xs
xsm
sm
md
lg

The Amazing Spider-Man : สนุก แต่ไม่อะเมซิ่ง!

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ขณะที่ “ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์” เปลี่ยนสถานะตัวเองจากเด็กหนุ่มซึ่งดูไม่มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษในสายคนอื่น ไปสู่การเป็น “ซัมบอดี้” ที่โลกต้องหันมาจับตามอง ดูเหมือนว่า “มาร์ค เว็บบ์” ผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชื่อของเขาเท่าไรนัก ก็น่าจะพิสูจน์ฝีไม้ลายมือของเขาได้สำเร็จตามสมควรจากการนำเรื่องราวของฮีโร่ขวัญใจมหาชนอย่างสไปเดอร์แมนมาทำอีกครั้งหนึ่ง

มาร์ค เว็บบ์ นั้นโด่งดังมาจาก (500) Days of Summer หนังที่นำเสนอเรื่องราวความรักควบคู่ไปกับการเรียนรู้เติบโตของตัวละครได้อย่างน่าประทับใจ มันเป็นหนึ่งในหนังโรแมนติกคอมิดี้ที่น่าจะอยู่ในใจของคนดูไปอีกนาน และเพราะโปรไฟล์เป็นเช่นนั้น จึงไม่แปลกที่จะเกิดคำถามว่าเขาจะไปได้ดีเพียงใดกับหนังตลาดๆ ที่ต้องพึ่งพาเอฟเฟคต์เยอะๆ แถมมีแอ็กชั่นเป็นอีกหนึ่งจุดขาย อย่าง The Amazing Spider-Man

และจากผลลัพธ์ที่ออกมา ก็น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า มาร์ค เว็บบ์ นั้น “เอาอยู่” เขาสามารถทำให้คนดูสนุกไปกับหนังได้ตลอดทั้งเรื่อง อย่างไรก็ตาม บอกกล่าวกันสั้นๆ ในเบื้องต้นตรงนี้ก่อนครับว่า งานสไปเดอร์แมนภาคนี้ไม่ใช่ภาคที่ 4 อย่างที่หลายคนคิด เพราะโจทย์หนังที่ทางโซนี่ พิคเจอร์ส์ วางไว้บนบ่าของมาร์ค เว็บบ์ คือต้องการเห็นการ “รีบู๊ต” หรือ “ตีความใหม่” เรื่องราวของหนุ่มสไปดี้

ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในเวอร์ชั่นนี้ จึงมีความพิเศษออกไปพอสมควรจากเวอร์ชั่นของแซม ไรมี่ นั่นก็คือ เขาถูกใส่สีแห่งความหม่นลงไปในตัวตนมากยิ่งขึ้น ความรู้สึกเจ็บปวดสูญเสียและบาดแผลในชีวิตถูก “ขยายความ” และ “ย้ำเน้น” ให้เรามองเห็นด้านลึกของความรู้สึกดังกล่าวอย่างเด่นชัด ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับมาร์ค เว็บบ์ ซึ่งเคยทำหนังที่เล่นกับมิติเชิงลึกด้านเนื้อหามาแล้วใน (500) Days of Summer

ดังนั้น ส่วนที่ดีอันดับแรกซึ่งผมคิดว่าหนังทำได้ดี ก็หนีไม่พ้นซีนอารมณ์ของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ โดยในเวอร์ชั่นนี้เปลี่ยนจากโทบี้ แม็คไกวร์ มาเป็นแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ แม้หลายเสียงจะบอกว่าลักษณะและบุคลิกของโทบี้ แม็คไกวร์ ดูจะได้สัดส่วนใกล้เคียงกับสไปดี้ที่เป็นฉบับการ์ตูนมากกว่า แต่แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ก็ดูเจ๋งในแบบของตัวเอง เฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่มีพลังพิเศษเป็นต้นไปแล้ว ผมว่าเขาทำให้ตัวละครตัวนี้ดูป๊อปและเท่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เป็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ หรือตอนสวมใส่ชุดสไปเดอร์แมน จำได้ว่า โทบี้ แม็คไกวร์ ในเวอร์ชั่นแซม ไรมี่ อาจจะเจ๋งมากตอนเปลี่ยนร่างเป็นสไปเดอร์แมน แต่ตอนเป็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ จะดูจ๋องๆ ไม่ค่อยมีอะไร แต่ในฉบับของแอนดรูว์ การ์ฟิลด์ เขาดูเท่ตลอดเวลา

แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่อคำนึงถึงในแง่ที่ว่า นี่คือ “หนังรีบู๊ต” ผมมองว่า The Amazing Spider-Man นั้นค่อนข้างน่าสงสัย นี่ผมไม่ได้พูดว่าหนังดีหรือไม่ดีนะครับ เพียงแต่ถ้าหนังจะเรียกตัวเองว่าเป็นเวอร์ชั่นรีบู๊ตแล้วไซร้ ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน น่าจะห่างไกลจากคำเรียกนั้นพอสมควร

เพราะเมื่อเรานำเอาหนังทั้งสองเวอร์ชั่นมาวางคู่กันแล้วเปรียบเทียบแบบกิ่งต่อกิ่ง คำตอบที่ได้รับก็จะออกมาว่า หนังทั้งสองเรื่อง แทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย

นั่นหมายความว่า เรื่องราวทั้งหมดยังคงขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วย “เนื้อเรื่อง” ที่ไม่ได้ต่างไปจากเดิม ซึ่งก็คือ เริ่มจากเด็กหนุ่มธรรมดาๆ อยู่นอกสายตาคนอื่นตลอด ได้พลังพิเศษ ลุงเสียชีวิตเพราะคนร้าย ไม่ราบรื่นในความรัก ออกปราบเหล่าร้ายเพราะแรงขับจากปมความสูญเสีย และสุดท้ายก็ต้องไปปราบผู้ร้ายตัวพ่อ นั่นยังไม่นับรวมวาทกรรมประจำใจที่แม้จะเปลี่ยนแปลงจาก “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” ไปเป็น “ถ้าสามารถช่วยเหลืออะไรคนอื่นได้ ก็ควรทำ” แต่เมื่อพิจารณาในเชิงเนื้อหาใจความแล้ว ทั้งสองคำนี้ก็เหมือนพี่กับน้องคู่แฝดอย่างไรอย่างนั้น

แน่นอนล่ะ เราอาจจะบอกว่า ก็เนื้อหาต้นฉบับมันเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เวอร์ชั่นการ์ตูนแล้ว พูดแบบนั้นก็ไม่ผิดครับ แต่คำถามก็คือ แล้วอะไรล่ะคือความหมายของการนำกลับมาทำอีกรอบหนึ่งในนามของการรีบู๊ต ซึ่งในตัวโปรโมตของหนังก็ดูจะบอกไว้ชัดเจนผ่านคำโฆษณาว่าเป็น “The Untold Story” หรือ “เรื่องที่ยังไม่ได้บอกเล่า” แต่การณ์กลับกลายเป็นว่า เรื่องราวทั้งหมดในหนัง เราก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว

ช่วงหลังๆ ผมว่าเราได้ดูหนังรีบู๊ตหลายเรื่องเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเอ็กซ์เม็นหรือแบ็ทแมน ความหมายของการ “รีบู๊ต” มันไม่ใช่แค่การนำของเก่ามาผลิตซ้ำเหมือนหนัง “รีเมค” และอย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ แม้แต่หนังรีเมค นอกจาก Funny Game ของผู้กำกับมิคาเอล ฮาเนเก้ ที่จงใจ “ลอกต้นฉบับเดิมของตัวเอง” ทุกตารางนิ้วแล้ว หนังรีเมคจำนวนมาก ต่างก็พยายามฉีกหาจุดต่างที่แปลกออกไปจากงานเก่าที่ตัวเองนำเอามารีเมคทั้งสิ้น

ผมคิดว่าตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดและไปได้สวยที่สุด คือแบ็ทแมนของคริสโตเฟอร์ โนแลน ซึ่งเราสามารถใช้คำว่า “รีบู๊ต” หรือ “ตีความใหม่” กับผลงานนั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำ การให้แบ็ทแมนไปฝึกวิชายังแดนไกลถึงทิเบต, การลดบทบาทฮีโร่ของตัวละครเอกให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มนาทั่วไป ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนส่งเสริมนิยามของคำว่า “รีบู๊ต” หรือ “ตีความใหม่” ให้มีความชัดเจน

เอาเข้าจริง เมื่อมองในภาพกว้างๆ ทั้งหมด ผมรู้สึกว่าสไปดี้เวอร์ชั่นนี้ ใช้วิธีอาศัย “ช่องว่าง” ที่ฉบับแซม ไรมี่ ไม่ได้ทำไว้แล้วไปขยายความเพิ่มเติมในส่วนนั้นมากกว่า ขณะเดียวกัน ก็เปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และเล่นกับฉากแสดงอารมณ์ให้เยอะขึ้น และพูดก็พูดเถอะ ความดาร์กความหม่นที่เหมือนจะถูกยกขึ้นมาเป็น “จุดแข็ง” ของงานชิ้นนี้ อันที่จริง มันก็มีให้เห็นมาแล้วในฉบับก่อน เพียงแต่มันถูกเน้นย้ำให้เด่นชัดขึ้นในเวอร์ชั่นนี้ที่เราจะเห็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ จมดิ่งอยู่กับความเจ็บปวดหม่นหมองแบบสัมผัสได้ชัดเจน เช่นเดียวกับการที่ได้พลังพิเศษมาแล้วแต่ต้องเรียนรู้การควบคุมและใช้สอยพลังเหล่านั้น เขาต้องไปฝึกเหาะฝึกกระโดด (ซึ่งดูเท่และทำให้สนุกไปอีกแบบ) อย่างที่เวอร์ชั่นของแซม ไรมี่ ดูเหมือนจะข้ามช็อตนี้ไป

ในความรู้สึกนึกคิดของผม ดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน จึงควรใช้ชื่อว่า เดอะ สไปเดอร์แมน ธรรมดาๆ ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “อะเมซิ่ง” นำหน้าก็ได้ เพราะดูไปแล้วก็ไม่ได้ถึงกับทำให้เรานึกอยากจะเปล่งเสียงออกมาว่า “อะเมซซซ...ซิ่ง!!”

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าคิดว่ามันเป็นหนังฮีโร่เรื่องหนึ่งซึ่งดูสนุกและพอจะปลุกเร้าพลังความดีในตัวเราได้บ้าง และถือเป็นการรำลึกถึงเรื่องราวของฮีโร่ผู้นี้ (แม้แซม ไรมี่ จะเพิ่งจัดงานนี้ครั้งล่าสุดไปเมื่อ 5-6 ปีก่อน) หนังเรื่องนี้ของมาร์ค เว็บบ์ ก็คุ้มค่าสมราคาที่เราจะตีตั๋วเข้าไปดู










กำลังโหลดความคิดเห็น