xs
xsm
sm
md
lg

“จรัล มโนเพ็ชร” เพชรแห่งล้านนา...ราชาโฟล์คซองคำเมือง/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง
“อ้ายคนจน จำต้องทนปั่นรถถีบ จะไปจีบอีน้องคนงาม พอไปถึงอ้ายก็ฟั่งเอิ้นถาม พอไปถึงอ้ายก็ฟั่งเอิ้นถาม อีน้องคนงามกิ๋นข้าวแลงแล้วกา...”

สาวมอเตอร์ไซค์ : เพลงดังของ “จรัล มโนเพ็ชร” (คำร้อง/ทำนอง โดย : ขจร วงศ์ชัยพาณิชย์)

...................

หากพูดถึงดนตรีในรูปแบบ“โฟล์คซองคำเมือง”แล้ว บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งโฟล์คซองคำเมือง” นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชื่อที่นอนเป็นอับดับหนึ่งและอันดับเดียว ณ เวลานี้ ย่อมหนีไม่พ้น “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินแห่งล้านนาผู้มีความสามารถหลากหลาย หนึ่งในตำนานคนดนตรีอันอมตะของยุทธจักรวงการเพลงไทย

กำเนิด เกิดเพชร

1 มกราคม พ.ศ. 2498

นอกจากจะเป็นวันปีใหม่แล้ว ยังเป็นวันถือกำเนิดของ “จรัล มโนเพ็ชร” ผู้ที่ลืมตาดูโลกมาในวันที่ฤกษ์ดีมากๆ (ขณะที่บางข้อมูลระบุว่าจรัลเกิดในปี 2494)

จรัล เป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน ของนายสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร กับเจ้าต่อมคำ ณ เชียงใหม่ วันที่เขาถือกำเนิดนั้น ช่วงก่อนหน้านั้น พี่ชายฝาแฝดของเขาได้เกิดออกมาก่อนในวันที่ 31 ธันวาคม 2497 ก่อนที่จะข้ามศักราชเพียงไม่กี่นาที

ครอบครัวของจรัลเป็นครอบครัวศิลปิน คุณพ่อของเขานอกจากจะเป็นนักศิลปวัฒนธรรมเจ้าบทเจ้ากลอนที่มีฝีมือโด่งดังในการทำโคม ตุง งานปั้น และแกะสลักแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านดนตรีพื้นเมืองตัวฉกาจ เล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองได้หลากหลายชนิด

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นรากฐานสำคัญต่อความเป็นยอดศิลปินของจรัลในเวลาต่อมา

จรัลนอกจากจะเป็นคนเรียนดีเรียนเก่งแล้วยังมีความสนใจดนตรีมาตั้งแต่เด็ก หัดเรียนเปียโนตอน ป.2 เล่นซึงตอนช่วง ป.3-4 เล่นกีตาร์ ช่วง ป.5-7 และนอกจากดนตรีพื้นบ้านล้านนาที่เขาซึมซับมาโดยสายเลือดแล้ว จรัลยังได้รับอิทธิพลทางดนตรีโฟล์ค จากศิลปินนามอุโฆษแห่งยุคสมัย(นั้น) ไม่ว่าจะเป็น ปีเตอร์ พอล แอนด์ แมรี่,เลียวนาร์ด โคเฮน,ไซมอนแอนด์การ์ฟังเกล,บ็อบ ดีแล่น และ โจแอน เบซ เป็นต้น

หลังจบชั้นมัธยมจรัลเข้าศึกษาต่อที่ สาขาบัญชี ภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคนิคพายัพ ช่วงนี้เขาถือโอกาสเล่นดนตรีหาลำไพ่พิเศษตามคอฟฟี่ช้อป ตามโรงแรม ในจังหวัดเชียงใหม่ไปด้วย

ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2516 จรัลได้ออกท่องเที่ยวและทำงานหาประสบการณ์ไปตามที่ต่างๆ เช่น เป็นเด็กปั๊ม เล่นดนตรีที่จังหวัดสงขลา ทำงานไร่อ้อยที่ อ.บ่อพลอย เมืองกาญน์ ก่อนที่จะพักชีวิตอันระหกระเหินเข้ามารับราชการในแขวงการทาง อ.พะเยา(สมัยนั้น) จ.เชียงราย พร้อมๆกับเล่นดนตรียามค่ำคืนไปด้วย

