Facebook : teelao1979@hotmail.com
เขาปรากฏตัวในชุดเกราะสีดำทะมึน ปืนที่ถืออยู่ในมือก็ดำทะมึน แถมทรงอานุภาพชนิดที่เพียงป้อนคำสั่งด้วยวาจา ปืนกระบอกนั้นก็จะปล่อย “กระสุนตามคำสั่ง” พุ่งเข้าจัดการกับเป้าหมาย และถึงแม้เขาจะปกปิดใบหน้าด้วยหน้ากาก แต่คนทั้งเมืองเมกะวันซิตี้ ต่างก็รู้กันดีว่าเขาคือ Judge Dredd ตุลาการทมิฬที่มาในชุดสีดำทะมึน!
ครับ, หลังจากที่เคยทำให้คอหนังแอ็กชั่นมันระเบิดมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1995 เรื่องราวของตุลาการผู้ที่คิดว่าตัวเองมอบความยุติธรรมให้กับโลกและผู้คน ก็ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดอีกครั้งในรูปแบบสามมิติ หนังรีเมคเรื่องนี้ดูค่อนข้างจะแตกต่างไปจากหนังรีเมคหลายเรื่องที่ออกมาก่อนหน้า โดยเฉพาะในด้านกระแสตอบรับ เพราะหลังจากหลายเรื่องล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ทว่า Dredd กลับได้รับคำชมที่สูงอย่างน่าพึงพอใจ
งานชิ้นนี้สร้างมาจากการ์ตูนที่มีผู้อ่านติดตามหนาแน่นเรื่องหนึ่ง ความหาญกล้าน่าจดจำของการ์ตูนชุดนี้ น่าจะอยู่ที่การเข้าไปแตะต้อง “ระบบ” ซึ่งดูเหมือนจะมีพลังสูงที่สุดในสังคม นั่นก็คือ ระบบยุติธรรม ผ่านตัวละครตุลาการกลุ่มหนึ่งซึ่งมี “หัวหอกในสายปฏิบัติ” คนสำคัญคือ ตุลาการเดร็ด (Judge Dredd)
มีคำถามและความประหลาดใจอยู่เล็กน้อยตอนที่ผมได้ข่าวว่าหนังเรื่องนี้ถูกนำมารีเมค คือ เพราะอะไร ฝรั่งถึงเลือกที่จะนำเอาหนังเรื่องนี้มาสร้างใหม่ในช่วงเวลาเช่นนี้ แน่นอนล่ะ ถ้าจะคิดว่าช่วงนี้เป็นวินาทีเฟื่องฟูของการหยิบเอาผลงานยุค 80-90 มาสร้างใหม่ ก็ไม่แปลก อีกทั้งมวลสารด้านความบู๊ที่มีอยู่ในวัตถุดิบอย่าง Judge Dredd นั้น ก็เอื้อต่อการทำหนังแอ็กชั่นซึ่งเป็นหนังตลาด มีกลุ่มคนดูรองรับหนาแน่น ก็ไม่แปลกอีกเช่นกันหากมันจะถูกนำมารีเมคใหม่
อย่างไรก็ดี หากมองในเชิงเนื้อหาและสำรวจตรวจสอบกระแสสังคม ใช่หรือไม่ว่า การที่หนังเรื่องนี้ถูกหยิบยกมาเล่าใหม่ แถมยังได้ใจผู้ชมตลอดจนนักวิจารณ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอเมริกา ที่ต่างก็พากันซูฮกงานชิ้นนี้อย่างท่วมท้น เป็นเพราะเนื้อหาของมันเข้าไปจี้จุดอ่อนไหวบางประการของสังคม เหมือนกับที่ผมอยากจะคิดว่า นี่คือหนังซึ่งถ้าคนไทยได้ดู แล้วอาจจะ “อิน” มากเป็นพิเศษ
