xs
xsm
sm
md
lg

หนังที่เจ๋งที่สุดบนเวทีออสการ์ มิใช่ The Artist !?!?อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


ประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลตุ๊กตาทองของภาพยนตร์อย่างออสการ์ ซึ่งจากผลที่ออกมา ก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายหรือพ้นไปจากที่เต็งกันไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสายหนังยอดเยี่ยมที่ตกเป็นของ The Artist หนังเงียบ-ขาวดำ จากเมืองน้ำหอม ที่พ่วงรางวัลใหญ่ๆ ไปอีกสองสาขา คือ ผู้กำกับยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

เท่าๆ กับที่รู้สึกว่า เมอรีล สตรีพ จาก The Iron Lady เหมาะสมกับการได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (แม้ผมจะเชียรวิโอล่า เดวิส จาก The Help) ผมเห็นว่า หนังอย่าง The Artist นั้นสมศักดิ์ศรีอย่างไม่มีข้อโต้แย้งกับดอกผลที่ควรได้ ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับความจริงที่ว่า กรรมการตัดสินของออสการ์ส่วนใหญ่ (ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลอสแองเจลิสไทม์) ล้วนแล้วแต่เป็นผู้อาวุโสแห่งวงการที่เติบโตมาทันยุคหนังเงียบด้วยแล้ว งานกำกับของมิเชล ฮาซานาวิเชียส เรื่องนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับไทม์แมชชีนที่พาพวกเขาย้อนกลับไปสู่วันเก่าๆ คืนก่อนๆ สมัยที่หนังเงียบยังมีลมหายใจ

พูดแบบนี้ไม่ได้จะบอกนะครับว่า ที่ The Artist ได้รางวัลใหญ่ไปครอง เป็นเพราะมันตอบสนองฝันหวานๆ ของบรรดาอาวุโสเหล่านั้นเพียงอย่างเดียว เพราะหากพิจารณาองค์รวมและรายละเอียดทั้งหมดของหนัง เราแทบจะมองไม่เห็นจุดด่างพร้อยอันใดเลย

หนังทำขึ้นเป็นการบูชาคารวะต้นทางแห่งศิลปะภาพยนตร์นั้นก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้ทำแบบหวังจะ “เอาใจครู” เพียงอย่างเดียว เพราะในตัวของหนังเอง ก็มีเรื่องราวและคุณค่าอยู่ในตัวของมัน ผมทั้งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวซูเปอร์บันเทิงและพูดในรายการวิวไฟน์เดอร์ว่า The Artist นั้น นอกจากจะเป็นหนังที่ดูและวิเคราะห์ได้ 2-3 ชั้นแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่เข้า “ทาง” ออสการ์อย่างยากจะปฏิเสธ

“ทาง” ที่ว่า (คำนวณจากหนังส่วนใหญ่ที่ได้รางวัล) ก็คือความเป็นหนังที่คนดูดูแล้วเข้าอกเข้าใจได้ว่า “ควรจะรู้สึกกับหนังอย่างไร” สุข โศก ตลก ซึ้ง และที่สำคัญ ได้เฮไปกับความสุขสมหวังหรือชัยชนะของตัวละคร ไม่ต้องอึ้งๆ งงๆ ว่าจะรู้สึกกับมันอย่างไรดี (และเพราะเหตุนี้ด้วยหรือเปล่า หนังที่มาพร้อมกับตอนจบแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่าง The Social Network ถึงพ่ายให้กับ The King’s Speech เมื่อปีที่แล้ว?)

