xs
xsm
sm
md
lg

เซ็งเป็ด!! ฟุตบอลโลก “อาร์เอสฯ” อดขายกล่อง ต้องฉายฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหารอาร์เอส จำกัด(มหาชน) คงจะหงายเงิบไปตามๆ กันเมื่อความฝันในการที่จะกอบโกยเงินทองเข้ากระเป๋าในช่วงฟุตบอลโลก 2014 ต้องพังทลายลงไป เมื่ออยู่ดีๆ กสท (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์)และ กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) พร้อมใจกันประสานเสียงบอกว่าอาร์เอสฯ จะต้องดำเนินการฉายฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสดๆ ทั้ง 64 นัดทางฟรีทีวีเท่านั้น ทั้งๆที่ตอนแรกอาร์เอสฯ วางแผนเอาไว้ดิบดีว่าจะถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทางฟรีทีวีเพียง 22 นัดจากทั้งหมด 64 นัด และจะขายกล่องสัญญาณรับชมให้แก่คนที่อยากจะดูทุกแมตช์ ทุกคู่อีกทีหนึ่ง แต่หลังจากที่ กสท และ กสทช. ออกโรงมาพูดถึงกฎ Must have ที่เจ้าของช่องสัญญาณทั้งหลายทำความเข้าใจและยอมรับกันไปแล้ว อาร์เอสฯก็ถึงกับเซ็งเป็ดเพราะในกฎข้อนี้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นหนึ่งในรายการที่จะต้องเผยแพร่ออกฟรีทีวีเท่านั้นเพื่อให้ผู้ชมมีโอกาสได้รับชมอย่างเท่าเทียมกัน

หลังจากได้ยินว่า กสท กับ กสทช. จะบังคับใช้กฎดังกล่าวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปีนี้ด้วย “พรพรรณ เตชะรุ่งชัยกุล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ของบริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ที่ดูแลเรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายโดยตรงก็ถึงกับโอดครวญเพราะอาร์เอสฯ ได้วางกลยุทธ์ “กินสองทาง” เอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อตอนที่ชนะการประมูลซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีการพูดถึงกฎระเบียบที่จะนำมาบังคับใช้ในธุรกิจโทรทัศน์อย่างเช่นทุกวันนี้

จะว่าไปแล้วยุทธวิธีกินสองทางแบบที่อาร์เอสฯ วางเอาไว้ คือหาพันธมิตรร่วมทุนโดยปล่อยพื้นที่โฆษณาในราคาที่แพงระยับ กับขายกล่องสัญญาณให้ผู้ชมทั่วไปนำไปติดตั้งเพื่อรับชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครบทุกแมตช์ได้อย่างพิเศษกว่าใคร วิธีแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่เรื่องผิด เพราะเมื่อครั้งที่แกรมมี่ฯ ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรมาฉายก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ต่างกันตรงที่ฟุตบอลยูโรไม่ได้อยู่ในกฎ Must have ที่ต้องกระจายภาพสัญญาณให้ผู้ชมมีโอกาสเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคเหมือนฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย สุดท้ายแกรมมี่ฯ จึงกอบโกยได้จากฟุตบอลยูโรในขณะที่อาร์เอสฯ ต้องหงายเงิบเพราะเจอกฎบังคับใช้ย้อนหลังเช่นนี้