แต่ดูเหมือนงานราชการจะไม่เหมาะกับตัวตนของจรัล มโนเพ็ชร เพราะเขาทนวิถีการคอรัปชั่นที่เป็นมะเร็งร้ายกัดกร่อนประเทศมาอย่างช้านานไม่ได้(และยังไม่เคยเปลี่ยนแปรแม้กระทั่งในทุกวันนี้) กอปกรกับการที่เพื่อนเขาต้องเสียชีวิตโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่จากการถูกทำร้ายผิดตัว ทำให้จรัลทนไม่ไหว ขอลาออกจากราชการพร้อมกับเปิดโปงเรื่องการโกงกินของข้าราชการเลวๆบางคนด้วย
จรัล สมัยหนุ่มๆ(ภาพจาก : www.jaranmanopetch.com)
ออกเทป

ในราวเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2520 หลังลาออกจากราชการ จรัลที่หันมาเอาดีทางด้านการเล่นดนตรี ร้องเพลง แต่งเพลง ได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีในวันเกิดเพื่อนของเขา

วันนั้นเขามีคิวขึ้นเล่นเป็นคนสุดท้าย ทำให้ไม่รู้จะเล่นเพลงอะไร เพราะเพื่อนๆเล่นกันไปหมดแล้ว เขาจึงงัดเอาบทเพลงเก่า “น้อยไจยา” ที่มีท่วงทำนองพื้นเมืองล้านนามาเล่น ซึ่งนอกจากจะคุ้นหูของผู้ที่มาร่วมงานชนิดที่ใครหลายๆคนสามารถร้องตามในบางวรรคบางช่วงแล้ว นั่นยังเป็นมนต์ดึงดูดให้ “มานิด อัชวงศ์” ที่มาร่วมงานเกิดความสนใจเป็นพิเศษด้วย

มานิด นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านหนังสือ“ท่าแพบรรณาการ” ที่มีการเปิดขายเทปคาสเซ็ทที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่แล้ว เขายังเป็นผู้ที่หานักร้อง นักดนตรี มาอัดเทปทำเทปขายเองอีกด้วย โดยหลังจากได้ยินจรัลร้องเพลงน้อยไจยา สมองของเขาก็สั่งการในทันทีว่า

ไอ้หมอนี่แหละ นักร้องคนต่อไปที่จะออกเทปให้”(จากหนังสือ “ซึงสุดท้าย จรัล มโนเพ็ชร” โดย มานิด อัชวงศ์)

และหลังจากนั้นมานิดได้มาทำหน้าที่ผู้จัดการส่วนตัวให้กับจรัลนับจากวันแรกจนถึงวันสุดท้าย ก่อนที่เขาจะลาลับจากโลกไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลวฉับพลัน ในย่ำรุ่งของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 ทิ้งตำนานจรัล มโนเพ็ชร “ราชาโฟล์คซองคำเมือง” ผู้บุกเบิกดนตรีสไตล์โฟล์คซองคำเมืองที่วันนี้ยังหาใครขึ้นมาเทียบเคียงกับเขาไม่ได้
โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ ผลงานอมตะของจรัล มโนเพ็ชร
โฟล์คซองคำเมือง

หลังฟ้าลิขิตให้ได้พบกับมานิด ในปี พ.ศ. 2520 จรัลเริ่มก้าวแรกในถนนดนตรีด้วยผลงานที่บางข้อมูลระบุว่า งานเพลงชุดแรกของเขาคือ “โฟล์คซองคำเมือง” ในขณะที่บางข้อมูลระบุว่า คือ “โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ” แต่ทุกข้อมูลไหนต่างบอกตรงกันว่าผลงานแจ้งเกิดที่สร้างชื่อเสียงให้กับจรัลเป็นอย่างมากก็คือ โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ

งานเพลงชุดนี้นอกจากจะเป็นบทเพลงโฟล์คใสๆฟังสบายแล้ว บางเพลงในชุดนี้ เช่น น้อยไจยา เสเลเมา ยังเป็นการนำบทเพลงพื้นเมือง มาเล่นด้วยกีตาร์กับเครื่องดนตรีฝรั่ง ในซาวนด์ดนตรีร่วมสมัย

นี่แม้จะเป็นการฉีกขนบจนไม่เป็นที่สบอารมณ์ของพวกนักอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย แต่มันได้กลายเป็นดนตรีโฟล์คซองคำเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ในสไตล์แบบจรัล มโนเพ็ชรมาจนถึงทุกวันนี้

