xs
xsm
sm
md
lg

Cloud Atlas : ส่ำสัตว์ ในวัฏฏะสงสาร

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พูดได้ว่าเป็นสัปดาห์ล้วงกระเป๋าคนรักหนังอย่างแท้จริง เพราะหนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉาย เข้าข่าย “หนังดีๆ ที่น่าดู” ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น The Impossible ที่กลายเป็นหนังเรียกน้ำตาแห่งความซาบซึ้งกินใจประจำอาทิตย์ไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ยังมี Rise of the Guardians ซึ่งทีมสร้างเคยฝากผลงานดีๆ มาแล้วก่อนหน้า อย่าง How to Train Your Dragon แอนิเมชั่นที่นักวิจารณ์แทบทุกสำนักและคนรักหนังทุกๆ คน ยกให้เป็นหนึ่งแอนิเมชั่นแห่งปี

พ้นจากนี้ ก็ยังมี Cold War หนังฮ่องกงที่ประกาศสัจธรรมว่า ในวงการตำรวจ ไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูของตำรวจได้เท่ากับคนในกรมตำรวจด้วยกันเอง ทั้งนี้ ยังไม่นับหนังที่แปลงร่างจากนิยายขายดีรวมอย่าง The Paperboy ซึ่งสอยคะแนนและคำชมมาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางหนังที่น่าดูทั้งหลายเหล่านั้น ผมคิดว่า Cloud Atlas คือหนังที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

หนังเรื่องนี้ สร้างมาจากนวนิยายระดับเข้าชิงรางวัลแมน บุ๊กเกอร์ ไพรซ์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลใหญ่ระดับสากล มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากเพื่อนบางคนตั้งแต่ผมยังไม่ได้หยิบนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่านแล้วว่า ตัวนิยายนั้นมีความแปลกประหลาดในตัวเองสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเล่าเรื่องแบบตัดสลับกันไปมาระหว่างเรื่องราวหกเรื่องซึ่งต่างยุคต่างสมัย และ “ดูเหมือนว่า” จะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย นั่นก็ทำให้ผมหวั่นใจต่อการหยิบนิยายมาอ่านพอสมควร เพราะส่วนหนึ่งก็กลัวว่า ถ้าอ่านไม่รู้เรื่องแล้วจะพาลไปกล่าวโทษว่านิยายเขาไม่ดี

ยิ่งไปกว่านั้น ความจริงอีกข้อหนึ่งซึ่งหลายคนคงรู้กันอยู่ ก็คือว่า ผลงานชิ้นนี้ ถูกถ่ายเทส่งผ่านสู่จอภาพยนตร์โดยผู้กำกับที่เคยสร้างงานอันชวนให้ “มึนตึ้บ” มาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น “ทอม ทีคเวอร์” เจ้าของผลงาน Run Lola Run รวมไปจนถึงสองพี่น้องตระกูลวาชอฟสกี้ที่เคยให้ “ยามึน” กับคนดูหนังมาแล้ว ในเรื่องเดอะแมททริกซ์ สรุปก็คือว่า ด้วยปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดที่กล่าวมา มันทำหน้าที่เสมือนเสียงขู่อยู่กลายๆ ว่า คุณอาจดูหนังเรื่องนี้ไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่อง ซึ่งสุดท้าย...ก็เป็นเพียงเสียงขู่ อยู่ในความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น

โดยส่วนตัว ผมมองว่า หนังนั้นผ่านการคิดมาพอสมควรว่าจะต้องไม่ยากเกินไป แต่ก็ต้องไม่ถึงกับง่ายมาก ช่วงแรกๆ คนดูอาจต้องพยายามปะติดปะต่อและจับจุดสักเล็กน้อยว่าเรื่องราวทั้งหกเรื่องเรื่องนั้นไม่ได้อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน อีกทั้งการเล่าเรื่องก็ไม่ใช่การเล่าไปทีละเรื่องให้สิ้นสุดก่อนจะเริ่มเรื่องใหม่ หากแต่เป็นการเปิดเรื่องนี้ได้สักหน่อย ก็ไปเปิดเรื่องใหม่ขึ้นมา และก่อนจะเปิดเรื่องใหม่อีกเรื่อง หนังก็อาจจะย้อนกลับไปเล่าเรื่องที่เปิดไว้ในตอนแรกต่ออีกหน่อยแล้วค่อยเปิดเรื่องใหม่ขึ้นมา ผ่านการตัดต่อที่ใช้คำว่า “ขั้นเทพ” ก็ไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

สิ่งหนึ่งซึ่งหนังใช้สอยเป็นเครื่องมือในการตัดต่อ เพื่อเชื่อมร้อยเรื่องราวแต่ละตอนเข้าด้วยกัน คือ บานประตูที่เปิดออก สังเกตว่าหนังใช้สิ่งนี้บ่อยมากจนน่าคิด มันเหมือนกับประตูอีกหลายๆ บานในหนังหลายเรื่อง อย่างเช่นประตูที่เด็กน้อยแห่ง Narnia เพียงแต่มันอาจไม่ใช่บานประตูที่เปิดไปสู่โลกแห่งจินตนาการ เพราะบานประตูแห่ง Cloud Atlas มันเป็นการเปิดระดับ “ภพชาติ” จากภพชาติหนึ่งสู่อีกภพชาติหนึ่ง เรื่องราวทั้งหมดในหนังนั้นกินเวลายาวนานนับพันปี เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างยุคสู่ยุค และระหว่างบุคคลสู่บุคคล ผ่านการกระทำหรือบุญกรรมที่ก่อไว้ในแต่ละภพแต่ละชาติ

