xs
xsm
sm
md
lg

หนังดีๆ ของมะเดี่ยว-ชูเกียรติ : เกรียน ฟิคชั่น

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


การได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ถึงสองรางวัลใหญ่ ทั้งหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม จากผลงานเรื่อง “HOME ความรัก ความสุข ความทรงจำ” น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งตอกย้ำความเป็นคนทำหนังคุณภาพของผู้กำกับมะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ได้เป็นอย่างดี เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี มะเดี่ยวก็เคยคว้ารางวัลใหญ่ๆ จากเวทีนี้มาแล้วหนึ่งครั้งจากหนังซึ่งถือได้ว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนทางสังคม ก่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง อย่าง “รักแห่งสยาม”

เช่นเดียวกับหนังของเขา บางครั้งมะเดี่ยว-ชูเกียรติ อาจตกเป็นข่าวที่ทำให้ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์บ้างในบางเรื่อง แต่ทว่าในมุมของการเป็นคนทำหนัง ยากที่ใครจะปฏิเสธได้ว่า ณ นาทีนี้ เขาไม่ใช่มืออาชีพคนหนึ่ง มะเดี่ยวทำหนังได้หลากหลายแนว และมีความดีแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อย ไม่เคยด้อยถึงกับถูกด่าเสียๆ หายๆ เขาเคยทำหนังซีเรียสที่ดูสนุกระทึกขวัญอย่าง “13 เกมสยอง” (ที่กำลังจะมี “14” มานานพอสมควรแล้ว) หรือแม้แต่หนังสยองขวัญอย่าง “คน ผี ปีศาจ” เขาก็ทำมาแล้ว

โดยส่วนตัว ผมมองว่า ถ้าไม่นับรวมหนังบางเรื่องที่ดูเหมือน “หนังคั่นเวลา” ทำเอาฮามากกว่าจะต้องการอื่นใด (อย่างหนังสั้นๆ อย่าง “ฮู อากง”) จุดเด่นอย่างหนึ่งของผู้กำกับคนนี้ก็คือ การมีประเด็น ความคิดชัดเจนว่าต้องการจะสื่อเรื่องอะไร มีแนวความคิดแบบไหนกับเรื่องราวที่ตนเองจะบอกเล่านั้นๆ แน่นอนว่า ผู้กำกับทุกคนก็มีประเด็นด้วยกันทั้งนั้น แต่อีกหนึ่งขั้นคือใครจะพาหนังของตัวเองก้าวไปตอบโจทย์ประเด็นนั้นได้แจ่มแจ้งชัดเจนกว่ากัน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามะเดี่ยวทำได้ดี

และเท่าที่สังเกต สิ่งที่ถือเป็นทักษะของมะเดี่ยวอย่างหนึ่งก็คือ การเขียนโครงสร้างของเรื่องราวที่กว้างและลึกแล้วถ่ายทอดออกมาได้แบบเข้าใจ ไม่สับสน ตัวละครหลากหลาย ต่างคนต่างมีเรื่อง แต่หนังก็สามารถตบสรุปได้ในทุกจุด หนังดีๆ ของมะเดี่ยว 2-3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น 13 เกมสยอง รักแห่งสยาม หรือแม้กระทั่ง HOME ล้วนแล้วแต่อยู่ในหมวดหมู่ที่กล่าวมา และกับผลงานล่าสุด อย่าง “เกรียน ฟิคชั่น” ก็ดูจะเดินอยู่ในทิศทางนั้นอย่างชัดเจน

หนังเรื่องนี้ แม้จะมีตัวละครหลากหลาย แต่ก็เกี่ยวโยงถึงกันหมด และแต่ละตัวก็มีปมและประเด็นแตกต่างกันไป ซึ่งหนังก็พยายามตามเก็บโครงสร้างทุกส่วนของตัวเองอย่างเห็นความตั้งใจ เกรียน ฟิคชั่น เดินหน้าขายด้วยความเป็นหนังวัยรุ่น แต่ความจริง มันมีแง่มุมหลากหลายซ่อนอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักๆ อย่างชีวิตวัยรุ่นวัยเรียน มิตรภาพ ความรัก ครอบครัว ไปจนถึงความฝันตามแบบฉบับที่วัยรุ่นซึ่งกำลังเติบโตมักจะมีต้องมี

