ยอดโฆษณาช่อง 7 สีลดลง 40% และแผนการตลาดไม่ยืดหยุ่นเหมือนช่องคู่แข่ง เหตุสำคัญ “เด้ง” สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ปกติการแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเพียงการรับรู้เฉพาะ “ภายใน” ไม่ได้แพร่กระจายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กเหมือนครั้งนี้ หนังสือแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในครั้งนี้มี “นัย” สำคัญที่ซุกซ่อนอยู่ นอกเหนือจากยอดโฆษณาที่ลดลง ยังส่งผลต่อ “ศูนย์อำนาจ” แต่เพียงผู้เดียวของเจ้าแม่ 7 สีในครั้งนี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาของช่อง 7 สี และเป็นความพยายามอีกครั้งสุดท้ายของ BBTV ที่จะเข้ามาปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ นับแต่ กฤตย์ รัตนรักษ์ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ปี 2550-2551 เป็นต้นมา
สุรางค์ เปรมปรีดิ์ เกษียณอายุในการทำงานเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 7 ในนามของ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้ทำงานปีต่อปี ในฐานะ “กรรมการผู้จัดการ” โดยหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา กฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มีความพยายามที่จะปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยเริ่มลดบทบาทของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ที่เคยดูแลผังรายการทั้งหมดให้เหลือเพียงการดูแลละครเท่านั้น
ไม่อาจปฏิเสธว่า ละครโทรทัศน์ของช่อง 7 สี คือส่วนที่สร้างรายได้ให้แก่ช่อง 7 สีมากที่สุด ประสบการณ์ที่คร่ำหวอดกับละครมาตั้ง 30 ปีของสุรางค์ เปรมปรีดิ์นั้นถือว่ามีความชำนาญ และฉายา “เจ้าแม่ 7 สี” ส่วนหนึ่งก็มาจากเหตุนี้
ดู “สุรางค์” ย้อนดูละคร
ละครโทรทัศน์ของช่อง 7 สีนั้น ชัดเจนว่าเจาะผู้ชมต่างจังหวัดเสียเป็นส่วนใหญ่ ผิดกับช่อง 3 ที่เจาะตลาดกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงาน หาใช่ “แม่บ้านแม่เรือน” แต่อย่างใด
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น เกิดอะไรขึ้นกับละครโทรทัศน์ของช่อง 7 สี
ละครเรื่อง “ทวิภพ” ซึ่งเขียนบทโดยนันทวัน รุ่งวงศ์พาณิชย์ ของค่ายดาราวิดีโอ ถูกสังคมวิจารณ์จนแหลกลาญ
ความอลเวงเริ่มถี่ขึ้นในช่วงหลัง ละคร “ในรอยรัก” ซึ่งเขียนบทโดย ฉายฉันท์ มีแนวโน้มว่าจะเขียนบทไม่ทัน เนื่องจากเจ้าตัวป่วยกะทันหัน ส่งผลให้ดาราใหญ่น้อยทั้งหลายในกองถ่ายฯนั่งรอบทโทรทัศน์อยู่ด้วยใจจดจ่อ จนต้องเอานักเขียนบทคนใหม่เข้ามาสวมแทน แน่นอน … สไตล์เขียนบทและมุมมมองของนักเขียนบททั้ง 2 คนต่างกัน ดังนั้นจึงมีการตามปรับแก้ และซ่อมแซมเพิ่มเติม นับตั้งแต่บทต้นๆ เรื่อยไปจนจบเรื่อง
ปัญหาภายในกองละครบางเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือปัญหาใหญ่ ดาราในยุคนี้ยอมใครที่ไหน ดังนั้นจึงมีการร่อนแฟกซ์รายงานไปยังสำนักประธานฯ เพราะว่าการทำงานละครสไตล์ช่อง 7 สี ทำให้พวกเขาและเธอไม่สามารถไปรับงานอื่น เช่น งานอีเวนต์เพิ่มพูนรายได้
ละครของค่ายใดจะได้ออนแอร์ในวันไหน จะยืนยันได้ต่อเมื่อมีลายลักษณ์อักษรยืนยันอย่างเป็นทางการจากสุรางค์ เปรมปรีดิ์ คนเดียวเท่านั้น
ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ 2 ค่ายละครอย่างดาราวิดีโอกับกันตนา ต่างยืนยันว่าละครของค่ายตัวจะได้ออนแอร์เป็นโปรแกรมศุกร์ - เสาร์- อาทิตย์ (ต่อจาก “เสาร์ห้า ตอนทับทิมสยาม”) ฝ่ายกันตนาว่า “นางฟ้ากับมาเฟีย” ส่วนดาราวิดีโอก็ว่า “หอบรักมาห่มป่า” ต่างฝ่ายต่างยืนยันโดยที่ยังไม่ได้มีลายเซ็นอย่างเป็นทางการ ที่ยังไม่มีลายเซ็นยืนยัน เพราะว่า สุรางค์ เปรมปรีดิ์ยังพักผ่อนอยู่ที่ต่างประเทศเป็นเวลา 10 วัน
น่าสนใจกว่านั้นคือ ในช่วง 10 วันซึ่งท่องเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่อเมริกานั้น เป็นวาระที่ช่อง 7 สีครบรอบ 44 ปีขึ้นปีที่ 45 พอดี วันครบรอบของช่อง 7 สี ตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายนของทุกปี แต่ปีนี้วันที่ 27 ตรงกับวันอาทิตย์ บรรดาแขกเหรื่อทั้งหลายจึงไปแสดงความยินดีกันในวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน
หนึ่งในผู้ติดสอยห้อยตามสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ไปเมืองนอกทริปนี้คือ พิษณุ นิลกลัด
หนังสือยืนยันส่งตรงมายังกันตนาในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม โดยละครต้องเริ่มตอนแรกในวันรุ่งขึ้นทันที นั่นหมายถึงว่า จากนี้ละครต้องถ่ายไป ออกอากาศไปจนจบ
ภาพดังกล่าวนี้สะท้อนถึง “การรวมศูนย์เบ็ดเสร็จ” ของการทำงานของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ เจ้าแม่ 7 สีคนนี้ได้เป็นอย่างดี
เชื่อกันว่า “นางฟ้ากับมาเฟีย” น่าจะเป็นผลตอบแทนที่ละคร “เสือสั่งฟ้า” ของกันตนาก่อนหน้านี้ที่ประสบความสำเร็จมาก จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็นละครที่สุดแห่งปีของช่อง 7 สีก็ว่าได้
ละครซึ่งถ่ายไป ออกอากาศไปนั้น ถ้าทำได้ดี มีความพร้อมก็จะเป็นเรื่องที่สนุกมาก เพราะสามารถโยงเอาเหตุการณ์ปัจจุบันเข้าไปใส่ให้เป็นสีสันได้ วิชานี้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ได้มาจาก “อาหรั่ง” ไพรัช สังวริบุตร
ความจริงข้อหนึ่งก็คือ ยังไม่มีค่ายใดในช่องคู่แข่งสามารถทำได้ และลึกๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 หรือช่อง 5 ก็อยากทำ แต่ไม่มีความชำนาญพอ เพราะขนาดรุ่นเดอะอย่าง อาหรั่ง ก็มีอยู่หลายครั้งที่จวนเจียนจนต้องแยกการทำงานออกเป็น 2 กอง โดยกองหนึ่งทำหน้าที่ถ่ายเจาะ แล้วเอามาร้อยรวมกัน
น้ำท่วม - เรตติ้ง หายนะของช่อง 7
ว่ากันว่า เรตติ้งของช่อง 7 สีในช่วงน้ำท่วมนั้นตกลงอย่างฮวบฮาบน่าใจหาย ภาพรวมของการขายโฆษณาในเดือนพฤศจิกายน ช่อง 7 สีหายไป 40% ในขณะที่ช่อง 3 หล่นลงไปแค่ 20% ในแง่เรตติ้ง ช่อง 7 สียังนำอยู่ คือ 46.21 % ขณะที่ช่อง 3 อยู่ที่ 30.34% และส่วนแบ่งงบโฆษณา ช่อง 7 สีอยู่ที่ 31.79% ส่วนช่อง 3 อยู่ที่ 27.66% ซึ่งถือว่าไม่ทิ้งห่างกันมากนัก
ในการทำงานแบบยืดหยุ่นช่อง 3 มีมากกว่าช่อง 7 สี !! กล่าวคือ ช่อง 3 ได้ลดเวลาละครลงหันมาเพิ่มเวลาเพื่อมาเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งถือว่าได้ผลมาก ทั้งยังสามารถต่อยอดในการปรับราคาโฆษณารายการข่าวปีหน้าได้อีกต่างหาก เช่น ข่าว 3 มิติ ค่าโฆษณาปรับขึ้นอีก 14% เป็นต้น ช่อง 7 สีสุดท้ายก็จำเป็นต้องลดเวลาของละครในช่วงดังกล่าวตามเหมือนกัน