เข้าใจว่า เดวิด มิทเชลล์ ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ คงผ่านการศึกษาแนวคิดตามหลักพุทธศาสนามาดีระดับหนึ่ง เขาคือนักเดินทางที่ท่องโลกมาแล้วทั่วหล้า และคงติดไม้ติดมืออุดมธรรมทางพุทธมาพอสมควร นิยายของเขาจึงอวลไปด้วยเรื่องราวของบุญและกรรม อันหมายถึงสิ่งที่คนเรากระทำทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น จนก่อเกิดเป็นสายใยไม่รู้จบ ผ่านภพข้ามชาติ หลักคิดเหล่านี้เปรียบเสมือนโครงสร้างใหญ่ที่คุมหนังทั้งเรื่องไว้ ขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปแห่งยุคสมัยแต่ละยุค ก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเห็นภาพและสะท้อนให้เห็นถึงลำดับขั้นแห่งวิวัฒนาการทางสังคม จากสังคมยุคก่อนอารยธรรม ยุคทาส ยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟู แล้ววกกลับไปสู่ยุคที่ผู้คนนับถือศรัทธาไสยศาสตร์ผีสางกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นวัฏจักรวงจรของสังคม

เรื่องราวหกเรื่อง ราวกับเมฆหกกลุ่มหกก้อนที่สัญจรเคลื่อนผ่านกาลเวลา จากเมฆาสู่เม็ดฝนตกหล่นไปเป็นน้ำแล้วระเหิดระหายกลายไปสู่หมู่เมฆอีกคราครั้ง จะว่าไป มันก็คือ “วัฏฏะสงสาร” หรือ “วัฏจักร” ทั้งของสังคมและตัวบุคคลที่หมุนวนไปเรื่อยๆ สังคมปัจจุบันเป็นแบบใด มันก็คือผลพวงที่ส่งทอดจากสังคมบุพกาล และสังคมปัจจุบันเป็นแบบใด มันก็คือเงื่อนไขที่จะกำหนดความเป็นไปของสังคมอนาคตด้วยเช่นกัน สรรพสิ่งเชื่อมโยง เหมือนกรรมใดใครก่อ ไม่ว่าดีหรือร้าย สุดท้ายก็ต้องได้ชดใช้กรรมนั้น ไม่ช้าก็เร็ว...

Cloud Atlas เป็นหนังที่ดูสนุกครับ มันอาจจะไม่ใช่ความสนุกในแบบหนังแอ็กชั่นหรือตลก หากแต่สนุกเพราะวิธีเล่าเรื่องซึ่งสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นทะเยอทะยานอย่างถึงที่สุดของผู้สร้างที่ตั้งใจทำเรื่องยากๆ ให้เป็นที่เข้าใจได้ หนังมีความอลังการทั้งวิธีดำเนินเรื่องไปจนถึงตัวของโปรดักชั่น งานวิช่วลต่างๆ ถือว่าทำได้ยอดเยี่ยม เมกอัพหน้าตาตัวละครแต่ละตัวที่ต้องเล่นกันหลายบทบาท ไม่เห็นจุดที่ขาดตกบกพร่อ

ในความรู้สึกว่า หนังประกอบด้วยบทพูดที่ฉลาดคมคาย กระตุ้นให้ฉุกคิดได้ตลอดทั้งเรื่อง กล่าวอย่างถึงที่สุด Cloud Atlas คือหนังที่มีความมหัศจรรย์น่าตื่นตาตื่นใจอยู่ในตัวเอง สัมผัสสุดท้ายที่เกิดขึ้น ผมอยากจะใช้คำว่า “อลังการ” มันเหมือนกับตอนที่ได้ดูหนังอย่าง Babel แล้วรู้สึกถึงจุดเล็กๆ ที่เชื่อมร้อยกันเข้าอย่างเป็นเอกภาพและทำให้เราสัมผัสได้ถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของโลกอันไร้ที่สิ้นสุด Cloud Atlas ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพียงแต่ข้อแตกต่างก็คือ Babel สะท้อนให้เห็นถึงการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกันภายใต้วิธีคิดแบบ “โลกาภิวัตน์” (Globalization) ที่ว่า การกระทำของคนคนหนึ่งสามารถส่งผลกระทบไปถึงคนอื่นๆ ได้อีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดุจเดียวกับปรากฏการณ์บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟคต์ หรือ “เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว”

แต่ Cloud Atlas มหัศจรรย์ไปกว่านั้น เพราะมันไม่ได้กล่าวถึงเพียงผลกระทบของการกระทำของบุคคลที่ส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ในสังคมในชาตินี้ หากแต่ขยายขอบเขตกว้างไกลไปถึงขั้นสื่อถึงผลกระทบระดับข้ามภพข้ามชาติ แล้วสะท้อนสัจธรรม “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ออกมาอย่างหมดจด ชาวพุทธที่มีพื้นในแก่นธรรมเรื่องเวรเรื่องกรรมซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ จะ “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” หนังเรื่องนี้ได้ดีเป็นอย่างยิ่งเลยล่ะครับ

แต่อย่าไปกลัวว่ามันจะซับซ้อนดูยาก หนังไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด คนในชีวิตหลายๆ คน ซับซ้อนและเข้าใจยากยิ่งกว่านี้หลายร้อยเท่าอีกครับ เชื่อผม!!










กำลังโหลดความคิดเห็น