อาจจะเป็นการปลุกปั่นกระแส ด้วยหวังผลทางการตลาด อาจจะเป็นเพราะว่าเนื้อหาของหนังเทียบเคียงกันได้ หรือจะเพราะอะไรก็ตามแต่ แต่สุดท้าย หลายคนก็มีคำถามกับผมว่า ตกลงแล้ว หนังผีที่เข้าฉายเรื่องล่าสุดอย่าง “Last Summer ฤดูร้อนนั้น... ฉันตาย” คล้ายกับ “ลัดดาแลนด์” หรือไม่ในแง่ของคุณภาพหรือความดี
บอกกล่าวเล่าความให้ฟังในเบื้องต้นสักเล็กน้อยครับว่า Last Summer หรือ “ฤดูร้อนนั้น... ฉันตาย” เป็นผลงานเรื่องแรกของค่ายหนังอย่างทาเลนต์ วัน (Talent 1) ซึ่งวางโจทย์ให้กับตัวเองว่าจะเป็นค่ายที่เดินมาในทางของการสร้างหนังผีโดยเฉพาะ ถ้าเข้าใจไม่ผิด ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการบุกเบิกค่ายนี้ขึ้นมา เคยทำหนังสือนิยายพวกสยองขวัญมาก่อน และทักษะบางอย่างที่เกิดจากการคลุกคลีอยู่กับนิยายผีมาอย่างช่ำชอง ก็ดูเหมือนว่าจะถูกผ่องถ่ายมาสู่งานชิ้นแรกอย่างเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พูดกันจริงๆ การที่ทาเลนต์ วัน เน้นไปทางหนังผี ถือเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะหนังผีก็เหมือนกับหนังรัก หนังแอ็กชั่น ตลก ที่พอจะการันตีได้ว่าน่าจะเป็นหนังประเภทแรกๆ ที่ยังคงทำเงินได้สม่ำเสมอ จะทำมากหรือน้อยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เอาง่ายๆ ว่า แม้แต่ค่ายหนังไฟว์สตาร์ที่เมื่อก่อนเน้นทำหนังไฮเดฟ คุณภาพสูง ประเภทที่สะท้อนสังคมหรือกระตุ้นให้คนได้คิด แต่ช่วงหลัง ค่าหนังห้าดาวก็หันมาจับหนังตลาดๆ อย่างหนังผีเป็นหลัก และเราคนดูก็คงจะโดนไฟว์สตาร์ส่งผีมาหลอกไปอีกสักพักใหญ่ๆ เพราะอย่างน้อย งานผีสองเรื่องที่ผ่านมา ก็ทำให้ไฟว์สตาร์ยิ้มออก ยกตัวอย่าง หนังเรื่อง “เที่ยวบินผี” เรื่องเดียว ทำเงินได้มากกว่าหนังที่ผ่านมาหลายเรื่องรวมกันซะด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอาจไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่า “ผียังขายได้” แต่คำถามก็คือ “ผี” บวกกับอะไรมากกว่า เพราะการปล่อยผีมาหลอกคนดูเพียงอย่างเดียว มันดูจะไม่ใช่ตรรกะของหนังผียุคนี้เสียแล้ว เพราะหนังผีทั้งหมดจะต้อง “บวก” กับอะไรสักอย่างเสมอๆ อาจจะบวกกับตลก เหมือนอย่างหนังของพจน์ อานนท์ แต่ที่เห็นบ่อยและเยอะที่สุด น่าจะเป็นผีบวกกับดราม่า และแน่นอนครับว่า นี่คือ “ทิศทาง” ของค่ายหนังอย่างทาเลนต์ วัน ที่จะเดินไป ซึ่งงานเรื่องแรกนี้ก็ประกาศจุดยืนออกมาได้ชัดเจน
