xs
xsm
sm
md
lg

ด้วยความเคารพ “ภูมิจิต” คิด(แบบ)ขบถ!?!/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
4 หนุ่มวงภูมิจิต
“กำไรสูงสุด” และ“ความตีบตันทางไอเดีย”เป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้ 2 ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของบ้านเรา ลดจำนวนการออกอัลบั้ม(เต็ม)ของศิลปินในสังกัดลงไปมากโข

ถ้าหากทำอัลบั้มเต็มออกมาแล้วไม่ทำกำไร หรือทำกำไรไม่คุ้มค่าเหนื่อย อย่าทำเลยดีกว่า สู้ออกเป็นซิงเกิ้ลที่คิดว่าขายได้ผสมกับการอัดแรงโปรโมทผ่านสื่อของตัวเอง เพื่อฟันกำไรจากยอดดาวน์โหลดถือเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเจ็บตัวได้ดีทีเดียว

แต่นี่ถือเป็นการสบช่องเปิดประตูให้พวกศิลปินค่ายเล็กๆ ค่ายใต้ดิน อินดี้ ส่งผลงานเพลง(อัลบั้มเต็ม)ออกสู่ยุทธจักรเพลงไทยกันอย่างต่อเนื่อง

แม้ศิลปินค่ายเล็กจะสู้พวกค่ายใหญ่ในเรื่อง กำลังทรัพย์ เครื่องไม้เครื่องมือ บุคลากรดนตรีในระดับหัว(ที่ถูกค่ายใหญ่กว้านซื้อตัวไป) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การซื้อสื่อ และการตลาดไม่ได้ แต่ในด้านความสด ไอเดีย ความเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงในด้านศิลปะทางดนตรี พวกค่ายเล็กมีเปรียบมีภาษีกว่าหลายช่วงตัว เพราะไม่ต้องไปพะวงว่า“คุณอา” หรือ “เฮีย” จะชอบหรือไม่

อย่างไรก็ดี งานนี้ใช่ว่าผลงานเพลงจากค่ายเล็กค่ายน้อยจะดีกว่าค่ายใหญ่เสมอไป เพราะที่ผ่านมามันมีให้เห็นบ่อยครั้งไปว่า ศิลปินอินดี้ ใต้ดิน ศิลปินกระแสรอง จำนวนมากผลิตผลงานออกมาได้ไม่เอาอ่าวเอาแหลม ชนิด “หมูเมินหน้า หมาไม่รับประทาน”

แต่ประทานโทษ!?! นั่นมันใช้ไม่ได้กับวง“ภูมิจิต” ณ นาทีนี้

ภูมิจิต เป็นวงดนตรีอินดี้ อิสระ ที่เริ่มฟอร์มวงเล่นดนตรีกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบัน พวกเขามีสมาชิก 4 คน ได้แก่ "ตอง -พุฒิยศ ผลชีวิน” : ร้องนำ-กีตาร์-เปียโน, “กานต์ -เกษม จรรยาวรวงศ์” : กีตาร์, “บอม -ธิตินันท์ จันทร์แต่งผล : เบส และ “แมก -อาสนัย อาตม์สกุล : กลอง

ภูมิจิตมีผลงานเพลงออกมาเป็นครั้งแรกกับกลุ่ม “โคตรอินดี้” ในปี 2548 กับเพลง “รอผล Ent'” ที่แม้จะไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็เป็นการเพาะเชื้อให้พวกเขาเดินหน้าทำเพลงเองแบบไม่ง้อค่าย จนมีผลงานสตูดิโออัลบั้มชุดแรกของตัวเองออกมาคือ “Found and Lost” ในปี 2551

Found and Lost แม้ไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายและชื่อเสียง(อีกเช่นกัน) แต่ก็สร้างชื่อแบบเฉพาะกลุ่มให้กับวงดนตรีวงนี้ พร้อมกับคำชมจากนักวิจารณ์ว่างานดีเจ๋ง สอบผ่าน สำหรับวงหน้าใหม่

