xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : นักจิตวิทยายุคใหม่ แห่ใช้สมาธิบำบัด รักษาผู้ป่วยทางจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพคนไข้นั่งหลับตา ดำดิ่งไปกับจังหวะลมหายใจของตัวเอง จากนั้นสักพัก เขาก็รับรู้ได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับบิดา

“ผมสามารถกลับไปยังจุดนั้น เห็นความเจ็บปวด” เขาเล่าหลังจากสิ้นสุดการทำสมาธิ “แค่ปล่อยให้มันเป็นไปตามที่เคยเป็น โดยไม่ต้องรู้สึกอะไร”

นักจิตบำบัดพยักหน้าและกล่าวว่า “ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เฝ้าดู โดยไม่พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น เท่านั้นเอง ถือเป็นสิ่งสำคัญ”

การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ จับและปล่อยวางอารมณ์เช่นนี้ กลายเป็นเทคนิคการบำบัดจิตแบบใหม่ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกกันว่า การทำสมาธิ ซึ่งมีรากฐานมาจากพุทธศาสนา ได้ดึงดูดความสนใจของบรรดานักจิตบำบัด นักวิชาการ และนักจิตวิเคราะห์ที่ใช้ทฤษฎีฟรอยด์ เป็นจำนวนมาก

เป็นเวลานานแล้วที่นักจิตบำบัดรักษาคนไข้ให้บรรเทาจากอาการทุกข์ทรมานทางจิตใจ ด้วยการพูดคุยเพื่อตีกรอบความคิด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือช่วยให้คนไข้มองลึกไปถึงจิตใต้สำนึกที่ทำให้พวกเขารู้สึกสิ้นหวังและวิตกกังวล

แต่ข้อดีของการทำสมาธิคือ มันช่วยให้คนไข้อดทนกับอารมณ์ที่ประดังเข้ามา ระหว่างการบำบัดได้ และในที่สุด คนไข้สามารถปรับเปลี่ยนปฏิกิริยาโต้ตอบตามสถานการณ์ในแต่ละวันได้ ซึ่งการรักษาด้วยการพูดคุย ไม่อาจไปถึงขั้นนั้นได้

ซินเดล ซีกัล นักจิตวิทยาของศูนย์สารเสพติดและสุขภาพจิต ในเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “ความสนใจในเรื่องนี้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และผมคิดว่า สิ่งสำคัญคือ มีนักบำบัดจำนวนมากขึ้น เรื่อยๆที่ฝึกปฏิบัติสมาธิด้วยตัวเอง และต้องการนำมันมาใช้ในการรักษาคนไข้”

ในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการและสัมมนาทั่วแคนาดา เต็มไปด้วยบรรดานักศึกษา ผู้ให้คำปรึกษา และนักจิตวิทยาเข้าฟังการบรรยายเรื่องการทำสมาธิ และสถาบันสุขภาพแห่งชาติได้ออกค่าใช้จ่ายเพื่องานวิจัยเทคนิคการทำสมาธิที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการอยากสารเสพติด ทำให้มีสมาธิดีขึ้น คลายจากอาการสิ้นหวัง และลดอาการร้อนวูบวาบในวัยทอง

มีผู้สนับสนุนบางคนบอกว่า การนำเรื่องสมาธิมาใช้ในจิตบำบัด เป็นการส่งสัญญาณเปิดกว้างรับวัฒนธรรมอื่นเพื่อจะได้เข้าใจวิธีการอย่างลึกซึ้ง

“ผมยินดีเปิดรับความเป็นไปได้ที่วิธีการนี้อาจใช้ได้ผล และน่าจะมีการนำไปศึกษาวิจัย” สก็อต ลิเลียนเฟลด์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเอมมอรี่ สหรัฐอเมริกา กล่าว

การนำเรื่องสมาธิมารักษาผู้ป่วยทางจิต เริ่มจากแพทย์ทางหลัก โดยในยุคปี 1970 ดร.จอน คาบัท-ซินน์ นักชีววิทยา โมเลกุล ซึ่งสนใจแนวคิดทางพุทธศาสนา ได้นำการทำสมาธิของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา มาปรับให้ง่ายต่อการเรียนรู้และปฏิบัติ โดยออกแบบให้เหมาะกับคนทั่วไป

ดร.คาบัท-ซินน์ สอนการปฏิบัติสมาธิ แก่คนที่ทนทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และในปี 1980 เขาได้ตีพิมพ์ชุดการวิจัยที่ระบุว่า การทำสมาธิเป็นเวลา 2 ชม./สัปดาห์ นาน 8 สัปดาห์ จะช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ได้ผลดีกว่าการรักษาแบบปกติ

เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไปในตอนแรก ดร.คาบัท-ซินน์ กล่าวว่า “ผมคิดว่า ก่อนหน้านั้น นักวิจัยคนอื่นๆคงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ เป็นเพราะพวกเขาไม่อยากถูกมองว่า เป็นคนประหลาดในยุคใหม่ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่เรียกมันว่าการเจริญสติหรือการทำสมาธิ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เราได้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มากขึ้น จนคนทั่วไปเริ่มคุ้นเคยกับมัน”

ดร.มาร์ชา ไลน์ฮัน นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งพยายามรักษาคนไข้ที่เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย เปิดเผยว่า “การพยายามรักษาคนไข้เหล่านี้ด้วยพฤติกรรมบำบัด ยิ่งทำให้พวกเขาแย่หนักกว่าเดิม ไม่ดีขึ้นเลย เมื่อเจอผู้ป่วยที่มีปัญหาหนัก คุณต้องใช้วิธีอื่น วิธีที่จะช่วยให้พวกเขาอดทนต่ออารมณ์รุนแรงเหล่านี้ให้ได้”

ในปี 1990 ดร.ไลน์ฮัน ได้ตีพิมพ์รายงานการวิจัยที่ค้นพบว่า นักจิตบำบัดซึ่งนำ การทำสมาธิแบบเซนที่เรียกว่า “การยอมรับความจริง” มาใช้รักษาคนไข้ ช่วยให้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และพยายามฆ่าตัวตาย ลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เธอยืนยันว่า คนไข้ที่อยู่ในภาวะทุกข์ใจอย่างรุนแรง คือผู้ที่เหมาะสม ที่สุดที่จะใช้การทำสมาธิบำบัดรักษา

ต่อมาในปี 2000 ทีมนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง รวมทั้ง ดร.ซีกัล, เจ มาร์ค จี วิลเลียมส์ แห่งมหาวิทยาลัยเวลส์ และจอห์น ดี ทีสเดล แห่งสภาวิจัยทางการแพทย์ในอังกฤษ ได้ตีพิมพ์งานวิจัยที่ค้นพบว่า การทำสมาธินาน 8 สัปดาห์ ช่วยลดอัตราการ กำเริบของโรคในคนไข้ที่มีอาการซึมเศร้า 3 ครั้งหรือมากกว่า ได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

หลังจากฝึกทำสมาธิแล้ว นักจิตบำบัด บางคนบอกว่า บุคคลสามารถเผชิญหน้ากับความคิดเลวร้ายที่เข้ามาคุกคามได้ เช่น ปัญหาที่มีกับพ่อแม่ และเรียนรู้ได้ง่ายๆที่จะอดทนต่อความโกรธหรือความเศร้าโศก รู้จักปล่อยมันให้ผ่านไป ไม่เก็บเอาไปครุ่นคิดหรือพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนั้น

มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้าขอคำแนะนำจาก กาเอีย โลแกน นักบำบัดในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งนำการทำสมาธิมาใช้ในการรักษา เธอมีเรื่องมากมายที่รู้สึกวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นลูกที่ป่วยทางจิต ปัญหาการหย่าร้างกับสามี

แต่หลังจากหญิงผู้นี้ฝึกทำสมาธิ เธอยังคงมีความวิตกกังวลเป็นครั้งคราว แต่ก็ได้บอกโลแกนว่า “ฉันสามารถหยุดความ กังวล และสังเกตความรู้สึกและความนึกคิดของตัวเองได้ ฉันรู้สึกสงสารตัวเอง”

ด้าน สตีเฟน เฮย์ส นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเนวาดา เมืองรีโน ได้พัฒนาการบำบัดรักษาคนไข้ด้วยการพูดคุยเรียกว่า “การบำบัดด้วยการยอมรับ” โดยมีพื้นฐานมาจากพุทธศาสนา

“มันเป็นการเปลี่ยนจากการให้คำนิยาม สุขภาพจิตของเราว่าขึ้นอยู่กับความคิด เป็นการขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของเราที่มีต่อความคิดนั้น และเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยานั้นด้วยการปฏิบัติสมาธิ”

บรรดานักจิตบำบัดซึ่งนำการทำสมาธิมาใช้รักษาคนไข้ เชื่อว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ ผลมากที่สุด โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีปัญหาด้านอารมณ์ระดับปานกลาง

อย่างไรก็ดี มีการวิจัย 2 แห่งที่ระบุว่า การบำบัดด้วยการทำสมาธิจะป้องกันมิให้ผู้ป่วยกลับไปมีอาการซึมเศร้าอีก ช่วยลดความเสี่ยงในคนไข้ที่เคยมีอาการซึมเศร้า 3 ครั้งหรือมากกว่า

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย เบญญา)
ซินเดล ซีกัล
ดร.จอน คาบัท-ซินน์
ดร.มาร์ชา ไลน์ฮัน
สตีเฟน เฮย์ส
กำลังโหลดความคิดเห็น