xs
xsm
sm
md
lg

โจ๊กเกอร์ : ถึงร้าย ก็รัก!!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

สำหรับคนที่ติดตามความบันเทิงในรูปแบบหนังทีวีหรือซีรีย์ จะพบว่า ผลงานแนวหนึ่งซึ่งถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็คือซีรีย์แนวสืบสวนสอบสวน ไม่ว่าจะในฝั่งของฝรั่งมังค่าที่มีให้ดูอยู่เรื่อยๆ เรื่องที่โด่งดังก็อย่างเช่น CSI, Criminal Mind, House M.D., NCIS, Lost, 24, Lie To me และอีกเยอะแยะมากมาย หรือมองมาทางฝั่งเอเชียใกล้ๆ บ้านเราอย่างญี่ปุ่น ก็เป็นอีกชาติหนึ่งซึ่งป้อนซีรีย์แนวนี้ออกสู่ตลาดเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็น Hero, Mr.Brain, Boss, Bloody Monday, Team Batista no Eiko ฯลฯ

การที่ละครเชิงสอบสวนสืบสวนได้รับความสนใจจากบริษัทผู้สร้าง ก็เพราะเรื่องทำนองนี้ พอนำมาทำเป็นละคร มันมีแนวโน้มที่จะสร้างความสนุกให้กับผู้ชมได้ไม่ยาก อย่างน้อยที่สุด ปมปริศนาของคดีต่างๆ ถ้าผูกได้ดีน่าติดตาม ก็สามารถตรึงผู้ชมให้อยู่กับเรื่องราวไปได้ตลอดรอดฝั่งเพราะอยากรู้ว่าตอนจบของคดีนั้นๆ จะเป็นอย่างไร ใครคือผู้ร้ายตัวจริง ขณะเดียวกัน กระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีวิธีแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง ก็นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราลุ้นและสนุกร่วมไปด้วยได้

แต่เหนืออื่นใด ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ใช่หรือไม่ว่า การที่ละครเหล่านี้ได้รับความนิยมเสมอต้นเสมอปลาย เพราะมันตอบสนองอะไรบางอย่างในส่วนลึกของจิตใจคน ทั้งนี้ เมื่อเราลองสกัดเอาแต่เฉพาะที่เป็นส่วนเนื้อหาใจความสำคัญจริงๆ ก้อนความคิดเด่นๆ ของซีรีย์แนวนี้ที่จะปรากฏชัดขึ้นมาในใจเราก็คือ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ในละครเรื่องไหนจะมีวิธีการสืบสวนอันสุดยอดพิสดารอย่างไร สุดท้ายแล้ว มันก็นำไปสู่ผลลัพธ์เดียวกัน นั่นก็คือ ความยุติธรรม

ซีรีย์เหล่านี้ ทำให้เราปลาบปลื้มยินดีกับการได้เห็น “ผู้ถูกกระทำ” ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะได้ และบ่อยครั้งก็ทำให้เราสะอกสะใจเมื่อผู้ร้ายของเรื่องถูกลงโทษอย่างสาสมในแบบที่ควรจะเป็น เราหลบเร้นอยู่ในโลกของซีรีย์แล้วฝันหวานว่ามันยังมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่ คนเลวได้รับผลแห่งกรรมที่ทำไว้ เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้รับการชดเชยเยียวยา ทั้งหมดนี้มันเหมือนสิ่งที่เราโหยหา แต่ไม่ค่อยจะได้ ในโลกแห่งความเป็นจริง!

สุดท้าย ผมมานั่งนึกชื่อละครทีวีบ้านเราที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนเข้มๆ ข้นๆ เหมือนอย่างต่างประเทศเขาทำ แต่พยายามนึกเท่าไรก็นึกไม่ออก หรือว่าแท้จริงแล้ว บ้านเมืองของเราไม่มีความอยุติธรรมดำรงอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานได้ดี ผู้คนแฮปปี้กับระบบยุติธรรม เราจึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องไปเสียพลังงานสื่อสะท้อนถึงความชั่วร้ายเลวทรามนั้น สู้เอาเวลามาทำเรื่องรักฝันหวาน จะดีกว่า?!

