xs
xsm
sm
md
lg

The Voice พลังเสียงกระหึ่มไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


The Voice เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของเรียลิตี้ที่มีคนพูดถึงมาก ทั้งแชร์ ทั้งโพสต์ด้วยความสุขกับเสียงเพลงผ่านโชเชี่ยลเน็กเวิร์กต่างๆในวันอาทิตย์ … เมื่อผู้ชมได้เห็นคนธรรมดาที่หน้าตาไม่ได้หล่อสวยระดับเทวดาและนางฟ้าเดินดินได้ผ่านเข้ารอบขึ้นมาเป็นว่าที่นักร้องชื่อดังก็เหมือนได้เติมเต็มความฝันของตัวเอง ด้วยเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ส่งให้ The Voice กลายเป็นรายการโทรทัศน์ที่ฮอตสุดๆ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาโดยปริยาย

The Voice คือ?
ถ้ากล่าวแบบสั้นที่สุดก็ต้องบอกว่ามันคือรายการโทรทัศน์ที่ว่าด้วยการประกวดเกี่ยวกับการร้องเพลง แต่ถ้าให้อธิบายเพิ่มเติมก็คือรายการนี้ถูกคิดค้นโดย “จอห์น เดอ โมล” เจ้าพ่อรายการเรียลิตี้ ผู้เป็นเจ้าของรายการชื่อดังอย่าง Big Brother The Voice มีต้นกำเนิดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก่อนจะถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตเพื่อแพร่ภาพในอีก 40 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นรายการประกวดหานักร้องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกรายการหนึ่ง

เกณฑ์การตัดสินของ The Voice มีเพียงแค่ “เสียง” เท่านั้น และนั่นก็ทำให้ The Voice เป็นรายการที่ได้รับการยอมรับว่ายุติธรรมที่สุดในบรรดารายการประกวดร้องเพลงด้วยกัน เนื่องจากคณะกรรมการที่เรียกตัวเองว่า “โค้ช” จะต้องนั่งหันหลังเพื่อฟังเสียงของผู้เข้าประกวดโดยที่ยังไม่เห็นหน้า รูปร่าง ลักษณะท่าทาง หรือชื่อเสียงเรียงนามอะไรเลย และนั่นก็ทำให้หลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้เข้าประกวดคนไหนจะผ่านหรือไม่ผ่านอยู่ที่เสียงของผู้ประกวดที่โค้ชจะได้ยินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
การแข่งขันของ The Voice จะแบ่งออกเป็นสามรอบใหญ่ๆ นั่นคือ Blind Audition ผู้ผ่านเข้ารอบจะต้องมาโชว์น้ำเสียงสดๆ บนเวทีในขณะที่บรรดาโค้ชกำลังนั่งหันหลังเพื่อฟัง เมื่อโค้ชคนใดยอมรับในน้ำเสียงก็จะกดปุ่มเพื่อให้เก้าอี้หมุนมาเผชิญหน้าผู้ประกวด และนั่นก็เท่ากับว่าโค้ชคนนั้นได้เลือกผู้ประกวดคนนั้นเข้าสู่ทีมของตัวเองเรียบร้อยแล้ว ในกรณีที่มีโค้ชมากกว่าหนึ่งคนกดปุ่มเลือกผู้แข่งขัน ผู้แข่งขันคนนั้นจะมีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่กับโค้ชคนใด แต่ถ้าไม่มีโค้ชคนไหนกดเลือกเลย ผู้แข่งขันคนนั้นก็จะตกรอบไป

ส่วนรอบต่อมาคือ Battle Round โค้ชแต่ละทีมจะส่งลูกทีมขึ้นมาร้องเพลงประชันกันเป็นคู่ๆ โดยทั้งคู่ต้องร้องเพลงเดียวกัน และโค้ชจะมีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ลูกทีมแต่ละคนพร้อมทั้งเป็นผู้คัดเลือกว่าจะเก็บลูกทีมคนไหนไว้ จนมาถึงรอบสุดท้าย Live Round ลูกทีมที่เหลือ 6 คนในแต่ละทีมจะต้องขึ้นมาร้องสดบนเวทีที่คราวนี้อำนาจการตัดสินตกอยู่ในมือผู้ชมทั้งประเทศที่นั่งดูมาตลอดแล้ว