Dredd เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายในเมืองเมกะวันซิตี้ซึ่งดูจะเป็นสถานที่ปลอดภัยเพียงแห่งเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของอเมริกาในกาลอนาคต สภาพของเมืองที่ถูกโอบล้อมรอบทิศด้วยพิษกัมมันตรังสี ดูน่าสะพรึงกลัวเท่าๆ กับความไร้ระเบียบของเมกะวันซิตี้ซึ่งมีสภาพไม่ต่างไปจากสังคมอนาธิปไตย และแทบจะพูดได้ว่า ความวุ่นวายคือสถานการณ์ปกติของบ้านนี้เมืองนี้ กระนั้นก็ดี ท่ามกลางสภาพการณ์ที่เลวร้ายนี้ก็ยังมี “ชายหญิงในตึกแห่งหนึ่ง” ซึ่งทำหน้าที่คอยเก็บกวาดทำความสะอาดให้บ้านเมือง พวกเขาไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นเหล่า “ตุลาการ” ผู้พิทักษ์ความยุติธรรม
สำหรับคนที่เคยดูเวอร์ชั่นเดิมเมื่อปี 95 มาก่อน จะพบว่าเนื้อหาเรื่องราวในหนังฉบับรีเมคนั้น ได้รับการปรับแต่งดัดแปลงไปเยอะพอสมควร ไล่ตั้งแต่ตัวร้ายของเรื่องไปจนถึงประเด็นที่นำเสนอ เช่นเดียวกันกับตุลาการหญิงตัวละครหลักอย่าง “แอนเดอร์สัน” (เวอร์ชั่นเดิมแสดงโดย ไดแอน เลน) ซึ่งถูกทำให้กลายเป็น “เด็กใหม่” (โอลิเวีย เทิร์ลบี้) ที่ต้องผ่านการทดสอบประเมินผลโดยตุลาการเดร็ด
โดยส่วนตัว ผมรู้สึกว่าถ้ามองในเชิงองค์ประกอบด้านแอ็กชั่นหรือความบันเทิง นี่คือหนังที่ไม่น่าผิดหวัง หรืออย่างน้อยๆ ก็รู้สึกว่าตังค์ที่จ่ายไปในค่าตั๋วนั้นคุ้มค่าไม่น่าเสียดาย หนังโดดเด่นด้านการออกแบบสถานการณ์ที่ตึงเครียดและทำให้เราลุ้นไปกับตัวละครได้อย่างน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ และเนื่องจากสถานการณ์ใน Dreed มีที่เกิดเหตุอยู่ภายในตึกแห่งหนึ่ง บางคนจึงถามว่ามันสนุกเทียบกับหนังอินโดนีเซียอย่าง The Raid Redemption ได้ไหม ผมว่าสนุกคนละแบบครับ
เพราะในขณะที่หนังอินโดฯ (ฉะ! ทะลุตึกนรก) ดีเด่นด้านความดุเดือดเลือดพล่าน ฟาดปากกันราวกับหมาบ้า แต่ Dreed จะเน้นความ “เข้ม” แบบมีมาดพระเอก ไม่โฉ่งฉ่างผลุนผลัน หากแต่ใช้ความเนี้ยบเข้าดำเนินการ
เทคนิคเอฟเฟคต์อะไรต่างๆ นั้น เวอร์ชั่นที่ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน เคยแสดงไว้เมื่อปี 95 ย่อมสู้ไม่ได้กับความไฮเทคของปี 2012 แน่นอนครับ อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในเชิงเนื้อหา ผมกลับพบว่า เวอร์ชั่นของคาร์ล เออร์บัน ยังห่างชั้นอยู่พอสมควรกับเวอร์ชั่นสตอลโลน เพราะถึงแม้จะพูดเรื่องความยุติธรรมเหมือนกัน แต่ความลึกและความกว้างต่างกัน
ในเวอร์ชั่นใหม่นี้ ประเด็นของหนังดูเหมือนจะเป็นเรื่องพื้นๆ ซึ่งเราๆ ท่านๆ ต่างก็เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว เพราะมันพูดเรื่องว่า ในกลุ่มของคน (ที่เราคิดว่าน่าจะ) ดี ก็มีคนเลวแฝงตัวอยู่ ไม่ว่าที่ไหนๆ ในกรมตำรวจ ในกรมทหาร ในโรงพยาบาล ในโรงเรียน หรือแม้แต่ในตึกแห่งตุลาการ แน่นอน ประเด็นนี้มันก็น่าเจ็บปวดไม่น้อย หากแต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เวอร์ชั่นของสตอลโลนถ่ายทอดไว้ กลับดูจะมีความแยบคายและลุ่มลึกแหลมคมกว่า เพราะมันตั้งคำถามพุ่งตรงไปยังการปฏิบัติงานของตุลาการอย่าง “เดร็ด” โดยตรง