ในชุดโฟล์คซองคำเมือง มีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งกับเสียงร้องร่วมใสๆของ “สุนทรี เวชานนท์” ที่ถือเป็นดังตัวแทนเสียงเพลงของแม่หญิงล้านนา ซึ่งทั้งจรัลและถือเป็นนักร้องคู่ขวัญแห่งล้านนาที่เป็นอีกหนึ่งซุ่มเสียงอันอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

หลังประสบความสำเร็จจากโฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ จรัล ได้มีผลงานอัลบั้มออกมาอีกมากมาย ซึ่งผมขอแบ่งผลงานเพลงของจรัลออกเป็น 3 ยุคด้วยกัน

ยุคแรก ยุคโฟล์คซองที่เล่นด้วยเครื่องดนตรีอะคูสติกเป็นหลัก พร้อมร่วมเล่นกับพี่น้องมโนเพ็ชรในบางอัลบั้ม มีผลงานไล่เรียงมา ได้แก่ โฟล์คซองคำเมือง ชุดอมตะ(2520),อมตะ 2(2521),เสียงซึงจากสันทราย(2522),จากยอดดอย(2523),ลูกข้าวนึ่ง,แตกหนุ่ม และอื่อ...จา...จา(2525)

ยุคนี้ถือเป็นยุคคลาสสิคที่มีเพลงดังมากมาย อาทิ สาวมอเตอร์ไซต์,อุ๊ยคำ,พี่สาวครับ,ลืมอายแล้วกา,ผักกาดจอ,จากยอดดอย,มิดะ,ลูกข้าวนึ่ง,ดอกฝิ่น,สาวเชียงใหม่,ตากับหลาน เป็นต้น

ยุคสอง ยุคจรัลกับแคนเดิ้ล(และสุนทรี) ยุคนี้จรัลหันมาทำเพลงที่เน้นเสียงในแบบอิเลคทริคส์มากขึ้น ผสมผสานไปกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง มีสตูดิโออัลบั้มออกมาได้แก่ บ้านบนดอย(2527),เอื้องผึ้งจันผา(2528)

ในยุคสองนี้ มีบทเพลงดัง อาทิ บ้านบนดอย,ม่อฮ่อม,ฟ้าใสใส,ล่องแม่ปิง,ลุงต๋าคำ,เอื้องผึ้ง จันผา,แม่ค้าปลาจ่อม และรางวัลแด่คนช่างฝัน

ยุคสุดท้าย เป็นยุคที่จรัลมาแบบเดี่ยวๆ(ไม่มีวงแคนเดิ้ลและสุนทรี) เน้นทางดนตรีอันหลากหลาย และพยายามแสวงหาหนทางใหม่ ไมว่าจะเป็นความพยายามนำดนตรีในแบบออร์เคสตร้าใส่เข้ามา หรือบางชุดพยายามทำออกมาในรูปแบบฟิวชั่นแจ๊ส เป็นต้น

สำหรับผลงานในยุคหลังนี้ได้แก่ ไม้กลางกรุง(2529),จรัลแจ๊ส(2533) ที่พยายามทำให้ออกแนวฟิวชั่นแจ๊สแต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ,โฟล์ค 1991(2534),ลำนำแห่งขุนเขา(2535)ที่เป็นการร่วมเล่นกับวงไหมไทย,หวังเอยหวังว่า(2537),ศิลปินป่า(2537)ชุดนี้คว้า 3 รางวัลสีสันอะวอร์ด,ความหวัง ความฝันของวันนี้(2541),สี่เหน่อ(2543) เป็นการรวมตัวกันของนักร้องสำเนียงเหน่อ นำโดยชาย เมืองสิงห์,จรัล มโนเพ็ชร์,ทอม ดันดี และ สามารถ พยัคฆ์อรุณ ผลงานชุดนี้ทางต้นสังกัดเน้นธุรกิจมากเกินไป จึงได้รับเสียงติติงมากกว่าคำชม ซึ่งจนถึงวันนี้หลายๆคนยังงงๆว่า เสียงของจรัล“เหน่อ” ตรงไหน?

