xs
xsm
sm
md
lg

“ดรีม เธียเตอร์” ท่านเทพยังร้ายเหลือ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกอัลบั้ม Dream Theater
ด้วยฝีมือในระดับสุดยอดของมวลหมู่สมาชิก ด้วยการทำเพลงที่ซับซ้อนเหนือชั้น ด้วยไอเดียที่บรรเจิด ด้วยทีมเวิร์คที่แน่นปึ้ก ทำให้วงโรงละครแห่งความฝัน “ดรีม เธียเตอร์”(Dream Theater) ได้รับการสดุดีจากแฟนานุแฟนว่าเป็น“เทพ”แห่งวงการดนตรีร็อก โดยเฉพาะกับแนวโพรเกรสซีฟ เมทัล หรือ พร็อก เมทัล(Prog. Metal) ที่วงดรีม เธียเตอร์ในวันนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นเบอร์หนึ่งแห่งสามโลกนับจากที่มีดนตรีแนวนี้อุบัติขึ้นมา

มาวันนี้วงดรีม เธียเตอร์ ส่งอัลบั้มใหม่มาจุติอีกครั้งกับผลงานชื่อเดียวกับวง คือ “Dream Theater” โดยสมาชิกทั้งหมด 5 หนุ่ม ประกอบด้วย เจมส์ ลาบรี(James LaBrie) : แหกปากร้องนำ,จอห์น เพทรุคชี่(John Petrucci) : ขยี้สายกีตาร์, จอร์แดน รูเดสส์(Jordan Rudess) : พรมคีย์บอร์ด, “จอห์น เมียง”(John Myung) ตะปบเบส และ ไมค์ แมนกินี(Mike Mangini) : กระหน่ำกลอง

อัลบั้ม Dream Theater เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 12 ต่อจากชุด(ที่แล้ว) “A Dramatic Turn Of Events” ที่มีความสำคัญเกิดขึ้นภายในวง เมื่อพี่“ไมค์ พอร์ทนอย”(Mike Portnoy) สุดยอดมือกลองตั้งแต่ยุคก่อตั้งลาออกไป แล้วทางวงได้พี่ไมค์ ภิรมย์พร เอ้ย!!! ไม่ใช่ ได้ ไมค์ แมนกินี มาตีกลองแทน

งานชุดที่แล้ว แม้พี่ไมค์ แมนกินี จะตีกลองร่วมกับวงไปได้แบบเนียนๆ แต่ก็ยังไม่ถึงกับน่าประทับใจ นอกจากนี้พี่ไมค์ แมนฯยังไม่ได้มีส่วนร่วมกับทางวงอย่างเต็มที่ ทำให้งานกลองในชุดนั้น แม้จะออกมาดี แต่ว่ามันฟังยังไม่ถึงเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับชุดนี้ที่ทางวงเปิดโอกาสให้พี่ไมค์ แมนฯมีส่วนร่วมในการทำอัลบั้มตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมียอดมือกีตาร์จอห์น เพทรุคชี่ รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์

อัลบั้มชุด Dream Theater มีทั้งหมด 9 เพลงด้วยกัน เปิดตัวกันด้วย “False Awakening Suite” เพลงบรรเลงสั้นๆ 2 นาทีกว่า แต่ว่าก็มีการแบ่งซอยย่อยเป็น 3 พาร์ท คือ I - Paralysis, II-Night Terrors และ III - Lucid Dream

เพลงนี้เป็นโหมโรงที่ทางวงจัดความอลังการใส่มา สั้นๆ แต่ซับซ้อนมีลูกเล่น ฟังคล้ายซาวนด์แทรคที่นำส่งเข้าสู่คอนเซ็ปต์ของเนื้อหาในเพลงต่อๆไป

ต่อกันกับ “The Enemy Inside” บทเพลงซิงเกิ้ลแรกของวงเป็นเมทัลกึ่งสปีด ขึ้นต้นมากับริฟฟ์สุดมัน ดนตรีแม้รวดเร็วซับซ้อนแต่ก็มีท่อนแยกที่ฟังติดหูเอาไว้ขายกัน

ถัดมาเป็น “The Looking Glass” ลดดีกรีความหนักเร็วลงมาหน่อยกับร็อกเข้มๆ มีริฟฟ์เท่ๆขึ้นนำ ฟังแล้วอดนึกถึงไอดอลของวงโรงละครแห่งความฝันคือวง“รัช”(Rush)ไม่ได้