แต่เอาล่ะ ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตต้องเดินต่อไปครับ บ้านเราไม่มีละครแนวนี้ให้ดู ก็ดูของเมืองนอกเขาไปพลางๆ ก่อน และละครที่ผมเพิ่งได้ดูเมื่อเร็วๆ นี้ก็เป็นซีรีย์จากญี่ปุ่นซึ่งนำเสนอเรื่องราวเชิงสืบสวนสอบสวนแบบที่หลายคนคงจะชอบ วิธีการดำเนินเรื่องก็คล้ายกับอีกหลายเรื่องที่นำเสนอเป็นตอนๆ หนึ่งตอนก็สืบสวนปิดคดีได้หนึ่งคดี อย่างไรก็ตาม จุดต่างที่จะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้เลยก็คือว่า ขณะที่คดีแต่ละคดีถูกสืบสวนจนเสร็จสิ้นไปในแต่ละตอน เราจะเห็นว่ามันจะมีเรื่องราวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งทับซ้อนอยู่ในทุกตอนของซีรีย์ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ว่านี้ เหมือนเงามืดลึกลับที่คอยจัดการกับคนกระทำผิดแต่ไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย และเมื่อดูซีรีย์ไปเรื่อยๆ เราจะได้รู้ว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวในนามของ “โจ๊กเกอร์” (Joker) อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง

จุดสังเกตที่เห็นได้ชัดสำหรับซีรีย์ญี่ปุ่นชุดนี้ ประการหนึ่งก็คือ ก่อนเริ่มซีรีย์แต่ละตอน จะมีการขึ้นตัวอักษรเชิงอารัมภบทบอกกล่าวกับคนดูผู้ชมว่า “ละครเรื่องนี้แต่งขึ้น ชื่อคน สถานที่ และเหตุการณ์ อาจคล้ายกับของจริง แต่คุณสามารถเรียนรู้เพื่อเข้าใจสังคมด้านมืดจากตัวละครได้” แน่นอนว่า ออกตัวตั้งแต่ต้นกันมาขนาดนี้ ก็จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า “ด้านมืด” ของสังคมนั้น ถูกซีรีย์หยิบยกมาถ่ายทอดอย่างสมจริงและน่าหดหู่ใจ

ในชั้นต้นที่สุด สิ่งที่ซีรีย์พูดได้ชัดถ้อยชัดคำมาก คือเรื่องของคนในสังคมที่เต็มไปด้วยความจอมปลอมหลอกลวง อาชีพ หน้าที่การงาน หรือยศถาบรรดาศักดิ์ ไม่ใช่สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพว่าใครจะเป็นคนดี เพราะบางที แม้แต่คนที่ควรจะยึดมั่นในคุณธรรมความดีและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมากที่สุดอย่างแพทย์หรือครูบาอาจารย์ ก็อาจเป็นเพียงคนบาปที่สวมใส่หน้ากากแห่งนักบุญได้แนบเนียนกว่าชาวบ้านทั่วไปเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี ในชั้นที่ลึกลงไป สิ่งที่ Joker มุ่งนำเสนอและตีแผ่ออกมาได้หนักหน่วง เป็นประเด็นเรื่องความยุติธรรมในสังคม ซีรีย์ทำให้เรากลับมาคิดอย่างจริงจังว่า เราอาจจะมีสถาบันซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์ความถูกต้องยุติธรรมอยู่มากมาย เรามีกรมตำรวจ เรามีศาล เรามีกฎหมายที่จะเอาผิดผู้ทำผิด แต่ที่สุดแล้ว เราได้รับความยุติธรรมนั้นจริงหรือไม่

ใช่หรือไม่ว่า จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ แต่ที่ผ่านๆ มา เราปล่อยให้คนผิดจำนวนมาก “ลอยนวล” ลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าคนนั้นคนนี้ทำผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนผิดมีอำนาจหรือมีเครือข่ายกับผู้มีอำนาจด้วยแล้ว การเอาผิดกับคนเหล่านี้ก็เหมือนจะเป็นได้แค่เพียงความฝัน แบบเดียวกับซีรีย์ที่เปิดตัวมาตอนแรก หนุ่มเจ้าหน้าที่สืบสวนและทีมของเขาก็ต้องเจอ “ตอ” เข้าอย่างจัง เมื่อผู้ร้ายในคดีมีเอี่ยวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงภายในกรมตำรวจ

