เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)

“อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำ สัญญา อย่าเปลี่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป
ให้เธอหมาย มั่น คง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร เดิน ทาง ไป อย่าหวั่นไหวใครขวางกั้น...”
เพลง : “รางวัลแด่คนช่างฝัน” : จรัล มโนเพ็ชร
..................
แม้ดนตรีในแบบ“โฟล์คซองคำเมือง”อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะกลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของ“จรัล มโนเพ็ชร” ที่สร้างชื่อให้เขาอย่างท่วมท้น อีกทั้งยังทำให้ผลงานเพลงของจรัลในยุคแรก(ยุคโฟล์คซองคำเมือง)ได้ชื่อว่าเป็นยุคคลาสสิกของเขา
แต่หลังจากชุด“ลูกข้าวนึ่ง” “แตกหนุ่ม” และ “อื่อ...จา จา” ที่ออกมาในปี 2525 ดูเหมือนจรัลจะก้าวเดินไปสู่จุดอิ่มตัวของดนตรีแบบอะคูสติกโฟล์ค กอปรกับทิศทางดนตรีของไทยในยุคนั้นเป็นยุคทองของสตริงที่ภาคดนตรีเน้นซาวนด์ของอิเล็คโทรนิคเป็นหลัก บวกกับสิ่งสำคัญคือความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และไม่ยอมหยุดนิ่งของจรัล
นั่นจึงทำให้เขาปรับเปลี่ยนแนวทางเดินหน้าสู่แนวทางใหม่ด้วยการนำเสียงแบบอิเล็คโทรนิคเข้ามาเป็นเสียงหลัก ผสมกับซุ่มเสียงอะคูสติกและดนตรีพื้นเมือง ขณะที่สไตล์เพลงก็ไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะแนวโฟล์คซองอีกต่อไป หากแต่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้ง โฟล์ค ป็อบ ลูกกรุง ร็อก แจ๊ซ ผสานผสมเติมใส่เข้ามา ถือเป็นจรัลในยุคสองที่ทีมวงแบ็คอัพเปลี่ยนมาเป็นวง “แคนเดิ้ล” ร่วมกันเดินหน้าสร้างสรรค์เสียงเพลง ในชื่อ “จรัลกับแคนเดิ้ล” ที่มีผลอัลบั้มออกมา 2 ชุดด้วยกันคือ “บ้านบนดอย”(2527) และ“เอื้องผึ้งจันผา”(2528)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้านหนึ่งย่อมมีคนชื่นชอบ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะกับพวกนักวิจารณ์จำนวนหนึ่ง แต่จรัลกับแคนเดิ้ลที่แม้จะมีอัลบั้มออกมาเพียง 2 ชุดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานเพลงในยุคนี้ของเขามีดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีเพลงเด่นเพลงดังอยู่พอสมควรแล้ว หนึ่งในนั้นยังเป็นโคตรเพลงที่โด่งดังที่สุดของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งยังคงความอมตะมาจนทุกวันนี้

สำหรับบทเพลงเด่นๆของจรัลในยุคนี้ เริ่มจากชุดบ้านบนดอย ได้แก่
“บ้านบนดอย”เพลงเปิดอัลบั้มเป็นคันทรีโฟล์คออกสำเนียงบลูส์นิดๆ ว่าด้วยวิถีชีวิตอันสงบงามของบ้านบนดอยในชนบทที่แม้ไม่มีแสงสีทีวี แต่มีน้ำใจ ซึ่งจะว่าไปนี่เป็นเหมือนบทบันทึกของวิถีชนบทในยุคนั้น เพราะเดี๋ยวนี้บ้านบนดอยและบ้านเรือนในชนบท มีความเจริญทางวัตถุแทบไม่เหลือเค้าบ้านบนดอยในเพลงของจรัลแล้ว
“ม่อฮ่อม” บทเพลงอนุรักษ์การแต่งกายแบบล้านนากับเสื้อม่อฮ่อมที่คนไทยรู้จักกันดี, “ฟ้าใสใส” สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บช้ำใจ เปลี่ยวเหงา คิดถึงบ้าน ของคนชนบทที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ “ล่องแม่ปิง” อีกหนึ่งเพลงคลาสสิกของจรัลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเสียงสวยๆอันเป็นเอกลักษณ์ของสุนทรี เวชานนท์ แต่ล่องแม่ปิงในชุดนี้ขับร้องโดยจรัลที่ฟังให้อารมณ์ต่างไปอีกแบบ
