี ดูเบาๆ แต่กลับมีเนื้อหาแฝงนัยยะที่ลุ่มลึกทีเดียว โดยเนื้อร้องของเพลง มานี ฯลฯ ไปไหน? นั้นมีอยู่ว่า

คงไม่มีท้องนา ที่เคยมีปู
คงไม่มีแล้วรู อยู่ที่ในนาอา
คงไม่มีเจ้าโต คอยวิ่งวนไปมา
และคงไม่มีสีเทา

คงไม่มีมานี ไม่มีชูใจ
คงไม่มีใคร ๆ อยู่ในใจเหมือนเก่า
คงจะเลือนหายไป เพราะใคร ๆ ก็ไม่เอา
ไม่คิดถึงเธอเลย ไม่คิดถึงมานี

มานี ที่เป็นเพื่อนกันเมื่อวันก่อน
มานี ที่ครูเคยสอนอยู่ทุกวัน
มานี เด็กน้อยในนิทาน
มานี เธอไปอยู่ที่ใด

ใครกัน ที่ทำให้เพื่อนของเราหายไป
ใครกัน ที่ทำให้เธอต้องมาเสียใจ
เราเอง ที่คงจะหลงลืมไป
เราเอง ที่ผิดกันทั้งนั้น

จนเธอต้องจากไป ให้เราต้องเสียดาย
เพราะเราไม่ใส่ใจ ไม่แคร์ว่ามานีไปไหน

คงไม่มีท้องนา ที่เคยมีปู
คงไม่มีแล้วรู อยู่ที่ในนาอา
คงไม่มีเจ้าโต คอยวิ่งวนไปมา
และคงไม่มีสีเทา

จนเธอต้องจากไป ให้เราต้องเสียดาย
เพราะเราไม่ใส่ใจ ไม่แคร์ว่ามานีไปไหน

คงไม่มีท้องนา ที่เคยมีปู
คงไม่มีแล้วรู อยู่ที่ในนาอา
คงไม่มีเจ้าโต คอยวิ่งวนไปมา
และคงไม่มีสีเทา
ปก ป.2 เล่ม 2
ครับและนี่ก็คือเรื่องราวของแบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในมิติของเสียงเพลง แสดงให้เห็นถึงความคลาสสิกของแบบเรียนประถมชุดนี้ ซึ่งแม้วันนี้ อ.รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้ประพันธ์แบบเรียนชุดนี้จะลาจากโลกนี้ไป แต่แบบเรียนชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ ยังคงอยู่คู่คนไทยที่มีโอกาสได้ร่ำเรียนภาษาไทยจากแบบเรียนชุดนี้ตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น