“แป๊ะ” พัฒน์ฑริก มีสายญาติ คนนี้แหละที่เป็นผู้ออกแบบ “นครผาเมือง” เมืองสมมติในอาณาจักรเชียงแสน ของภาพยนตร์เรื่อง “อุโมงค์ผาเมือง” เขาเป็นผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศมานาน ทั้งยังเป็นเจ้าของ Brown Sugar Jazz Pub & Restaurant ที่เป็นผับยุคแรกๆ ของเมืองไทยอีกด้วย
27 ปีที่แล้ว …
9 มีนาคม 2528 ร้าน Brown Sugar เปิดอย่างเป็นทางการบนถนนสารสิน และยังยืนหยัดอยู่จนเวลาล่วงเลยมาเกือบ 3 ทศวรรษ จนกลายเป็นตำนานร้านแรกและร้านเดียวที่ยังเหลืออยู่บนถนนสายนี้
อีกไม่กี่วันข้างหน้า … 9 มีนาคม 2555 จะเป็นวันแรกที่ “ Brown Sugar... the Jazz Boutique” ลุคใหม่ อารมณ์เดิม และกว้างขวางกว่า จะเปิดอย่างเป็นทางการบนถนนพระสุเมรุ
“แป๊ะ” ในวงการภาพยนตร์
ย้อนหลังกลับไปเกือบ 30 ปีที่แล้ว “แป๊ะ” พัฒน์ฑริก มีสายญาติเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงจากการถูกแนะนำให้เข้าไปเป็น “ไทยอาร์ตไดเรกเตอร์” ให้แก่ภาพยนตร์เรื่อง The Killing Field (ทุ่งสังหาร - ฉายเมื่อปี 2527) เขาอยู่ในรุ่นเดียวกับ “หนูเล็ก” บุรณี รัชไชยบุญ และมีโอกาสได้พบเจอกับนิวัติ สำเนียงเสนาะ, สมพล สังขะเวส ซึ่งอยู่ในวงการมาก่อน
ภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีโอกาสได้ร่วมงานเป็นครั้งคราว ส่วนมากมักจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ ผลงานเรื่องล่าสุดคือ The Scorpion King (ศึกราชันแผ่นดินเดือด)
หลังจากทำหนังเรื่องThe Killing Field และมีโอกาสได้พบกับผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคุณภาพอีกหลายคนในยุคนั้น เช่น มานพ อุดมเดช , เชิด ทรงศรี และหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ต่อมาได้มีโอกาสร่วมงานกัน เช่น “หย่าเพราะมีชู้” (บทประพันธ์ - อุดม ศุภสินธุ์ / กำกับฯ - มานพ อุดมเดช / สินจัย - นาถยา - อภิชาติ - ชลประคัลภ์ / พูนทรัพย์โปรดักชั่น / 2528) , “ทวิภพ” (บทประพันธ์ - ทมยันตี / กำกับฯ - เชิด ทรงศรี / ฉัตรชัย - จันทร์จิรา / เชิดไชยภาพยนตร์ / 2533) และละครเวทีเรื่อง “แฮมเล็ต” (บทประพันธ์ - วิลเลียม เชกสเปียร์ / กำกับฯ - หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล / ศรัณยู - สินจัย / 2538/ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) เป็นต้น
นี่เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างเท่านั้น
ภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดคือ “อุโมงค์ผาเมือง” และผลงานลำดับต่อไปที่กำลังจะเปิดกล้องคือ “จันดารา” ของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล
ในฐานะที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศ เขาเห็นว่า หนังไทยโดนโรงภาพยนตร์เอาเปรียบสุดๆ
“ไม่มีที่ไหนในโลกที่โรงเอาตั้ง50 % นอกจากซื้อหรือเช่าก็ว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่เมืองนอกเขาไม่ได้คิดเป็นเปอร์เซนต์ คิดเป็นว่าจะซื้อ-เช่าหนังในราคาเท่าไหร่ ถ้าหนังดีโรงก็จะแย่งกันเอามาฉายที่โรงของตัวเองทำนองนี้ สมมติหนังทุนต่ำ 20 ล้านขายได้ 40 ล้านเท่ากับได้ทุนคืน แล้วเงินก้อนนี้ก็ต้องแบ่งให้โรงภาพยนตร์อีก 20 ล้านจะไปเหลืออะไร โรงหนังมันถึงรวย ผุดขึ้นเต็มไปหมดเลย แต่หนังไทยตาย”
“แป๊ะ - บราวน์” ที่สารสิน
นอกจากการทำหนังตามที่เกริ่นไว้ข้างต้นแล้ว อีกอาชีพหนึ่งก่อนเปิดร้านบราวน์ ชูการ์คือ การเป็นสถาปนิก และทำงานอยู่บนถนนสีลม ทุกเช้าเขาจะแวะเวียนมากินข้าว กินโจ๊ก ตรงบริเวณข้างสวนลุมฯ ทุกเช้าที่กินข้าวก็มักจะทอดสายตามายังฝั่งตรงข้าม คิดในใจว่าบริเวณนี้น่าจะทำอะไรได้ เมื่อเสร็จจากการทำหนังเรื่อง The Killing Field เป็นจังหวะที่ “ปุ๊” ฐิติวัลคุ์ รัศมีโกเมน แฟนของแป๊ะกลับมาจากประเทศญี่ปุ่นพอดี และคิดอยากจะมีร้านเล็กๆ ของตัวเองก่อนแต่งงาน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจข้ามถนนไปเดินดูที่ทาง เป็นจังหวะที่คูหาเล็กๆ ในบริเวณนั้นปิดประกาศให้เช่าอยู่ ปี 2527 เขาตัดสินใจเช่าในราคา 15,000 บาทต่อเดือน
คูหาเล็กๆ ห้องเดียวในตอนนั้น เขามุ่งมั่นที่จะทำเป็นร้านกาแฟสวยๆ เพราะได้แรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมแฟนที่ประเทศญี่ปุ่น นั่นเป็นที่มาของร้านชื่อ Brown Sugar
ตั้งใจเปิดร้านโดยคิดจะนำเข้าน้ำตาลเกล็ดเม็ดใหญ่สีคาราเมล (สีน้ำตาลแก่) เข้ามาขายด้วย
“ในเมืองไทยตอนนั้นบราวน์ ชูการ์ยังไม่ค่อยนิยมใช้กัน ใช้แต่น้ำตาลฟอกขาวหรือน้ำตาลทราย ไม่งั้นก็เป็นน้ำตาลทรายแดงไปเลย แต่ตัวที่เป็นอย่างคาราเมลก้อนๆ ยังไม่มี บราวน์ ชูการ์ก็เลยเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น”
