xs
xsm
sm
md
lg

เฉาะ..‘ร่าง’ ดีรางๆ ห่วยแรงๆ/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ในช่วงเวลาที่การชวนใครสักคนไปม็อบลุงกำนัน ดูจะอินเทรนด์กว่าการชวนเข้าโรงหนัง ก็ยังมีหนังใหม่ๆ เข้าโรงฉายอยู่ทุกสัปดาห์ และหนังไทยที่เพิ่งเปิดศักราชเป็นเรื่องแรกของปีใหม่ 2557 ก็คือ “ร่าง” หนังจากค่ายโกลเด้นเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์

บอกเล่าโดยคร่าวๆ ครับว่า “ร่าง” เป็นหนังผี ซึ่งได้ดาราอย่างพอลล่า เทย์เลอร์ แสดงนำ ในบทของหญิงสาวผู้เพิ่งผ่านการทำแท้งมาหมาดๆ และขณะที่โศกเศร้ากับการสูญเสีย เธอก็ได้พบด็กผู้หญิงคนหนึ่งในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า เธอรู้สึกถูกชะตาจึงรับมาดูแล แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า นับตั้งแต่เด็กหญิงคนนั้นเข้ามาอยู่ในบ้านของเธอ ก็ดูเหมือนจะมี “ร่าง” ของใครสักคนเร้นกายในความมืดคอยตามติดอยู่ตลอดเวลา

ในความเป็นหนังผี ผลงานชิ้นนี้ยังมีความเป็นดราม่า ผมคิดว่าการที่คุณพอลลา เทย์เลอร์ เลือกที่จะรับแสดงหนังเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะเธอเองเป็นคุณแม่ที่ลูกยังเล็ก ซึ่งในหนังก็มีทิศทางความเป็นดราม่าแม่ลูกด้วยอย่างเด่นชัดสัมผัสได้

แม้จะไม่ใช่เรื่องอะไรที่ใหม่เลย เพราะอย่างคุณพจน์ อานนท์ ก็เคยตบตีกับประเด็น “หมอทำแท้งเถื่อน” นี้มาแล้วแบบเต็มๆ ในเรื่อง “ศพเด็ก 2002” เมื่อหลายปีก่อน กระนั้นก็ตาม ก็พอเห็นว่าเป็นความพยายามของผู้ทำหนังเรื่องนี้ ที่ผู้กำกับน่าจะใช้ชื่อแฝงมากกว่าชื่อจริง “ภณ วรวรัญญู” ชวนให้นึกถึงชื่อที่มักจะอยู่บนปกหนังแผ่นติดเรท และเชื่อขนมกินได้ว่า นับจากนี้ จะมีผู้กำกับที่ชื่อทำนองนี้มาทำหนังกันเยอะขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร แต่อาจจะเป็นเพราะว่าไม่อยากเปลืองตัวก็ได้นะครับ หนังดีก็ได้คำชมไป หนังไม่ดีก็ไม่มีใครรู้ว่าตัวจริงเป็นใคร

ในทางเนื้อหา “ร่าง” พาเราเข้าไปสัมผัสกับด้านมืดๆ เสื่อมโทรมของสังคม อาชญากรรมในตอนต้นเรื่อง ดูโหดร้ายทารุณ ทั้งในแง่การกระทำและสังคม แน่นอนว่า ถ้าจะมองว่าเป็นความบกพร่องของหนังซึ่งดูจะขาดความสมจริง ในแง่ที่ว่า คนฆ่ากันในร้านชำขนาดนั้น กลับไม่มีใครได้ยินหรือพบเห็นเลย แต่ถ้าหนังจะบอกว่า นี่คือการยืนยันถึงการมีอยู่ของ “ไทยเฉย” (ข้างบ้านฆ่ากัน เราไม่สนใจ คอยทำหน้าที่เป็น “ไทยมุง” ตอนเขามาเก็บศพ) ก็พอไหว แต่ดูๆ แล้ว ผมว่าหนังสูญเสียตรรกะความสมเหตุสมผลของตนเองไปเอง

