xs
xsm
sm
md
lg

การเข่นฆ่า ทำให้สังคมดีขึ้น : The Purge

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีวันหนึ่ง กฎหมายอนุญาตให้คุณเดินออกจากบ้านไปฆ่าใครก็ได้โดยไม่ผิดบาปอันใด มิหนำซ้ำ การทำแบบนั้น ยังถูกยอมรับและให้คุณค่าในฐานะของการ “ล้างบาป” อย่างหนึ่งด้วย?

ครับ, สำหรับบุคคลผู้มีมุมมองอันคับข้องคับแค้นใจ นี่คืออะไรที่คงจะ “ได้ใจชะมัดยาด” เพราะสิ่งใดล่ะ จะประเสริฐไปกว่าการได้เดินออกไปฆ่าใครโดยไม่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะใครก็ตามที่เรารู้สึกว่า มันน่าจะโดนกะซวกสักแผลสองแผล หรือทำให้มันนอนดิ้นนอนแผ่ด้วยฤทธิ์ลูกซอง เปล่งเสียงร้องครวญครางก่อนจะไปยังยมโลก

นั่นคือปฐมเหตุแห่งพล็อตเรื่องอันน่าหวาดหวั่นของหนังเขย่าขวัญเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายในบ้านเราเมื่อปลายสัปดาห์อย่าง The Purge (คืนอำมหิต) ผลงานชิ้นนี้พูดถึงสังคมอเมริกันในอีกราวๆ สิบปีข้างหน้า ที่ประชากรอยู่กันอย่างผาสุก คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็เหมือนอีกหลายปัญหาที่ถูกคลี่คลายและเป็นไปในทางดี ทั้งนี้ เชื่อกันว่า เพราะ “ผู้ก่อตั้งใหม่” มีนโยบายสุดแสนพิสดาร ด้วยการกำหนดให้ในแต่ละปี จะมีค่ำคืนหนึ่งซึ่งผู้คนสามารถออกไปทำความชั่วร้ายได้ทุกอย่างเป็นเวลา 12 ชั่วโมง...แค่จินตนาการถึง ก็น่าขนลุกแล้วล่ะครับว่าค่ำคืนนั้นมันจะ “เละ” ขนาดไหน

หนังเดินเรื่องผ่านชายคาของครอบครัว “แซนดิน” ที่ผู้เป็นพ่อคือพนักงานผู้ค้นคิดระบบรักษาความปลอดภัยระดับสุดยอด ฐานะของเขาอู้ฟู่หรูหราขึ้นมาจากการผลิตสิ่งนี้ บ้านหลังงามคือหลักฐานชิ้นสำคัญ แต่เมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม ของปี 2022 ซึ่งถือเป็น “วันปล่อยผี” เฉกเช่นทุกปี ลูกชายคนเล็กของเขาก็เกิดจิตเมตตา เปิดประตูให้ชายผิวสีคนหนึ่งซึ่งกำลังโดนไล่ล่าเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในบ้าน แล้วเหตุการณ์ก็ลุกลามบานปลายชนิดที่ไม่มีใครอยากแม้แต่จะคิดถึง

ในความเป็นหนังระทึกขวัญ นี่คืองานที่เล่นกับบรรยากาศความกดดันได้ดีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นภายในบ้าน ตามแนวทางของหนังอินทีเรียฟิล์ม (ถ่ายทำในสถานที่จำกัด) มันยิ่งเป็นปัจจัยหนุนส่งให้หนังเล่นกับความอึดอัดกดดันได้อย่างเต็มที่ ตัวละครเหมือนต้องเล่นเกมซ่อนแอบกันและกัน ทั้งเพื่อหลบซ่อนและรอคอยจังหวะจัดการกับอีกฝ่าย หนังแบบนี้ หัวใจสำคัญอยู่ที่จะใส่สถานการณ์อะไรเข้ามา เพื่อให้เกิดการพลิก ผิดจากความหมายของคนดูให้ได้ ซึ่งในความคิดส่วนตัว ผมว่าหนังทำได้ค่อนข้างดี แม้ว่าจะเดาได้ในหลายจุดว่าสุดท้าย ใครจะเป็นคนที่มา “แก้ไขเยียวยา” สถานการณ์วิกฤติ

หนังแบบนี้ที่เล่นกับสถานที่ไม่กี่จุด ภาระย่อมเกิดกับตัวละคร นั่นหมายความว่าจะทำอย่างไรให้ตัวละครเท่าที่มีอยู่ ดูแตกต่างหลากหลาย เพื่อชดเชย “ข้อจำกัด” ด้านอื่นๆ และ The Purge ก็มีตัวละครอยู่ 4-5 ตัว ซึ่งก็คือคนในครอบครัวแซนดิน ตัวละครเหล่านี้มีมิติในตัวเองและดูจะเป็นตัวแทน “ความรู้สึกนึกคิดอันหลากหลาย” ของประชากร ต่อแบบแผนนโยบายอันพิลึกพิลั่นของรัฐบาลเกี่ยวกับการถ่ายไถ่บาปล้างบาป อย่างเช่น ลูกสาวคนโตของแซนดินที่กำลังอยู่ในวัยรุ่น ก็คนเหมือนคนที่ยังสับสนปนไม่แน่ใจกับนโยบายของรัฐบาล ส่วนลูกชายคนเล็กก็ออกแรงต้านอยู่ลึกๆ ซึ่งลูกคนนี้ จะว่าไปก็คล้ายเป็นเครื่องหมายของ “จิตสำนึก” อีกฟากฝ่ายซึ่งกอปรไปด้วยจิตเมตตาและมนุษยธรรม