จากนั้นภูมิจิตส่ง “Bangkok Fever” ผลงานชุดที่ 2 ออกมาในปี 2553
ปกอัลบั้มชุด 2 Bangkok Fever ที่ทำมาในขนาดใหญ่เป็นพิเศษประมาณปกแผ่นเสียง
Bangkok Fever คือตัวตนของความเป็นภูมิจิตที่ชัดเจนมากขึ้นกับดนตรีอินดี้ร็อกที่มุ่งเน้นไปในแนวบริทิชร็อกและไซคีเดอลิกยุคใหม่ โดยมีลายเซ็นอันโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครที่สอดแทรกเข้าไปนั่นก็คือ “สำเนียงไทย”

ในขณะที่ทิศทางการเขียนเพลงของวงนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่า พวกเขามีมุมมองต่อโลก ต่อสังคมไทย ต่อระบบ ที่สวนทางแตกต่างจากวิถีของคนทั่วไปในมุมมองของคน(ที่อยู่ใน)เมืองใหญ่ ซึ่งในอดีต บทเพลงพวกนี้อาจจะถูกจัดให้เป็นเพลงเพื่อชีวิต เพลงเพื่อสังคม หรือเพลงเพื่ออะไรก็ตามแต่

แต่ที่แน่ๆ หลายเพลงเป็นที่แสลงหู“ผู้ใหญ่”ที่ไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านหากเป็นผู้ใหญ่ที่มักจะอ้างตัวเองว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน หลายเพลงแสลงใจพวกอนุรักษ์นิยมมือถือสากปากคาบคัมภีร์ ฟังขัดหูดูขวางตาพวกนักปกครอง ขณะที่บางเพลงที่ภูมิจิตคิด ตั้งคำถาม และนำเสนอออกมาทั้งในแบบตรงๆหรือแบบแฝงนัยยะก็ถูกใครใครบางคนมองว่า ไอ้พวกนี้มันคิดแบบขบถนี่หว่า!?! (ทั้งๆที่ผ่านมาพวกเอ็งปล่อยให้อะไรก็ไม่รู้สนตะพายจูงชีวิตอยู่ร่ำไป)

อย่างไรก็ดี Bangkok Fever ที่ค่อนข้างลงตัวทั้งภาคดนตรี เนื้อหา และวิธีคิด ที่ได้รับไปทั้งคำชม ชื่อเสียง(ที่มากขึ้น) ได้ส่งให้ภูมิจิตขึ้นชั้นมาเป็นวงอินดี้ในระดับแถวหน้าของเมืองไทยในยุคปัจจุบัน

มาวันนี้ภูมิจิตมีอัลบั้มใหม่ของตัวเองออกมาอีกครั้งในชื่อชุด “Home Floor”

อัลบั้มนี้ไม่ใช่สตูดิโออัลบั้มผลงานลำดับที่ 3 ของเขา แต่เป็นผลงานชุดพิเศษประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ ตอง บอม และแมก (พร้อมตัวช่วยอีกหลายคน) ขณะที่กานต์มือกีตาร์นั้นไปเรียนต่อที่อังกฤษ นี่จึงเป็นผลงานเฉพาะกิจคั่นผลงานลำดับต่อไป ที่พวกเขาบอกว่าจะรอให้กานต์กลับมาก่อน
ปกหน้าอัลบั้มล่าสุด Home Floor
Home Floor มีแค่ 7 เพลง(+ 1 Hidden Track) เป็นการนำเพลงจากชุดแรกและชุดสองมาเล่นใหม่
แต่ไม่ใช่เป็นอัลบั้มรวมฮิต เพราะวงนี้ไม่มีเพลงฮิตตามความตลาดเพลงหลัก

Home Floor เปิดประเดิมกันด้วย “เมฆสีรุ้ง”(Found and Lost) ขึ้นต้นนำมาด้วยเสียงใสๆของอูคูเลเล่ตามสมัยนิยม ก่อนส่งเข้าเพลงมาแบบเบาๆมีเสียงเครื่องสายล่องลอยผสมเข้ามา พร้อมด้วยเสียงฝนตกพรำ ในท่อนแยกได้ “ผิง-ลลิตา เตชะกัมพลสารกิจ”มาส่งเสียงหวานๆใสๆให้ความรู้สึกแตกต่างไปจากจากต้นฉบับที่เป็นร็อกดิบๆ