จุดศูนย์กลางของเรื่องราว อยู่ที่ “ตี๋” สมาชิกในกลุ่มเกรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่งรวมตัวกันทำเรื่องกวนๆ ป่วนคนอื่นแบบขำๆ ความฝันที่เราจับต้องได้ตั้งแต่ต้นเรื่องก็คือ ดูเหมือนว่าตี๋จะชอบการทำหนัง คล้ายเพื่อนในกลุ่มที่ทำอะไรก็จะถ่ายคลิปแล้วนำลงโชว์ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก แต่ตี๋ก็ทำพลาดอย่างที่ตัวเขาเองก็ไม่อาจแม้แต่จะให้อภัยตัวเองได้ เมื่อเขาทำให้ “พลอยดาว” สาวน้อยที่เขานิยามด้วยคำว่าสวยสมบูรณ์แบบและเป็นดาวโรงเรียนต้องเสื่อมเสียอับอาย พลอยดาวและความผิดพลาดนี้ของตี๋กลายเป็นบาดแผลในใจเขาที่พัดเหวี่ยงชีวิตของเขาให้เข้ารกเข้าพงจนยากจะหันหลังกลับ

ครับ, จากหน้าหนังที่ดูเหมือนจะขายความตลกเฮฮาตามประสาวัยรุ่นอย่างตรงไปตรงมา แต่โดยส่วนตัว ผมกลับรู้สึกว่า ความดีของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่จุดซึ่งเขาอยากขาย หนังทำตลกและสนุกได้ระดับหนึ่ง แต่จุดดีของหนังกลับอยู่ที่สาระทางความคิดแบบที่สามารถกล่าวได้เลยว่า ค่อนข้างจริงจังและหนักอึ้ง

หนังเดินเรื่องโดยมีเสียงบรรยายของตี๋แทรกเข้ามาเป็นพักๆ เขาเหมือนสายตาหนึ่งคู่ที่เฝ้ามองความเป็นไปในกลุ่มเพื่อน เหมือนผู้กำกับภาพยนตร์ที่พยายามทำหนังของตนให้เดินหน้าต่อไป แน่นอนว่า สำหรับเด็กหนุ่มอย่างเขา ถ้าได้เป็นผู้กำกับ เขาคิดอยากจะให้หนังจบลงแบบไหน เขาก็คงทำได้ แต่ทว่าในโลกแห่งความจริง เขาเพียงมีความหวังว่าเส้นทางชีวิตของทุกคนจะไปถึงจุดที่แฮปปี้เอนดิ้ง ผมชอบคำพูดช่วงท้ายเรื่องของตี๋ เพราะรู้สึกว่าเขาเข้าใจอะไรๆ ได้มากขึ้น หลังจากผ่านพบสถานการณ์ร้ายๆ มาพอสมควร “ไม่มีชีวิตใดที่ไร้ค่า” หนังตอกย้ำคำนี้อยู่หลายครั้ง และตี๋เองก็คงคาดหวังอยู่ลึกๆ ว่าชีวิตที่มีค่าเหล่านั้นจะพบแต่กับความสุข แต่จะเป็นเช่นนั้นได้จริงแท้แค่ไหน ในเมื่อเขาเองก็หลีกเลี่ยงพงหนามแห่งชีวิตไม่พ้น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป อย่างมีความหวัง นี่คือหนึ่งสิ่งหนึ่งซึ่งผมจับต้องได้จากหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะวัยรุ่นหรือวัยไหนก็ตาม และไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม ชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อไป นอกจากตี๋ ตัวละครอีกตัวซึ่งหนังใส่เข้ามาอย่าง “ทิพ” ก็เป็นคนเลยวัยรุ่นไปแล้ว และดูเหมือนว่าที่ผ่านมาจะพบเจอแต่ความเจ็บปวดจนไม่อยากจะรู้สึกอินังขังขอบกับอะไรอีกต่อไป ใช้ชีวิตอย่างเลื่อนลอยไร้หลัก แต่ชีวิตของเธอก็ดำเนินต่อไป ผมรู้สึกว่าสิ่งที่ทิพแบกไว้บนบ่า มันก็หนักหนาไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่วัยรุ่นอย่างตี๋แบกไว้ในใจ