จากกรณีต่างๆเหล่านี้น่าจะเป็นประเด็นที่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับการหมดวาระในครั้งนี้แบบฉับพลัน
เพราะบรรทัดสุดท้ายของคำสั่งที่ 136/2554 เรื่องการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง ว่า “คำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้ใช้คำสั่งนี้”
ชื่อของ “ศรันย์ วิรุตมวงศ์” ในฐานะ “กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ” ที่จะมานั่งในตำแหน่ง “รักษาการกรรมการผู้จัดการ” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 น่าจะเป็นเพียง “ตัวละคร” ที่รอคอย “ตัวจริง” มาสวมหลังจากนี้ ซึ่งจะเป็นใครต้องติดตามกันต่อไป
เป็นที่ทราบกันอยู่ในหมู่ผู้ชิดเชื้อว่า สุรางค์ เปรมปรีดิ์ต้องการวางมือจากการทำงานมานานแล้ว หุ้นที่เหลืออยู่ก็เพียง 18 % หรือถ้าจะมีมากกว่านั้นก็คงไม่เกิน 30 % ซึ่งไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ดังแต่ก่อน แต่เมื่อได้รับการว่าจ้างให้ทำงานด้วยสัญญาปีต่อปี สุรางค์ก็ต้องทำในแบบที่เธอคิดว่า ถูกต้อง และจะเอาอยู่
แต่ด้วยจังหวะของการทำงานอาจจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดความเพลี่ยงพล้ำได้ แต่บังเอิญว่า ความเพลี่ยงพล้ำนี้ไปเกี่ยวข้องกับรายได้ของบริษัทฯ ที่ควรจะได้
“ซูเปอร์บันเทิง สุดสัปดาห์” ได้รับรายงานล่าสุดที่เชื่อถือได้ว่า ในวันที่มีหนังสือคำสั่งดังกล่าว ในช่วงเย็น สุรางค์ เปรมปรีดิ์ยังไปออกกำลังกาย ตีเทนนิสเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่วันรุ่งขึ้นคนสนิทข้างกายของสุรางค์พากันหายไปตั้งแต่ก่อนเที่ยงและติดต่อไม่ได้จนดึกดื่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีการนัดแนะไปคุยกันเฉพาะกลุ่มในเซฟเฮาส์แห่งใดแห่งหนึ่ง
ใครจะเป็น “ตัวจริง” ในตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” ย่อมเป็นที่สนใจและได้รับการจับตามองเป็นพิเศษนับจากนี้ อาจจจะเป็น 2 ลูกหม้อเก่าแก่ของช่อง 7 สี อย่าง “พลากร สมสุวรรณ” ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสและรักษาการผู้จัดการฝ่ายรายการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และ “ชลอ นาคอ่อน” มือขวาคนสำคัญของกฤตย์ รัตนรักษ์ ส่วน “อ้อย” ชโลบล เรียงสุวรรณ ที่กฤตย์ส่งมาให้ศึกษางานด้านละครกับสุรางค์ยังต้องอาศัยเวลาและประสบการณ์มากกว่านี้ และอย่าลืมคนนี้ “ชาลอต โทณวณิก” อดีตคนสนิทของกฤตย์ รัตนรักษ์ ที่เคยว่ากันว่ามีปัญหากับสุรางค์ เปรมปรีดิ์จนต้องระเห็จไปเป็นผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) อาจจะหวนคืนบัลลังก์อีกก็ได้ ใครจะไปรู้ ในเมื่อวันนี้ “ลมเปลี่ยนทิศ” อะไรก็เกิดขึ้นได้
สุรางค์ เปรมปรีดิ์จะปิดตัวเองจากการทำงานในวันที่ 30 ธันวาคม เป็นวันสุดท้าย ปล่อยให้ฉายา “เจ้าแม่ 7 สี” เป็นเพียงตำนานบทหนึ่งของวงการละครโทรทัศน์ และนับจากนี้ ละครของช่อง 7 สีจะต้องถูกปรับครั้งใหญ่ เพียงแต่ว่าจะเอาอยู่ และชนะคู่แข่งได้หรือไม่ เท่านั้นเอง
.....................................................
ที่มา นิตยสาร ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 116 วันที่ 24 -30 ธันวาคม 2554