“Nobel”(Bangkok Fever) ดนตรีฟังไม่มันสะใจแบบต้นฉบับ แต่ได้ความละเมียดมาแทนที่ เปิดนำมาด้วยเสียงอูคูเลเล่ในสำเนียงพิณของอีสาน จากนั้นจึงส่งเข้าเพลงที่ท่อนแรกนั้นโดนมากๆ

“ในโลกสังคมอุดมปัญญา ที่ใบปริญญามีค่ากว่าความรู้ ในโลกสังคมอุดมปัญญา ที่โทรทัศน์สีมีค่ากว่าคุณครู ที่เหลือแต่ดาราให้เราเฝ้าดู และมีข่าวบันเทิงตั้งแต่เช้าตรู่...”

โนเบล เป็นหนึ่งในบทเพลงที่สะท้อนวิถีของสังคมยุคนี้ออกมา พร้อมตั้งคำถามให้ใครหลายคนมองเป็นขบถสังคมว่า “...ฉันนั่งเฝ้ามองดูความเป็นจริง เมื่อใบปริญญามีค่ากว่าความรู้...”

ภาคดนตรีของเพลงนี้มีกลิ่นดนตรีพื้นบ้านอีสานผสมไซคีเดลิกมีไลน์เครื่องสายแน่นๆเล่นโอบอุ้ม ส่วนท่อนแยกได้ตุล-อพาร์ตเมนต์คุณป้ามาร่วมแจมกับท่อนแร๊พมันๆที่เนื้อหานั้นแสบสันต์พอตัว

ถัดมาเป็น “ไม่เป็นดั่งฝัน”(Found and Lost) มาในแนวบัลลาด มีเสียงอะคูสกีตาร์เล่นนำ แต่เสียงคีบอร์ดที่เล่นตีคู่กันไปนี่สิ ฟังเวิ้งว้างเข้ากับเสียงลอยๆของตองได้ดีเป็นบ้า

ส่วน “ด้วยความเคารพ”(Bangkok Fever) นี่คือเพลงที่ถูกใครบางคนมองว่าพวกเขามีแนวคิดเป็นขบถต่อสังคม โดยภูมิจิตได้ตั้งคำถามถึง วิถีห่วยๆต่างๆของสังคมบ้านเรา ซึ่งมีคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นตัวช่วยฟอกความห่วยเหล่านั้นให้ดูดีขึ้นมา

“...หลายสิ่ง ที่เธอ ได้ทำ มาจากปัญญาที่มืดดำ ที่ทำก็ใช่ว่าทำเรื่องถูก สืบทอด กันมาเป็นประเพณี บางอย่างก็ทำให้คนตายฟรี ประเพณีก็ใช่ว่าเป็นเรื่องถูก...”

อะคูสติกกีตาร์ในเพลงนี้เล่นได้มันมาก ทั้งตีคอร์ด เคาะ โซโล โดยเฉพาะลูกโซโลในแบบสเปนที่เจ๋งทีเดียว
ปกหลังอัลบั้มล่าสุด Home Floor
เบรกอารมณ์กับ “มากมายก่ายกอง”(Found and Lost) ขึ้นต้นมาด้วยเปียโนเพราะๆ แต่ใช่ว่าจะหวาน เพราะเข้าเพลงมาแบบโจ๊ะๆ มีกลิ่นของแจ๊ซผสมด้วยลูกอิมโพรไวซ์จากแซ็กโซโฟนที่เสริมใส่เข้ามาแบบมันๆ

“ลุมพินี” (Bangkok Fever) ขึ้นต้นด้วยเสียงเปียโนใสๆมาในแบบบัลลาดเพราะแต่เหงาๆ ท่อนกลางเพลงมีเสียงเครื่องสายลอยๆมาช่วยเติมเต็มความเหงาให้สูงขึ้น ขณะที่ท่อนท้ายภาคดนตรีมีเครื่องสายเล่นเป็นพระเอกแม้จะเพิ่มดีกรีความหนาแน่นและความเข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งฟังเหงาอ้างว้างมากขึ้นตามไปด้วย

