xs
xsm
sm
md
lg

เพลงโสเภณี จาก “ปู” สู่ “คาราบาว”...ขายตัวไม่ชั่วขายชาติ/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์เพลงวาน โดย : บอน บอระเพ็ด
ปู พงษ์สิทธิ์ ศิลปินเพื่อชีวิต ผู้ที่สามารถร้องถ่ายทอดเรื่องราวของโสเภณีได้อย่างน่าฟัง
ต้นเดือน พ.ค. 56 อากาศร้อนระยับ

ร้อนไม่ต่างจากข้อความจากทวิตเตอร์ของการ์ตูนนิสต์นามอุโฆษ ที่โพสต์ข้อความเปรียบเทียบระหว่างโสเภณี (กะหรี่) กับหญิงชั่ว ซึ่งสะท้อนปรากฏการณ์ความเป็นจริงร่วมสมัยของสังคมไทยอย่างถึงกึ๋น

ส่วนใครเป็นใคร งานนี้วิญญูชนกับกระบือชนย่อมมองต่างมุมกันไป

สำหรับโสเภณี หรือที่ภาษาบ้านๆ เรียกว่ากะหรี่ แม้จะเป็นอาชีพที่อาจถูกใครหลายๆ คนมองว่า ต้อยต่ำ น่ารังเกียจ แต่ความจริงก็คือผู้ชายในบ้านเราล้วนต่างเคยมีประสบการณ์ ประสบกามกับโสเภณีมาเป็นจำนวนมาก

นั่นจึงทำให้ที่ผ่านมามีบทเพลงที่แต่งเกี่ยวกับโสเภณีออกมาพอสมควร โดยเฉพาะในแวดวงเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งผมขอคัดสรร 4 บทเพลงดังเกี่ยวกับโสเภณี จากพี่ “ปู : พงษ์สิทธิ์ คำภีร์” และ “วงคาราบาว” 2 ศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดังมานำเสนอเพื่อเป็นอุทาหรณ์

เริ่มกันด้วยเพลงโสเภณีของพี่ปูกับ “ไถ่เธอคืนมา” (อัลบั้ม “มาตามสัญญา”) เพลงนี้บอกเล่าเรื่องราวของสังคมไทยในยุคตกเขียวที่หลายครอบครัว ถูกความจนบังคับ พ่อแม่จึงส่งลูกสาวไปขายตัวตามซ่องในเมืองใหญ่ (ปัจจุบันก็ยังพอมีอยู่บ้าง) ทำให้สาวเจ้าผู้โชคร้ายต้องทนทุกข์ (ยอม) ขายตัวแลกเงินทองเพื่อส่งเงินกลับมาให้พ่อแม่นำไปสร้างบ้าน ซื้อทีวี ตู้เย็น โดยสาวเจ้าผู้รันทดในบทเพลง เธอเป็นสาว 15 จากเชียงรายถูกส่งไปขายตัวไกลถึงสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โน่น

เพลงนี้ฟังมีเสน่ห์ตรงอารมณ์รักดราม่าของไอ้หนุ่มบ้านนาที่มีรักแท้ต่อสาวคนนี้ เพราะถึงแม้เธอจะถูกส่งไปขายตัวผ่านชายเป็นร้อยเป็นพัน มีแต่คนรังเกียจเหยียดหยาม แต่ไอ้หนุ่มก็ยังคงรักเธอเสมอ พร้อมกับตั้งหน้าตั้งตา ทำงาน ทำนา ทำสวน ทำไร่ เพื่อเก็บเงินเอาไว้ไปไถ่เธอคืนมา ดังชื่อเพลง

ไถ่เธอคืนมา เป็นเพลงโฟล์คเพราะๆ มีท่วงทำนองสวยงาม ฟังติดหูง่าย เช่นเดียวกับภาคเนื้อร้อง ที่สื่อออกมาอย่างตรงไป ตรงมา ภาษาเรียบง่าย แต่ฟังแล้วโดน

“...ถึงใครใครรังเกียจ เหยียดหยามตัวเธอ พี่ยังรักเสมอถึงเธอจะเป็นอย่างไร อย่างนี้พี่ทำงาน ทำนา ทำสวน ทำไร่ จะเก็บเงินไว้ไปไถ่เธอคืนมา...”

