xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องบ้าๆ ของคนบ้าๆ : หลังคาแดง เดอะ มิวสิคัล

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook : teelao1979@hotmail.com

“หลู่ซิ่น” กวี-นักเขียนผู้ยิ่งยงแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ เคยรจนาไว้ในเรื่อง “บันทึกของคนบ้า” ซึ่งบรรยายลักษณะของผู้ที่ถูกเรียกว่าคนบ้า โดยให้ตัวละครตัวหนึ่งพูดออกมาว่า “ไม่อย่างงั้น ทำไมหมาบ้านคนแซ่จ้าวถึงได้มองข้าแบบนั้น” แน่นอนว่า นี่คือศักยภาพของนักเขียนที่ใช้ถ้อยคำเพียงประโยคเดียว คนอ่านก็สามารถอนุมานได้แล้วว่าตัวละครตัวนั้น น่าจะมีความผิดปกติอะไรบางอย่างในตัวเอง

ผมนึกถึงเรื่อง “บันทึกของคนบ้า” ของหลู่ซิ่นขึ้นมา ก็ตอนที่ได้ดูละครเวทีเรื่อง “หลังคาแดง เดอะ มิวสิคัล” เพราะในลักษณาการเดียวกันนั้น แม้ว่าภาษาของละครเวทีพยายามที่จะเลี่ยงการใช้คำว่า “คนบ้า” กับบรรดาตัวละครในเรื่อง แต่จากคำพูดและการแสดงออกของพวกเขา ก็ทำให้เราเข้าใจได้แจ่มชัดว่า โลกในความรู้สึกนึกคิดของพวกเขา น่าจะไม่ปกติ

และก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ “บันทึกของคนบ้า” ของมหากวีหลู่ซิ่น เป็นเครื่องไม้เครื่องมือทางวรรณศิลป์ที่สื่อสะท้อนถึงปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศยุคนั้น “หลังคาแดง” ละครเวทีที่กำกับโดยคุณตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง” ก็สะท้อนให้เห็นถึงความวิปริตบิดเบี้ยวของผู้คนและสังคม ผ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยทางจิตแห่งหนึ่ง

เมื่อเอ่ยถึง “หลังคาแดง” คนที่เกิดมานานหน่อย คงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง หรือกระทั่งเคยได้สัมผัสกับเรื่องราวนี้มาแล้ว ทั้งในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ซึ่งกำกับโดยคุณยุทธนา มุกดาสนิท เมื่อปี พ.ศ.2530 และได้รับ 2 รางวัลในปีเดียวกัน คือ รางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีในสาขาภาพยนตร์ยอดนิยมและรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำในสาขาเพลงประกอบและบันทึกเสียงยอดเยี่ยม

อีก 17 ปีต่อมา คุณตั้ว-ศรัณยู ก็หยิบเอาหนังเรื่องดังกล่าวมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้ฉบับที่เป็นภาพยนตร์ เมื่อวันเวลาผ่านพ้นมาจนถึง พ.ศ.นี้ “หลังคาแดง” ก็ถูกนำมาจัดแสดงอีกครั้งหนึ่งในเวอร์ชั่นละครเพลง

กล่าวอย่างรวบรัด เรื่องราวของหลังคาแดงนั้น จัดเป็นเรื่องในแบบที่เรียกว่า “ไม่มีวันตกยุค” เพราะไม่ว่าจะเวลาพ้นผ่านไปกี่กาลสมัย เนื้อหาสาระที่ปรากฏอยู่ในหลังคาแดงก็ยังคงเป็นความจริงที่นำมาจับเปรียบเทียบเคียงกับเรื่องราวทางสังคมได้เสมอ วันเวลาเท่านั้นที่เปลี่ยนไป แต่ธรรมชาติจิตใจของปุถุชนนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้เป็นบ้า แต่ต้องยุ่งยากลำบากทั้งกายและใจเพราะความบ้าในเรื่องต่างๆ ของตนเอง ไม่ว่าจะบ้าเงิน บ้าอำนาจ บ้ายศถาบรรดาศักดิ์ บ้าความสวยความงาม บ้ากิเลส บ้าทุเรศทุรัง บ้าสารพัดบ้า เหล่านี้ ก็มีให้เห็นอยู่เป็นนิจ

ในหลังคาแดง เนื้อเรื่องคร่าวๆ เล่าถึงตัวละครหลักอย่าง “โกยทอง” หรือ “ทองดี” ชายหนุ่มที่ถูกจับเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลผู้ป่วยทางจิตท่ามกลางความมึนงงสงสัย เพราะแม้ว่าเขาจะยืนยันอย่างไรว่าเขาไม่ได้บ้า แต่สถานบาลแห่งนั้นก็ตีตราความบ้าให้กับเขา ทำให้เขาจำต้องอยู่ภายใต้ชายคา “หลังคาแดง” อันเป็นชื่อเรียกขานโรงพยาบาลแห่งนั้น และยิ่งเขาอยู่นานไปเท่าไร ดูเหมือนว่าเรื่องบ้าๆ ก็ยิ่งปรากฏขึ้น นำมาซึ่งเรื่องราวสุดแสนโกลาหลอลหม่านที่เปิดโปงเบื้องหลังอันมืดมนซุกซ่อนอยู่ในสถานพยาบาลดังกล่าว