สมัยนั้นยังไม่มีผับสำหรับคนไทย ส่วนใหญ่เป็นคลับฝรั่ง บราวน์ ชูการ์ถือเป็นร้านแรก การเปลี่ยนผ่านจาก “ร้านกาแฟ” (กลางวัน) ไปสู่ “ผับ” (กลางคืน) อย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงปีเศษๆ เท่านั้น เนื่องจากเพื่อนฝูง ดารา และคนในแวดวงบันเทิงที่เขามีโอกาสร่วมงานด้วย ไม่นิยมดื่มกาแฟจึงต้องมีเหล้าเบียร์ไว้บริการโดยปริยาย เพลงยุคแรกของร้านเป็นการเปิดแผ่นเสียงและยังไม่มีดนตรีสดอย่างในยุคต่อมา
วันหนึ่ง “ปุ๊” อัญชลี จงคดีกิจ มาที่ร้านและกระโดดไปที่หน้าเคาน์เตอร์เล่นกีตาร์ ร้องเพลง ชื่อของบราวน์ ชูการ์ก็เลยเป็นที่กล่าวขานกันปากต่อปาก ต่อมาหลังจากนั้น ใครใคร่ร้อง ร้อง เต้นกันตามสะดวก
สมัยนั้น … ตึกแถวบริเวณนั้นไม่มีร้านรวง มีเพียงร้านกาแฟกับร้านขายชามสังคโลกอีกร้านหนึ่งเท่านั้น จนเมื่อผู้คนนิยมมาเที่ยวมากขึ้นจนร้านแออัดและเล็กลงถนัดตา ร้านเล็กๆ ก็ต้องขยับเป็นสองคูหา และต่อมามีพรรคพวกเพื่อนฝูงเห็นช่องทางทางธุรกิจก็มาขอร่วมแจมเปิดร้านอยู่ข้างๆ อีกหลายร้านในย่านเดียวกัน
วัฒนธรรมการเที่ยวผับบนถนนสารสินจึงเกิดขึ้น … จนกลายเป็นแหล่งชุมนุมของคนเก๋ๆ ในวงการ ไม่ว่าจะเป็นวงการภาพยนตร์ แฟชั่น โฆษณา ...วัฒนธรรมนี้ทอดยาวอยู่นานเกือบสิบปี และระหว่างสิบปีนี้ก็มีผู้คนที่เข้ามาเปิดร้าน ปิดร้าน เปลี่ยนหุ้นส่วนในบรรดาร้านรวงอื่นมากมาย จนวัฒนธรรมการเที่ยวบนถนนสายนี้สิ้นสุดลง และไม่มีร้านรวงเหลืออยู่อีกเลย นอกจากบราวน์ ชูการ์ที่พาตัวเองยืนยาวมานานถึง 27 ปีเต็ม
ท่วงทำนอง “แจ๊ซ” ในผับ
วันหนึ่ง “ชัย บลูส์” (วันชัย แต่งติพานิช) เดินถือกีตาร์โปร่งเข้ามาที่ร้านแล้วพูดขึ้นว่า
“เฮ้ย! แป๊ะ ร้านน่าจะมีดนตรีหน่อยนะ”
“กลุ่มของชัยบลูส์ก็เลยเป็นนักดนตรีกลุ่มแรกที่เข้ามาเล่นที่ร้าน เล่นกับพี่เปี๊ยกซึ่งปัจจุบันพี่เปี๊ยกเล่นดนตรีอยู่ที่เชียงใหม่ ผับก็เริ่มกันมาตั้งแต่นั้น พอขยายห้องข้างๆ ออกไป คราวนี้เต็มแบนด์เลย นักร้องคนแรกของร้านคือ “ปู” แฟนของสมชาย ขันอาสา”
ตลอด 27 ปีมีนักดนตรีที่ผ่านบราวน์ ชูการ์มานับไม่ถ้วน ยกตัวอย่าง อาจารย์สมเจตน์ จุลณะโกเศศ, อาจารย์มังกร ปี่แก้ว, เทวัญ ทรัพย์แสนยากร และอีกมากมาย
“แป๊ะ” พัฒน์ฑริก ขยายความตอนหนึ่งให้ฟังเกี่ยวกับการฟังและชื่นชอบ Progressive Rock จนมาเป็น Standard Jazz ให้ฟังว่า
