xs
xsm
sm
md
lg

“ศิลปินป่า” อัลบั้มทรงคุณค่าของ “จรัล มโนเพ็ชร” /บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
จรัล ในวัยหนุ่ม(ภาพจาก : www.jaranmanopetch.com)
“...สายน้ำไม่อาจหวนคืนมา เวลาไม่รั้งรอ ฝันของเธอให้ฉันฝันต่อ เกิดก่อเป็นสวยงาม
ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่เธอพร้อม ฉันก็ยอมเดินตาม ถึงแม้นไม่มีใครเอ่ยถาม จะเก็บเป็นความภูมิใจ...”

เพลง : ให้ฉันฝันต่อ : จรัล มโนเพ็ชร

“จรัล มโนเพ็ชร” ราชาโฟล์คซองคนนี้ เป็นหนึ่งในคนดนตรีที่ไม่เคยหยุดอยู่กับที่

จรัลได้สร้างสรรค์และพยายามแสวงหาหนทางใหม่ๆในดนตรีของเขาอยู่เสมอ ซึ่งผลงานดนตรีของเขาแบ่งเป็น 3 ยุคด้วยกัน
โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ อัลบั้มชื่อดังของจรัลในยุคแรก
ยุคแรก ยุคโฟล์คซองคำเมืองหรือยุคคลาสสิค ที่มีเพลงดังๆ อาทิ สาวมอเตอร์ไซต์,อุ๊ยคำ,พี่สาวครั,มิดะ,ลูกข้าวนึ่ง,สาวเชียงใหม่ ฯลฯ

ยุคสอง ยุคจรัลกับแคนเดิ้ลที่จรัลเบนเข็มมาเน้นในเสียงเครื่องดนตรีไฟฟ้า มีบทเพลงดังๆอย่าง บ้านบนดอย,ฟ้าใสใส,ล่องแม่ปิง และรางวัลแด่คนช่างฝัน เป็นต้น

ครั้นมาถึงยุคที่สาม ยุคสุดท้ายที่จรัลมาคนเดียวเดี่ยวๆ ยุคนี้เป็นยุคความหลากหลายทางดนตรีของจรัล ซึ่งมีทั้งผลงานในแบบยุคแรกเป็นโฟล์คซองเน้นดนตรีอะคูสติกที่พัฒนาซาวนด์ให้ร่วมสมัยมากขึ้น หรือผลงานดนตรีที่จรัลมุ่งแสวงหาหนทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเพลงสไตล์ฟิวชั่นแจ๊ซ การเล่นกับวงออร์เคสตร้า เป็นต้น โดยผลงานอัลบั้มในยุคสามของจรัล ได้แก่

ไม้กลางกรุง(2529),ตำนานโฟล์ค(2529),ฉันมีความรักมาให้(2530)อัลบั้มพิเศษที่ร่วมงานกับสุนทรี เวชานนท์,จรัลแจ๊ส(2533)ที่ฉีกแนวด้วยการนำดนตรีฟิวชั่นแจ๊ซเข้ามาผสมผสาน แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

โฟล์ค 1991(2534),ลำนำแห่งขุนเขา(2535)ที่เป็นการร่วมเล่นกับวงไหมไทย,หวังเอยหวังว่า(2537),ศิลปินป่า(2537) ความฝันของวันนี้(2541),สี่เหน่อ(2543) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักร้องสำเนียงเหน่อ นำโดยชาย เมืองสิงห์,จรัล มโนเพ็ชร์,ทอม ดันดี และ สามารถ พยัคฆ์อรุณ และ“ล้านนา ซิมโฟนี่” ผลงานชุดสุดท้ายที่ออกมาในปี 2544
บ้านบนดอย งานเพลงของจรัลกับแคนเดิ้ลในยุคที่สอง
สำหรับผลงานอัลบั้มที่โดดเด่นที่สุดของจรัลในยุคสุดท้ายนั้น ผมขอยกให้กับอัลบั้ม “ศิลปินป่า” ที่สามารถกวาดรางวัลสำคัญๆทางดนตรีแห่งยุคนั้น พ.ศ.นั้นมาได้ถึง 5 รางวัล ซึ่งแน่นอนว่าผลงานเพลงชุดนี้ต้องมีดีให้แฟนเพลงได้สัมผัสสดับรับฟังกัน โดยศิลปินป่าได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดครั้งที่ 7 ประจำปี 2537 มาถึง 3 รางวัล ได้แก่รางวัล “เพลงยอดเยี่ยม”คือเพลง“ศิลปินป่า” รางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยมจากอัลบั้ม “ศิลปินป่า” และรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมจากอัลบั้ม “ศิลปินป่า”