ผมว่าความน่าสนใจอีกประการหนึ่งซึ่งหนังจุดขึ้นมาเป็นประกายได้ดี ก็คือ การพูดถึงตัวละครที่สังคมมีความคาดหวังแบบหนึ่ง แต่กลับไปกระทำอีกแบบหนึ่ง ไล่ตั้งแต่หมอซึ่งมีวิชาทางด้านการแพทย์ แต่กลับไปเปิดบริการทำแท้งแบบผิดกฎหมายเพราะเห็นแก่เงิน ตำรวจที่รับเงินของหมอเถื่อนเป็นการเก็บค่าคุ้มครอง หรือแม้กระทั่งหญิงคนนั้นซึ่งทำงานอยู่ในศูนย์เด็กกำพร้า จิตใจของเธอเหี้ยมเกรียมเกินกว่าสถาบันดังกล่าวควรรับไว้ ตัวละครเหล่านี้ประพฤติตนผิดจากความคาดหวังของสังคมอย่างที่ควรจะเป็น และร้อยทั้งร้อย เราก็คงจะเห็น “คนแบบนี้” อยู่ในสังคมซึ่งเราสังกัดอยู่ ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวกับการทำแท้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ถ้าหนังเรื่องนี้จะกำหนดที่ทางให้ตัวเองด้วยการทำเป็นหนังซีเรียสสะท้อนเรื่องราวทางสังคมไปเลย ก็น่าจะเป็นไปได้ไม่ยาก แต่เมื่อหนังเลือกที่จะสวมเสื้อคลุมความเป็นหนังผีให้กับตัวเอง มันจึงมีผลลัพธ์อย่างที่เห็น คือนอกเหนือจากจะไม่มีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ในการหลอกคนดูแล้ว หนังยังกะพร่องกะแพร่งมากในทักษะด้านนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับหนังอย่าง “ศพเด็ก 2002” ของคุณพจน์ อานนท์ ที่มีแง่มุมใกล้เคียงกัน ผมมีความเห็นว่าหนังของคุณพจน์ยังสามารถตอบโจทย์ในแง่บรรยากาศความเป็นหนังผีได้ จังหวะการหลอกหรืออะไรต่างๆ รู้สึกว่า “อยู่มือ” แต่สำหรับหนังเรื่องนี้ ทั้งที่ใช้เทคนิคเดิมๆ ซึ่งคนอื่นเคยทำมาหมดแล้ว และการทำทีหลังน่าจะทำให้เห็นบทเรียนและทำได้เนียนมากขึ้น แต่ก็เหมือนหนังผีอีกนับร้อยเรื่องซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นการผลิตซ้ำที่ด้อยคุณภาพ

ประเด็นสำคัญอีกหนึ่งประการคือเรื่องของตรรกะ ใครบอกว่าหนังผีไม่ต้องมีตรรกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังผีที่มีจุดหักมุม ยิ่งต้องมีตรรกะ ถ้าหนังกะโหลกกะลาอย่าง “ผีเข้าผีออก” นั้นก็พออะลุ่มอล่วยได้ เพราะหนังไม่ได้ตั้งท่าซีเรียสมาแต่เริ่ม คือทำเล่นๆ ไม่เน้นจริงจัง แต่ตรงกันข้ามกับ “ร่าง” ซึ่งวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับตัวเองว่าเป็นหนังผีดราม่า ตรงนี้แหละครับที่สำคัญ เพราะยิ่งหนังต้องการความเป็นดราม่ามากเท่าไหร่ ผมคิดว่าตรรกะหรือความสมจริงยิ่งสมควรต้องควรมีมากเท่านั้น แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร พอไปถึงบทเฉลยว่าอะไรเป็นอะไร และ “ร่าง” ที่ว่านั้น แท้จริงแล้วเป็นใครมาจากไหน ก็เล่นเอา “หงายเงิบ” กันไปเลย

“พุงใหญ่” หรือ “คาดไม่ถึง” นั่นก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งเล็กน้อยมาก หากเมื่อเทียบกับความ “ไม่น่าเชื่อถือ”

