xs
xsm
sm
md
lg

ฤดูที่เธอเหงา มันคือวันที่ฉันหงอย

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


“หนังแบบแดน-วรเวช” นี่คือคำแรกๆ ที่ผุดขึ้นในในความนึกคิดของผม หลังจากที่ชมผลงานเรื่องล่าสุดของนักร้องที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ก่อนหน้านี้ ผมเคยดูหนังที่แดนกำกับมาแล้ว คือเรื่อง “คืนวันเสาร์ ถึงเช้าวันจันทร์” และเห็นเค้ารางๆ ว่าทิศทางในหนังของแดน จะเป็นอารมณ์ประมาณไหน

ไม่ปฏิเสธในความสามารถครับ และที่สำคัญ ผมว่าแดน-วรเวช เป็นคนเก่งในเรื่องการเรียนรู้ แบบครูพักลักจำ เขาเคยเล่นหนังให้กับคุณยอร์จ-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร มาหลายเรื่อง และสไตล์ของยอร์จ-ฤกษ์ชัย ก็ติดตัวแดนมาด้วยเมื่อเขามาทำหนังของตัวเอง อันที่จริง มันก็คือแบบแผนที่ยอร์จ-ฤกษ์ชัย เคยทำไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานในยุคหลังๆ ที่เน้นหนังโรแมนติกคอมิดี้ ความอารมณ์ดีที่มาพร้อมกับความซึ้ง รวมไปจนถึงถ้อยคำประเภทที่เป็นคำคมช่างคิด

เอาล่ะ ไม่ว่าจะเหมือนหรือไม่อย่างไร แต่ผมคิดว่า หลังจากดูงานของแดน-วรเวช มาแล้วสองเรื่อง คนดูก็น่าจะจับทางกันได้แล้วว่า ถ้าเข้าไปดูหนังของแดน-วรเวช จะได้ดูหนังแบบไหน

หนังของแดน-วรเวช จะมีสไตล์ที่เน้นความสดใสมีชีวิตชีวา ดูกุ๊กกิ๊กแบบไม่ต้องคิดมาก มันอาจจะมีอุปสรรคปัญหาบางอย่างที่ตัวละครต้องฝ่าฟันเพื่อผ่านพ้นบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับสาหัสสากรรจ์ และรู้ทั้งรู้ว่าถึงอย่างไรก็คลี่คลายได้ คล้ายกับละครซิทคอมที่อะไรๆ มักจะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง

หนังของแดน-วรเวช เป็นหนังสวยๆ ครับ สวยตั้งแต่งานด้านภาพ ไปจนถึงตัวเรื่อง และตัวแสดง อย่างหลังนี่สำคัญมาก เพราะหากตัวแสดงไม่หล่อไม่สวย แรงดึงดูดของหนังอาจจะลดลงไปหลายเท่าตัว เหมือนกับงานชิ้นล่าสุดนี้ “ฤดูที่ฉันเหงา” ผมเชื่อว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ทำให้คนดูอยู่กับหนังไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบตลอดรอดฝั่ง ก็คือคนหน้าตาดี ทั้งโทนี่ รากแก่น และ แดน-วรเวช ซึ่งร่วมแสดงเป็นหนึ่งในตัวละครหลักด้วย

นั่นหมายความว่า ถ้าคุณไม่ใช่แฟนคลับของทั้งสองคน คุณอาจจะรู้สึกว่า ตัวเรื่องไม่สามารถโน้มนำให้คุณอยากเดินไปข้างหน้ากับหนังเลย สิ่งที่หนังยังต้องทำให้ได้ดีขึ้นอีกก็คือ เส้นเรื่อง ซึ่งนอกจากไม่เด่นชัด ยังแทบไม่มีพัฒนาการของเรื่องราว หนังเหงาๆ ฝันๆ แบบนี้ ที่ทำได้ดีคือหนังจากญี่ปุ่น และไม่มากไม่มาย ผมว่าฤดูที่ฉันเหงา ก็คล้ายๆ จะได้ทักษะมาจากหนังญี่ปุ่นด้วยเหมือนกัน เพียงแต่อารมณ์พาฝันในหนังญี่ปุ่นส่วนมาก สิ่งหนึ่งซึ่งเขาเน้นก็คือ “ความลึก” (Deep) ทางอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร หนังต้องทำให้คนดูดำดิ่งลงไปสู่ห้วงนึกคิดของตัวละครให้ได้เพื่อจะเข้าใจในภาวะอารมณ์ของตัวละครนั้นอย่างแท้จริง หนังแบบนี้ ถ้าจะทำให้ถึงจริงๆ ต้องพึ่งพิงความละเมียดและฝีมืออันละเอียดอ่อนสูงมากนะครับ ผมอยากให้สังเกตดูว่าหนังญี่ปุ่นอย่าง Be With You เขาทำให้คนดู “เหงา” และ “ฝัน” ร่วมกันไปกับตัวละครได้อย่างไร แน่นอน มันไม่ใช่การบังคับด้วยเพลงประกอบอย่างแน่นอน

.คุณค่าความหมายของการใส่เพลงประกอบลงไปในหนัง ก็เพื่อจะส่งเสริมพลังด้านเนื้อหาเรื่องราวให้หนักแน่นมากขึ้น และการจะใส่เพลงแต่ละครั้ง ต้องรู้จังหวะและแม่นยำพอสมควรว่าตรงไหนควรใส่ไม่ควรใส่ ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรก็เปิดเพลง เพลงประกอบต้องมีจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสมครับ มันถึงจะเหมาะ เพราะนี่คือภาพยนตร์ หาใช่มิวสิกวิดีโอแต่อย่างใดไม่