ความเจ็บปวดทั้งในฐานะผู้ถูกกระทำ ผู้สูญเสีย ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายนั้น บางที ยังเทียบไม่ได้กับความเจ็บปวดที่รู้ว่า คดีของตัวเองถูกปิดลงไปทั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปอันยุติธรรม เฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นคดีความของชาวบ้านตาดำๆ ผู้ไร้ความสำคัญบนแผนที่แห่งความยุติธรรมด้วยแล้ว ก็ดูเหมือนจะถูกปล่อยปละละเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งบ่อยครั้งก็ทำคดีเพียงเพื่อให้มันจบๆ ไป

แน่นอนว่า การที่ทางการไม่เอาใจใส่หรือไม่นำพาปรารมภ์ต่อความทุกข์ระทมของชาวบ้านผู้สูญเสียแบบนี้นี่เอง ไม่ใช่แค่เพียงทำให้แม้แต่คนในกรมตำรวจเองยังรับไม่ได้ แต่มันยังเป็นแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งซึ่งนำไปสู่การก่อเกิดของกลุ่มปฏิบัติการที่เรียกตัวเองว่า “โจ๊กเกอร์” ด้วย

พูดถึง “โจ๊กเกอร์” ในซีรีย์เรื่องนี้ ผมคิดว่ามันมีความเชื่อมโยงในเชิงสัญลักษณ์ ถึงโจ๊กเกอร์ผู้โด่งดังในหนังแบ็ทแมนของคริสโตเฟอร์ โนแลน ภาค The Dark Knight อย่างสมพ้องต้องกัน เพราะถึงแม้โจ๊กเกอร์ในหนังแบ็ทแมนจะถือเป็นตัวร้าย แต่ก็เป็นตัวร้ายในแบบที่ “รักไม่ได้ เกลียดไม่ลง” เพราะพฤติการณ์ตลอดจนวิสัยทัศน์ของเขา ล้วนแล้วแต่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง เพราะมันเสียดแทงได้ถูกจุด ตรงที่พูดถึงเรื่องความดีอันจอมปลอม สิ่งที่เขาทำ มันกระชากหน้ากากมนุษย์ออกมาจนหลุดลุ่ย แรงกระเพื่อมของคำถามอันยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความดีความเลว คนดีคนเลว เป็นดั่งสารที่จะตกค้างอยู่ในใจและสั่นคลอนความคิดของเราให้คลางแคลงสงสัยในผู้คนว่าสุดท้ายแล้ว เราสามารถเชื่อมั่นในใครคนใดคนหนึ่งได้มากน้อยเพียงใด แม้แต่คนที่เราคิดและเชื่อว่าเป็นคนดีๆ ก็ตาม

ในทำนองเดียวกัน “โจ๊กเกอร์” ในซีรีย์จากดินแดนอาทิตย์อุทัยเรื่องนี้ ก็ดูจะไม่แตกต่างจากนั้นไปมากนัก การก่อเกิดของปฏิบัติการ “โจ๊กเกอร์” นั้นน่าสนใจนะครับ มันดูคล้ายๆ กับกลุ่มคนลึกลับในหนังไทยอีกเรื่อง อย่าง “ฝนตกขึ้นฟ้า” ซึ่งตั้งตนเป็นศาลเตี้ย ดำเนินการแบบใต้ดิน ลงทัณฑ์เหล่าร้ายที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง หรือใช้อำนาจบารมีหลีกหลบการลงโทษ คืนความเป็นธรรมและยุติธรรมให้กับสังคม

แน่นอนว่า การกระทำเช่นนี้ มันดูอุกอาจเกินไป และที่สำคัญคือผิดกฎหมายอย่างไม่อาจปฏิเสธ เหมือนอย่างที่ตัวละครหญิงในซีรีย์บอกว่า การเอาผิดกับคนร้าย ควรเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นและไม่ควรมีใครไปโต้แย้ง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสังคมซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมที่ตำรวจหรือกฎหมายพึ่งพาไม่ได้ มันจะผลักผู้คนไปสู่สถานการณ์แบบไหน ก็คงไม่ต้องคาดเดา

เพราะสุดท้าย เมื่อคับแค้นแน่นอกกันมากเข้า มันก็จะปลุกจิตวิญญาณแบบ “โจ๊กเกอร์” ในตัวของผู้คนให้ลุกขึ้นมา และเชื่อได้ว่า ถึงตอนนั้น คนร้ายที่เคยลอยนวลทั้งหลาย จะ “ศพไม่สวย” อย่างแน่นอน

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก







กำลังโหลดความคิดเห็น