ผมอาจจะไม่ชอบรายละเอียดบางอย่างในหนัง เช่นสถานการณ์ต่างๆ ในหนังที่เกิดขึ้น มันดู “จงใจจัดสร้าง” มากเกินไป แบบว่าบทจะเกิดก็ “ทำให้” เกิด ขาดความเป็นธรรมชาติ เมื่อเทียบกับรักแห่งสยามหรือ HOME แล้ว ผมรู้สึกว่า กับสองเรื่องนั้น มะเดี่ยวทำได้เนียนกว่า ขณะที่ความเยอะของตัวเรื่องก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้พอถึงตอนจะสรุปปิด ผมว่ามันดูห้วนไปหน่อย ทั้งที่ตามเป็นจริง หนังตามเก็บประเด็นในแต่ละจุดได้ดีมาโดยตลอด หมายถึงสะสมแต้มได้มากระดับหนึ่งมาทีละจุด แต่พอถึงจุดพีคหรือตอนจบ เรากลับรู้สึกว่ามันยังพีคกว่านี้ได้อีก

หนังจบไปเสียก่อน ขณะที่รายละเอียดบางอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข คล้ายเสื้อแขนยาวตัวนั้นที่ดูเหมือนจะสำคัญยิ่งนักกับตัวละคร แต่หนังก็ละเลยไม่เอ่ยถึงและกลับไปแก้ปม แต่ผมกลับมานั่งคิดครับว่า บางที นี่อาจจะเหมือนอีกหลายเรื่องในชีวิตที่ผ่านพ้นไปแล้ว ย้อนกลับไปไม่ได้ สิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือปล่อยให้มันปลิวหายไปในสายลมของอดีต ชีวิตวัยรุ่นยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวรออยู่ข้างหน้า ถ้ามัวแต่จ่อมจมอยู่กับวันวาน ไหนเลยจะมีโอกาสนึกถึงอดีตได้มากกว่านี้

บางคนถามว่า “เกรียน ฟิคชั่น” มันคล้ายกับ Suckseed ห่วยขั้นเทพไหม ผมว่ามันคนละทางนะครับ แม้หน้าหนังจะดูเป็นวัยรุ่นจ๋า แต่ทว่าเนื้อหาไม่วัยรุ่นเลย พูดแบบนี้ไม่ได้หมายถึงว่า Suckseed ไม่มีสาระนะครับ เพียงแต่ “เกรียน ฟิคชั่น” ปริมาณความซีเรียสมันมากกว่า

เอาเข้าจริง แม้ผมจะรู้สึกว่านี่ยังไม่ถึงกับหนังที่เรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่มดีมากของมะเดี่ยว แต่มันก็ดีพอระดับหนึ่ง และจะว่าไป “เกรียน ฟิคชั่น” มันก็คือ “ความรัก ความสุข ความทรงจำ” อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสำหรับคนที่เคยผ่านช่วงวัยรุ่นมา และมองย้อนกลับไปอีกรอบหนึ่ง คุณจะเห็นเรื่องราวของตัวเองลอยวนอยู่ในนั้น ในความทรงจำสีจางๆ ที่ดูเลือนราง แต่ทว่าไม่เคยหายไปไหน...






กำลังโหลดความคิดเห็น