Facebook : teelao1979@hotmail.com
“ฉันยอมทำรายการให้คน 100 คนดู ดีกว่าทำรายการห่วยๆ เพื่อคนล้านคน”
...........................................................................
นับเป็นความเหมาะเจาะราวกับรู้สถานการณ์ที่ซีรีส์เรื่องนี้เดินทางมาถึงเมืองไทยในช่วงเวลาซึ่งแวดวงสื่อสารมวลชนกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ สื่อบางสำนักถูกตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณและศักดิ์ศรีที่เหมือนจะถูกซื้อไปแล้วโดยอำนาจทุน สื่อบางค่ายขายตัว และหัวใจจนเปลือยเปล่าล่อนจ้อน และในขณะที่ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการข่าวบางคนถูกตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริต ก็ยังมีสื่ออีกจำนวนไม่น้อยที่ประพฤติตนไม่ต่างไปจาก “วิลล์ แม็คอะวอย” ผู้ประกาศข่าวขั้นเทพในหนังทีวีเรื่อง The Newsroom
วิลล์ แม็คอะวอย นั้น คลุกคลีอยู่ในวงการข่าวมานาน ชนิดที่เรียกได้ว่า “เก๋า” มากที่สุดคนหนึ่ง เขาถูกคอลัมนิสต์บางคนขนานนามว่าเป็น “เจย์ เลโน แห่งวงการผู้ประกาศข่าว” ซึ่ง เจย์ เลโน นั้นมีชื่อเสียงในด้านการเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ทั่วไป
แน่นอนว่า ฉายาดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแต่อย่างใด เพราะในเบื้องลึกของถ้อยคำดังกล่าว พุ่งเป้าที่จะประชดประชันแดกดันว่า เหตุผลที่ทำให้วิลล์รักษาระดับของการเป็นซูเปอร์สตาร์ด้านการประกาศข่าวไว้ได้ ก็เพราะเขาไม่ยุ่งกับใคร ไม่เลือกข้าง หรือพูดอีกอย่างก็คือ ไม่กล้าแสดงจุดยืนทางความคิดต่อสิ่งต่างๆ ออกมาอย่างชัดเจน
“ผมโหวตให้ทั้งสองพรรค” ตอนต้นๆ เรื่อง เมื่อถูกถามว่าเขาเลือกเดโมแครต หรือรีพับลิกัน วิลล์ให้คำตอบต่อผู้ดำเนินรายการในงานเสวนางานหนึ่งไปแบบนี้ ต่อหน้าผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา
หรือแม้กระทั่งต่อคำถามที่ว่า เขาคิดว่าอะไรที่ทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เขาก็ยังโยกโย้เลี่ยงบาลีแบบคนไม่กล้ามีคำตอบที่ตรงไปตรงมา และที่มันน่าหมั่นไส้ยิ่งไปกว่านั้น ก็เพราะว่า เขากลับไปรวบเอาคำตอบของผู้ร่วมเสวนาอีกสองคนมารวมกันเป็นคำตอบของตัวเอง นั่นก็คือ เหตุผลที่ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็เพราะ “ความหลากหลาย โอกาส อิสรภาพ อิสรภาพ และอิสรภาพ”
คนทำข่าวแบบวิลล์นั้น ดูผิวเผินก็เหมือนคนทำสื่อหลายๆ คนที่เราเห็นอยู่ตามหน้าจอทีวี คือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” สิ่งที่คำนึงถึงก็มีเพียงอย่างเดียว คือ เรตติ้งความนิยมจากคนดู อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งรีบด่วนตัดสินหนังสือเพียงเพราะเห็นแค่หน้าปก วิลล์ แม็คอะวอย ยังมีมุมบางมุมที่เรายังไม่เห็น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีชื่อของแอรอน ซอร์กิน ปรากฏอยู่ทั้งในฐานะผู้สร้างสรรค์และคนเขียนบทให้กับ The Newsroom ซึ่งฉายทางช่อง HBO เรื่องนี้ด้วยแล้ว มันจึงดูง่ายดายเกินไป หากเราจะรีบพิพากษาวิลล์ด้วยมุมมองเท่าที่เล่ามา