นอกจากนี้อัลบั้มศิลปินป่ายังคว้ามาอีก 2 รางวัลใหญ่ คือ รางวัลจากชมรมสภาวะแวดล้อมสยาม และรางวัลพิฆเนศทองคำพระราชทานครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2539)

อัลบั้มศิลปินป่ามีทั้งหมด 10 เพลงด้วยกัน โดยมีเพลงเด่นๆได้แก่

ให้ฉันฝันต่อ”(แทรค 1) อะคูสติกช้าๆซึ้งๆ ติดเศร้านิดๆเนื้อหาให้กำลังใจ เหมือนเป็นภาค 2 ของรางวัลแด่คนช่างฝัน ที่ดนตรีฟังแล้วให้อารมณ์ที่แตกต่างกันพอดู
ศิลปินป่า ผลงานดีกรีหลายรางวัลจากจรัล มโนเพ็ชร
กลับบ้านไม่ได้”(แทรค 2) เนื้อหาสะทกสะท้อนว่าด้วยเรื่องราวของคนต่างจังหวัดที่มากัดฟันต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในเมืองหลวง หาความจริงใจได้ยากเต็มที เหนื่อยหน่ายท้อแท้ชนิดใจอยากกลับบ้านใจแทบขาด

“...อาจมีรอยยิ้ม ที่ดูเอมอิ่มควรระวังหลัง ได้โอกาสลงมือไม่มียั้ง และต่างคลางแคลงระแวงระวัง ไม่ตกเป็นชิ้นเหยื่อถูกฝังทั้งเป็น นี่แหละคือเมืองหลวง...”

อารมณ์เพลงกลับบ้านไม่ได้ในช่วงแรกนั้นเป็นดังภาคต่อของเพลง “ฟ้าใสใส” จากในอัลบั้มบ้านบนดอย แต่ประทานโทษ งานนี้รันทดกว่าตรงที่เมื่อกลับบ้านมันไม่งดงามเหมือนดังเพลงฟ้าใสใส หากแต่เมื่อกลับบ้านไปกลับถูกผู้คนที่บ้านซ้ำเติมเยาะเย้ยถากถาง อันเนื่องมาจากชีวิตที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการมาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

“...จะมีใครอยู่คอยเฝ้ารอรับ และยินดีถ้ากลับไปบ้านเดิม อาจจะมีแต่คนที่ซ้ำเติม ให้เราเจ็บและอายใจยับ ไม่น่าจะกลับไปเลย...”

เพลงนี้จรัลเล่นปิ๊กกิ้งเกากีตาร์ในสไตล์ถนัด(ทางเดียวกับเพลงอุ๊ยคำ) มีคีย์บอร์ดเลียนเสียงเครื่องสายมาเล่นไลน์ประสานชวนอ้างว้าง ซึ่งทั้งเนื้อเพลงทั้งดนตรีฟังแล้วเปลี่ยวเหงาในอารมณ์ไม่น้อยเลย

ลมเหนือ”(แทรค 3) จังหวะกระชับขึ้นมานิดหนึ่งแต่ยังคงเป็นเพลงช้าอยู่ เนื้อหาเน้นให้ความหวัง กำลังใจ ต่อสู้กับชีวิตต่อไป ซึ่งจรัลเล่นคำใช้ภาษาในเพลงนี้ได้สวยงามทีเดียว

“...หมู่ดาวแพรวพราวพริ้งพราย แผ่วลมเหนือกราย มาอีกครั้ง
ดวงใจเปี่ยมด้วยแรงพลัง จะยังยืนหยัดท้า

ทุกครั้งที่ความมืดคลาย หมายถึงวันที่ดีกว่า
คือโอกาสชีวิต ให้เราฟันฝ่า ขอบฟ้าคือตะวัน...”

