xs
xsm
sm
md
lg

“น้าหงา-แอ๊ด’บาว” นำทัพ“7+1”...เพื่อชีวิตผิดยุค/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปกหน้าอัลบั้ม 7+1
ในยุคที่เมืองไทยอุดมไปด้วยปัญหาสารพัดสารพัน ผู้คนแตกแยก สังคมเต็มไปด้วยปัญหา ใกล้ล่มสลาย รัฐใกล้ล้มเหลว แต่ผู้ปกครองกับเหลิงอำนาจ โกงกินคอร์รัปชั่น ผู้นำหุ่นเชิดมีความสุขกับการลั้นลาโชว์โง่ และ ฯลฯ

บทเพลงเพื่อชีวิตน่าจะเป็นหนึ่งในงานศิลป์ที่ช่วยสะท้อน กระตุกสังคมให้เห็นปัญหา ให้ฉุกคิด หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดพลังการเปลี่ยนแปลง

แต่...บทเพลงเพื่อชีวิตของบ้านเราวันนี้กลับอ่อนล้า ไม่ยิ่งใหญ่ทรงพลังเหมือนแต่ก่อน

แต่ถึงกระนั้นบทเพลงเพื่อชีวิตก็ยังไม่สิ้นลมหายใจ

อัลบั้ม “7+1” (ในสังกัด Warner Music) นับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวเบาๆของเหล่าขุนพลเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งหลายคนในอดีตเป็นนักร้อง นักดนตรีชื่อดัง ผู้ทรงอิทธิพลในอันดับต้นๆของยุทธจักรวงการเพลงไทย

7+1 ประกอบด้วย 7 คนดนตรีเพื่อชีวิต คือ “น้าหงา คาราวาน”(สุรชัย จันทิมาธร), “น้าหว่อง คาราวาน”(มงคล อุทก), “น้าแอ๊ด คาราบาว”(ยืนยง โอภากุล), “น้าเขียว คาราบาว”(กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร), “น้าสีเผือก คนด่านเกวียน” (อิศรา อนันตทัศน์), “บี๋ - คณาคำ อภิรดี” และ “ป๋อง ณ ปะเหลียน”(กานติ ไชยสุนทรวงศ์) ร่วมด้วย 1 วงดนตรีเพื่อชีวิต คือ “วงแผ่นดิน” ที่มี “น้าเอ๊ดดี้”(สุเทพ ปานอำพัน) เป็นผู้นำวง

อัลบั้มนี้มีทั้งหมด 13 เพลง เปิดตัวด้วย “อยากได้อะไรทำไมไม่บอก” โดยแอ๊ด คาราบาว บทเพลงพูดถึงปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพลงนี้น้าแอ๊ดเขียนในเชิงตั้งคำถาม ที่มุ่งตีตรงไปยังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า อยากได้อะไรทำไมไม่บอก แล้วมาจับมือร่วมคิด ร่วมทำเป็นเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ สำหรับน้าแอ๊ด แกยังคงเก่งในการหยิบยกสถานการณ์มานำเสนอ แต่ที่ตกลงไปมากก็คือการเขียนเนื้อร้องที่ไม่มีสัมผัสสวยงามฟังมีเสน่ห์เหมือนแต่ก่อน

ต่อกันกับเพลงของครูใหญ่ของวงการเพลงเพื่อชีวิต คือน้าหงา คาราวาน กับ “วันนี้” น้าหงานำบันทึกฉบับย่อสั้นๆในชีวิตการต่อสู้ของตัวเอง มาบอกเล่าในแบบฉบับของผู้ที่ผ่านโลกมาอย่างโชกโชน พร้อมเนื้อหาให้กำลังใจอย่าท้อถอยว่า คนเราต้องสู้ต่อไป ชีวิตนี้ต้องสู้กันต่อไป

เพลงนี้นำเสนอในกลิ่นลาติน ภาคดนตรีไพเราะ โดยเฉพาะกับทางกีตาร์อะคูสติกเสียงสวยใส ฟังสอดรับกับเนื้อหาเรียบง่ายแต่แฝงพลังได้ดีทีเดียว