กฎ กติกาที่ กสทช. วางขึ้นมาแล้วบังคับใช้กับเจ้าของสัญญาณผู้ทำธุรกิจโทรทัศน์ทั้งหลายหลังจากมีการจัดสรรคลื่นความถี่ในระบบดิจิตอลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วมีอยู่สามหมวดหมู่ นั่นคือ Must Carry หรือการแพร่ภาพที่มีข้อยกเว้นอย่างเช่น แพร่ภาพทุกช่องสาธารณะ แต่แพร่ภาพแค่ในบางช่องธุรกิจฟรีทีวีซึ่งต้องมีในทีวีดาวเทียมกับเคเบิลทีวีด้วย Must Have หรือการแพร่ภาพที่ต้องออกในฟรีทีวีเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด 7 รายการ ประกอบไปด้วย กีฬาซีเกมส์ กีฬาอาเซียนพาราเกมส์ กีฬาเอเชียนเกมส์ กีฬาเอเชียนพาราเกมส์ กีฬาโอลิมปิก กีฬาพาราลิมปิก และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และหมวดสุดท้ายคือ Non - Exclusive list หรือรายการที่ห้ามผูกขาด ต้องเสนอให้ฟรีทีวีด้วย ซึ่งได้แก่ กีฬามหาวิทยาลัยโลก คอนเฟเดอเรชันคัพ เอเชียนคัพรอบสุดท้ายและนัดที่มีทีมชาติไทยแข่ง ฟุตซอลชิงแชมป์โลกและฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย เซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก วอลเลย์บอลชิงแชมป์โลก เทนนิสเดวิดคัพนัดที่มีทีมชาติไทย

เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์นี้ อาร์เอสฯ ก็จะต้องแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 64 นัดทางฟรีทีวีเพื่อให้คนทั่วไปสามารถรับชมได้อย่างทั่วถึงกัน แผนกลยุทธ์การฉายแค่น้ำจิ้ม 22 นัดเพื่อขายกล่องสัญญาณของอาร์เอสฯ ก็เป็นอันต้องพับเก็บไป แต่อาร์เอสฯ ก็ไม่ยอมแพ้เพราะเขาถือว่าทำการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาตั้งแต่ 7 ปีก่อน ก่อนหน้าที่จะมีกฎข้อนี้ออกมาบังคับใช้เสียอีก ถ้าในทางกฎหมายอื่นๆ ไม่มีอำนาจบังคับย้อนหลัง อาร์เอสฯ ก็ถือว่ากฎที่ออกภายใต้พระราชบัญญัติจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยก็ต้องไม่มีสิทธิ์บังคับใช้ในกรณีเหมือนกัน ฉะนั้นแล้วอาร์เอสฯ จึงทำการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้เพิกถอนประกาศของ กสทช. อันนี้ มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ให้ยกคำร้องของอาร์เอสฯ นั่นหมายความว่ากฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามที่ กสทช. ประกาศต่อไป

แม้ว่าการขายกล่องสัญญาณในช่วงฟุตบอลโลกดูจะมืดมน แต่ดูเหมือนว่าอาร์เอสฯ จะไม่สนใจ เพราะบริษัทจำกัด (มหาชน) ทางด้านธุรกิจบันเทิงแห่งนี้ก็ยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ว่าจะยังคงขายกล่องรับสัญญาณฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายต่อไป และจะฉายทางฟรีทีวีแค่เพียง 22 นัดเหมือนเดิมที่ได้เคยประกาศไว้ โดยบอสใหญ่ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ได้ออกมานั่งโต๊ะแถลงด้วยตัวเองว่ากฎดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการเพราะว่าเขาวางกลยุทธ์เอาไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีกฎข้อนี้แล้ว จึงขอประกาศว่าจะยังเดินหน้าขายกล่องรับสัญญาณต่อไป

อาร์เอสฯ วางกลยุทธ์ที่จะฟันกำไรจากการขายกล่องรับสัญญาณฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายเอาไว้ว่าตั้งใจจะจำหน่ายกล่องรับสัญญาณให้ได้ 1 ล้านกล่อง หรือต้องการยอดขาย 100 - 200 ล้านบาท ซึ่งทีแรกพรพรรณออกมาพูดแบบน้ำตาตกในว่าถึงจะถูกกฎดังกล่าวบังคับไม่ให้ขายกล่องรับสัญญาณ กำไรของอาร์เอสฯก็คงจะหายไปแค่ 100 - 200 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับภาพรวมรายได้ที่จะได้รับจากการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกซึ่งวางเอาไว้ที่ 650 ล้านบาท