เมื่อพิจารณาด้วยตรรกะข้างต้น เราจะพบว่า The Artist มีอรรถรสที่เพียบพร้อมสมบูรณ์ แม้ด้วยเงื่อนไขของความเป็นหนังเงียบ แต่การสื่อสารของหนังนั้นประสบความสำเร็จอย่างหมดจด ทำให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวและตัวละครได้ โดยเฉพาะในมุมของความเป็นหนังโรแมนติก คอมิดี้ ซึ่งอ่อนหวานด้วยเลิฟ สตอรี่ และได้ความรู้สึกดีๆ เมื่อดูจบ

ใช่แต่เพียงเท่านั้น ที่บอกว่าหนังเรื่องนี้สามารถวิเคราะห์ได้หลายชั้นก็เพราะว่า หนังนั้นบอกเล่าเรื่องราวของดาราคนหนึ่งซึ่งสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาในยุคของหนังเงียบจนก้าวเหยียบถึงจุดแห่งความเป็นซูเปอร์สตาร์ดาราดังระดับประเทศ ไปไหนก็มีคนมากรี๊ดมาแห่แหน อย่างไรก็ตาม เมื่อวันเวลาผ่านพ้น และโลกแห่งภาพยนตร์เดินทางเข้าสู่ยุคของหนังเสียง สตูดิโอผู้สร้างหนังต่างก็พากันหันไปผลิตหนังแบบใหม่ที่ (อ้างว่า) คนดูอยากได้ แต่ซูเปอร์สตาร์ของเรานั้น กลับยังยืนยันที่จะยืนหยัดอยู่กับหนังแบบเดิมซึ่งตัวเองเติบโตมาพร้อมกับมัน

The Artist คือบันทึกประวัติศาสตร์แห่งภาพยนตร์ และจิตวิญญาณของ “ศิลปิน” ที่ได้รับแรงกระแทกจากสัจธรรมแห่งความเปลี่ยนแปลง เพราะโลกต้องหมุนไปข้างหน้า กาลเวลาไม่หยุดนิ่ง คนรุ่นเก่าหลีกทางให้กับคนรุ่นใหม่ เหมือนวัฒนธรรมเก่าซึ่งถูกแทนที่ด้วยวัฒนธรรมใหม่ ไม่มีสิ่งใดคงที่ถาวร นี่คือสิ่งที่หนังอย่าง The Artist สื่อสะท้อนออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และเมื่อบวกรวมเข้ากับความเป็นหนังตลก+โรแมนติกที่ดูแล้วซาบซึ้งกินใจ ก็เป็นเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอแล้วซึ่งทำให้หนังคว้าตุ๊กตาทองตัวใหญ่ไปครอบครอง

อย่างไรก็ตาม หนังออสการ์ก็คือหนังออสการ์ครับ ฟังหูไว้หู อย่าไปยึดมั่นถือมั่นหรือให้มันครอบงำว่านั่นคือสุดยอดของหนังที่ดีที่สุดในโลกแล้ว และรางวัลออสการ์ส่วนใหญ่ก็มอบให้กับผู้ผลิตหนังในฮอลลีวูดเป็นหลัก จึงไม่แปลกที่บางคนจะมองว่ารสนิยมของออสการ์นั้นค่อนข้างจำกัด ดังนั้น ผมคิดว่าน่าดีใจนะครับที่ออสการ์แตกสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมแยกออกมาอีกหนึ่งรางวัล เพราะอย่างน้อยๆ มันก็ช่วยแง้มประตูเปิดหูเปิดตาของคนที่ติดตามออสการ์ได้เปิดกว้างไปสู่การมองหนังที่มาจากแผ่นดินอื่นๆ บ้าง

และในความรู้สึกส่วนตัวของผม คงต้องบอกครับว่า นี่เป็นอีกหนึ่งปีที่หนังที่ดีที่สุดบนเวทีออสการ์สำหรับตัวผมเอง (ย้ำว่า “สำหรับผมเอง” นะครับ) ไม่ใช่หนังในสาย “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” หากแต่เป็นหนังที่ได้รับรางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมอย่าง A Separation