จำได้ว่า โจทย์ของหนังพยายามพูดเปรียบเปรย “ฝน” กับความรัก แต่สุดท้าย สัญลักษณ์นี้ก็ไม่ได้ผล ฝนตกอย่างพร่ำเพรื่อ เข้าขั้นตกได้ตกดี ตกตลอดเวลา และไม่สื่อสะท้อนอะไรถึงประเด็นที่หนังตั้งธงไว้แต่แรก

ตรงกันข้ามกับความรู้สึก “ชอบ” และเห็นแววของแดน-วรเวช จากเรื่องคืนวันเสาร์ ถึงเช้าวันจันทร์ “ฤดูที่ฉันเหงา” กลับเป็นความพยายามที่จะประดิษฐ์ให้มีจริตแห่งความเก๋ เท่ อาร์ต แม้แต่รถที่ตัวละครขับก็ต้องรถแบบเก๋ๆ ตัวเอกก็ต้องเป็นใครสักคนที่ดูเท่ๆ แนวๆ และเก๊กตลอดเวลา แต่ที่มันเลวร้ายมากๆ โดยที่ผู้กำกับอาจจะนึกไม่ถึง ก็คือ ตัวละครรองสองตัว คือ แจ๊ค แฟนฉัน กับ “นารา” (นารา เทพนุภา ชื่อจริงกับชื่อในหนัง ชื่อเดียวกัน) เด็กสาวซึ่งหลงใหลคลั่งไคล้โทนี่ช่างตัดผม

คาแร็กเตอร์และบทของแจ๊ค แฟนฉัน นั้นล้นจนดูเลอะ และเยอะจนเกินพอดี อันที่จริง ในมุมมองส่วนตัว ผมว่าแจ๊ค แฟนฉัน นั้นดูฮาอยู่แล้วโดยบุคลิกของเขา แต่ทว่าหนังกลับเติมสีให้กับเขา “แสดง” มากเกินไปในลักษณะโอเว่อร์ โดยมุ่งหมายจะให้ขำ แต่มันไม่ค่อยได้ผล แรกๆ อาจจะโอเค แต่พอมันเยอะและบ่อย ความกร่อยก็เริ่มเกิด

การบ่มเพาะให้คนดูเกิดความรู้สึกรักในตัวละคร คือพื้นฐานอันดับต้นๆ ที่จะทำให้หนังไปนั่งอยู่ในใจของคนดู บทของนาราที่ไปหลงรักโทนี่ที่ปกติ เธอก็ดูน่ารักน่าชังอยู่แล้ว โดยพื้นฐานทางด้านหน้าตา แต่หนังก็ใส่จริตจะก้านและพฤติกรรมจนเกินขอบเขตของความน่ารัก ผมชอบมากกับคำที่แดน วรเวช แซวแจ๊ค แฟนฉัน แบบขำๆ ตอนหนึ่งว่า “ความย่อยยับของชาติ ตกอยู่ในมือของน้องแล้วนะ” แน่นอน ถ้าเช่นนั้นแล้ว ความหายนะของตัวละครเด็กสาวก็ตกอยู่ในกำมือของหนังเรื่องเช่นกัน พฤติกรรมความหลงใหลในผู้ชายของเธอ ดูเยอะและเลอะจนน่ารำคาญเช่นเดียวกับบทบาทของแจ็ค แฟนฉัน

กล่าวอย่างถึงที่สุด องค์ประกอบในหนังทุกอย่างมันดูขาดๆ เกินๆ เยอะในจุดที่ไม่ควรเยอะ น้อยในจุดที่ไม่ควรน้อย เช่น ที่มาที่ไปเกี่ยวกับคนรักของแดน วรเวช ในเรื่อง ที่จงใจให้ดูฟุ้งๆ ล่องลอย แต่กลับกลายเป็นความ “เลื่อนลอย” อย่างไม่น่าจะเป็น หนังไม่สามารถจูงแขนคนดูเดินเข้าไปสู่โลกแห่งความเหงาแบบคะนึงหาใครสักคนได้อย่างที่ต้องการจะให้เป็น ความเหงาของตัวละครไม่สามารถเกาะกินหัวใจคนดูได้ “ฤดูที่ฉันเหงา” อาจใช้ได้กับตัวละคร แต่สำหรับคนดู มันอาจเป็นฤดูแห่งความหงอยปนง่วงได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมชอบมากๆ ในหนังเรื่องนี้ ก็คือถ้อยคำของแดน วรเวช ในเรื่อง ซึ่งคล้ายๆ จะเป็นคำแทนใจของแดน วรเวช ในความเป็นจริงอยู่กลายๆ แดน วรเวช ในหนัง พูดถึงหนังเรื่องหนึ่งซึ่งตัวเองได้ดู ชื่อเรื่อง “คู่ฟัดหวัดแดก” เขาพูดทำนองว่า ไม่ว่าคนดูจะคิดกับหนังเรื่องดังกล่าวอย่างไร เขาก็ยังชอบหนังเรื่องนั้น และมันเป็นเรื่องของรสนิยมที่ใครจะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องไหน

สุดท้าย ผมก็เอาใจช่วยคุณแดน วรเวช นะครับว่า หนังเรื่องนี้ของเขา จะถูกกับรสนิยมคนไทย และไม่ถูกทิ้งให้อยู่ใน “ฤดูที่เหงาๆ” หงอยๆ ในโรงภาพยนตร์...



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น