ผมว่า ทาเลนต์ วัน นั้น ทำการบ้านและกลั่นกรองมาอย่างดีถึงดีมาก กับหนังเรื่องแรก Last Summer คืออย่างน้อยที่สุด ก็สามารถ “อ่านใจตลาดขาด” ระดับหนึ่ง ตลาดต้องการอะไร หนังหนึ่งเรื่องจะต้องมีองค์ประกอบแบบใดบ้าง หนึ่ง แนวหนัง ต้องเป็นแนวที่ได้รับความนิยม ซึ่งก็คือหนังผี สอง ตัวละครหลัก จะต้องแนบอิงอยู่กับเป้าหมายใหญ่ของโรงหนัง (หรือเป็นกลุ่มคนที่ยังเดินเข้าโรงหนังอยู่) ซึ่งก็คือวัยรุ่น และสาม จะต้องมีดาราแม่เหล็ก เป็นตัวเรียกแขกหรือ “ตัวดูด” คนดู สำหรับ Last Summer ก็คือน้องปันปัน-สุทัตตา และ เก้า-จิรายุ ทั้งสองคน นอจากจะเป็นดาราที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ยังเคยมีผลงานในสายของหนังผีที่คนดูชอบกันทั่วบ้านทั่วเมือง และพอเห็นหน้าน้องปันปัน หลายคนก็พลันนึกถึงลัดดาแลนด์ (งานแจ้งเกิดของเธอ) ซึ่งนั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หลายคนมโนเอาหนังเรื่องนี้ไปขึ้นเวทีเปรียบมวยกับลัดดาแลนด์
“Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย” มาพร้อมกับถ้อยคำขยายที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการเป็นจุดขายอย่างไม่อาจปฏิเสธ “คนพลาดไม่อยากจำ แต่คนตายอยากบอก” กระตุ้นความอยากรู้ของคนดูได้เป็นอย่างดี หนังมีผู้กำกับสามคน แยกกันกำกับตามโครงสร้างหนังที่แบ่งตัวเองเป็นสามส่วน เป็นสามมุมมองของสามตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเด็กสาวชื่อ “จอย” ซึ่งเสียชีวิตตอนไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน 3-4 คน โจทย์ของหนังก็อย่างที่ถ้อยคำในสามบรรทัดก่อนบอกเลยครับว่า ขณะที่คนซึ่งเกี่ยวข้องกับการตายของจอย อยากจะให้เรื่องมันจบๆ ไป แต่ “ผีจอย” ดูคล้ายจะไม่ชอบที่จะให้มันเป็นเช่นนั้น เธอจึงวนเวียนมาหลอกหลอนราวกับวิญญาณอาฆาต
ในแง่ความบันเทิง Last Summer ยังคงไม่ไปไหนไกลจากหนังผียุคสิบปีที่ผ่านมา หนังใช้ทักษะของ “ผีสะดุ้ง” หรือ “ผีซาวด์เอฟเฟคต์” อย่างเต็มรูปแบบ จังหวะจะโคนในการทำให้คนดูสะดุ้ง ค่อนข้างเรียบง่ายเดาได้ ก่อนผีจะออก ต้องมีซาวด์นำวิญญาณ สำหรับคนที่ชอบสะดุ้งชอบตกใจ อาจจะชอบใจพอสมควร ผมว่าส่วนที่หนังทำได้ดีมากๆ คือส่วนที่หนึ่ง ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นตั้งแต่ไปเที่ยวทะเลจนถึงเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด (ตามด้วยส่วนที่สอง และสาม ตามลำดับ) ผมว่าในส่วนนี้หนังจัดบรรยากาศและอารมณ์ความหลอนได้ดี มันมีความกดดันอยู่ในนั้นอย่างเต็มเปี่ยม ผมว่าหนังผีที่จะสนุก ต้องกดดันบีบคั้นอารมณ์คนดูได้ สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่อัดซาวด์เอฟเฟคต์ใส่คนดูอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่สถานการณ์ในเรื่องก็ต้องเข้าขั้นวิกฤติด้วย ซึ่งในหนังส่วนนี้ ถือว่าทำได้ดีและถึง ส่วนอีกสองตอนก็ดีลดหลั่นกันไป
