ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ฮอลลีวูดถึงกลับมาให้ความสนใจกับนิทานโบร่ำโบราณอย่างสโนไวท์อย่างพร้อมเพรียงกัน เพราะก็อย่างที่เราจะเห็นว่า นอกเหนือไปจาก Snow White and the Huntsman นี้แล้ว เมื่อราวๆ ต้นปี เราก็ได้ดูนิยายการต่อสู้ของเจ้าหญิงตกยากมาแล้วหนึ่งครั้งในเวอร์ชั่นของผู้กำกับทาร์เซ็ม ซิงห์ อย่าง Mirror Mirror
แน่นอนครับว่า หน้าตาของหนังทั้งสองเวอร์ชั่น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพราะในขณะที่ Mirror Mirror ให้ความสำคัญกับอารมณ์ขันและดำเนินเรื่องแบบไม่เคร่งเครียดจริงจัง แต่งานกำกับโดยรูเพิร์ต แซนเดอร์ส ฉีกหนีด้วยลีลาการเล่าที่ซีเรียสขึงขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่หนังปล่อยตัวอย่างออกมาแล้ว ทำให้หลายคนคาดเดาไปล่วงหน้าว่า งานชิ้นนี้คงออกมา “ดาร์ก” (Dark) สุดขั้ว สไตล์หนังหม่นนัวร์อย่างแน่นอน
เนื้อเรื่องในเวอร์ชั่นนี้ พูดถึงเจ้าหญิงสโนไวท์ซึ่งถูกกักขังตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ที่ราชินีผู้โหดเหี้ยมสังหารพ่อของเธอ ในวันที่เธอโตเป็นสาวและจะต้องถูกนำตัวไปให้ราชินีดูดกินพลังเพื่อความสาวความสวยอันเป็นอมตะ เธอใช้จังหวะนั้นหลบหนีจากที่คุมขัง กระทั่งพบกับนายพรานป่าผู้ได้รับคำสั่งจากราชินีให้มาฆ่าเธอ แต่เหตุการณ์เกิดพลิกผันเมื่อนายพรานป่าหันกลับมาอยู่ข้างเธอ พร้อมกับงานใหญ่ๆ ที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้าคือการทวงบัลลังก์คืนกลับมาจากราชินีใจยักษ์
เหมือนกับหนังสโนไวท์อีกหลายๆ เวอร์ชั่น เรื่องของความงาม ยังคงเป็นประเด็นหลักในงานชิ้นนี้ ไม่มีอะไรฉีกออกไปมากมายนัก เพียงแต่เพิ่มเติม “ปม” ลงไปให้ดูมี “ที่มา” มากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของราชินีที่หนังพยายามชี้ให้เห็นว่า เพราะอะไร ความงามจึงเป็นสิ่งที่เรียกร้องต้องการกันมากนัก ฉากที่ราชินีนึกย้อนไปถึงราชินีองค์เก่าซึ่งตกกระป๋องเพราะสูญเสียความงามนั้น บอกได้เป็นอย่างดีถึงการบูชาค่านิยมเรื่องรูปลักษณ์ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญว่าใครจะสามารถ “ไปต่อ” หรือหมดบทบาทความสำคัญ
เพราะ “ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” แต่ราชินียุคโน้นมิใช่สาวยุคนี้ที่เพียงแค่เดินเข้าโรงผ่าตัดศัลยกรรมหรือซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมาใช้ ก็ยืดระยะความสาวความใสของตัวเองไว้ได้แล้ว ราชินีจึงต้องใช้วิธีฆ่าแกงสาวสวยคนอื่นให้หมดสิ้นไปจากพื้นพิภพ เฉพาะอย่างยิ่ง ความงามของสโนไวท์ทำให้ราชินีรู้สึกต่ำต้อยในตัวเองอยู่ตลอดเวลา เหนืออื่นใด อำนาจของนางก็ดูจะไม่เปล่งปลั่งอย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่โลกนี้ยังมีสโนไวท์อยู่