ถัดมาในปี 2544 จรัลมีผลงานชุดสุดท้ายออกมาคือ ล้านนา ซิมโฟนี่ ซึ่งเป็นผลงานที่ดี ดนตรี ละเอียด แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

นอกจากผลงานเพลงตามที่กล่าวมาแล้ว จรัลยังมีอัลบั้มบันทึกการแสดงสด ผลงานชุดพิเศษ งานรวมเพลงฮิต และบทเพลงประกอบภาพยนตร์ออกมาอีกจำนวนหนึ่ง ได้แก่ ตำนานโฟล์ค, บุญชูผู้น่ารัก, บุญชู 2 น้องใหม่, เสียงซึงสู่พิณเปี๊ยะ, ของกิ๋นคนเมือง, โฟล์ก สเปเชียล,ม่านไหมใยหมอก, และเวทีสุดท้าย

รวมถึงอัลบั้มพิเศษที่ดำเนินการผลิตโดย มานิด อัชวงศ์ หลังเขาลาจากโลกนี้ไปนั่นก็คือ “ซึงสุดท้าย”(2 แผ่นคู่) ที่เป็นดังการบันทึกเรื่องราวของจรัลผ่านบทเพลงที่น่าสนใจมากอีกชุดหนึ่ง
จรัล & สุนทรี คู่ขวัญคนดนตรีแห่งล้านนา
รางวัลแด่คนช่างฝัน

ย่ำรุ่ง วันที่ 3 กันยายน 2544

เป็นวันเศร้าอีกวันหนึ่งในยุทธจักรวงการเพลงไทย เมื่อจรัล มโนเพ็ชร ผู้ที่รับฉายาว่าเป็น“ราชาโฟล์คซองคำเมือง” ได้จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับ ทิ้งตำนานบทเพลงอันอมตะของเขาเอาไว้

จรัลนอกจากจะเป็นเลิศทางด้านดนตรี ทั้งการแต่งเพลง การเขียนเพลง การใช้ภาษา การแต่งทำนอง การเล่นกีตาร์ การเล่นดนตรีพื้นเมือง การเรียบเรียง และความคิดสร้างสรรค์แล้ว เขายังเป็นนักแสดงมากฝีมือ เจ้าบทบาท ชนิดดาราหลายคนที่มีอาชีพเล่นหนังเล่นละครเป็นหลักยังไม่อาจเทียบติด

จรัลเข้าวงการดารา เล่นหนังครั้งแรกในเรื่อง “ดอกไม้ร่วงที่แม่ริม” ในปี พ.ศ. 2521 จากนั้นเขาได้ร่วมเล่นหนังอีกหลายเรื่อง อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง วิถีคนกล้า กาเหว่าที่บางเพลง คนทรงเจ้า เขาชื่อกานต์ ยิ้มนิดคิดเท่าไหร่ อนึ่ง...คิดถึงพอสังเขป โดยเฉพาะกับเรื่อง “ด้วยเกล้า” หนึ่งในหนังไทยอมตะที่นอกจากจาร้างชื่อให้จรัลแล้ว เขายังได้ได้รับรางวัลดารานำฝ่ายชายอีกด้วย

ขณะที่ผลงานด้านการละคร จรัลก็มีออกมาหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เวลาในขวดแก้ว ไม้ดัด หงส์เหนือมังกร ขมิ้นกับปูน ละครเวทีสู่ฝันอันยิ่งใหญ่และจันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า เป็นต้น

และด้วยความสามารถอันหลากทั้งทั้งงานเพลง งานแสดง ทำให้จรัลได้รับรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสีสันอะวอร์ด 3 รางวัลจากชุดศิลปินป่า(บทเพลงยอดเยี่ยม-อัลบั้มยอดเยี่ยม-นักร้องชายยอดเยี่ยม),รางวัลพระพิฆเนศทองคำพระราชทานจากเพลงศิลปินป่า,รางวัลจากสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทย,รางวัลศิลปินสันติภาพจากยูนิเซฟ,รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ นักแสดงนำฝ่ายชาย จากภาพยนตร์เรื่อง ด้วยเกล้า,รางวัลตุ๊กตาทองเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องบุญชูผู้น่ารัก,บุญชู 2 น้องใหม่,วิถีคนกล้า,รางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯ บุคคลดีเด่นด้านการใช้ภาษา ปี 2537,บุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมแห่งชาติ จากสวช. สาขาศิลปะการแสดง(เพลงพื้นบ้าน) ปี 2540 ฯลฯ (สามารถหาดูเพิ่มเติมได้ในวิกิพีเดีย)