ล่องแม่ปิง เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้จรัลยังไม่ทิ้งซาวนด์ในแบบโฟล์คซองคำเมือง เพราะเพลงนี้เป็นการนำท่วงทำนองพื้นบ้าน นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาเล่นร่วมกับอะคูสติกกีตาร์
อีกเพลงหนึ่งที่ยังคงอารมณ์ในแบบโฟล์คซองคำเมืองก็คือ “ลุงต๋าคำ” เพลงบัลลาด(เพลงเล่าเรื่องชีวิตคน)เล่าเรื่องราวอันน่าเศร้าของคุณลุงวณิพกคนหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นยอดนักเล่าเรื่องผ่านบทเพลงของจรัลที่เขาเคยสร้างชื่อไว้กับเพลง “อุ๊ยคำ”ในยุคคลาสสิก

จากชุดบ้านบนดอยมาสู่ชุดเอื้องผึ้งจันผา อัลบั้มนี้มีเพลงเด่นๆได้แก่
“เอื้องผึ้งจันผา” เพลงเปิดอัลบั้มเล่าตำนานโศกนาฏกรรมรักของล้านนา ดนตรีเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีสตริงที่ฟังแล้วออกกลิ่นลูกกรุงนิดๆ
“แม่ค้าปลาจ่อม” เพลงบัลลาดเศร้าโศกฟังแล้วเศร้าไม่ต่างจากลุงต๋าคำ อุ๊ยคำ จรัลยังคงเป็นยอดนักเล่าเรื่องผ่านบทเพลงเช่นเดิม เพลงนี้จะมีความต่างจากเพลงบัลลาดก่อนหน้านั้นตรงที่จรัลนำเสียงของคีย์บอร์ดใส่เข้ามาเป็นเสียงเด่นควบคู่ไปกับการเกากีตาร์เสียงใสๆ
“นายบุญทัน” บทเพลงอารมณ์ดีแนว “คนหน้าง่าว”, “ฮานี้บ่เฮ้ย” ฟังสบายๆ ว่าด้วยนายบุญทันทหารเกณฑ์ที่ไม่รู้จักซ้าย-ขวา เพลงนี้หากตีความกันให้ลึกๆถือเป็นเพลงที่มีความนัยไม่น้อย
และก็มาถึงหนึ่งในสุดยอดบทเพลงของจรัล นั่นก็คือ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่มีการนำมาคัฟเวอร์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “นรีกระจ่าง คันธมาส”, “ก้อย : พรพิมล ธรรมสาร”, “เดอะ ซิตี้ คอรัส”, “นันทิดา แก้วบัวสาย”, “ภูสมิง หน่อสวรรค์” และ “ศุ บุญเลี้ยง” เป็นต้น
นอกจากนี้เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ยังมีการแปลเป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ในชื่อ "To the Brave Dreamer" โดย“คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” และได้มอบให้ “ไตรศุลี มโนเพ็ชร” ลูกชายของจรัลขับร้องครั้งแรก ในงานคอนเสิร์ต "ตำนานโฟล์ค บนลานหญ้านุ่ม ใต้ดวงดาว" เมื่อปี 2541
เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน แต่งขึ้นจากความคิดของจรัลที่รู้สึกว่า โลกใบนี้มีผู้คนมากมายที่ได้ต่อสู้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายคนที่มีความฝัน แต่อาจจะติดขัดในด้านต่างๆ เช่น เงินทุน กำลัง ความช่วยเหลือ จรัลจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้เขาเหล่านั้น
เพลงนี้มีเนื้อหาให้กำลังใจที่มีความลงตัวทั้งเนื้อหา ภาษา และดนตรี เป็นโฟล์คป็อบเมโลดี้สวยงาม ฟังแล้วติดหูง่ายดีเหลือเกิน นั่นจึงทำให้นี้กลายเป็นโคตรเพลงของจรัล เพราะเป็นเพลงดังอันดับหนึ่งของจรัลที่คงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้
นับเป็นรางวัลแด่คนช่างฝันที่จรัลมอบให้แด่ผู้มีฝันทุกคน
***********************************************************
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com
“อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำ สัญญา อย่าเปลี่ยนวาจา เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป
ให้เธอหมาย มั่น คง แล้วอย่าหลงไปเชื่อใคร เดิน ทาง ไป อย่าหวั่นไหวใครขวางกั้น...”
