xs
xsm
sm
md
lg

“จากยอดดอย-มิดะ” อมตะเพลง“จรัล”ยุคคลาสสิค/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพลงวาน : โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ภาพจรัลสมัยหนุ่มๆ
“...บนฟ้ามีเมฆลอย บนดอยมีเมฆบัง มีสาวงามชื่อดัง อยู่หลังแดนดงป่า มีกะลาล่าเซอ มีหนุ่มๆเผลอฮ้องหา มีสาวงามขึ้นมา แล้วมี...มิดะ...”

เพลง“มิดะ” โดย “จรัล มโนเพ็ชร”

งานเพลงยุคแรกของ“จรัล มโนเพ็ชร” ได้ชื่อว่าเป็นผลงานเพลงยุคคลาสสิคของเขา ยุคนี้เป็นยุคโฟล์คซองคำเมืองที่จรัลได้ผสมผสานแนวทางระหว่างดนตรีพื้นเมืองล้านนากับดนตรีตะวันตก ก่อนนำเสนอออกมาในแนวอะคูสติก มีกีตาร์เสียงใสๆเล่นเป็นหลัก ร่วมด้วยฮาร์โมนิก้าเสริมเติมในบางเพลง

โดยหลังจากที่จรัลแจ้งเกิดโด่งดังกับบทเพลงอมตะ อาทิ สาวมอเตอร์ไซค์ น้อยไจยา พี่สาวครับ ของกิ๋นคนเมือง และอุ๊ยคำ ในชุด“โฟล์คซองคำเมือง อมตะ”(1) ที่ออกมาในปี พ.ศ. 2521(นำเสนอไปในตอนที่แล้ว) จรัลได้เดินทางต่อในแนวทางสายโฟลค์ซองคำเมือง (ต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาโฟล์คซองคำเมือง”)โดยมีผลงานออกมา ได้แก่ โฟล์คซองคำเมือง อมตะ 2(2521),เสียงซึงจากสันทราย(2522),จากยอดดอย(2523),ลูกข้าวนึ่ง,แตกหนุ่ม และอื่อ...จา...จา(2525)

สำหรับเพลงดังเพลงเด่นที่ยังคงความนิยมค้างฟ้านอกเหนือไปจากชุดโฟล์คซองคำเมือง อมตะแล้วก็จะเป็นบทเพลงในชุด“จากยอดดอย”และ“ลูกข้าวนึ่ง”

จากยอดดอยเป็นงานเพลงจรัลทำขึ้นเพื่อสดุดีวีรกรรมของทหารหาญที่ไปต้องเผชิญกับความยากลำบาก เสี่ยงชีวิต รบพุ่งเพื่อปกป้องประเทศชาติ ปกป้องผืนแผ่นดิน

บทเพลงจากยอดดอย ประพันธ์คำร้องโดย “พันโท ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช” ทำนองโดย “อ.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ทั้งคู่ร่วมกันประพันธ์ขึ้น เพื่อเป็นบทเพลงให้กำลังใจแด่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ชายแดนเมื่อครั้งต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

เพลงนี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในยุคนั้น จรัลจึงขอพระราชทานพระราชานุญาต นำมาขับร้องเป็นเพลงนำในอัลบั้มจากยอดดอยซึ่งถือเป็นหนึ่งในเพลงอมตะของเขา
ปกอัลบั้มจากยอดดอยที่นำกลับมาทำใหม่
เพลงจากยอดดอยเปิดนำมาอย่างน่าฟังด้วยเสียงกีตาร์ปิ๊กกิ้งมีลูกเล่นก่อนส่งเข้าเพลงซึ่งจรัลร้องเพลงนี้ด้วยเสียงนุ่มทุ้มต่ำในอารมณ์“สันติ ลุนเผ่” โดยมี“สุนทรี เวชานนท์” มาร่วมร้องเป็นคอรัส ตอนเด็กๆที่ฟังเพลงนี้ผมรู้สึกฮึกเหิม แต่พอมาในยุคนี้เวลาฟังเพลงจากยอดดอยทีไรผมรู้สึก“เศร้า”ไม่น้อย

ที่เศร้าเพราะขณะที่ทหารชั้นผู้น้อย ทหารเกณฑ์ต้องออกไปรบ เสี่ยง และเสียชีวิตเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยไม่ว่าจะเป็นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือชายแดนไทย-กัมพูชาที่ถูกทหารเขมรรุกล้ำอยู่บ่อยครั้ง แต่ประทานโทษ!?! พวกทหารชั้นผู้ใหญ่บางคน(ในยุคนี้)ในบ้านเรากลับยอมสยบอยู่ใต้อำนาจชั่วช้าของนักการเมือง ทหารใหญ่พวกนี้ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ มีเงินตรา และมียศถาบรรดาศักดิ์ ดังนั้นเมื่อเจออีหรอบนี้ จะไม่ให้เศร้าได้ยังไง

สำหรับอัลบั้มจากยอดดอยยังมีเพลงดังอมตะค้างฟ้าอีกหนึ่งเพลงนั่นคือ “มิดะ”

เพลงนี้นอกจากในชุดจากยอดดอยแล้ว จรัลได้นำมาบรรจุไว้ในหลายชุดและทำออกมาในหลายเวอร์ชั่น

มิดะเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะมาก การเรียบเรียงก็เยี่ยม เสียงฮาร์โมนิก้าฝีปากจรัลเป่าเพราะจับใจ ทางเกากีตาร์ในเพลงนี้ทั้งทางคอร์ด ทางปิ๊กกิ้ง(เกา)นั้น ฟังเรียบง่ายแต่ทางดีมากชนิดที่คนหัดเล่นเกากีตาร์ต้องใช้เพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงแบบฝึกหัด

เนื้อหาของมิดะในบทเพลงที่จรัลนำเสนอ เป็นเรื่องราวของวิถีหญิงสาวชาวอาข่า(บางคน)กับลานสาวกอด และประเพณีของคนที่ถูกเลือกให้เป็นมิดะ ซึ่งในยุคนั้นคนยังนิยมเรียกชาวอาข่าว่า“อีก้อ” แต่ต่อมาเป็นที่ยอมรับกันว่าอีก้อเป็นคำเรียกขานชาวอาข่าที่ไม่สุภาพ

มิดะถือเป็นเพลงเจ้าปัญหา เพราะเนื้อเพลงนี้เมื่อถูกนำเสนอออกมา ภายหลังได้มีข้อโต้แย้งจากชาวอาข่าว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบทเพลงนั้นไม่เป็นความจริง และนำมาสู่การเสนอให้แบนเพลงนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 54 นาย“มานิด อัชวงศ์” ผู้จัดการส่วนตัวของจรัลผู้ล่วงลับ และเป็นผู้ถือสิทธิ์ในเพลง“มิดะ” ได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้มีการใช้ลิขสิทธิ์เพลงมิดะอีกต่อไปเพื่อตัดปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ดีภายใต้ข้อโต้แย้งว่าเพลงนี้จริง ไม่จริงนั้น ความจริงประการหนึ่งก็คือ เพลงนี้ดัง แถมยังดังเป็นอมตะเป็นหนึ่งในลายเซ็นของจรัลมาจนถึงทุกวันนี้เสียด้วย
ปกอัลบั้มเก่าเก็บชุดลูกข้าวนึ่ง
จากชุดจากยอดดอยมาฟังเพลงในชุดลูกข้าวนึ่งกันบ้าง

ลูกข้าวนึ่งเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่มีงานเพลงเพราะๆอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงสนุกๆอย่าง “ลูกข้าวนึ่ง” ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีวัฒนธรรมของคนเหนือ หรือเพลง“คนหน้าง่าว” กับปิ๊กกิ้งกีตาร์ติดสำเนียงบลูส์ มีการเล่นคำ สัมผัสอักษร ว่าด้วยเรื่องราวของคนหน้าง่าว(ใครอยากรู้ว่าหน้าง่าวแปลว่าอะไรต้องไปฟังเพลงนี้เอาเอง) ที่ฟังแล้วอดยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ ยิ่งในยุคนี้กับท่อน “อีสาวหน้าง่าว” หลายๆคนฟังแล้วอดนึกถึงใครบางคนไม่ได้ ส่วนเพลง“สามล้อ” นี่ก็สะท้อนวิถีคนขับ 3 ล้อมาแบบรันทดปนน่ารัก

ขณะที่บทเพลงช้าๆและเพลงบัลลาด(เล่าเรื่องชีวิตคน)นั้น ชุดนี้ก็มีให้ฟังกันล่าตั้งแต่ “สาวโรงบ่ม”เป็นบทเพลงสะท้อนยุคสมัยที่ฟังน่ารักดี ส่วนเพลง“เลี้ยงควาย” จรัลเล่าเรื่องความผูกพันของคนกับควายได้อย่างน่าฟังซึ้งใจ

ด้าน“มะเมี๊ยะ”บทเพลงในตำนานถือเป็นบทเพลงรักไม่สมหวังที่ให้อารมณ์สะเทือนใจยามฟัง ส่วน “ตากับหลาน”เพลงนี้ฟังทีไรผมรู้สะทกสะท้อนเศร้าใจในอารมณ์ทุกที ใครอยากรู้ว่าเพลงนี้เศร้า(มาก)อย่างไรคงต้องไปหามาฟังกันเอาเอง

มาถึงซุ่มเสียงใสๆของนักร้องสาวคู่บุญจรัลคือสุนทรี เวชานนท์กันบ้าง ชุดนี้นอกจากสุนทรีจะฝากเสียงและคอรัสไว้ในหลายเพลงแล้ว เธอยังมีบทเพลงที่เด่นๆมากคือ เพลง“สาวเชียงใหม่” ซึ่งเพลงนี้ได้กลายเป็นบทเพลงอมตะประจำตัวของสุนทรีมาจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังส่งให้เธอเป็นดังต้นแบบแห่งซุ่มเสียง(ร้อง)ของแม่หญิงล้านนาที่วันนี้ยังหาใครขึ้นมาเทียบเคียงไม่ได้(เรื่องราวของเพลงสาวเชียงใหม่ผมจะขอยกยอดไปเขียนถึงในตอนที่ว่าด้วยสุนทรี เวชานนท์ในโอกาสหน้า)

และนั่นก็คือบทเพลงดังอมตะของจรัล มโนเพ็ชรในยุคแรก หรือยุคโฟล์คซองคำเมืองซึ่งถือเป็นยุคคลาสสิกของเขา ที่หลังจากนั้นจรัลได้ปรับเปลี่ยนแนวทางเดินหน้าไปแสวงหาเส้นทางใหม่ๆที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่นี่แหละคือวิถีของราชาโฟล์คซองคำเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ ...(อ่านเรื่องราวของบทเพลงจรัล มโนเพ็ชรในยุคหลังต่อตอนหน้า)
*****************************************

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
- เรื่องราวของจรัล มโนเพ็ชร ยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป
- ดูข้อมูลที่น่าสนใจของจรัล มโนเพ็ชร ได้ใน http://jaranmanopetch.com
กำลังโหลดความคิดเห็น