xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียรามา : "14 ยอดนางสิงห์ร้าย" วีรสตรีตระกูลหยาง

เผยแพร่:   โดย: ฟ้าธานี


เมื่อลูกหลานของตระกูลนักรบถูกสังหารในการศึกสงครามกับผู้รุกรานจนเกือบสิ้นตระกูล เหล่า “ขุนศึกหญิงตระกูลหยาง” ทั้ง 14 นาง จึงต้องรับหน้าออกรบแทน กับการนำไพร่พลต้านศึกผู้รุกรานที่ชายแดน แม้จะแทบไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากฮ่องเต้เลยก็ตามที

เรื่องราววีรกรรมของขุนศึกหญิงตระกูลหยางนั้น ถูกเล่าผ่านสื่อต่าง ๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ที่โดดเด่นเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นฉบับทีวีซีรีส์ที่สร้างกันออกมาในทุกยุคทุกสมัย แต่หากจะพูดถึงฉบับหนังคงจะไม่มีครั้งใดยิ่งใหญ่ และได้รับการจดจำเท่ากับ "The 14 Amazons" หรือ "14 ยอดนางสิงห์ร้าย" หนังปี 1972 ของ "ชอว์บราเดอร์" กันอีกแล้ว

เมื่อกล่าวถึงหนังสงครามย้อนยุคของ ชอว์ฯ แล้ว ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าทำออกมาได้ไม่ค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะการทำงานที่จำกัดอยู่ในโรงถ่ายเดิม ๆ ซึ่งยากจะเนรมิตความยิ่งใหญ่ตระการตาใด ๆ ออกมาได้

ขณะเดียวกัน ชอว์ฯ เองก็ไม่เคยสนใจที่จะทุ่มทุนให้กับเรื่องตัวประกอบอะไรมากนัก หนังที่ว่าด้วยการศึกหลาย ๆ เรื่องจึงดูไม่ค่อยจะสมจริงสมจังกันซักเท่าไหร่ แทนที่จะได้เห็นภาพกองทหารใหญ่โต ส่วนใหญ่ก็ทำได้แค่ "หรอมแหรม" เท่านั้น

นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ 14 ยอดนางสิงห์ร้าย หนังทำออกมาได้เหนือมาตรฐานของยุคสมัยอย่างเห็นได้ชัด แม้ต้องยอมรับว่าถึงวันนี้ กาลเวลาได้ผุกร่อนหนังให้ดูล้าสมัยไปบ้างในวันนี้ แต่ภาพรวมของหนังก็ยังน่าพึงพอใจ ทั้งส่วนของงานสร้าง และการเล่าเรื่องของผู้กำกับ เฉินกัง ที่ทำได้ลื่นไหลน่าติดตาม สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าคลาสสิก และพลาดไม่ได้หากจะกล่าวถึงงานเก่า ๆ ของ “ชอว์บราเดอร์”

14 ยอดนางสิงห์ร้าย เอาชนะกำแพงดังกล่าวได้อย่างน่าพึงพอใจ หนังมีความยิ่งใหญ่ให้เห็นอยู่บ้าง กับงานสร้างใหญ่โต, ฉากรบที่ดูสมจริงสมจัง, ถ่ายทำฉากเอาท์ดอร์กันหลายตอน แทนที่จะปักหลักกันในโรงถ่ายของชอว์ฯ อย่างหนังเรื่องอื่น ๆ ฉากสงครามก็มีตัวประกอบยืนกันจนแน่น ว่ากันว่าเป็นหนังที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบริษัท

นอกจากนั้นเหนือหาที่ว่าด้วย "ความรักชาติ", "เชิดชูวีรสตรี", "เกียรติยศ" และ "การเสียสละ" ทำให้ผลงานชิ้นนี้ออกมาให้ความรู้สึกฮึกเหิมขึ้นไปอีก

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นด้วยฉากโศกนาฏกรรม กับการเสียชีวิตในสนามรบของ หยางจงเป่า ขุนศึกตระกูลหยางคนสุดท้าย ก่อนจะตัดฉากไปที่งานเลี้ยงฉลองวันเกิดที่บ้านตระกูลหยาง เป็นงานของ จงเป่า ที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยน้ำมือของพวกศัตรูต่างแดนเซี่ยตะวันตก แต่นายทหารผู้ได้รับมอบหมายให้มาแจ้งข่าวดังกล่าวมาช้าเกินไป ... เมื่อทราบข่าวเหล่าสตรีตระกูลหยางจึงเดินหน้าเข้าสู่สนามรบทันที

แม้จะสร้างออกมาในปี 1972 แต่ 14 ยอดนางสิงห์ร้าย กลับให้ความรู้สึกเหมือนกับหนังยุค 60s โดยเฉพาะการมอบบทเด่นให้กับเหล่านักแสดงหญิง กับการเสนอภาพอันแข็งแกร่งของสตรีเพศ แม้แต่บทผู้ชายอย่าง "หยางเหวินกวง" ทายาทคนสุดท้ายของตระกูลหยาง กับยังมอบให้กับนักแสดงหญิงอย่าง ลิลี่ โห กันเลยทีเดียว