นอกจากรางวัลที่จรัลได้รับยาวเป็นหางว่าวแล้ว จรัลยังมีรางวัลสำคัญอีกรางวัลหนึ่งนั่นก็คือ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ซึ่งผลงานและรางวัลต่างๆถือเป็นสิ่งยืนยันในความสามารถ การสร้างสรรค์ และการเดินไปสู่ฝันของชายชื่อจรัล มโนเพ็ชร ศิลปินจากล้านนาหนึ่งในเพชรเม็ดงามของวงการเพลงไทย ที่หลากหลายบทเพลงของเขายังทรงคุณค่าและเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com
*****************************************

แกะกล่อง

ศิลปิน : รวมศิลปิน
อัลบั้ม : Ladies First

“Ladies First” เป็นอัลบั้มที่อินเทรนด์กับยุคที่ผู้หญิงยึดครองหัวหาดตลาดวงการเพลงโลกไม่น้อย อัลบั้มนี้เป็นการรวมเพลงฮิตของยอดนักร้องหญิงระดับบิ๊กเนม ไล่ไปตั้งแต่รุ่นพี่ๆมาจนถึงรุ่นปัจจุบันที่บรรจุไว้ใน 2 ซีดี รวม 32 เพลง แบบไม่ซ้ำคน

งานเพลงชุดนี้ประกอบด้วยเพลงน่าสนใจ อาทิ “I Will Always Love You” ของ “Whitney Houston”, “Hero” ของ “Mariah Carey”, “Don’t Know Why” ของ Norah Jones, “The Power of Love” ของ Celine Dion รวมถึงบทเพลงพิเศษ อย่าง “Someone Like You” ของ Adele ในภาคอะคูสติกเวอร์ชั่น “Desperado” บทเพลงของ The Eagles ที่นำมาคัฟเวอร์โดย Linda Ronstadt ที่หาฟังไม่ได้ง่ายๆ

นับเป็นอัลบั้มรวมเพลงเพราะฟังสบายๆที่ผู้หญิงฟังได้ผู้ชายฟังดี
*****************************************

คอนเสิร์ต

Tchaikovsky & Prangcharoen

วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra หรือ TPO) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย ในการดูแลของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดคอนเสิร์ต “Tchaikovsky & Prangcharoen”
พบผลงานของดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ผลงานการประพันธ์ของเขาได้รับการบรรเลงหลากหลายแห่งทั้งในทวีปเอเชีย, ออสเตรเลีย, อเมริกา และยุโรป โดยวงออเคสตร้าที่มีชื่อเสียงอาทิเช่น Tokyo Philharmonic Orchestra, Pacific Symphony, The Grant Park Orchestra, German National Theater Symphony Orchestra ฯลฯ

ในคอนเสิร์ตนี้ ณรงค์ ก็ได้นำบทเพลง Concerto for Saxophone and Orchestra ประพันธ์ขึ้นมาจากความคิดในขณะที่ประพันธ์เพลงในยามค่ำคืนที่มีแต่ความมืดมิด จนถึงรุ่นอรุณที่มีแสงสว่าง ทว่าเมื่อพบรุ่งอรุณ แทนที่แสงสว่างจะทำให้ตัวเขาพลิกฟื้นขึ้นมา กลับเกิดเป็นความมืดมิดเหนื่อยล้าทุกคราไป เพลงนี้จะจัดแสดงเป็นครั้งแรกของโลก และได้ “จอร์จ” วิศุวัฒน์ พฤกษวานิช นักแซกโซโฟนหนุ่มดาวรุ่งมากความสามารถชาวหาดใหญ่ เป็นโซโลอิสท์ ถ่ายทอดบทเพลงดังกล่าว Dariusz Mikulski วาทยกรชาวเยอรมันเป็นผู้ควบคุมวง

พร้อมกันนี้ Dariusz Mikulski และวง TPO จะนำเสนออีก 2 บทเพลงชื่อดังของดุริยกวีชาวรัสเซีย Peter Tchaikovsky คือ บทเพลง Capriccio Italien op.45 และ The Sleeping Beauty op.66

คอนเสิร์ตจัดขึ้นเพียง 2 รอบ คือ วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2555 เวลา 19.00 น. และ วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม 2555 เวลา 16.00 น. ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา บัตรราคา 500, 300 และ 100 บาท (สำหรับนักเรียนนักศึกษา) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสำรองที่นั่งกรุณาโทร. 0 2800 2525-34 ต่อ 153-154 หรือ www.music.mahidol.ac.th, www.thailandphil.com
กำลังโหลดความคิดเห็น