เพลง : “รางวัลแด่คนช่างฝัน” : จรัล มโนเพ็ชร
..................
แม้ดนตรีในแบบ“โฟล์คซองคำเมือง”อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จะกลายเป็นลายเซ็นประจำตัวของ“จรัล มโนเพ็ชร” ที่สร้างชื่อให้เขาอย่างท่วมท้น อีกทั้งยังทำให้ผลงานเพลงของจรัลในยุคแรก(ยุคโฟล์คซองคำเมือง)ได้ชื่อว่าเป็นยุคคลาสสิกของเขา
แต่หลังจากชุด“ลูกข้าวนึ่ง” “แตกหนุ่ม” และ “อื่อ...จา จา” ที่ออกมาในปี 2525 ดูเหมือนจรัลจะก้าวเดินไปสู่จุดอิ่มตัวของดนตรีแบบอะคูสติกโฟล์ค กอปรกับทิศทางดนตรีของไทยในยุคนั้นเป็นยุคทองของสตริงที่ภาคดนตรีเน้นซาวนด์ของอิเล็คโทรนิคเป็นหลัก บวกกับสิ่งสำคัญคือความเป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ และไม่ยอมหยุดนิ่งของจรัล
นั่นจึงทำให้เขาปรับเปลี่ยนแนวทางเดินหน้าสู่แนวทางใหม่ด้วยการนำเสียงแบบอิเล็คโทรนิคเข้ามาเป็นเสียงหลัก ผสมกับซุ่มเสียงอะคูสติกและดนตรีพื้นเมือง ขณะที่สไตล์เพลงก็ไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะแนวโฟล์คซองอีกต่อไป หากแต่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้ง โฟล์ค ป็อบ ลูกกรุง ร็อก แจ๊ซ ผสานผสมเติมใส่เข้ามา ถือเป็นจรัลในยุคสองที่ทีมวงแบ็คอัพเปลี่ยนมาเป็นวง “แคนเดิ้ล” ร่วมกันเดินหน้าสร้างสรรค์เสียงเพลง ในชื่อ “จรัลกับแคนเดิ้ล” ที่มีผลอัลบั้มออกมา 2 ชุดด้วยกันคือ “บ้านบนดอย”(2527) และ“เอื้องผึ้งจันผา”(2528)
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้านหนึ่งย่อมมีคนชื่นชอบ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังทำใจไม่ได้ โดยเฉพาะกับพวกนักวิจารณ์จำนวนหนึ่ง แต่จรัลกับแคนเดิ้ลที่แม้จะมีอัลบั้มออกมาเพียง 2 ชุดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า งานเพลงในยุคนี้ของเขามีดีไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีเพลงเด่นเพลงดังอยู่พอสมควรแล้ว หนึ่งในนั้นยังเป็นโคตรเพลงที่โด่งดังที่สุดของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งยังคงความอมตะมาจนทุกวันนี้
สำหรับบทเพลงเด่นๆของจรัลในยุคนี้ เริ่มจากชุดบ้านบนดอย ได้แก่
“บ้านบนดอย”เพลงเปิดอัลบั้มเป็นคันทรีโฟล์คออกสำเนียงบลูส์นิดๆ ว่าด้วยวิถีชีวิตอันสงบงามของบ้านบนดอยในชนบทที่แม้ไม่มีแสงสีทีวี แต่มีน้ำใจ ซึ่งจะว่าไปนี่เป็นเหมือนบทบันทึกของวิถีชนบทในยุคนั้น เพราะเดี๋ยวนี้บ้านบนดอยและบ้านเรือนในชนบท มีความเจริญทางวัตถุแทบไม่เหลือเค้าบ้านบนดอยในเพลงของจรัลแล้ว
“ม่อฮ่อม” บทเพลงอนุรักษ์การแต่งกายแบบล้านนากับเสื้อม่อฮ่อมที่คนไทยรู้จักกันดี, “ฟ้าใสใส” สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บช้ำใจ เปลี่ยวเหงา คิดถึงบ้าน ของคนชนบทที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ “ล่องแม่ปิง” อีกหนึ่งเพลงคลาสสิกของจรัลที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเสียงสวยๆอันเป็นเอกลักษณ์ของสุนทรี เวชานนท์ แต่ล่องแม่ปิงในชุดนี้ขับร้องโดยจรัลที่ฟังให้อารมณ์ต่างไปอีกแบบ