ท่ามกลางเรื่องราวที่คืบคลานไปข้างหน้าเพื่อตีแผ่และเปิดเผยความจริงอันอัปลักษณ์นั้น ผมคิดว่า ละครเวทีในแนวทางละครเพลงเรื่องนี้ แม้จะยาวราวๆ 3-4 ชั่วโมง (มีเวลาพักครึ่ง 15 นาที) แต่ทว่าแทบหาที่ว่างให้กับความรู้สึกเบื่อไม่ได้เลย ละครดำเนินเรื่องได้สนุกสนานน่าติดตาม รุ่มรวยอารมณ์ขัน และเพลงก็เพราะ

ด้านนักแสดง ซึ่งหลายคนเป็นหน้าใหม่ที่แม้ไม่เคยผ่านการเล่นละครเวทีมาก่อน แต่โดยรวมแล้วถือว่าสอบผ่านกับงานชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือร้องเพลง และนอกเหนือไปจากตัวแสดงหลักๆ อย่างโทนี่ อิรา รากแก่น, ยิปโซ-รมิตา, จิ๊บ-วสุ แสงสิงแก้ว, ชนานา นุตาคม ฯลฯ ผมรู้สึกว่าการสอดแทรกเข้ามาอย่างได้จังหวะจะโคนของคนที่เล่นเป็นลิเกนั้น ได้คะแนนจากคนดูในทุกๆ ฉาก สร้างความขบขันให้กับคนดูผู้ชมได้เป็นอย่างดี

พ้นไปจากเรื่องของความสนุกสนานรื่นรมย์ ความคมคายด้านเนื้อหานั้นถือเป็นเสน่ห์อย่างยิ่งยวดของงานชิ้นนี้ ผมรู้สึกว่าละครเรื่องนี้มีสาระที่ทับซ้อนให้ขบคิดอยู่หลายชั้น เริ่มตั้งแต่ส่วนที่เกี่ยวกับตัวละครหลักอย่าง “โกยทอง” หรือ “ทองดี” ที่ชวนให้ขนลุกอย่างถึงที่สุดว่า คำพิพากษาของสังคมนั้นน่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เพราะต่อให้เราจะเป็นคนเช่นใด แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าสังคมจะเข้าใจเราในแบบที่เราเป็นเช่นนั้นจริงๆ

ว่ากันอย่างถึงที่สุด แม้ละครเรื่องนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่หลังคาแดงซึ่งในความเข้าใจของเรา มันคือที่อยู่ของผู้ป่วยทางจิต แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่ละครต้องการส่งเสียงบอกคนดู กลับเกี่ยวข้องกับคนปกติทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ ซึ่งถ้าไม่นับรวมแง่มุมเย้ยหยันเสียดสี (Irony) ที่แสดงให้เห็นว่า บางที คนบ้าก็น่ารักกว่าคนดีเพราะสิ่งที่ทำ ในเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปไมย ละครตั้งก็คำถามได้เฉียบคมว่า ที่สุดแล้ว ระหว่าง “ผู้ป่วยทางจิต” อันเนื่องมาจากเงื่อนไขบางประการ กับ “คนปกติ” แต่โลภโมโทสันไม่รู้สิ้นนั้น คนแบบไหนกันแน่ที่สมควรถูกเรียกว่า “คนบ้า”

แน่นอนครับ ถ้าเราจะนับคนแบบหลังว่า “คนบ้า” บ้านนี้เมืองนี้ก็คงจะหา “คนบ้า” ได้ไม่ยากเย็นนัก

ฟังๆ ดู เหมือนจะมีแต่เรื่องบ้าๆ ที่ทำให้เราบ้าตาม แต่ละครเวทีเรื่องนี้ดูแล้วไม่บ้าแน่นอนครับ ยิ่งกว่านั้น ยังนับเป็นการให้สติแง่คิด ตักเตือนชีวิตไม่ให้ก้าวเข้าไปสู่วังวนของคนบ้า มันเป็นเรื่องบ้าๆ ของคนบ้าๆ ที่ดูแล้วจะได้ไม่บ้า ใครบ้าอยู่แล้วก็จะได้เลิกบ้า ไม่ว่าจะบ้าอำนาจอย่าง “สินเงิน” ผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือบ้าเงินบ้าทองเหมือน “โฉมศรี” ภรรยาของโกยทอง และเหนือสิ่งอื่นใด ผมมองว่า หลังคาแดง เดอะ มิวสิคัล คือละครเวทีที่หลากรสในเรื่องเดียว ทั้งสุขและเศร้า ทั้งขบขันและขมขื่น ผ่านเรื่องราวสะท้อนสังคมผสมผสานไปกับเรื่องรักได้อย่างกลมกล่อมลงตัว

คุณจะชมเพื่อเสพรับความบันเทิงสนุกสนาน ได้ยิ้มได้หัวเราะได้เบิกบานสำราญใจไปกับเรื่องราว หรือคุณจะชมเพื่อเก็บเกี่ยวสาระแง่คิดและคติชีวิต หลังคาแดงก็มีให้คุณครบครัน

***หมายเหตุ : สำหรับผู้สนใจ ละครเพลงเรื่องนี้จัดแสดงอยู่ที่โรงละครเอ็มเธียเตอร์ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์





กำลังโหลดความคิดเห็น