ในชั้นต้นที่สุด ผมเชื่อว่าผู้ชมระดับฮาร์ดคอร์หน่อยๆ ที่ได้ดูเวอร์ชั่นสตอลโลน อาจจะรู้สึกสะใจกับวิถีปฏิบัติของเดร็ดไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคำพูดที่ว่า “คนบางคนก็ไม่มีความหมายพอที่จะมีชีวิตอยู่หรอก” นั่นคือคำพูดที่แทงใจดำสาธุชนได้เป็นอย่างดี มันทำให้รู้สึกว่า บางที มันก็ควรจะเป็นเช่นนั้น ใช่ไหม เพราะคนบางคน อยู่ไปก็รังแต่จะสร้างความฉิบหายให้กับโลกเสียเปล่าๆ ฆ่ามันให้ตายซะก็จบ
อย่างไรก็ดี กับเรื่องแบบนี้ จะถือเอาแต่ความสะใจเข้าว่า ก็คงไม่ใช่เรื่อง หนังในเวอร์ชั่นสตอลโลนจึงตั้งคำถามว่า เอาเข้าจริง คนที่คิดว่าตัวเองกำลังบันดาลความยุติธรรมให้กับสังคมนั้น มันถูกต้องเที่ยงตรงและดีงามแล้วหรือเปล่า กล่าวในแง่นี้ ผมจึงรู้สึกว่า ชื่อในภาษาไทยของหนังที่ตั้งว่า “ตุลาการทมิฬ” นั้น ดูจะเข้าเป้ามากที่สุด (นานๆ จะเห็นการตั้งชื่อไทยให้หนังต่างประเทศแบบเข้าท่าแบบนี้สักที) เพราะมันชวนให้เกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นมาทันที เมื่อคำว่า “ตุลาการ” ซึ่งหมายถึงผู้ดูแลความยุติธรรม มาผสมรวมกับคำว่า “ทมิฬ” ที่มีความหมายในทางไม่ดี คนผดุงความยุติธรรมอย่างตุลาการ ไฉนจึงได้สร้อยห้อยท้ายว่าทมิฬ
ชุดดำทะมึนของตุลาการเดร็ด (สีดำเข้มมากในเวอร์ชั่นสตอลโลน ขณะที่เวอร์ชั่นคาร์ล เออบัน ปรับโทนออกไปทางสีกรมท่าหน่อยๆ) อาจทำให้เขาดูขรึมขลังน่าเกรงขามในความเป็นจริง แต่ในเชิงสัญลักษณ์ ใช่หรือไม่ว่า ชุดสีดำ มันบ่งบอกถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ “โปร่งใส” เหมือนชุดดำของแบ็ทแมน อาจทำให้ “พรางตัว” ได้ง่ายตอนไปปราบผู้ร้ายยามค่ำคืน แต่ถ้าคิดอีกแง่หนึ่ง ชุดดำของเขา อาจหมายถึงตัวตนที่คลุมเครือซึ่งอยู่ภายใต้เสื้อคลุมของฮีโร่
แน่นอนว่า ขณะที่ใครต่อใครพากันตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของอัศวินรัตติกาลอย่างแบ็ทแมนว่ามันถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ เรื่องของ Dredd ก็ทำให้ผมรู้สึกว่า การมอบอำนาจสิทธิ์ขาดในการชี้วัดตัดสินความยุติธรรมไว้ในกำมือของคนเพียงคนเดียวนั้น มันก็น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าการไม่มีระบบที่ดูแลความยุติธรรมใดๆ เลย