ล่องแม่ปิง เป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้จรัลยังไม่ทิ้งซาวนด์ในแบบโฟล์คซองคำเมือง เพราะเพลงนี้เป็นการนำท่วงทำนองพื้นบ้าน นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาเล่นร่วมกับอะคูสติกกีตาร์
อีกเพลงหนึ่งที่ยังคงอารมณ์ในแบบโฟล์คซองคำเมืองก็คือ “ลุงต๋าคำ” เพลงบัลลาด(เพลงเล่าเรื่องชีวิตคน)เล่าเรื่องราวอันน่าเศร้าของคุณลุงวณิพกคนหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นยอดนักเล่าเรื่องผ่านบทเพลงของจรัลที่เขาเคยสร้างชื่อไว้กับเพลง “อุ๊ยคำ”ในยุคคลาสสิก
จากชุดบ้านบนดอยมาสู่ชุดเอื้องผึ้งจันผา อัลบั้มนี้มีเพลงเด่นๆได้แก่
“เอื้องผึ้งจันผา” เพลงเปิดอัลบั้มเล่าตำนานโศกนาฏกรรมรักของล้านนา ดนตรีเป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีสตริงที่ฟังแล้วออกกลิ่นลูกกรุงนิดๆ
“แม่ค้าปลาจ่อม” เพลงบัลลาดเศร้าโศกฟังแล้วเศร้าไม่ต่างจากลุงต๋าคำ อุ๊ยคำ จรัลยังคงเป็นยอดนักเล่าเรื่องผ่านบทเพลงเช่นเดิม เพลงนี้จะมีความต่างจากเพลงบัลลาดก่อนหน้านั้นตรงที่จรัลนำเสียงของคีย์บอร์ดใส่เข้ามาเป็นเสียงเด่นควบคู่ไปกับการเกากีตาร์เสียงใสๆ
“นายบุญทัน” บทเพลงอารมณ์ดีแนว “คนหน้าง่าว”, “ฮานี้บ่เฮ้ย” ฟังสบายๆ ว่าด้วยนายบุญทันทหารเกณฑ์ที่ไม่รู้จักซ้าย-ขวา เพลงนี้หากตีความกันให้ลึกๆถือเป็นเพลงที่มีความนัยไม่น้อย
และก็มาถึงหนึ่งในสุดยอดบทเพลงของจรัล นั่นก็คือ “รางวัลแด่คนช่างฝัน” ที่มีการนำมาคัฟเวอร์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น “นรีกระจ่าง คันธมาส”, “ก้อย : พรพิมล ธรรมสาร”, “เดอะ ซิตี้ คอรัส”, “นันทิดา แก้วบัวสาย”, “ภูสมิง หน่อสวรรค์” และ “ศุ บุญเลี้ยง” เป็นต้น
นอกจากนี้เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ยังมีการแปลเป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ในชื่อ "To the Brave Dreamer" โดย“คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์” และได้มอบให้ “ไตรศุลี มโนเพ็ชร” ลูกชายของจรัลขับร้องครั้งแรก ในงานคอนเสิร์ต "ตำนานโฟล์ค บนลานหญ้านุ่ม ใต้ดวงดาว" เมื่อปี 2541
เพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน แต่งขึ้นจากความคิดของจรัลที่รู้สึกว่า โลกใบนี้มีผู้คนมากมายที่ได้ต่อสู้ ทำทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายคนที่มีความฝัน แต่อาจจะติดขัดในด้านต่างๆ เช่น เงินทุน กำลัง ความช่วยเหลือ จรัลจึงแต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจให้เขาเหล่านั้น
เพลงนี้มีเนื้อหาให้กำลังใจที่มีความลงตัวทั้งเนื้อหา ภาษา และดนตรี เป็นโฟล์คป็อบเมโลดี้สวยงาม ฟังแล้วติดหูง่ายดีเหลือเกิน นั่นจึงทำให้นี้กลายเป็นโคตรเพลงของจรัล เพราะเป็นเพลงดังอันดับหนึ่งของจรัลที่คงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้
นับเป็นรางวัลแด่คนช่างฝันที่จรัลมอบให้แด่ผู้มีฝันทุกคน
***********************************************************
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com