The Looking Glass มีช่วงเร็วช้า เปลี่ยนพาร์ทสลับอารมณ์ โดยเฉพาะท่อนปิ๊กกิ้งนั้นออกแนวหวานซึ้งทีเดียว กีตาร์โซโลของจอห์นไม่หวือหวารวดเร็วปานรถไฟความเลวสูงที่สร้างไว้ขนผัก หากแต่เน้นวรรคตอนจังหวะจะโคน มีทั้งลูกไอเดีย ลูกหวานพลิ้ว ใครที่อยากเป็นมือกีตาร์โซโลควรศึกษาไว้

Enigma Machine” เป็นการกลับมาของเพลงบรรเลงอย่างจริงจังของวงนี้หลังจากที่หายไปนาน(ไม่รวมถึงเพลงโหมโรง The Enemy Inside ที่เปิดตัวนำมา) เสียงคีย์บอร์ดขึ้นต้นมาแบบชวนพิศวง ก่อนส่งเข้าเพลงแบบจัดเต็มให้สมาชิกแต่ละหน่วย(ยกเว้นนักร้องนำ)ได้โชว์ฝีมือ โดยมีกีตาร์กับคีย์บอร์ดเล่นเป็น 2 แกนนำเดินหน้าปฏิรูประเทศก่อนเลือกตั้ง เอ้ย!!! ไม่ใช่ เดินหน้าขับเคี่ยวฝีมือระดับเทพกันอย่างเมามัน ดุดัน รวดเร็ว เปี่ยมพลัง ขณะที่เบสมีโชว์นิดๆพอเป็นกระสาย ส่วนที่ต้องยกนิ้วโป้งกดไลค์ให้ก็คือพี่ไมค์มือกลอง ที่สร้างไลน์กลองหวดกระหน่ำในเพลงนี้ได้เด็ดขาดมาก ทั้งลูกหนัก ลูกเร็ว ลูกขัด และลูกสีสันสอดแทรกที่มีมาครบรส เป็นการพิสูจน์ให้แฟนเก่าดรีม เธียเตอร์เห็นว่า เขาดีพอที่จะมาแทนพี่ไมค์ พอร์ทนอย หรือยัง
วง Dream Theater
The Bigger Picture” เพลงนี้ยาวเกือบ 8 นาที แต่น่าฟังมาก เพราะเป็นเพลงเพาเวอร์บัลลาดเบรกอารมณ์ ภาคดนตรีค่อยๆทวีความเข้มข้นขึ้น เสียงร้องของเจมส์นั้นเยี่ยมยอดดึงอารมณ์คนฟังได้เป็นอย่างดี เปียโนที่เล่นนำในช่วงต้นหวานพลิ้ว ไลน์เครื่องสายที่เล่นยืนพื้นฟังมีพลัง ส่วนกีตาร์นั้นโซโลได้อย่างบาดลึก ถือเป็นเพลงบัลลาดตามสูตรสำเร็จของวงนี้ ที่ทำออกมาทีไร เป็นได้เรื่องโดนใจแฟนเพลงทุกที

จากนั้นเป็น “Behind the Veil” ขึ้นต้นมากับซาวน์ล่องลอยอารมณ์ประมาณซาวนด์แทรค ฟังดูเหมือนพวกโพรเกรสซีฟเนิบช้าแบบพิงค์ ฟลอย แต่ที่ไหนได้ เผลอแป๊บเดียว พวกจัดเต็มดนตรีเมทัลเข้มๆ หนักกะโหลก แต่ว่าก็มีท่อนเปลี่ยนพาร์ทเนิบช้า พิสูจน์ความยอดเยี่ยมในการร้องเพลงอันหลากหลายของคุณพี่เจมส์

แทรคถัดมาเป็น “Surrender to Reason” เปิดตัวมาอย่างอลังการกับซาวนด์แบบวงรัช เจ้าพ่อแห่งโพรเกรสซีฟร็อก ก่อนที่ 5 หนุ่มดรีมเธียเตอร์จะจัดความหลากหลายมากำนัล มีการเปลี่ยนพาร์ทไปมา แต่ว่าเชื่อมต่อกันได้อย่างกลมกลืนลื่นไหล ส่วนที่ผมชอบมากก็คือซาวนด์โอเปร่าแน่นๆที่จัดประสานใส่มานั้น สุดยอดทีเดียว