เพลงโสเภณีเพลงแรกว่าไปขายตัวไกลแล้ว (จากเหนือสุดยังใต้สุด) แต่ในเพลงที่สองนี้ไปไกลกว่านั้นถึง ญี่ปุ่น เจแปน กับเพลง “โยโกโฮมา” (อัลบั้ม “คำนึงถึงบ้าน”) ที่เล่าเรื่องของหญิงสาวผู้มีโชคชะตาอาภัพ เพราะด้วยความจนบังคับ จึงจำใจต้องไปขายตัว ขายนาผืนน้อย ส่งเงินกลับมาให้กับพ่อแม่ชาวนา ซึ่งเธอประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดหลายอย่าง จนสุดท้าย ติดยา ติดเหล้า ติดการพนัน ท้ายที่สุดแล้วหญิงสาวเลือกจบชีวิตด้วยการผูกคอตาย มีเพียงเถ้ากระดูกถูกส่งกลับมาดูต่างหน้ายังบ้านที่เธอสร้างรอ จากน้ำพักน้ำแรงของนาผืนน้อย

โยโกโฮมา มีเนื้อหาและอารมณ์เพลงที่เศร้า พี่ปูร้อยเรื่องราวของเนื้อเพลงได้อย่างเห็นภาพ น่าฟัง พร้อมๆ กับร้องถ่ายทอดออกมาได้อย่างอารมณ์ นับเป็นอีกหนึ่งบทเพลงชั้นดีของปู พงษ์สิทธิ์ที่ยังคงตรึงอยู่ในใจแฟนๆ
คาราบาว วงเพื่อชีวิต ผู้ที่สามารถนำเรื่องราวของโสเภณีมาถ่ายทอดเป็นเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม
จากพี่ปูไปฟังเพลงโสเภณีของคาราบาวกันบ้าง เริ่มกันด้วย “นางงามตู้กระจก” (อัลบั้ม “เมดอินไทยแลนด์”) เพลงสุดดังของ น้า “เทียรี่ เมฆวัฒนา

นางงามตู้กระจกเป็นบทเพลงในช่วงที่คาราบาวอยู่ในยุคทอง กำลังรุ่งโรจน์สุดๆ ทั้งด้านชื่อเสียง ฝีมือ และการแต่งเพลงของแอ๊ด คาราบาว ที่ยอดเยี่ยมเกินทัดทาน (ในยุคนั้น)

นางงามตู้กระจก ขึ้นด้วยมาด้วยอินโทรเสียงกีตาร์เพราะๆ ฟังติดหูง่ายมาก ชนิดที่วันนี้คนยังจำเสียงเมโลดีกีตาร์ในเพลงนี้กันได้ดี เพลงนี้น้าแอ๊ด เขียนบอกเล่าเรื่องราวของหญิงบริการ ที่ถูกความยากจนบีบบังคับให้มาขายตัว จนต้องน้ำตาตกหัวอกล้มเหลว ทั้งนี้ก็เพื่อพ่อแม่เป็นอยู่สบาย น้องหญิงชายได้เล่าเรียน

เนื้อหา ภาษา ในเพลงนี้ น้าแอ๊ดแต่งออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ใช้ภาษาง่ายๆ มีสัมผัส คล้องจอง สวยงาม มีความเป็นป็อบอยู่สูง ฟังติดหูในแทบทันที อีกทั้งการถ่ายทอดเรื่องราว วางลำดับอารมณ์เพลงก็ทำได้อย่างมีจังหวะ แถมยังเสียดสีเหน็บแหนมสังคมได้มีชั้นเชิง มีลีลา

“...สังคมทราม ทรามเพราะคน ความยากจนใครทนได้ พ่อก็แก่แม่ไม่สบาย น้องหญิงชายวัยกำลังหม่ำ ช้ำเพราะความที่เธอจน นี่หรือคนสังคมรังเกียจ ช่วยผู้ชายระบายความเครียด สิบร้อยพันยันรัฐมนตรี...”