พรพรรณอ้างว่ารายได้หลักที่อาร์เอสฯ วางไว้มาจากการขายโฆษณาให้กับสปอนเซอร์ ซึ่งสปอนเซอร์หลักที่เป็นระบบแพลทินัมถึงตอนนี้มีทั้งหมด 4 ราย คือ โค้ก เครื่องดื่มช้าง เอไอเอส และ ปตท. รวมกับสปอนเซอร์รายเล็กที่มี 10 กว่าราย ซึ่งตอนนี้อาร์เอสฯ ได้ทยอยขายแพกเกจให้กับสปอนเซอร์ทั้งหลายแล้ว โดยกำไรที่อาร์เอสฯ วางไว้ในครั้งนี้คือ 650 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าที่เคยได้รับเมื่อ 4 ปีก่อนนั่นคือ 550 ล้านบาท

แม้จะมีแฟนบอลหลายคนรู้สึกเห็นใจอาร์เอสฯ ที่ถูกกฎบังคับใช้ย้อนหลังทั้งๆ ที่ควักกระเป๋าซื้อลิขสิทธิ์ไปก่อนที่จะมีกฎนี้เกิดขึ้น แต่ก็มีอีกหลายคนลงความเห็นว่างานนี้อาร์เอสฯ ฆ่าตัวตายแท้ๆ เพราะว่ากฎข้อนี้ถูกผลักดันและสนับสนุนให้ออกมาบังคับใช้อย่างแพร่หลายเมื่อครั้งที่เกิดกรณี “จอดำ” ขึ้นเมื่อตอนที่แกรมมี่ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร ช่วงนั้นเกิดวาทะเด็ดจากผู้บริหารอาร์เอสฯ ที่ทวีตลงทวิตเตอร์ส่วนตัวหลังจากที่แกรมมี่บีบคอเคเบิลและทรูวิชั่นส์ให้ล็อกสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโรจนเกิดปัญหาจอดำ คอบอลโวยไปทั่วเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา ตอนนั้นพรพรรณทวีตข้อความว่าแม้ของฟรีจะไม่มีในโลก แต่เกมที่จะชนะได้ยาวๆ คือชนะใจผู้บริโภคเท่านั้น
“หากอยากหารายได้จากโฆษณาก็เปิดให้คนดูฟรีไม่ต้องเสียเงินเพื่อดูคอนเทนต์นั้นๆ จะได้มีคนดูเยอะๆ

สปอนเซอร์ก็จะยอมจ่ายเงินโฆษณาในราคาที่สูง หากอยากหารายได้จากคอนเทนต์โดยตรงก็ใช้วิธีเก็บเงินค่าดู อาจจะอยู่ในรูปแบบของค่าสมาชิกรายเดือน (monthly subscription) หรือให้ลูกค้าจ่ายต่อการดูเป็นครั้งๆ (pay per view) หรือหากเป็นการตั้งต้นธุรกิจใหม่อาจใช้คอนเทนต์ที่แข็งแรงนี้ในการสร้างฐานจำนวนกล่องในตลาด” พรพรรณเคยกล่าวไว้ในพื้นที่ส่วนตัวเช่นนี้

เมื่อถึงคราวที่อาร์เอสฯ ถูกกฎ กติกาที่ตัวเองร่วมผลักดันย้อนกลับมาเล่นงานเช่นนี้ ผู้บริหารอาร์เอสฯ ก็คงต้องแสดงสปิริตว่าทัศนคติที่ตัวเองเคยแสดงเอาไว้เมื่อสองปีที่ผ่านมา บัดนี้มันจะยังคงเป็นเช่นนั้นเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่ตัวเองต้องมาเจอกับภาวะกฎบังคับใช้ย้อนหลังเช่นนี้
.............................................

ที่มานิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 233 วันที่ 22-28 มีนาคม 2557


กำลังโหลดความคิดเห็น