โดยภาพรวม ผมรู้สึกว่า หนังผ่านการวางแผน วางพล็อต ผูกปม และวิธีการที่จะคลี่คลายได้น่าชม เรื่องราวดูมีเหตุมีผล ที่เป็น “แรงขับ” หรือ “แรงจูงใจ” ของตัวละครแต่ละตัวในการกระทำพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งสุดท้าย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนไปจบลงตรงจุดศูนย์กลางร่วมกัน คือ หลายสิ่งที่ทำ มันเป็น “ความผิดพลาด” ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนอีกคน แม้ปรารถนาจะลบเลือนให้เป็นอดีตที่พ้นผ่าน หรือ “ปล่อยให้มันจบๆ ไป” แบบเดียวที่ตัวละครบางตัวพูดไว้ในเรื่อง แต่การกระทำนั้น มันก็ได้ทำร้ายคนอีกคนไปเรียบร้อยแล้ว
ผมว่าหนังพยายามกวาดต้อนเรื่องราวทุกๆ ส่วนให้ม้วนมาบรรจบกันได้ดีในแง่ของประเด็น การแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น และความรู้สึกของความต้องการที่จะเป็นคนที่ดูมีคุณค่า “เท่ากับ” หรือ “เหนือกว่า” คนอื่น กลายเป็นแรงขับให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ มันคือหนังผีซึ่งมีเนื้อหาที่น่าขบคิดได้ไม่น้อย มันกินพื้นที่ตั้งแต่เรื่องครอบครัวพ่อแม่ (อยากให้ลูกได้ดี จนบางทีไม่สนใจวิธีการหรือรายละเอียดอื่นใด) เรื่องวัยรุ่นวัยคึกที่บ่อยครั้งก็ทำอะไรไปโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา เรื่องการแข่งขันในสังคมที่แม้แต่เพื่อนบางทียังมีอิจฉาเพื่อน หรือแม้แต่การที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่ออะไรทั้งสิ้นหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกคนอื่นของผู้คนในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก (นึกจะโพสจะว่าอะไร ก็ทำได้แบบฉับพลัน) เหล่านี้คือตัวอย่างประเด็นเนื้อหาที่สามารถจับต้องสัมผัสได้ใน Last Summer
อย่างไรก็ตาม มาถึงการที่ใครหลายคนพยายามนำไปเปรียบเทียบกับหนังอย่าง “ลัดดาแลนด์” ผมมองว่าก็เป็น “ความพยายาม” ที่จะมองในมุมดีๆ
ลัดดาแลนด์ นั้นหนักแน่นทั้งในแง่ของประเด็นและการควบคุมบรรยากาศตลอดจนอารมณ์ของเรื่องได้ชนิดที่เรียกได้ว่า ความกดดันมันโอบล้อมเรื่องราวทุกส่วนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะเป็นหนัง “ผีผ่าง” แบบพึ่งพาซาวด์เอฟเฟคต์อยู่เยอะเหมือนกัน แต่ทว่าบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัว ก็เป็นความโดดเด่นที่หนังทำได้ดีถึงดีมาก เรื่องผีดูน่ากลัว ขณะที่ปัญหาของตัวละครที่ยังมีชีวิต (แบบเจอวิกฤต) ก็ดูกดดันไม่แพ้กัน กล่าวสั้นๆ ก็คือ หมัดฮุกด้านเนื้อหาของลัดดาแลนด์ มันจะแจ้งชัดเจนกว่า last Summer ซึ่งเราต้องค่อยๆ ตามเก็บไปทีละจุด
กระนั้นก็ตาม ผมยังคงมีความเห็นว่า Last Summer เป็นการออกสตาร์ทที่ดีมากๆ ครับสำหรับค่ายหนังน้องใหม่อย่างทาเลนต์ วัน เพราะมันไม่มีอะไรที่ถือเป็นความผิดพลาดถึงขั้นที่ว่า “ไม่อยากจำ” หนังเรื่องต่อไปของทาเลนต์ วัน ถ้าจะเกาะเกี่ยวอยู่กับอะไรที่เป็นซัมเมอร์ๆ อีกก็ไม่ว่ากัน เพราะซัมเมอร์นั้น ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าหยิบมาเล่า อาจจะเป็น...
Last Summer ฤดูร้อนนั้น ฉัน ‘โชห่วยโชว์สวย’
คนพลาดไม่อยากจำ
แต่คนไทยอยากบอก (เหอๆ)