Along for the Ride” บทเพลงช้าๆซึ้งๆกระเดียดไปทางบัลลาดป็อบร็อก ที่เน้นการเข้าถึงอารมณ์มากกว่าการโชว์ฝีมือ เป็นเพลงเพราะฟังเพลิน

ปิดท้ายกันกับ “Illumination Theory” เพลงยาวกว่า 22 นาที แบ่งเป็น 5 พาร์ท เป็นการปิดจ็อบอย่างกับมหากาพย์ประจำอัลบั้ม ขึ้นต้นมากับซาวนด์อลังการไลน์ออร์เคสตร้าหนาๆกับกีตาร์แน่นๆ จากนั้นเป็นริฟฟ์มันๆในอารมณ์เมทัล ฮาร์ดร็อกยุค 80’s แล้วดนตรีก็ลื่นไหลให้เหล่าเทพแห่งดรีมเธียเตอร์ได้วาดลวดลายกันอย่างสุด Teen โดยเฉพาะพ่อมดจอร์แดน รูเดสส์ โชว์ลีลาการพรมคีย์บอร์ดในเพลงนี้ได้อย่างสุดยอด หลากหลาย ครบรส ครบเครื่อง

9 เพลงจากเหล่าเทพแห่งวงดรีม เธียเตอร์ จบไปอย่างเต็มอิ่ม คุ้มค่าการรอคอย และทำออกมาได้ดี น่าฟังกว่าชุดที่แล้ว เพราะเป็นงานที่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานอันสูงล้น มีทีมเวิร์คแน่นหนา มีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน มีความหนักแน่นและสวยงามผสมกลมกลืนกันไป

ส่วนสิ่งที่เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในชุดนี้ก็คือการที่ ดนตรีหลายเพลงของพวกเขาเมื่อฟังแล้วชวนให้รำลึกอดีต ซึ่งนั่นก็สอดรับกับชื่ออัลบั้มในชุดนี้ที่นำชื่อวงมาใช้เป็นดังการบอกนัยๆถึงการกลับไปหาของเก่า คืนสู่ความเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง

ขณะที่ 5 หนุ่มวงดรีมเธียเตอร์ยังคงความเป็นเทพขับเคลื่อนพลังแห่งพร็อก เมทัล ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ไอเดียและไฟในการทำงานยังมีเหลือเฟือ ด้านฝีมือของ 4 สมาชิกเดิมนั้นไม่ต้องพูดถึงแต่ละคนหายห่วงอยู่แล้ว

ส่วนพี่ไมค์ แมนฯมือกลองคนใหม่ งานนี้การที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำเพลงกับวง การได้มีโอกาสเล่นดนตรีร่วมกันมากขึ้น เข้าขากันมากขึ้น อีกทั้งฝีมือและไอเดียที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นบทพิสูจน์ว่าแกสามารถเข้ามานั่งแทนที่ไมค์ พอร์ทนอย ร่วมกันขับเคลื่อนพลังแห่งดรีม เธียเตอร์ได้เป็นอย่างดี ส่วนอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจแฟนเพลงบางคน เพราะติดในลีลาการตีกลองของไมค์ พอร์ทนอยนั้นคงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : Linkin Park
อัลบั้ม : Recharged

อัลบั้มชุดพิเศษที่เป็นการนำเอาเพลงจากอัลบั้มที่แล้ว “Living Things” มารีมิกซ์ใหม่ ในรูปแบบของซาวนด์ร็อกอิเล็กทรอนิกซ์ผสมกลิ่นอายของเพลงเต้นรำ(เหมาะต่อการเปิดในเธคบ้านเรามาก) นอกจากนี้ยังมีเพลงใหม่มานำเสนอได้แก่ “A Light That Never Comes” ที่ทางวงลินคิน พาร์ก ได้จับมือกับ อาโอกิ ดีเจมือเทพระดับต้นๆของวงการเพลง ทำเพลงร็อกผสมฮาร์ดเฮาส์มากำนัลแด่แฟนๆ อัลบั้ม Recharged นับเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่ให้ดีกรีร้อนแรงสำหรับผู้นิยมความคึกคัก แต่อัลบั้มนี้คงไม่สบอารมณ์สำหรับแฟนเพลงผู้ที่ชื่นชอบในแนวทางดั้งเดิมกับ นู เมทัล อันดิบ-ดุ-มัน-หนัก ของลินคิน พาร์ก
กำลังโหลดความคิดเห็น