“ความเป็นแจ๊ซมันเป็นไปเองโดยความรักของตัวเองด้วยนะ พี่เป็นคนชอบดนตรีตั้งแต่วัยรุ่นแล้ว ชอบร็อก ฟังร็อกมาทุกประเภท ฟังแบบสุดๆ ประเภท Progressive Rock อย่างYes ประมาณนี้เลย เมื่อฟัง Anderson วงYes จนพาเข้าไปสู่ที่สุดของดนตรีคือ ไซเคเดลิกร็อก มันตันหรืออะไรไม่รู้ จนมาสะดุดที่ John McLaughlin (จอห์น แมคลาฟลิน) วงมหาวิษณุออร์เคสตรา ที่ดึงพี่ไปสู่แจ๊ซ Progressive Rockก็เลยไปหลุดกับ จอห์น แมคลาฟลิน และกิล อีแวนส์ ที่เป็นคอนดักเตอร์วงแจ๊ซร็อก เพราะฉะนั้นแจ๊ซร็อกมันมาเจอกันตรงนั้น
พอเจอปั๊บ พี่ก็หลงไปกับจอห์น แมคลาฟลิน และกิล อีแวนส์เลย มันเลยทำให้ตัวเองเพลินหลุดไปในช่วงนั้นพอดี จากนั้นก็เริ่มดาวน์แล้วค่อยๆ มาสู่เบสิก เริ่มรู้สึกว่าฟังแจ๊ซแล้วสมองมันโปร่ง มันไม่มีคำว่าเก่า มันมีชีวิต เพราะการฟังแจ๊ซถ้าอิมโพรไวส์ ฟังให้เป็นก็จะเหมือนการฟังด้นเพลงลำตัดในบ้านเรา มึงด้น กูด้น เสน่ห์มันอยู่ตรงนี้ ดีกว่าการฟังพื้นๆ แล้วผ่านไป ฟังในช่วงด้นของดนตรีแจ๊ซมันจะสนุก ใครมีอะไรก็เอาออกมาโชว์กันสดๆ แจ๊ซผับมันก็เลยเกิดขึ้นตรงนี้ ในช่วงปีสองปีแรกอาจจะมีคนขอฟังเพลงทั่วไป เพลงป็อป หลังจากนั้นก็ไม่มีใครขอแล้ว ตอนหลังคนมาเที่ยวก็รู้ว่า คนที่จะมาเที่ยวที่นี่ก็ต้องฟังเพลงแจ๊ซ”
นิตยสาร Newsweek ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 1997 ลงคะแนนให้ Brown Sugar เป็น One of the best Bar in the World ในคอลัมน์บาร์ที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังถูกเลือกให้อยู่ในหนังสือ Couvoisier’s Book of the Best ถึงสองครั้งในปี 1988 และปี 1996 โดย Lord Lichifield กษัตริย์ Carl Gustaf แห่งประเทศสวีเดน และ Crown Prince Willem แห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ นักดนตรีแจ๊ซระดับโลกอย่าง Larry Carlton, Gary Burton และอีกหลายท่าน ที่เมื่อมาเปิดการแสดงที่เมืองไทยแล้วก็ต้องแวะมาแจมกันที่ร้านเป็นปกติ และที่สำคัญเป็นแหล่งเพาะนักดนตรีแจ๊ซของไทยหลายคน
บราวน์ ชูการ์บนถนนพระสุเมรุ
วันที่ 31 มกราคม 2555 คือวันสุดท้ายที่บราวน์ ชูการ์เปิดบริการที่ถนนสารสิน
“ที่สารสินก่อนสี่ทุ่มจอดรถไม่ได้ เพราะคนไทยไปไหนก็ต้องขับรถมาด้วย อาหารเย็นจะไปขายได้ยังไง พี่ก็ต้องทน มีเวลาแค่ 3 ชั่วโมงในการทำร้าน เริ่ม 4 ทุ่ม ปิดตี 1 พอนานเข้ามันไม่ไหว ถ้างั้นพี่หาที่ใหม่ดีกว่า แล้วพี่สามารถขายได้ยาวขึ้นน่าจะดีกว่า ประกอบกับเรามีความฝันว่าอยากจะทำร้านที่มีมินิเธียเตอร์”
“ปุ๊” พัฒน์ฑริกใช้เวลากว่า 2 ปีในการหาที่ทำเลใหม่ ดั้นด้นไปทุกซอกมุมของกรุงเทพฯ จนมาพบตึกแถวบนถนนพระสุเมรุซึ่งเป็นของอาจารย์เชาวน์ ศรสงคราม ศิลปินในสาขาเรขศิลป์และการออกแบบ