ส่วนผสมของ The Voice
ถ้าจำแนกองค์ประกอบหรือส่วนผสมที่ทำให้ The Voice ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็คงต้องบอกว่ามีอยู่ด้วยกัน 5 ส่วนหลักๆ นั่นคือ จุดอิ่มตัวของ AF และ The Star , ความยุติธรรมในการตัดสิน, โค้ช, ไร้ดราม่า และความมีส่วนร่วมของผู้ชม

อวสาน AF และ The Star
ออกอากาศต่อเนื่องมาเกือบจะครบ 10 ปีแล้วสำหรับรายการเรียลิตี้อย่าง อะคาเดมี แฟนเทเชีย หรือ AF ที่นับว่าก็จะคลายความนิยมลงไปทุกปี รวมถึงเวที The Star ที่คลอดตามออกมาโดยห่างกันเพียงแค่ปีเดียว จากที่เคยโด่งดังเปรี้ยงปร้างกลายเป็น Talk of The Town ปัจจุบันทั้งสองรายการนี้กลายเป็นเวทีประกวดที่มีคนเฉพาะกลุ่มติดตาม ด้วยความที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ และยังคงเน้นขายหน้าตาเป็นหลักเหมือนทุกเวทีประกวดที่เกิดขึ้นบนโลกนี้

ทุกวันนี้ถ้าคุณเดินสวนกับ AF หรือ The Satr คุณอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าคุณเพิ่งเดินผ่านผู้เข้าประกวดที่มีชื่อเสียงไปหมาดๆ ด้วยความที่ AF กับ The Star ถูกผลิตออกมาทุกปี ในแต่ละปีก็ไม่ได้มีแค่ผู้ชนะกับรองที่ได้รับการผลักดัน แต่ยังมีคนอื่นๆ ติดสอยห้อยตามมาเป็นโขยง จนเกิด ก AF ข The Star จนไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาประกวดปีไหน(หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าเขาคือผู้เข้าประกวด)

และเมื่อผู้ชมเกิดความรู้สึกอิ่มตัวกับการประกวดที่เน้นรูปร่างหน้าตา แต่เมื่อออกมายืนถือไมค์จริงๆ แล้วกลับพบว่าร้องเพลงไม่เอาอ่าว พวกเขาจึงโหยหาผู้ประกวดที่จะมาเป็นนักร้องจริงๆ มากกว่าคนที่ใช้การประกวดร้องเพลงเป็นทางผ่านไปสู่การเป็นดารา และ The Voice ก็คือคำตอบของพวกเขา

ความยุติธรรมอยู่ที่นี่
การตัดสินที่เสียงล้วนๆ คือจุดขายของ The Voice และมันก็เป็นจุดขายที่มีพลังในยุคที่คนร้องยี้ให้กับคนหน้าตาดีแต่ร้องเพลงไม่เป็น(แต่กระแดะขึ้นมายืนประกวดร้องเพลง) เมื่อรายการแสดงให้เป็นว่ากรรมการต้องนั่งหันหลังให้กับผู้ประกวดที่ออกมาร้องเพลง และผู้ประกวดเหล่านั้นก็มีพลังเสียงที่ยอดเยี่ยมจนผู้ชมหลายคนต้องลุกขึ้นยืนปรบมือให้ ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานที่ผู้ชมทุกคนยอมรับเนื่องจากมันสามารถเทียบวัดได้ในระดับหนึ่ง เมื่อการประกวดไร้ข้อกังขา ผู้ชมก็พร้อมที่จะเทหัวใจให้แบบไร้ข้อกังขาด้วย
โค้ชคือสีสัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหลักสำคัญที่ทำให้ผู้ชมเฝ้าหน้าจอเมื่อถึงเวลาที่ The Voice ออกอากาศก็คือ บรรดาโค้ชที่มาทำหน้าที่คณะกรรมการตัดสิน ผู้ให้คำแนะนำผู้ประกวด และตัวสร้างสีสัน(แบบไม่ต้องเขียนบทดราม่าป้อนใส่ปาก) และถือเป็นความฉลาดของรายการที่หยิบเอา โจอี้ บอย กับ แสตมป์ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข สองนักร้องขวัญใจคนรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกสนุกสนานช่วยสร้างสีสันให้กับรายการทั้งการพูด การแซว ไม่ว่าจะเป็นแซวกันเองหรือแซวผู้ประกวด จนผู้ชมบางคนถึงกับบอกว่าที่ตั้งหน้าตั้งตาดู The Voice ก็เพราะแสตมป์กับโจอี้ บอย นี่แหล่ะ

