เคยพูดไว้หลายครั้งบนพื้นที่แห่งนี้ว่า ขึ้นชื่อว่า “พจน์ อานนท์” นั้น การันตีเสมอในแง่รายรับ โดยเฉพาะเมื่อเขาจับหนังผีที่เป็นแนวซึ่งเหมาะกับความต้องการตลาดด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสหรือแต้มต่อที่หนังจะทำเงิน และโปรเจคต์ “ตายโหง ตายเฮี้ยน” เรื่องนี้ ที่มองยังไง ก็น่าจะกำไร ไม่มากไม่มาย แต่ก็จะได้
“ตายโหง ตายเฮี้ยน” เป็นโปรเจคต์ลำดับที่สอง ต่อจาก “ตายโหง” ซึ่งลงโรงฉายเมื่อปี 2553 หนังทำเงินตอนนั้นไป 31 ล้านบาท ซึ่งถือว่าได้ระดับมาตรฐาน โปรเจคต์นี้มีพจน์ อานนท์ เป็นหัวเรือหลักในฐานะผู้กำกับที่มีชื่อมากที่สุด และว่ากันจริงๆ เหมือนกับว่าพจน์ อานนท์ จะใช้โปรเจคต์นี้ในการแหวกพื้นที่ให้ผู้กำกับโนเนมได้มีโอกาสทำหนัง ถ้าจะมองกันในแง่ของการให้เครดิต ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่คนอย่างพจน์ อานนท์ พอจะช่วยเหลือคนอื่นได้ในแง่ของงานวงการ โอเคล่ะ มันปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีนายทุนออกเงินให้ ก็คงไม่ได้ทำ แต่ในแง่ของไอเดียความคิด ถือว่าเป็นเครดิตในการมีส่วนออกใบสูติบัตรให้กับคนหน้าใหม่ๆ ที่อยากจะทำหนัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใบสูติบัตรที่ว่านั้น จะเปลี่ยนเป็นใบมรณบัตรหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพผลงานของแต่ละคน
“ตายโหง ตายเฮี้ยน” ยังคงเจริญรอยตามโปรเจคต์ก่อนหน้า ด้วยการหยิบเอาประเด็นข่าวหน้าหนึ่งซึ่งเป็นโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญมาแต่งเรื่องแต่งราวเป็นสี่เรื่อง ไล่ตั้งแต่กรณีรถตู้สาธารณะที่กลายเป็นรถตู้มรณะ ฆาตกรรมซ่อนศพในช่องแอร์ พิษรักแรงหึง ไปจนถึงซ่องผีสิง กลุ่มก้อนความคิดหลักๆ ที่ผมไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ จะเห็นเหมือนกันหรือไม่ก็คือ ผมมองว่า โศกนาฏกรรมทั้งหมดในหนังนั้น ล้วนแล้วแต่เกี่ยวเนื่องกับผู้หญิงด้วยกันทั้งนั้น มันคือโศกนาฏกรรมที่มาในรูปแบบต่างๆ กันของ “เพศหญิง” ในสังคมร่วมสมัย (หรืออาจจะแต่ไหนแต่ไรมา)
สำหรับเรื่อง “ตกทางด่วน” ซึ่งพูดถึงรถตู้สาธารณะ เอาเข้าจริง สิ่งที่แจ่มชัดและหนังต้องการเน้นมากที่สุด ก็คือความเศร้าความผิดหวังของผู้หญิงในเรื่องของหัวใจ ซึ่งผู้ชายอาจจะดูเป็นคนร้ายในแง่ที่เป็นต้นเหตุแห่งความเสียใจนั้น แต่ก็คงปฏิเสธได้ยากว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหญิงจำนวนไม่น้อยที่เศร้าสร้อยกับเรื่องทำนองนี้ แน่นอนล่ะ ความหลายใจไม่ได้จำกัดอยู่กับเฉพาะเพศชาย เพียงแต่ผมพูดในมุมของหนังที่นำเรื่องของผู้หญิงมาเป็นแกนหลัก
เรื่องต่อมา... “ผีในช่องแอร์” นี่ชัดเจนมากในการสะท้อนถึงการถูกกระทำของผู้หญิง จากความซาดิสต์โรคจิตของผู้ชาย เรื่องแบบนี้มีบ่อยตามข่าวหน้าหนึ่ง ผู้ชายที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ และจะกระทำต่อพวกเธออย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ดูจะมีซับพล็อตหรือพล็อตรองที่ซ้อนเข้ามาอีกอันหนึ่งซึ่งชวนให้นึกถึงหนังสั้นของเมืองจีนอย่าง Bus 44 ที่กล่าวถึงการวางเฉยต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่น
การมองผู้หญิงในฐานะของวัตถุทางเพศ หรือตกเป็นเหยื่อทางกามารมณ์ ถูกตอกย้ำลงไปอีกครั้งหนึ่งในหนังสั้นเรื่องต่อมา อย่าง “ซ่องผีสิง” ซึ่งอิงอยู่กับเรื่องของหญิงสาวที่ถูกลักพามาเป็นโสเภณี ท่ามกลางความรู้สึกสุขเสียวจากการได้เสพสมกับสาวสวยของบรรดาลูกค้าที่มาใช้บริการ อีกด้านหนึ่ง มันมีความปวดร้าวของเธอเหล่านั้นซ่อนอยู่ข้างหลัง