The Artist นั้นดีอยู่แล้ว แต่หากมองในแง่ของชั้นเชิงด้านศิลปะการผูกเรื่อง+เล่าเรื่อง และความลึกของเนื้อหา ผมคิดว่า A Separation หนังจากประเทศอิหร่านดูจะยอดเยี่ยมมากกว่า นั่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงข้อเปรียบเทียบที่ว่า The Artist นั้น มีเนื้อหาที่ค่อนข้าง “จำเพาะเจาะจง” ลงไปที่กลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว คือคนสร้างหนัง, นักทำหนัง, ดาราหนัง ที่ผูกพ่วงกับคนดูหนัง แต่ A Separation นั้น เราสามารถยกไปวางลงตรงกลุ่มสังคมใดก็ได้ และเหตุการณ์ที่เกิดในหนัง ก็ไม่จำเพาะว่าจะเกิดขึ้นได้แต่เพียงแค่ที่อิหร่านเท่านั้น

ผมดีใจครับที่รู้ว่า ทางโรงหนังเฮาส์ อาร์ซีเอ หยิบหนังเรื่องนี้มาฉายอีกครั้ง (กลางเดือนมกราคม) หลังจากเข้าโรงไปแล้วหนึ่งรอบเมื่อปลายปีก่อน แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว คนที่สนใจจะไปดูจริงๆ ก็ไม่ได้มีมากนักก็ตามที (แต่ใครอยากดูแบบแผ่นดีวีดี ก็หาได้ครับ)

ผมเห็นด้วยกับทุกเสียงที่มองว่า A Separation เป็นหนังการเมือง มันเป็นการเมืองตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว สังคม ไปจนถึงการเมืองเรื่องศาสนา

A Separation เริ่มต้นเรื่องราวที่ภาพการหย่าร้างของสามีภรรยาชนชั้นกลางชาวอิหร่านคู่หนึ่งซึ่งความต้องการไม่ลงรอยกัน เพราะในขณะที่ผู้เป็นภรรยาต้องการย้ายไปอยู่ประเทศอื่นเนื่องจากไม่อยากให้ลูกเรียนหนังสือและเติบโตมาในสังคมแบบอิหร่าน แต่สามีกลับแสดงเจตจำนงที่จะไม่ย้ายเพราะส่วนหนึ่งเขาต้องอยู่ดูแลพ่อซึ่งแก่ชราและเป็นอัลไซเมอร์

ความยอดเยี่ยมที่ควรได้รับการยกย่องของหนังก็คือว่า จากรอยปริแตกในครอบครัวซึ่งถือเป็นหน่วยทางสังคมเล็กๆ หน่วยหนึ่ง หนังค่อยๆ ขยายวงทางเนื้อหาของตัวเองเข้าไปแตะสภาพที่เป็นอยู่และเป็นไปในสังคมอิหร่านในหลากหลายมิติ พร้อมกับตั้งคำถามอย่างแหลมคมผ่านสถานการณ์ของเรื่องราว

ศาสนาที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดบีบรัด สามารถทำให้ผู้คนดำรงอยู่อย่างสันติ ทั้งสันติกับผู้อื่นและสันติในใจตัวเองได้จริงไหม?

ความเป็นปุถุชนที่หลุดไม่พ้นจากความขลาดเขลาและต้องโกหกซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะถูกซักฟอกได้ไหมด้วยการหยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาเอ่ยคำสาบาน?

การตัดสินของศาลที่ดูเหมือนจะยกให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้พิพากษาคดีเพียงคนเดียวนั้น สามารถทำให้ผู้คนในสังคมยินยอมน้อมรับสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรม” นั้นๆ ได้อย่างดุษฎีจริงหรือเปล่า?

ความขัดแย้งทั้งหลาย สามารถแก้ไขได้ด้วยการโวยวายและบีบคั้นกันและกัน หรือว่าจะนั่งลงและตั้งใจรับฟังปัญหาของกันและกันอย่างจริงใจ? ฯลฯ

ยอดเยี่ยมครับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ใครไม่ได้ดู ถือว่าพลาดอย่างแรง!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น