ในขณะที่ประเด็นของเรื่อง ดูจะไม่ไปไหนไกลจากความคาดหมาย เพราะก็วนเวียนอยู่กับเรื่องความงามตามที่บอก กระนั้นก็ดี ถ้าจะยกความดีความชอบสักหนึ่งด้านให้กับหนังเรื่องนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่างานด้านภาพหรือวิช่วลเอฟเฟคต์นั้น หนังทำออกมาได้ดี และที่สำคัญ มันสะท้อนแทนแก่นสารของเรื่องราวได้อย่างเหมาะสม เพราะมีทั้งภาพที่แลดูสวยงามหรือกระทั่งหม่นทึมน่าหวาดกลัว เสมือนหนึ่งความงดงามกับความชั่วร้ายที่อยู่ในจิตใจของตัวละคร
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่องค์ประกอบด้านภาพโดดเด่นน่าตื่นเต้นตื่นตา เราจะพบว่า การดำเนินเรื่องกลับดู “ง่าย” อย่างคาดเดาได้ว่าจะจบอย่างไร หนังเดินตามสูตรสำเร็จของการเล่าเรื่องแบบหนึ่งสองสามสี่ เหมือนนิทานซึ่งมีเส้นเรื่องไม่ซับซ้อน เริ่มต้นจากการตกทุกข์ได้ยากของเจ้าหญิงเจ้าชายแล้วมีกลุ่มคนใจดีมาช่วยเหลือ ก่อนจะจบลงด้วย Victory หรือชัยชนะอันไม่เหนือความคาดหมาย เรื่องราวจึงดำเนินไปแบบวิ่งเข้าหาตอนจบ โดยที่ใน “ระหว่างทาง” ผมมองว่าหนังบิลท์ความตื่นเต้นระทึกใจไม่ขึ้นเท่าที่ควร มันก็แปลกอยู่นะครับ เพราะทั้งๆ ที่ซาวด์เอฟเฟคต์ตึงตังโครมครามพยายามกระหน่ำซัดมาจากลำโพงรอบทิศทาง แต่การณ์กลับกลายเป็นว่ามันมิอาจกระตุ้นความลุ้นระทึกไปด้วยไม่ได้ จุดนี้ย่อมโทษอะไรไม่ได้ นอกไปจากศักยภาพของบทหนัง
อันที่จริง ต้องเห็นใจครับว่า การที่จะทำให้หนังซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายที่ใครต่อใครต่างก็รู้เรื่องราวแล้ว ให้ออกมาสนุก ไม่ใช่งานหมูๆ แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมว่าสโนไวท์เวอร์ชั่นนี้ “กำหนดจุดพิกัด” ตัวเองได้แม่นยำแล้ว อย่างน้อย ความมืดหม่นของเนื้อหาก็น่าจะสร้างความต่างให้กับหนังได้ แต่น่าเสียดายที่หนังขาดการมุ่งเน้นในความลึกของเรื่องและตัวละคร ถ้าจะมีตัวละครตัวใดที่ดู Deep และ Dark มากที่สุด คนๆ นั้นก็น่าจะเป็นราชินี
ชาร์ลิซ เธอรอน ในบทบาทของราชินีนั้น แสดงได้ดีเกินหน้าเกินตาคุณภาพของหนังอย่างเห็นได้ชัด นี่คงเป็นวิถีของนักแสดงมืออาชีพ เพราะไม่ว่าหนังจะเป็นเช่นใด แต่การแสดงของพวกเขาเหล่ามืออาชีพก็ยังคงเปล่งประกายเสมอ...เท่าๆ กับที่บทราชินีกลบทับรัศมีความดีของหนัง การแสดงของชาร์ลิซ เธอรอน ก็สังหารการแสดงของคนอื่นๆ ในเรื่องให้ดูด้อยไปเลย ไม่เว้นแม้กระทั่งคริสเตน สจ๊วต สาวเบลลา แห่งหนังแวมไพร์