ในแวดวงภาพยนตร์ไปจนกระทั่งหนังทีวี แอรอน ซอร์กิน นั้น ได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนบทมือดีมากที่สุดคนหนึ่งของวงการ งานล่าสุดของเขาที่เราๆ ท่านๆ ผู้รักการดูหนังน่าจะผ่านตามาแล้วก็คือการเขียนบทให้กับหนังชิงรางวัลออสการ์ เรื่อง The Social Network ที่ตีแผ่เรื่องราวร้าวฉานของคณะผู้ก่อการเฟซบุ๊ก ส่วนซีรีส์ที่เขาเคยสร้างสรรค์ไว้ก่อนหน้านี้หลายปี ก็มี The West Wing ซีรีส์ดีๆ ที่อยู่ในดวงใจของหลายคน
จุดเด่นในด้านการเขียนบทของซอร์กินที่ทุกคนคงสัมผัสได้ชัดเจน คือ การนำเสนอให้เราเห็นหลายๆ ด้านของตัวละครและเรื่องราว ตัวละครของเขา น้อยมากที่จะเป็นพวก “ขาวจัด ดำจัด” ประเภทตัดสินได้ไม่ยากว่าใครดีเลวใครเลว หากแต่จะผสมผสานกันไปในลักษณะ “ร้ายก็มี ดีก็มาก” จนกระทั่งสุดท้าย เขาก็อาจจะทำให้เรามึนงงสงสัยแบบไร้ข้อสรุปไปเลยว่า ใครคือเทพ ใครคือมาร
สำหรับตัวละครในหนังทีวีเรื่องนี้อย่าง “วิลล์ แม็คอะวอย” ก็ไม่ต่างไปจากนั้น เพราะถึงแม้เราจะรู้สึกอคติต่อวิลล์ตั้งแต่ต้นๆ เรื่อง และรู้สึกขุ่นเคืองในตัวเขากับการตอบคำถามแบบแทงกั๊ก แต่ลองฟังทัศนะยาวๆ ของเขาดูก่อนไหม เผื่อเราจะแจ้งใจในความแยบยลของคนเขียนบทอย่างแอรอน ซอร์กิน ขึ้นมาอีกสักเล็กน้อย
“มันไม่ใช่ประเทศที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไปแล้ว นั่นแหละคำตอบของผม” หลังจากโดนจี้ด้วยการไล่บี้จะเอาคำตอบจากวิลล์ให้ได้ของพิธีกรผู้ดำเนินรายการเสวนา “เจย์ เลโน แห่งวงการผู้ประกาศข่าว” ก็ดูเหมือนจะหลุดคำพูดออกมาด้วยอารมณ์หงุดหงิดปนรำคาญ วิลล์หันไปพูดกับชารอน หญิงสาวผู้ร่วมเสวนา ซึ่งมาพร้อมกับแนวคิดสังคมนิยม
“ชารอน พวกสหภาพฯ น่ะ เป็นพวกขี้แพ้ ใช่ พวกนั้นเก็บภาษีจากรายได้เรา คุณรู้ไหมว่าทำไม ประชาชนไม่ชอบพวกสังคมนิยม เพราะพวกนั้นแพ้ ถ้าพวกสังคมนิยมฉลาดมากนัก ทำไมพวกนั้นถึงได้แพ้อยู่ทุกครั้ง”
ถัดจากนั้น วิลล์ก็หันไปพูดผู้ร่วมเสวนาอีกคนที่เป็นผู้ชาย ซึ่งพกพาความคิดแบบ “อเมริกันจ๋า” มาเต็มหัวใจ
“ส่วนคุณก็หน้าตาย บอกกับเด็กพวกนี้ว่า อเมริกานี่มันช่างดีเลิศ อลังการดาวล้านดวงซะจนประเทศเราในโลกนี้มีอิสรภาพประเทศเดียวงั้นเหรอ แคนาดาก็มีอิสรภาพ ญี่ปุ่นก็มี อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ ก็มีอิสรภาพ 207 รัฐอิสระทั่วโลก มีสัก 180 มั้งที่มีอิสรภาพ แล้วนี่เธอนักศึกษาตัวอย่าง”
ดูเหมือนความหงุดหงิดของวิลล์ยังไม่ได้รับการบำบัด เขาวาดสายตาอันเปี่ยมล้นความรำคาญไปที่นักศึกษาหญิงผู้สงสัยใคร่รู้ว่าอะไรทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