เจ้านาง”(แทรค 6) เพลงเอกประกอบละครเรื่องเจ้านาง(ที่เป็นหนึ่งในละครที่จรัลไปรับทำดนตรีประกอบให้) เพลงนี้ ทางคอร์ด ซาวนด์เพลง ไลน์ประสาน อาจจะฟังชวนวังเวง เพราะนี่เป็นเพลงประกอบละครเขย่าขวัญอันชวนขนหัวลุกนั่นเอง

น้ำแม่ปิง”(แทรค 8) ว่าด้วยเรื่องราวของแม่น้ำปิง ที่ให้อารมณ์ต่างไปจากความ “เยือกเย็นสดใสเหมือนน้ำแม่ปิง” ที่เขาเคยร้องไว้ในเพลง“ล่องแม่ปิง” แต่เพลงน้ำแม่ปิงเพลงนี้เป็นดังบทสรุปบันทึกประวัติศาสตร์ของแม่น้ำปิง จากความงดงามในอดีตมาสู่ยุคปัจจุบันที่แม่น้ำปิงต้องประสบกับภาวะน้ำเน่าเสื่อมโทรม อันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่กระทำกับแม่น้ำปิง

เพลงนี้จรัลเน้นการดำเนินเรื่องด้วยการบอกเล่าผ่านภาษาล้านนามากกว่าการร้องขับขานด้วยท่วงทำนองเป็นบทเพลง

เจ็ดร้อยปีเชียงใหม่”(แทรค 10) เล่าเรื่องราววิถีเมืองเชียงใหม่ในช่วงครบรอบ 700 ปี ที่เป็นดังบทเพลงชวนเที่ยวเมืองเชียงใหม่ไปในตัว

แล้วก็มาถึงแทรคที่โดดเด่นที่สุดในอัลบั้มคือเพลง“ศิลปินป่า”(แทรค 4) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปินธรรมชาตินามว่า “ป่า”ที่ศิลปินมนุษย์ต้องคารวะ

เพลงนี้เป็นบทเพลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้นำเสนอด้านการถูกกระทำของผืนป่าแบบรันทดสะเทือนใจ หรือมุ่งพร่ำบอกให้คนหันมารักษ์ป่ารักษ์สิ่งแวดล้อม แต่จรัลสามารถร้อยเรียงแง่งามของผืนป่าในมุมมองที่แตกต่าง ถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงได้อย่างลึกซึ้ง น่าฟัง เห็นภาพ ด้วยภาษาที่สวยงามชวนให้จินตนาการ สมกับเป็นบทเพลงยอดเยี่ยมรางวัลสีสันอะวอร์ด

“ลมหนาวระบาย ป่าไม้กลายเปลี่ยนสี จากที่เคยเขียวขจี เปลี่ยนเป็นสีร้อนแรง
กลีบทองงิ้วราย เหลืองพรายคือดอกลมแล้ง ดอกเครือออนสีม่วงแดง กับตะวันสีทอง

* ป่าจึงควรเป็น ศิลปินแห่งชีวิต ที่มีแต่น้ำมิตร ผลิตงานชวนให้มอง
มีทั้งความหมาย แห่งสัจธรรม และยังล้ำค่าเกินจะครอง
แต่จะดี ถ้าจะประคอง ให้เป็นตามครรลองตลอดไป...

ลมฝนระบาย ป่าพื้นกายแตกใบ ปลุกวิญญาณของวันใหม่ เปลี่ยนไปเป็นเขียวคราม
กลิ่นดินละไม ฟุ้งไอดินจากลำน้ำ สรรพชีวิตงดงาม ใต้ตะวันสีทอง(ซ้ำ*)

กลิ่นดินละไม ฟุ้งไอเย็นจากลำน้ำ สรรพชีวิตงดงาม ใต้ตะวันสีทอง (ซ้ำ*)”

และนั่นก็คือเพลงเด่นๆในอัลบั้มศิลปินป่าที่บทเพลงทั้งหมดในอัลบั้มเป็นเพลงโฟล์คอันละเมียดละไม รวมถึงเป็นบทเพลงช้าทั้งหมด ซึ่งจรัลสามารถแต่งคำร้อง ทำนอง และทำดนตรีออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

ศิลปินป่าจึงนับเป็นหนึ่งในอัลบั้มทรงคุณค่าของจรัล มโนเพ็ชร สมกับรางวัลที่ได้รับ เป็นดังรางวัลของคนช่างฝัน

วันนี้แม้จรัลจะเสียชีวิตไปกว่า 10 ปีแล้ว(จรัลเสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวฉับพลันในวันที่ 3 ก.ย. 44) แต่บทเพลงของเขายังคงความเป็นอมตะอยู่ไม่เสื่อมคลาย
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- ขอจบซีรีส์เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร แต่เพียงเท่านี้
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com
กำลังโหลดความคิดเห็น