คำว่า The Purge นั้น แปลตรงตัวก็หมายถึงการล้างบาป ในด้านหนึ่ง หนังหยิบจับเอาทฤษฎีทางจิตวิทยาบางอย่างมาเป็นเครื่องมือ ซึ่งก็คือทฤษฎีเกี่ยวกับการปลดเปลื้องความขุ่นเคืองขัดข้องหมองใจ ด้วยคิดว่า การให้ตัวเองได้ปลดปล่อยความรุนแรงที่แฝงซ่อนอยู่ในใจให้ระเบิดระบายออกมา ถือเป็นการเยียวยารักษาความป่วยไข้ทางใจได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ในขณะที่ทุกสิ่งในสังคม ดูเหมือนจะดีขึ้นเพราะการทำแบบนี้ แต่ในอีกหนึ่งด้าน หนังก็พยายามโยนคำถามให้เราคิดอยู่ตลอดเวลาเหมือนกันว่ามัน “ดี” เช่นที่คิดนั้น จริงหรือเปล่า

ต้องยอมรับครับว่า ทางผู้สร้างมีความหาญกล้าและแปลกใหม่กับการคิดไอเดียตั้งต้นในการทำหนังเรื่องนี้ มันเป็นหนังที่ต้องบอกว่ามาพร้อมกับประเด็นเนื้อหาที่ปั่นป่วนความคิดของเราอย่างสาหัสพอสมควร มันจะเป็นอย่างไร ถ้ากฎหมายยิ่งใหญ่กว่าเมตตาธรรม หรือมันจะเกิดอะไรขึ้น หากการ “ทำบาป” ถูกให้ความหมายว่าเป็นการ “ล้างบาป” ด้วยกฎเกณฑ์อำนาจบางอย่าง

จะว่าไป เรื่องราวในหนังก็เป็นโลกแห่งอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา ซึ่งจริงๆ มันก็คือเรื่องแต่งที่ไม่รู้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ ที่สังกัดอยู่ในปัจจุบัน หนังก็มีแง่มุมที่ใกล้ชิดกับชีวิตเรายุคนี้ด้วยเช่นกัน สัญลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งหนังหยิบมาใช้อย่างจงใจและมันเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ถึงผลที่ตามมาจากนโยบาย “ฆ่าใครก็ไม่ผิด” ของรัฐบาลแห่งอนาคต ก็คือ “หน้ากากยิ้ม”

ยิ้มบนใบหน้า แต่ไม่รู้ว่าภายในใจคิดอย่างไร นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน ภายหลังค่ำคืนอันหฤโหดไร้หัวใจผ่านพ้นไป เพราะย่อมไม่มีใครตรัสรู้ได้ว่า คนที่ตนเองกำลังสนทนาอยู่ด้วยในเช้าของวันอากาศแจ่มใสนี้ เมื่อคืนที่ผ่านมา ใช่หรือไม่ว่า คนคนนั้นก็อาจปรารถนาคว้ามีดสปาร์ต้าออกมาจ้วงแทงเรา

พูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่รัฐอเมริกันแห่งโลกอนาคต คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมสวยหรูดูดีขึ้น มาตรฐานคุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ได้ถูกทำลายลงไปแล้วอย่างราบคาบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษยธรรม และในขณะที่นวัตกรรมระบบรักษาความปลอดภัยถูกพัฒนาไปอย่างไร้ขีดจำกัด แต่ความไว้เนื้อเชื่อใจกันในหมู่มวลมนุษย์ กลับมีแต่จะถึงกาลสิ้นสุดยุติ

สุดท้าย “สังคมเราดีขึ้น เพราะการล้างบาป” ที่รัฐประกาศปาวๆ เราจะเชื่อได้มากน้อยเพียงใด หรือว่าแท้จริงแล้ว สิ่งนี้มันมีวาระซ่อนเร้น เหมือนกับที่หนังพยายามเลียบๆ เคียงๆ ส่งเสียงให้เรารู้ ว่ารัฐบาลนั้นยินดีปรีดาเพียงใดกับรายได้จากการขายอาวุธสำหรับใช้ประกอบกิจในค่ำคืนดังกล่าว เช่นเดียวกับเหล่าพ่อค้านายทุนที่จำหน่ายอุปกรณ์ระบบรักษาความปลอดภัยจนอยู่ดีมีฐานะ

สิ่งที่มันน่าสะเทือนใจ ดูโหดร้ายเกินกว่าจะรับได้ ถ้าหากยังมีหัวจิตหัวใจกันอยู่ ก็คือ คนที่มักจะตกเป็นเหยื่อในคืนล้างบาปก็คือคนตัวเล็กตัวน้อย คนจน คนจร คนเร่ร่อนไร้บ้าน ที่ไม่มีทุนรอนพอที่จะซื้อ “ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” ให้กับตัวเอง อย่าว่าแต่จะมีเงินเพียงพอไปซื้ออาวุธที่สามารถจะต่อกรกับคนอื่นๆ ได้

น่าคิดนะครับว่ามันจะเป็นเช่นไร ถ้าใครทึกทักเอาว่า สังคมที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการเก็บกวาดผู้คนตามท้องถนนให้หมดสิ้นไป หรือเพราะมีคนที่ไร้ทางสู้จำนวนหนึ่งตกเป็นเหยื่อให้คนอีกจำนวนหนึ่งใช้ระบายอารมณ์แล้วเรียกขานให้สวยหรู ว่านั่นคือการล้างบาป







กำลังโหลดความคิดเห็น