Facebook : teelao1979@hotmail.com
“ผู้คนไม่เป็นเหมือนอย่างที่เราคิดเสมอไปหรอก”
…....................
หนังทีวีหรือซีรีย์แนวสืบสวนสอบสวนนั้น ถือเป็นแนวยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่มีการสร้างออกมาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องราวทำนองนี้สามารถกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของคนดูผู้ชมได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผูกปมปริศนาได้ลึกลับชวนค้นหามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตรึงความสนใจใคร่รู้ของคนดูให้ติดอยู่กับเรื่องราวได้มากเท่านั้น
แต่การรู้คำตอบก็ไม่ใช่หัวใจสำคัญเสมอไป เหมือนจุดหมายปลายทาง บางครั้งก็เทียบกันไม่ได้เลยกับเรื่องราวที่พบเจอในระหว่างทาง ในทำนองเดียวกัน บ่อยครั้งที่การได้รู้ว่าใครเป็นอาชญากร ไม่ใช่เรื่องที่น่าตื่นเต้นประหลาดใจเท่ากับกระบวนการขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน
สำหรับคนที่ดูซีรีย์แนวนี้มามากๆ ก็จะเห็นครับว่า “เทคนิค” หรือ “วิธีการ” ที่ถูกนำมาใช้ในการสืบหาความจริงของเจ้าหน้าที่ในเรื่องนั้น แตกต่างหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้นิติวิทยาศาสตร์แบบ CSI, การสืบสวนแบบเรื่อง Lie to Me ที่จับโกหกผู้ร้ายด้วยการดูสีหน้าท่าที, สืบแบบนักสะกดจิตอย่าง The Mentalist, สืบแบบอาศัยสัมผัสที่หกอย่าง The Dead Zone และ Medium, สืบสวนจากกระดูกอย่าง Bones สืบจากศพแบบเรื่อง Body of Proof หรือสืบโดยหลักอาชญวิทยาเหมือน Criminal Minds เอาเป็นว่าถ้าไล่เรียงจนครบ คงต้องใช้พื้นที่อีกหลายบรรทัด
ก็น่าแปลกใจครับว่า เทคนิคในการสืบสวนยอดเยี่ยมโคตรเทพกันขนาดนี้ ก็มิอาจกักกั้นคนที่คิดจะทำความผิดได้ โจรผู้ร้ายก็ยังเต็มบ้านเต็มเมืองเหมือนเดิม ก็อย่างว่าแหละครับ คนมันจะเลว มันก็หาทางซิกแซกแหวกทางออกไปได้ พูดไป ก็คงเข้าอีหรอบเดิม คือตราบเท่าที่จิตสำนึกของผู้คนมันสึกหรอ ต่อให้มีกระบวนการสืบสวนเอาผิดยอดเยี่ยมสักกี่วิธี สุดท้าย คนมันจะทำเลว มันก็ยังทำอยู่วันยันค่ำ
ครับ, ซีรีย์ที่ผมหยิบมาแนะนำครั้งนี้ก็เป็นแนวสืบสวนสอบสวนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งโจนาธาน โนแลน น้องชายของคริสโตเฟอร์ โนแลน (ที่กำกับแบ็ทแมนฉบับรีบู๊ตทั้งสามภาค) เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์ ยิ่งกว่านั้น เขายังผนึกกำลังกับ “เจ. เจ. เอบรัมส์” (ผู้กำกับ Super 8) ร่วมกันเขียนบทให้กับซีรีย์ชุดนี้ด้วย โจนาธานผู้นี้คือคนที่มีส่วนร่วมในการเขียนบทให้กับหนังเทพๆ หลายเรื่องของคริสโตเฟอร์ โนแลน ไล่มาตั้งแต่ Memento, The Prestige และที่สำคัญเลยก็คือ The Dark Knight และ The Dark Knight Rises นั่นจึงไม่แปลก ถ้าลักษณะตัวละครหลักของซีรีย์เรื่องนี้จะชวนให้นึกถึงแบ็ทแมนอยู่กลายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปราบเหล่าร้ายในแบบ “ลับๆ” ที่ชวนให้คิดว่าพวกเขาก็คือร่างอวตารอีกภาคหนึ่งของแบ็ทแมนดีๆ นี่เอง