“ถ้าเผื่อวันหนึ่ง เธอได้เข้าไปอยู่ในคูหาเลือกตั้งนะ มีบางอย่างที่เธอควรได้รู้ไว้ และหนึ่งในนั้นคือ มันไม่มีหลักฐานใดๆ เลยที่จะมาสนับสนุนคำกล่าวที่ว่าเราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เราเป็นอันดับ 7 เรื่องการรู้หนังสือ, อันดับ 27 ด้านคณิตศาสตร์ อันดับ 22 ด้านวิทยาศาสตร์, อันดับ 49 เรื่องอายุขัยโดยเฉลี่ย อันดับ 178 เรื่องอัตราการรอดของเด็กทารก อันดับ 3 เรื่องรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน อันดับ 4 เรื่องอัตราแรงงาน และอันดับ 4 ด้านการส่งออก และตามจริง เราเป็นผู้นำของโลกแค่ 3 หมวดเท่านั้น คือ จำนวนนักโทษต่อหัวประชากร จำนวนของผู้ใหญ่ที่ยังเชื่อว่าเทวดามีอยู่จริง และค่าใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศที่เราใช้ไป มากกว่าอีก 26 ประเทศที่ตามมารวมกันซะอีก และ 25 ประเทศในนั้นก็เป็นพันธมิตรของอเมริกา”
น้ำเสียงของวิลล์ตอนนี้ ฟังดูเชื่องช้าลง และมีความเหนื่อยล้าปนอยู่ในนั้นอย่างสัมผัสได้ เขาเหนื่อยล้ากับอะไร? ความคิดความเชื่อผิดๆ ของผู้คน หรือความจริงอันน่าเจ็บปวดของชาติ?
“แน่นอนว่า เราเคยเป็น เราเคยยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง เราเคยต่อสู้เพื่อเหตุผลทางศีลธรรม เราเคยผ่านกฎหมายหรือล้มกฎหมายเพื่อเหตุผลด้านศีลธรรม เราประกาศสงครามกับความจน ไม่ใช่คนยากจน เราเสียสละ เราใส่ใจเพื่อนบ้าน เราทำตามในสิ่งที่เราพูดไว้ เราไม่เคยเสแสร้งทำเป็นเสียใจ เราเคยก่อสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สำรวจจักรวาล รักษาโรคร้าย เราบ่มเพาะศิลปินระดับโลก และสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ เราเอื้อมมือคว้าดาว เข้มแข็ง อดทน เราแสวงหาสติปัญญา เราไม่ดูถูกมัน มันไม่เคยทำให้เรารู้สึกด้อยค่า เราไม่ได้ระบุความเป็นตัวเราจากพรรคที่เราเลือกครั้งล่าสุด และเราไม่ได้ขวัญอ่อนกันขนาดนี้ เราเคยสามารถเป็นในสิ่งเหล่านั้น และทำในสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะได้รับการชี้แนะจากบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ บุคคลผู้เป็นที่น่ายกย่อง ขั้นตอนแรกของการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ก็คือ ต้องมองเห็นก่อนว่าเรามีมัน (ปัญหา) อเมริกาไม่ได้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกต่อไปแล้ว”
คำตอบนี้ นอกจากจะทำให้ทุกคนในงานเสวนาอึ้งกิมกี่กันไป เราซึ่งเป็นคนดูอยู่นอกจอ ก็เกิดมีการพลิกทางความคิด อย่างน้อยที่สุด ก็ในส่วนมุมมองที่มีต่อวิลล์ นี่นับเป็นความแยบยลของคนเขียนบทอย่างแอรอน ซอร์กิน อย่างยากที่จะปฏิเสธ
จากถ้อยคำยาวเหยียดราวกับบทเทศนาในวันพระใหญ่นั้น บอกกับเราอย่างไรบ้าง ก็บอกว่า วิลล์ แม็คอะวอย นั้นไม่ได้ไร้เดียงสา เขาคือนักข่าวคนเก๋า เขารู้หลายเรื่องในสิ่งที่คนจำนวนมากไม่รู้ เขาเข้าถึงข้อมูลหลากหลายที่ประชาชนอีกไม่รู้กี่ล้านคนยากที่จะเข้าถึง เขามีพร้อมทุกอย่างด้วยทรัพยากรด้านข้อมูลข่าวสาร แต่อะไรล่ะที่วิลล์ทำหายไป และมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับถ้อยคำที่ผมนำมาโปรยไว้ข้างต้น
พักฟังสิ่งที่น่าสนใจสักครู่ แล้วกลับมาชมตอนต่อไปครับ