“พี่อยากมีมินิเธียเตอร์ของนักดนตรีแจ๊ซจากเมืองนอกที่มาเที่ยวเมืองไทย ค่าตัวของนักดนตรีพวกนี้ไม่แพงเลยนะ ถูกกว่านักร้อง นักดนตรีไทยที่ทำอัลบั้มอีก แล้วตลาดเพลงแจ๊ซทุกวันนี้กว้างกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้น ชั้นสองจึงเป็น“อาร์ตอีเวนต์ฮอลล์” เราสามารถแสดงงานของใครก็ได้ จะเล่นมินิคอนเสิร์ต จัดงานอีเวนต์ ฉายหนังอาร์ตได้ทั้งนั้น”
ด้านหน้าจะทำเป็นร้านกาแฟ มีอาหารเช้า เปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้า เดินเข้ามาเป็น“ Brown Sugar... the Jazz Boutique” ซึ่งมีทั้งบรรยากาศแบบในห้องแอร์และหลังร้าน นั่งสบายๆรับลมธรรมชาติที่มี “คลองรอบกรุง” ทอดผ่าน
“พี่พยายามมากที่จะทำให้คนมาร้านนี้แล้วรู้สึกว่ามาร้านเก่านะ ถ้าเข้ามาแล้วไม่ใช่บราวน์ ชูการ์ ถือว่าเราตอบโจทย์ผิด มาแล้วมันต้องอาหารรสชาติเดิม อารมณ์ของร้าน - ดนตรียังเป็นแบบเดิม แต่สถานที่กว้างขวางกว่า โล่งกว่า เมนูเก่าๆ ยังอยู่ครบถ้วน และเมนูที่เพิ่งคิดค้นใหม่ๆ เพียบ!! ”
วันที่ 9 มีนาคมนี้ ที่ชั้น 2 จะเปิดด้วยผลงานศิลปะของ “อาจารย์โต้ง” ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ , การแสดงจาก “คนหน้าขาว” และหนังสั้นจาก “ชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย” และแจ๊ซคอนเสิร์ตจากวง Mellow Motif แล้วด้านล่างยังจะมีคอนเสิร์ตการรวมวงแจ๊ซชื่อดังที่เกิดจากบราวน์ ชูการ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
“พี่โต้งมีบุญคุณกับครอบครัวพี่มานาน พี่ก็ช่วยงานด้านศิลปะแกมาโดยตลอด ในนามมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เห็นงานพี่โต้งแล้วก็น่าจะแสดงด้วยเพราะแกเขียนงานได้สวย ดูแล้วประทับใจ มาโชว์ประมาณ 40 ภาพมีความหมายทุกชิ้น แสดงจิตใจว่าตอนนั้นคิด รู้สึกอย่างไร พี่โต้งมาร้านพี่หรือไปที่ร้านหนวดแซกโซโฟน แกต้องขึ้นไปแจมดนตรีด้วยทุกครั้ง วันเกิดแกทุกวันที่ 8 ตุลาคม บรรดาอาร์ติสท์ทั้งหลาย ชัย บลูส์ พี่แป๊ะ วสันต์ สิทธิเขตต์ เป็นอันรู้กันว่าเราต้องเข้าไปอวยพรพี่โต้งแล้วก็เอาวงดนตรีน้องๆ เข้าไปเล่น แจมกันทุกวันเกิดที่บ้านแก แกก็มีความสุข พอมีงานนี้ก็เลยคิดถึงแกก่อน พี่ว่าแกก็คงมีความสุขที่ได้โชว์ภาพเหล่านั้นให้สาธารณชนได้ดู”
“แป๊ะ” พัฒน์ฑริก มีสายญาติกล่าวปิดท้ายในค่ำคืนนั้นกับทีมสกู๊ปพิเศษกับ “ซูเปอร์บันเทิง ASTV ผู้จัดการออนไลน์”