คำว่า Person of Interest แม้จะยังไม่เป็นที่ยอมรับในทางกฎหมาย แต่โดยเนื้อหาใจความของมันก็มีความใกล้เคียงกับคำว่า Suspect ซึ่งหมายถึง “ผู้ต้องสงสัย” และตามเนื้อเรื่อง การสืบสวนคดีความต่างๆ ของซีรีย์ชุดนี้ก็เดินไปข้างหน้าโดยมี “ผู้ต้องสงสัย” เป็นจุดเริ่มต้นนำทาง
หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 9/11 เป็นต้นมา รัฐบาลอเมริกาได้พยายามเฝ้าระวังเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นอีกจากผู้ก่อการร้าย จึงได้ก่อตั้งโครงการหนึ่งขึ้นมา โดยมี “ฮาโรลด์ ฟินช์” เป็นผู้สร้าง “เดอะ แมทชีน” เฝ้าระวังขึ้นมา แต่สิ่งที่น่าทึ่งก็คือว่า มันสามารถบอกได้ถึงเหตุร้ายที่อาจจะเกิดกับบุคคลทั่วไปด้วย อย่างไรก็ตาม เพราะเหตุร้ายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องระดับชาติหรือเป็นเรื่องชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป รัฐจึงไม่ใส่ใจที่จะจัดการ และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ฟินช์ตัดสินใจออกจากโครงการ แต่ก่อนจะพ้นสภาพพนักงาน เขาได้ทำ Back door (วิธีการลับเพื่อเข้าระบบ) เอาไว้ และพอออกโครงการไป งานของฟินช์ก็คือ คอยฟังสัญญาณจากเดอะ แมทชีน ซึ่งจะส่งหมายเลขประกันสังคมของบุคคลที่มีความเสี่ยงว่าอาจจะก่อเหตุร้ายมาให้เขาเพื่อใช้ในการติดตามว่าบุคคลคนนั้นจะกระทำความผิดอะไรหรือไม่
กล่าวตามความหมายของชื่อเรื่อง ก็คือว่า หมายเลขประกันสังคมของใครก็ตามที่ถูกแจ้งขึ้นมาในระบบ คนคนนั้นก็จะเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ว่าจะทำเรื่องไม่ดีทันที และหน้าที่ของฟินช์กับเพื่อนร่วมงานของเขาอีกสองคน ทั้งอดีตนายทหารอย่าง “จอห์น รีส” และ “ฟัสโก้” ผู้สวมใส่เครื่องแบบตำรวจแต่มีพฤติการณ์ไม่ต่างไปจากโจร ก็คือต้องตามติดสังเกตพฤติกรรมของผู้ต้องสงสัยคนนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ มักจะนำไปสู่การค้นพบอาชญากรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ
ก่อนจะไปถึงตัวเนื้อหาเรื่องราว ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะถือเป็นกิมมิกตามธรรมดาของซีรีย์ที่มักจะต้องมี “ของเล่น” อะไรสักอย่างให้คนดูจดจำได้ ก็คงหนีไม่พ้นเจ้าเครื่องเดอะ แมทชีน ที่ว่านั้นล่ะครับ เพียงแต่ “ของเล่น” ที่ว่านี้มันเจ๋งชนิดหาตัวจับยาก บางคนบอกมันเหมือนกับอุปกรณ์บอกเหตุล่วงหน้าในหนังเรื่อง Minority Report แต่พูดแบบเข้าใจง่าย มันก็คล้ายๆ กับกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง และที่สำคัญ ใช้งานได้จริง ไม่ใช่แค่มีแต่กล่องเหมือนของบางประเทศ กล้องวงจรปิดตัวนี้ คือ “สายตาลึกลับ” ซึ่งคอยจับความผิดปกติของผู้คน พอตรวจพบความไม่ชอบมาพากลเมื่อไร ก็แจ้งไปยังศูนย์กลางของระบบทันที