ลิซ่า ลู ดาราหญิงผู้ยิ่งใหญ่อีกคนของวงการหนังฮ่องกงรับบทเป็น เสอไท่จวิน ผู้นำตระกูลหยางออกรบ, ดารางิ้วผู้โด่งดัง หลินปอ เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์แห่งความสง่างาม กับบทมู้กุ้ยอิง สะใภ้คนเก่งของตระกูล ภรรยาของ หยางจงเป่า จะบอกว่าเป็นทหารเอกของขุนศึกหญิงก็คงไม่ผิดนัก ยังมี หลี่ชิง รับบทเป็น หยางปาเม้ย น้องสาวคนที่ 8 แห่งพี่น้องตระกูลหยาง

ในเมื่อขับเน้นความแข่งแกร่งเป็นพิเศษของเพศหญิง เพศชายจึงดูเป็นประชากรชั้นสองในหนังไปแบบช่วยไม่ได้ ฝ่ายเซี่ยตะวันตกผู้รุกราน ที่นอกจากจะเลวบริสุทธิ์แล้ว ยังป่าเถื่อนเกินคน ชนิดดื่มกินเลือดของเชลยศึกกันได้เลยทีเดียว ส่วนข้าราชการตัวถ่วงของราชวงศ์ซ้องก็ดูเป็นตัวร้ายประเภทหาดีไม่ได้เช่นเดียวกัน และมาพร้อมกับข้อเสนอประเภทเจรจาสันติภาพ, แก้ปัญหาด้วยการพูดคุย ซึ่งชัดเจนว่าเป็นทางออกอันขี้ขลาดในหนังเรื่องนี้

ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวคงหนีไม่พ้น หยางเหวินกวง ที่ได้ดาราสาว ลีลี่ โห มาสวมบทบาท ด้วยวัย 26 ปีที่กำลังสวยสุด ๆ เธอทำให้ตัวละครทายาทชายคนสุดท้ายของตระกูลหยางเป็นตัวละครที่ “งาม” ที่สุดในเรื่องไปอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะความตั้งใจของผู้กำกับหรือไม่ เขาประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการสร้างตัวละคร หยางเหวินกวง ให้ออกมาดู “พึ่งพาไม่ได้” ทั้งอ่อนแอ, อ่อนหัด ต้องได้รับการคุ้มครองจากบรรดา ป้า ๆ น้า ๆ อยู่เสมอ

ตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงของ The 14 Amazons ให้นำหนักไปที่ความสามารถทางการศึกของเหล่าขุนพลหญิงเป็นหลัก ทั้งเรื่องสติปัญญา และเชิงรบ รวมถึงการสละชีพด้วย แน่นอนว่าเอื้ออำนวยต่อฉากแอ็กชั่นมากมาย

เฉิงกัง ผู้กำกับได้มอบหมายให้ลูกชายของเขาดูแลคิวบู๊ในหนังเรื่องนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในงานเบื้องหลังของอดีตดาราเด็ก, สตั้นแมนนาม เฉิงเสี่ยวตง ผู้กำกับคิวบู๊ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลกในยุคปัจจุบัน ผู้โด่งดังกับงานทั้ง เดชคัมภีร์เทวดา หรือ โปโยโปโลเย ได้เริ่มต้นอาชีพในสายงานผู้กำกับคิวบู๊ กับการทำงานในกองถ่ายของพ่อตัวเองด้วย

แม้หนังจะใช้เทคนิคตัดต่อ เพื่อช่วยเหลือเหล่านักแสดงหญิงหลายคนในเรื่องไม่ได้ที่อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญการแสดงแอ็กชั่นนักอยู่บ้าง แต่ฉากพะบู๊ของ The 14 Amazons ก็ยังออกมายอดเยี่ยม ให้ความตึงเครียดในแบบหนังสงคราม ละเลงเลือดกันในแบบที่ชวนในนึกถึงงานของ จางเชอะ นอกจากฉากรบพุ่งแล้ว การประมือตัวต่อตัวระหว่างตัวละครของ หลินปอ กับ หลอลี่ ถือว่าน่าประทับใจเป็นพิเศษ เป็นการต่อสู้ชิงไหวชิงพริบที่แม้แต่คนดูก็ยังเอาไม่ออกเลยว่ใครจะเป็นผู้ได้ชัย

นอกเหนือจากฉากรบฉากต่อสู้ที่มีให้ชมกันอยู่ตลอดเรื่องแล้ว ตอนหนึ่งของหนังอันเป็นที่จดจำมากที่สุดอีกช่วง ก็คือฉากที่เรียกกันว่า “สะพานมนุษย์” เมื่อเหล่าทหารเสียสละต่อตัวกันเป็นสะพานเพื่อข้ามหน้าผาที่ทั้งสูงและกว้างให้กับเหล่าขุนพลหญิงของพวกเขาเดินผ่าน ขณะที่ศัตรูก็กำลังไล่หลังมา เป็นภาพที่ทั้งเหลือเชื่อ, น่าทึ่ง และหวาดเสียวไปพร้อม ๆ กัน … นอกจากนั้นก็ยังมีฉากใหญ่อย่างการทำลายคั่นกั้นน้ำ เพื่อตัดทางเดินทัพของศัตรู เป็นฉากเทคนิคพิเศษ ที่ทำออกมาได้ดีตามข้อจำกัด

อาจจะไม่ได้เป็นงานที่ก้าวข้ามพ้นข้อจำกัดแห่งยุคสมัยมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สารของ The 14 Amazons ยังคงแข็งแรงชัดเจน หนังเชิดชูความเก่งกาจกล้าหาญของสตรี เป็นความเข้มแข็งทางจิตใจเหนือร่างกาย ยอมหักไม่ยอมงอ ไร้การประนีประนอม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก










กำลังโหลดความคิดเห็น