มาถึงแทรคที่ 7 กับ “Home Floor” บทเพลงใหม่หนึ่งเดียวในอัลบั้มมาในแนวคิด บ้านเราแสนสุขใจ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา เป็นบทเพลงที่เปี่ยมพลังฟังให้ความอบอุ่นชุมชื่นใจดี

หลังจาก Home Floor อัลบั้มชุดนี้ยังมี Hidden Track ซ่อนอยู่ ที่ต้องทิ้งช่วงเสียงเงียบๆไปสักหลายนาที ก่อนจะได้ฟังบทเพลงที่ซ่อนเร้นคือ “รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน”( Found and Lost) ที่ขึ้นต้นมาในซุ่มเสียงแบบไซคีเดลิก ก่อนส่งเข้าเพลงแบบโคตรใส และอินเทรนด์ด้วยอะคูสติกเพราะๆในแบบเซิร์ฟมิวสิค ที่แม้จะฟังหลุดออกมาจากโทนรวมของอัลบั้ม แต่ก็เป็นบทเพลงเพราะๆฟังสบาย เนื้อหาดีๆที่ไม่ควรปล่อยให้ลอยผ่าน โดยเฉพาะในท่อนแร๊พที่แอบจิกกัดผู้นำประเทศอย่างสะเด่าทรวง “...เหมือนนายกฯที่หมดไฟ แต่(รัวๆ-ฟังไม่รู้เรื่อง)ใจสู้ ผิดๆถูกๆไม่รู้ แต่มันต้องผ่านไปให้ได้ แก้ปัญหามั่วๆให้ผ่านพ้นไป ไม่เป็นไรหรอกคนไทยสบายแฮร์...”โอ้ว เย...

ครับ และนั่นก็เป็นบทเพลงจำนวนไม่มากไม่มาย 8 เพลง 7 แทรค จากวงภูมิจิต ที่เกือบทั้งหมด(ยกเว้น Home Floo)เป็นการนำเพลงจากอัลบั้มชุดแรก -Found and Lost และชุดสอง- Bangkok Fever มาเล่นใหม่ โดยเน้นไปในสรรพสำเนียงอะคูสติกผสมกลิ่นอายพื้นบ้าน และไลน์ประสานของเครื่องสายที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากต้นฉบับอยู่พอตัว นับเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการทางดนตรีที่น่าฟังและน่าสนใจของวงนี้ (ส่วนใครที่อยากฟังแนวคิดใหม่ๆ มุมมองอันน่าสนใจ คงต้องรออัลบั้มชุดที่ 3 ของพวกเขา)

ผลงานเพลงชุดนี้จะว่าไปเป็นเหมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ที่มีกลิ่นใหม่ เป็นกลิ่นที่เหมาะสำหรับแฟนเพลงที่นิยมในบทเพลงที่แตกต่าง เนื้อหาไม่ซ้ำซากหมกหมุ่นอยู่กับความรักน้ำเน่าจนลืมหมดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

หากแต่นี่ถือเป็นบทเพลงที่ช่วยกระตุ้นให้รอยหยักในสมองของคนฟังได้ทำงานขบคิดตาม แถมบางเพลงที่วงนี้ถูกใครบางคนมองว่าเป็นพวกมีแนวคิดขบถนั้น ด้วยความเคารพหากฟังให้ลึกแล้วคิดตามจะพบว่านี่คือความจริงที่ถูกมองข้ามละเลยของสังคมนี้

นับว่างานเพลงของวงภูมิจิตถือเป็นหนึ่งในวงดนตรีรุ่นใหม่ของบ้านเรา ที่สามารถใช้คำว่าน่าภาคภูมิใจได้อย่างสมภาคภูมิ
****************************************

คลิกฟังเพลง Nobel
กำลังโหลดความคิดเห็น