และถ้า “ซ่องผีสิง” กล่าวถึงชะตากรรมอันเลวร้ายของผู้หญิงที่ต้องถูกบังคับให้ขายตัว “ทุบกรรม” ซึ่งเป็นหนังสั้นเรื่องสุดท้ายก็คงส่งเสียงว่า ถ้าผู้หญิงสักคนเลือกที่จะเป็นโสเภณีจริงๆ แล้วมันมีความผิดพลาดบางอย่างเกิดขึ้น คุณที่เป็นคนรักของเธอในโลกนอกซ่อง จะยอมรับความผิดพลาดนั้นและให้โอกาสกับเธอไหม หนังเรื่องนี้อยู่ระหว่างสองขั้วอารมณ์ คือตัวละครผู้ชายรับไม่ได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจ หากเธอจะเลือกไปตามทางของเธอ แต่สุดท้าย ผู้หญิงก็ดูจะเป็นอะไรที่มีสิทธิ์มีเสียงอันจำกัด เพราะสุดท้าย ผู้ชายก็ใช้อำนาจ (ในทางรูปธรรม คือ กำลังที่เหนือกว่า) ขู่เข็ญบังคับเอาตามใจ
ที่ว่ามาทั้งหมด ผมไม่รู้นะครับว่านี่คือประเด็นอันจงใจของคนทำหนังหรือเปล่า แต่ภาพรวมของเรื่องราวมันทำให้รู้สึกไปในทิศทางนั้นจริงๆ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่า แม้จะมีมวลสารที่สามารถก่อให้เกิดความร้าวรานอันน่าสะเทือนใจและเห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของเพศแม่ แต่ด้วยองค์ประกอบและวิธีการ มันกลับทำให้หนังทั้งหมดดูไร้ประสิทธิภาพลงไปถนัดตา
ผมพยายามจะไม่ไปแตะเรื่องของเทคนิคการหลอก ซึ่งมันก็ไม่มีนวัตกรรมอะไรมานานพอสมควรแล้ว ซาวด์เอฟเฟคต์โฉ่งฉ่างและจังหวะผ่างๆๆ ตุ้งแช่ หนังทุกเรื่องก็ทำ แล้วแต่ว่าใครจะทำได้ถูกจังหวะและลงตัวมากกว่ากัน ซึ่งสำหรับงานชิ้นนี้ ผมว่าจังหวะไม่ผ่าน การสร้างบรรยากาศของหนังไม่มีผลต่อความน่ากลัว แต่ที่เหนืออื่นใดทั้งหมด กลับเป็นวิธีการเล่าเรื่องมากกว่าที่ผมรู้สึกว่ามันน่ารำคาญเอามากๆ เพราะหนังใช้วิธีการเดียวกันทุกเรื่อง นั่นคือเปิดเรื่องมา แล้วก็ทำการแฟลชแบ๊กย้อนกลับไปสู่สถานการณ์ต้นเรื่องอันที่เป็นมาของสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งที่ต่างคนก็ต่างก็กำกับ แต่กลับก๊อปปี้วิธีการเล่าเรื่องในแบบเดียวกันหมด
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะก็อปปี้วิธีเล่าเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งซึ่งพอจะเป็นตัวช่วยให้ลืมความน่าเบื่อแบบนั้นได้บ้างคืออารมณ์ขันที่หนังสั้นเรื่องซ่องผีสิงพยายามเติมเข้ามา แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะมันก็คือลูกหลานทางอารมณ์ของหนังผีสี่ห้าแพร่งนั่นเอง ทั้งนี้มันทำให้หนังดูมีอารมณ์ที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่ดราม่า อารมณ์ตลก หรือแม้กระทั่งความโหดชนิดที่บางซีนอาจจะต้องขอเบือนหน้าหนี เพราะมันดูโหดจริงๆ
เปรียบเทียบกับโปรเจคต์ก่อนหน้า อย่าง “ตายโหง” ผมมองว่างานชิ้นนั้นยังพอจะสอบผ่านไปได้บ้าง เฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นเนื้อหาโดยรวมที่มุ่งจะสะท้อนถึงแนวคิดของหนังที่บอกว่าทุกชีวิตนั้นมีคุณค่า และไม่ควรจะสูญเสียไปอย่างง่ายดายกับสิ่งที่ไร้ค่า รวมถึงบรรยากาศของความเป็นหนังผีที่ยังพอมีอะไรให้หลอนหรือน่ากลัวบ้าง แต่สำหรับ “ตายโหง ตายเฮี้ยน” เห็นทีจะต้องพูดว่า ไม่รู้จะชอบอะไรในส่วนไหนของหนังอย่างที่พูดว่า “ชอบจริงๆ” ได้เลย
หนังเรื่องนี้ กล่าวถึงโศกนาฏกรรมที่เชื่อมโยงกับชะตากรรมของผู้หญิงซะส่วนใหญ่ และผมคิดว่าจะดีมากขึ้นกว่านี้ไหม หากจะเล่าโศกนาฏกรรมของคนดูหนังที่ต้องจ่ายตังค์เข้าไปนั่งเซ็งๆ กับหนังบ้าง อันนี้คือ ปรึกษาหารือเท่านั้นนะครับ!!