สำหรับเพลงนางงามตู้กระจก แม้จะมีความลงตัวในหลายด้านทั้งเนื้อหา ท่วงทำนอง ดนตรี แต่ที่ผมเห็นว่าลงตัวที่สุด ก็คือการที่วงคาราบาวเลือกให้น้าเทียรี่เป็นคนร้องนำถ่ายทอดเนื้อหาเพลงนี้ เพลงนี่นอกจากจะเป็นเพลงแจ้งเกิดสร้างชื่ออย่างถล่มทลายให้กับน่าเทียรี่แล้ว นางงามตู้กระจกยังกลายเป็นหนึ่งในบทเพลงลายเซ็นประจำตัวของเขา ซึ่งหากนึกถึงเทียรี่ก็ต้องนึกถึงนางงามตู้กระจก
ภาพประกอบใน MV เพลงแม่สาย
ดูเหมือนว่าน้าเทียรี่จะไปได้ดีกับเพลงแนวนี้ เพราะอีกหนึ่งบทเพลงโสเภณีชื่อดังของคาราบาวก็ยังคงเป็นน้าเทียรี่ที่ได้รับเกียรติให้มาร้องนำ ถ่ายทอดกับบทเพลง “แม่สาย” (อัลบั้ม “ทับหลัง”)

เพลงนี้ น้าแอ๊ดยังคงยอดเยี่ยมไม่สร่าง สามารถเล่าเรื่องราวของสาวเชียงรายที่ถูกพ่อแม่ขายให้ไปขายตัวในเมืองกรุงอยู่นานหลายปี จนหัวใจเธอเย็นชา ติดยาเมา ไม่คิดกลับคืนบ้านนา หากผู้เฒ่าทางบ้านไม่ล้มป่วย แต่อนิจจา...สุดท้ายเธอกลับไปไม่ทัน มันสายเกินไป ซึ่งน้าแอ๊ดเปรียบเปรยได้อย่างยอดเยี่ยมว่า...แม่สายที่เธอจากมา เหมือนวาจาว่าสายเกินไป...

แม่สาย เป็นเพลงเศร้าช้าที่นอกจากเนื้อหาจะฟังแล้วเห็นภาพ ใช้ภาษาสละสลวย มีการเล่าเรื่องที่มีลำดับลีลาแล้ว ภาคดนตรีของเพลงนี้ก็น่าฟังมาก สามารถโอบอุ้มช่วยหนุนส่งเนื้อหาของเพลงให้แข็งแกร่ง ทรงพลัง มีการใช้ทางเดินคอร์ดที่น่าสนใจ สามารถนำคอร์ดนอกคีย์ (Eb) มาใช้กับทางคอร์ด F ได้อย่างลงตัว กลมกลืน รื่นไหล พร้อมกับทำให้เพลงฟังดูมีเสน่ห์ มีลีลามากขึ้น ขณะที่ลูกโซโลกีตาร์ของน้าเทียรี่ในท่อนกลางกับของน้าแอ๊ดในท่อนจบนั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์อันชวนฟังของเพลงนี้ (ส่วน MV เพลงแม่สายก็ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนสามารถคว้ารางวัลมาไว้ในครอบครองได้)

ที่สำคัญเพลงนี้ก็เหมือนกับเพลงนางงามตู้กระจก คือนักร้องนำต้องน้าเทียรี่ เหมาะสมที่สุด ซึ่งมันส่งผลให้แม่สายกลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงประจำตัวของเทียรี่ที่มักร้องคู่กับเพลงนางงามตู้กระจกอยู่เสมอ

และนั่นก็เป็น 4 บทเพลงโสเภณีจากของพี่ปูและคาราบาว ที่บอกเล่ามุมชีวิตอันน่ารันทดของหญิงบริการออกมาได้อย่างเห็นภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าโสเภณี (ในเพลง) นั้น มิใช่เป็นคนไม่ดีแต่อย่างใด

ที่สำคัญคือแม้พวกเธอจะขายตัว แต่ก็ไม่ชั่วถึงขนาดขายชาติบ้านเมืองได้
****************************************

หมายเหตุ : คอลัมน์เพลงวาน จะนำบทเพลงน่าสนใจย้อนยุคทั้งเพลงไทยและสากลมานำเสนอสลับกับบทความแนะนำเพลงน่าสนใจในสมัยนิยม
           : ภาพประกอบ จากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น