บทของคริสเตน สจ๊วต ในฐานะเจ้าหญิงผู้เลอโฉม นอกจากจะขาดมิติเชิงลึก ยังมีความน่าสงสัยอยู่ในบางจุด เช่น ลังจากที่ดูเป็นเจ้าหญิงบอบบางมาตลอด แต่ครั้นพอถึงคราวออกศึก ก็ดูจะแปลงร่างเป็นวิลเลี่ยม วอลเลซ ผู้เก่งกาจแห่ง Brave Heart ไปซะอย่างงั้น ผมเห็นเธอเข้าประจันกับเหล่าข้าศึกแล้วก็นึกว่า อ้าว เธอไปฝึกวิชาดาบมาจากไหน เพราะที่ผ่านมา เราก็เห็นนายพรานสอนเธออยู่แค่เพียงกระบวนท่าเดียวและครั้งเดียว แต่พอปฏิบัติการจริง เธอทำได้ราวกับเทพ!! นั่นยังไม่ต้องพูดถึงฉากที่เธอพูดปลุกใจสไตล์วิลเลี่ยม วอลเลซ ก่อนออกศึก ก็ดูไม่ค่อยมีพลังเหมือนอย่างการแสดงโดยรวมของเธอเอง
คริส แฮมเวิร์ธ “เทพธอร์” กล้ามใหญ่แห่ง The Avengers กับบทบาทนายพรานป่า ก็เหมือนจะถูกการแสดงของชาร์ลิซ เธอรอน กลบทับ ตามคริสเตน สจ๊วต ไปด้วย ผมว่าการแสดงของเขาไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่บทของเขามันดู “ธรรมดา” อย่างไม่น่าจะเป็น เพราะอุตส่าห์ถูกชูมาขายในชื่อเรื่องในฐานะ The Huntsman แต่กลับไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนัก และพอจะมีบทบาทสำคัญ ก็กลับดูน่าสงสัยไปซะเฉยๆ และพูดก็พูดเถอะ จนถึงตอนนี้ ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเขามีฤทธิ์เดชหรือที่มาที่ไปอย่างไร รอยจูบของเขาจึงมีพลานุภาพขนาดนั้น? ดูเหมือนหนังจะลืมให้เหตุผลเกี่ยวกับข้อนี้ไปโดยสิ้นเชิง
พูดอย่างถึงที่สุด สโนไวท์เวอร์ชั่นนี้ แม้ไม่ถึงขั้นขี้เหร่เลวร้าย แต่มันก็เป็นหนังกลางๆ ที่เราสามารถจะใช้คำพูดพื้นๆ ว่า “ก็ดี” แล้วก็พร้อมจะลืมได้ทันทีที่เดินออกจากโรง ส่วนหนึ่งนั้น ผมคิดว่าหนังไปไม่สุดเลยสักทาง จะเน้นแอ็กชั่นก็ดูไม่ตื่นเต้นเพียงพอ จะไปทางดาร์กหรือมืดหม่นก็ไม่ลึกซึ้งเพียงพอ เมื่อเทียบกับสโนไวท์เวอร์ชั่นก่อนหน้าอย่าง Mirror Mirror ผมรู้สึกว่าทาร์เซ็ม ซิงห์ ชัดเจนกว่าในแง่ของแนวทางว่าจะก้าวย่างไปทางไหนและก็พาตัวเองเดินไปทางนั้นได้แบบสุดๆ
ในโลกที่พร้อมจะตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้กระทั่งตัดสินผู้คน จากรูปลักษณ์ภายนอกเพียงผิวเผิน หนังเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก เพราะมันพูดถึงความงามที่ควรถูกให้ความสำคัญอย่างแท้จริง คงไม่มีความหมายอะไร ถ้าใครสักคนหมกมุ่นอยู่แต่กับความงามของรูปร่างหน้าตา กระทั่งหลงลืมความงามภายในหรือจิตใจที่งดงาม
แต่ก็อีกนั่นแหละ ทั้งๆ ที่หนังดูเหมือนจะบอกกล่าวประเด็นนั้นต่อคนดูผู้ชมว่าคนเราควรต้องสวยจากภายใน แต่หนังกลับหลงลืมที่จะบอกตัวเองไปซะดื้อๆ เพราะในขณะที่พยายามแต่งหน้าทาปาก “ความงามภายนอก” อย่างภาพยนตร์ตัวอย่างได้งดงามดึงดูดใจ แต่ “ความงามภายใน” คือหนังฉบับเต็ม กลับไม่สามารถทำให้เราหลงรักได้อย่างเต็มตัวและหัวใจ