เพื่อชีวิตจงเจริญ” นำเสนอโดยวงแผ่นดิน เป็น 3 ช่าโจ๊ะๆ กีตาร์ใส่กลิ่นร็อกแอนด์โรลเข้าไป เนื้อ หาฟังสบาย บอกเล่าอิทธิพล แรงดลใจ ของเพลงเพื่อชีวิตในอดีตที่เป็นไอดอลให้กับเพื่อชีวิตในยุคต่อๆมา

ต่ออารมณ์กันด้วย “แวมไพร์” โดยสีเผือก คนด่านเกวียน เป็นสามช่าสนุกๆดนตรีเก๋ในกลิ่นซานตาน่า เป็นเพลงรักที่ฟังแปลกดี เพราะน้าสีเผือกแกเล่นไปหลงรักสาวราตรีที่เรียกว่าแวมไพร์เข้าให้

ร่มไม้กลางแดด” ขับขานโดยน้าหว่อง คาราวาน เป็นอะคูสติกโฟล์ค เหงา เศร้า ดนตรีเพราะ เนื้อหาดี ภาษาสวย มีสัมผัสคล้องจองว่าด้วยเรื่องความโหดร้ายของสงคราม สำหรับเพลงนี้นับเป็นเพลงที่พังแล้วครบถ้วนในอารมณ์เพลงเพื่อชีวิตในยุครุ่งโรจน์มากที่สุด(ของอัลบั้มนี้)

เปลี่ยนอารมณ์มาฟังเสียงผู้หญิงกันบ้างกับ “ตามเสียงหัวใจ”(เพลงเก่าในชุดซึม เศร้า เหงา แฮงก์ ของน้าแอ๊ด แต่งโดยน้าทิวา สาระจูฑะ) ว่าด้วยคนที่ออกตามฝันตามเสียงเรียกร้องของหัวใจ เจ๊บี๋ไม่ได้ร้องเพลงนี้ในสไตล์เพื่อชีวิตแต่ร้องเพลงนี้ในแบบร่วมสมัย ฟังแล้วให้ความรู้สึกถึงซาวนด์ที่แตกต่าง

สัญญาฟ้า” น้าเขียว คาราบาว มาในสไตล์บลูส์ รำพึงรำพันถึงเธอ ผู้มาทำให้ชีวิตเปลี่ยน หลุดพ้นออกมาจากความเหงา เศร้า จากการอยู่คนเดียวมานาน เนื้อหาเพลงนี้เป็นเพลงรักเพื่อชีวิตตัวเองมากกว่า แต่ดนตรีนำเสนอได้อย่างน่าฟัง

ดอกไม้กับใบหญ้า” มาในแนวลูกทุ่งเพื่อชีวิตตามสไตล์สมัยนิยม เนื้อหาภาษาดี ดนตรีฟังเพราะ ท่อนฮุกดี เหมาะสำหรับเล่น เปิด ในผับเพื่อชีวิตมาก

ผ่านไปแล้ว 8 เพลง แบบเปิดให้แต่ละศิลปินใน 7+1 นำเสนอกันอย่างครบถ้วน สำหรับบทเพลงถัดไปเป็นการร้องซ้ำของศิลปิน คือ

ข้าวไทยบลูส์”ขับร้องโดยน้าหว่อง กับอะคูสติกบลูส์ ว่าด้วยการเดินทาง การต่อสู้อันยิ่งใหญ่ ของข้าวไทยที่ต้องไปต่อสู้กับข้าวของต่างแดน พร้อมเชื่อมโยงมาพูดถึงชีวิตความอดอยากของเด็กไทย นับเป็นการนำเสนอที่มีลีลาน่าสนใจ

ใจทระนง” โดยน้าสีเผือก กับบทเพลงให้พลังใจในกลิ่นซานตาน่าอีกแล้ว เปรียบดาวเป็นแสงแห่งประกายให้ความหวัง กับเนื้อหาภาษาสวยๆ ดังเช่น “ดุจดั่งดาวเหนือ พร่างพราวแสงวับวาวสกาวที่ปลายฟ้าไกล ส่องใจของคนให้แย้มบานสดในในยามเศร้าตรม ให้คลายหม่นหมอง...”