ส่วนกรรมการอีกสองคนอย่าง “ก้อง สหรัฐ สังคปรีชา” และ “เจนนิเฟอร์ คิ้ม” ก็เป็นสองนักร้องขวัญใจผู้ใหญ่วัยทำงาน ซึ่งตัวคิ้มเองก็มีลีลาการพูดที่สนุกสนานไม่แพ้ใคร ส่วนก้องรับหน้าที่โค้ชที่นั่งนิ่งๆ ขายความหล่อแต่เพียงอย่างเดียว คำตอบสุดท้ายของคนติด The Voice ก็คือ “แค่ได้นั่งดูโค้ชทั้งสี่แซวกันก็เต็มอิ่มแล้ว”

ไม่ขายดราม่า
ลืมการประกวดที่ผู้เข้าประกวดขึ้นมาสาธยายความทุกข์ระทมในชีวิต ประเภทพ่อตาย แม่ยายป่วยไปได้เลย เพราะเวที The Voice ไม่ใช่เวทีสังคมสงเคราะห์ และนั่นก็ทำให้รายการนี้ไม่มีดราม่ามาเร่ขาย ไม่ต้องโหวตเพราะอยากให้เขาได้เงินไปรักษาแม่ ไม่มีบทดราม่าตบตีระหว่างโค้ช จะมีสีสันเรียกเรตติ้งเล็กๆ ก็แค่ตอนที่ “สุเมธ องอาจ” นักร้องชื่อดังขึ้นมาเกากีตาร์โชว์ลูกคอบนเวทีจนกลายเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างว่าเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีเรื่องดราม่าอะไรที่ทำให้ผู้ชมสงสัยว่ากำลังนั่งดูวงเวียนกรรมหรือการประกวดร้องเพลงอยู่กันแน่

คุณก็เป็น”โค้ช” ได้
มีหลายคนแนะนำว่าคุณสามารถมีส่วนร่วมกับ The Voice ได้มากกว่าแค่นั่งชม เพียงแค่นั่งหันหลังให้กับจอโทรทัศน์ในตอนที่ผู้เข้าประกวดปรากฏตัวและออกมาร้องเพลง และเลือกที่จะ “กดปุ่ม” ให้เก้าอี้หันมาเมื่อคุณรู้สึกว่าชอบเสียงของผู้เข้าประกวดคนนั้น นี่เป็นวิธีการร่วมสนุกกับ The Voice ที่มากกว่าแค่เป็นผู้ชม เพราะคุณสามารถใช้หูในการตัดสินร่วมกับบรรดาโค้ชที่นั่งอยู่ในรายการได้ แล้วคุณอาจแปลกใจที่พบว่ารสนิยมความชื่นชอบในน้ำเสียงของตัวเองไปตรงกับแสตมป์หรือก้อง สหรัฐ โดยบังเอิญ

ขณะนี้ The Voice เดินทางมาสู่ความเข้มข้นในรอบที่สองแล้ว ตอนนี้หลายคนจะได้เห็นผู้ประกวดขึ้นมาร้องเพลงประชันกัน และนั่นก็เป็นความสนุกอีกรูปแบบหนึ่งของรายการนี้ ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า The Voice ในปีที่สอง สาม และต่อๆ ไปจะยังคงครองใจผู้ชมได้แบบนี้หรือเปล่า เพราะมีหลายคนวิเคราะห์ว่าที่ The Voice กลายเป็นรายการที่มีผู้ชมมากขนาดนี้ส่วนหนึ่งมาจากความสดใหม่ของรายการที่ผู้ชมมักจะเห่อเมื่อมันเกิดขึ้นเป็นปีแรก จึงน่าสนใจว่าในปีต่อๆ ไปความธรรมดาที่ไม่ธรรมดาของผู้เข้าประกวด The Voice จะยังคงครองหัวใจผู้ชมได้ขนาดนี้อีกหรือไม่
................................

ที่มานิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 160 วันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2555





กำลังโหลดความคิดเห็น