การพยายามคิดอะไรให้ซับซ้อน หรือพยายามจะซับซ้อน บางทีก็เป็นหลุมพรางที่สร้างขึ้นมาเพื่อดักตัวเองไปซะอย่างนั้น ดังจะเห็นได้จากหนังเรื่องนี้ ผมว่าปัญหาของหนังคือคิดซับซ้อนเกินไป ทั้งที่สารตั้งต้นมันมีเพียงเล็กน้อย คือเป็นเรื่องของผีที่อาฆาตพยาบาทและต้องการจะเอาคืนพวกกากเดนสังคม แต่หนังก็ดูจะพยายามทำให้มันมีเหลี่ยมมีมุม เหมือนต้องการจะ “ฉลาด” ในการผูกเรื่อง หรือแม้กระทั่งความ “คม” ในการหักมุม แต่ก็อย่างที่บอกว่า เมื่อ “ฐาน” ของหนัง คือตรรกะของเรื่อง ไม่ได้ถูกปูมาอย่างหนักแน่นเพียงพอ พอเดินไปถึงจุดเฉลย มันจึงดูเป็นความเบาหวิวอันเหลือทน

ในขณะที่ต้องการเล่นกับความซับซ้อนของเรื่องราว แต่สิ่งหนึ่งของหนังที่ดูง่ายและไม่ซับซ้อนเลย คือเรื่องของการโฆษณาสินค้า ซึ่งว่ากันโต้งๆ โดยเฉพาะทีวีวงจรปิดกับประกันชีวิตเจ้าหนึ่ง ซึ่งจะว่าไป ต่อให้หนังไม่ได้เงินจากการฉายโรง แต่ต้นทุนและกำไรคงจะคัฟเวอร์เรียบร้อยแล้วจากโฆษณาที่แทบจะมีสถานะไม่ต่างอะไรกับตัวละครเด่นอีกหนึ่งตัว ก็จริงครับที่ว่า การขายสินค้าผ่านหนังสำหรับยุคนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะถ้าจะว่ากันที่ความน่าเกลียดจริงๆ เมืองหลวงของหนังอย่างฮอลลีวูดเขาก็ขายกันจะๆ แจ้งๆ ไม่น้อยหน้าชาติไหนในโลก ดูหนังอย่าง So Undercover ที่ให้นักร้องเพลงป๊อปอย่างไมลีย์ ไซรัส ปลอมตัวเป็นสาวไฮโซไปสืบอะไรบางอย่างในแคมป์นักศึกษานั่นสิ ตัวอย่างของการขายสินค้าผ่านดารา/ผ่านหนัง ชั้นเยี่ยมเลยล่ะ (การโฆษณาเยี่ยมนะครับ แต่หนังนั่นอีกเรื่องหนึ่ง)

สุดท้าย เรื่องการแคสติ้งดารานักแสดง ถือว่าไม่ผ่านทั้งหมด แม้กระทั่งคุณพอลลาร์ เทย์เลอร์ ที่ดูจะแสดงโอเวอร์แอ็คติ้งเกินกว่าบทไปค่อนข้างเยอะ บทหญิงสาวผู้ใจบุญของคุณพอลลาร์ในเรื่องนี้ อันที่จริง ถ้าทำได้ดีหรือบทส่ง จะเจ๋งมาก เพราะแก่นหลักของตัวละครที่เธอเล่น มันคือการเอาชนะความเลวด้วยความดี อีกทั้งยังมีปมบาดแผลในใจให้สามารถเล่นกับคาแรกเตอร์เชิงลึกได้ แต่เพราะบทหนังไม่ส่งและเธอก็เล่นได้ล้น ส่งผลให้เกิดความอิหลักอิเหลื่อต่อการที่จะเชื่อว่าใครจะดีได้ถึงเพียงนั้น ส่วนการไดเร็คติ้งหรือกำกับในภาพรวม ไม่สามารถควบคุมนักแสดงให้อยู่ในโอวาทได้เลย บางคนไม่เล่นมากเกินก็เล่นน้อยเกิน ขาดๆ เกินๆ เหมือน “ร่าง” ที่ถูกประกอบขึ้นอย่างผิดรูปผิดร่าง ไม่ได้สัดส่วน

ผมดู “ร่าง” ในราคา 190 บาท และคิดว่า ด้วยเงินขนาดนี้ น่าจะพอซื้อ “ร่าง” ของไก่ย่างอร่อยๆ ได้สัก 2-3 ร่างเป็นอย่างน้อย



กำลังโหลดความคิดเห็น