ชวนแฟนเขาหนี” เพลงชื่อกวน(ตีน)นี้ จัดมาโดยวงแผ่นดินเป็นสโลว์ร็อกอวลกลิ่นบลูส์ เนื้อหาออกแนวเลว เพราะดันอยากพาเธอที่มีคู่แล้วหนีไปแสนไกล แต่สาวยังมีมโนธรรมอยู่บ้างที่ไม่ยอมหนีตามกันไป เพลงนี้เป็นไปตามอารมณ์เพลง เจ๊เบียบฟังแล้วอย่าคิดมาก

เอาป่าคืนมา” น้าหงากลับมาอีกครั้ง กับบทเพลงอนุรักษ์ธรรมชาติ กับดนตรีโฟล์คเพราะๆเท่ๆ ภาษาที่ใช้ไม่เพียงสวยงามแต่ยังมีการใช้คำเปรียบเทียบได้อย่างเห็นภาพ นับเป็นความเจ๋งในการเขียนเพลงของน้าหงาที่ยังไว้ลายในฝีมือให้ฟังกัน

พเนจร” คำร้อง/ทำนอง โดย สุเทพ ปานอำพัน นำเสนอโดยวงแผ่นดิน เป็นอะคูสติกเศร้า เหงา สอดแทรกด้วยเสียงกีตาร์ไฟฟ้าโซโล บาดลึกกัดกร่อน เสียงร้องนำของ อุดม กรมจรรยา สูงปรี๊ด แต่ฟังแล้วผมชอบในเวอร์ชั่นที่พี่ปู พงษ์สิทธิ์ เคยร้องเอาไว้มากกว่า

จบไปแล้วกับ 13 บทเพลง จาก 7+1 ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ที่เนื้อหามีหลากหลาย ทั้งส่วนที่เป็นเพื่อสังคม เพื่อชีวิตคนอื่น และเพื่อชีวิตตนเอง แต่(ขอ)งดพูดเรื่องการเมือง ซึ่งโดยรวมแล้วนี่ถือเป็นงานเพลงที่มีเนื้อหาน่าฟัง มีการใช้ภาษาที่ดีสวยงามในหลายเพลง เนื้อเพลงแม้ไม่แตกต่างไปจากเพื่อชีวิตในยุครุ่งโรจน์ แต่ก็ไม่จำเจ ไม่น้ำเน่าจนเกินไป

ด้านภาคดนตรีนั้น โทนโดยรวมทำออกมาได้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียว โดยไม่ลืมบทเพลงสูตรสำเร็จของเพื่อชีวิตอย่างสามช่า(พาเพลิน)

สำหรับอัลบั้ม 7+1 แม้จะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ไม่ใช่สิ่งสุดยอดของดนตรีบ้านเรา แต่นี่ถือเป็นอัลบั้มที่มีเสน่ห์ชวนฟัง ฟังแล้วให้ความแตกต่างไปจากเพลงรักร่วมสมัยน้ำเน่า หมกมุ่นในเซ็ก มือถือ เทคโนโลยี และความรักอย่างไร้สติ(จนไม่สามารถแก้ปัญหาในสิ่งเล็กๆน้อยๆได้(ในเพลง) ทั้งที่ชีวิตยังมีปัญหาสำคัญมากมายท้าทาย) นับเป็นอัลบั้มที่น่าซื้อน่าฟัง สำหรับผู้นิยมความแตกต่าง

ส่วนใครที่เป็นแฟนเพลงเพื่อชีวิตนั้น ไม่น่าพลาด เพราะชื่อชั้น ของนักร้องนักดนตรีในชุดนี้ล้วนจัดอยู่ในระดับบิ๊กเนมแห่งวงการเพลงเพื่อชีวิตทั้งนั้น ซึ่งหากเป็นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ในยุคเพลงเพื่อชีวิตรุ่งโรจน์ งานรวมเพลงเพื่อชีวิตชั้นดีจากยอดฝีมือเช่นนี้คงโด่งดังขายดี

แต่มาวันนี้เมื่ออะไรมันเปลี่ยนไป เพื่อชีวิตที่ออกมาผิดยุคก็กลายเป็นซุ่มเสียงกระแสอันแผ่วเบาอ่อนล้า งานเพลงชุด 7+1 ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาๆในวงการเพลงบ้านเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น