ตัดความรู้สึกเกี่ยวกับความสนุกของตัวเรื่องซึ่งผมถือว่าไม่ค่อยตื่นเต้นระทึกใจเท่าไรนักเมื่อเทียบกับหนังสืบสวนดีๆ อีกหลายเรื่อง ผมคิดว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเทคนิควิทยาการของทีมงานในเรื่องจะเทพสักแค่ไหน แต่สาระสำคัญที่ซีรีย์ชุดนี้สะท้อนออกมาได้ชัดถ้อยชัดคำมากที่สุด ก็คือเรื่องของ “คน” และคนที่ว่านั้นก็ได้แก่ “คนต้องสงสัย” หรือ “ผู้ต้องสงสัย” (Person of Interest) อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อ/
ในชั้นที่ผิวเผิน เราจะพบว่า คนเดินถนนทั่วไปไม่ว่าใครก็ตาม ล้วนแล้วแต่สามารถตกเป็น “ผู้น่าสงสัย” ได้เช่นเดียวกัน คนที่เดินสวนทางกับเราทุกเช้าทุกเย็น ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นอาชญากรตัวฉกาจที่ยังไม่ถูกเปิดเผย อย่างไรก็ดี ในขณะที่เราไม่อาจไว้ใจผู้ใดได้ แต่ก็ไม่ควรรีบด่วนตัดสินใครคนใดคนหนึ่ง เท่าๆ กับที่อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อใครง่ายๆ เพราะ “ผู้ต้องสงสัย” ก็อาจเป็นแค่เพียง “ผู้ต้องสงสัย” ซึ่งไม่ได้มีความผิดอะไร ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว อาจเป็นแค่ “แพะ” ที่ถูกจัดฉากขึ้นมา สร้างภาพลวงตาให้เจ้าหน้าที่สืบสวนหลงทาง และในทำนองเดียวกัน คนที่ภาพลักษณ์เป็นคนแสนดี พูดภาษาคนคำภาษาธรรมคำ หรือแม้กระทั่งคนที่โอดครวญว่าตัวเองถูกกระทำถูกใส่ร้ายให้ดูน่าเวทนาสงสาร แต่นั่นก็อาจเป็นเพียง “หน้ากาก” ชั้นดีที่สร้างขึ้นมาเพื่อปกปิดความหยาบช้าอัปลักษณ์ของตัวเอง
ถ้อยคำของฮาโรลด์ ฟินช์ ประโยคนั้นที่ผมหยิบมาเกริ่นกล่าวไว้ข้างต้น เป็นการพูดที่ทั้งเตือนสติของเพื่อนร่วมทีมอย่างจอห์น รีส และให้อนุสติชีวิตแก่คนดูผู้ชมไปด้วยในขณะเดียวกัน ความเป็นคนนั้นลึกลับซับซ้อนชนิดที่แม้แต่เครื่องไม้เครื่องมืออันเลิศเลอสุดยอดอย่างเดอะ แมทชีน ยังมิสามารถตรวจวัดได้
และเอาเข้าจริง “ผู้ช่วยเหลือสังคม” ทั้งฮาโรลด์ ฟินช์, จอห์น รีส และฟัสโก้ นอกจากจะทำงานกันแบบ “ลับๆ” และเผชิญกับแรงกดดันหลายอย่าง ส่วนตัวของพวกเขาเอง ก็ดูเหมือนจะมีเงื่อนงำปริศนาที่มาที่ไปบางอย่างซ่อนซุกอยู่เบื้องหลัง ดูลึกลับไม่แพ้งานที่ทำ และมันคือปริศนาที่เชื่อได้ว่า ถ้าเพียงแค่เผยออกมา ก็น่าจะเป็นแบบที่เขาใช้คำว่า “หงายเงิบ” ไปตามๆ กัน
“คน” เราควรจะต้องสงสัยหรือเผื่อใจเอาไว้บ้าง เพราะก็อย่างที่ฟินช์บอก “ผู้คนไม่เป็นเหมือนอย่างที่เราคิดเสมอไปหรอก”