สกู๊ปพิเศษ
81 ปี ไพรัช สังวริบุตร
ปูชนียบุคคลของวงการละคร
“ไพรัช สังวริบุตร” เพิ่งจัดงานวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา ฉลองอายุ 80 ย่าง 81 ปีของศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ. 2547 เขาคือ หัวเรือใหญ่ของบริษัทสามเศียร, ดาราวิดีโอ, ดีด้าฯ และจ๊ะทิงจา ผู้เป็นปูชนียบุคคลคนสำคัญในวงการละครโทรทัศน์ ซึ่งผลิตงานให้สถานีโทรทัศน์สีช่อง 7 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510
ตลอด 66 ปีแห่งการเรียนรู้คือประสบการณ์ที่ประดุจดั่งตำราเล่มโตที่มีค่ายิ่งกว่าตำราทางวิชาการใดๆ
คติการทำงานที่ไพรัช สังวริบุตรยึดถือในการทำงานคือ “งานที่ดีต้องมาจากคน คนจะดีต้องมาจากการบริหาร”
แม้วันนี้…ไพรัช สังวริบุตรจะดำรงตำแหน่ง “ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทดาราวิดีโอ” และการดำเนินงานทั้งหลายในอาณาจักรแห่งนี้จะอยู่ในมือของลูกชายทั้ง 2 คน อย่าง “สยาม-สยม สังวริบุตร”
วัยเด็กของ “หรั่ง” ไพรัช
ไพรัช สังวริบุตร หรือที่คนในวงการเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “อาหรั่ง-พ่อหรั่ง” เป็นลูกของนายคุ้ม และนางจำรัส สังวริบุตร นอกจากพ่อจะมีอาชีพเป็นทนายความแล้ว ยังมีธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น โรงงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ เจ้าของหนังเร่โดยทางเรือก่อนจะมาทำธุรกิจด้านภาพยนตร์ในนาม “บริษัทกรุงเทพภาพยนตร์” โดยทำภาพยนตร์เรื่องแรกคือ รอยไถ ของ ไม้เมืองเดิม ส่วนนางจำรัส ผู้เป็นแม่นั้นมีอาชีพขับร้องเพลงไทยเดิม “อาหรั่ง” ไพรัช มีพี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกันถึง 6 คน โดยเขาเป็นลูกในลำดับที่ 3 พี่ชายคนโตชื่อ คารม (พ่อของไพโรจน์ สังวริบุตรและจิรภา ปัญจศิลป์ เจ้าของคณะละครวิทยุชื่อดังมาก่อน) พี่สาวคนรองชื่อ คมคาย ส่วนน้องๆ ในลำดับ 4 -5-6 เรียงกันดังนี้ คือ ประชุม, ภุมรี (สังวริบุตร) กมลดิลก และดารา (อดีตดาราหนังจักรวงศ์)
อาหรั่ง สมรสกับผุสดี ยมาภัย (เสียชีวิต) มีลูกชายด้วยกัน 2 คนคือ “หลุยส์-สยาม” และ “ลอร์ด-สยม” สังวริบุตร
ชีวิตการศึกษาของอาหรั่ง เริ่มต้นชั้นประถมต้นที่โรงเรียนดำเนินศึกษา และมาจบประถมปลายที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ในช่วงเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลมีคำสั่งประกาศให้นักเรียนที่เรียนในปีนั้นจบการศึกษายกชั้นทั่วประเทศ โดยไม่ต้องสอบประจำภาคปีการศึกษา หลังสงครามยุติ ไพรัช สังวริบุตรตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ โดยเริ่มทำงานกับบริษัทของพ่อคุ้ม เริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่ง “ฝ่ายงานสร้าง” ของโรงงานแบตเตอรี่ซึ่งตั้งอยู่ที่บางบัวทอง ปากคลองสามวัง จ. นนทบุรี หลังเลิกงานและในช่วงวันหยุดจะผันตัวเองมาคลุกคลีช่วยทำงานในบริษัทกรุงเทพภาพยนตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจของพ่ออีกอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่จิปาถะ ตั้งแต่ช่วยงานช่างภาพ และพากย์หนัง จนต่อมาพ่อให้มารับหน้าที่เป็น “ช่างภาพภาพยนตร์”
สู่วงการภาพยนตร์และโทรทัศน์
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ไพรัช สังวริบุตรถ่ายภาพเองคือ รอยไถ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ในระบบ 16 มม. ความชำนาญส่วนหนึ่งมาจากการแนะนำของ สดศรี บูรพารมย์ (อาของฉลอง ภักดีวิจิตร), เนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ), วิจิตร คุณาวุฒิ
ปี พ.ศ. 2505 ไพรัช สังวริบุตร เข้ารับพระราชทานรางวัลตุ๊กตาทองจากพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รางวัลผู้ถ่ายภาพยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์เรื่อง “แสงสูรย์”
ต่อมาได้ร่วมทุนกับ “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกยอดนิยมสมัยนั้น ตั้งบริษัทภาพยนตร์ชื่อ “วชิรณ” โดยในระยะแรกถ่ายทำหนังด้วยฟิล์มขาว-ดำ ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สี” ภาพยนตร์ของบริษัทนี้มีชื่อเสียงอยู่หลายเรื่อง เช่น อินทรีแดง, ทับสมิงคลา, วิญญาณรักของแม่นาค, วิญญาณคะนอง เป็นต้น
“ผมเคยร่วมทุนกันอยู่ ทำหนังเรื่อง “อินทรีแดง” ทั้งๆที่เราใกล้ชิดสนิทสนม เราก็ไม่ได้คิว ไม่ได้คิวมากมายอะไร ผมก็มาคิดดูว่า การทำภาคบันเทิงมันต้องประกอบด้วยความสามารถของดารากับพวกผู้สร้างต่างๆ ประกอบกับเมื่อเราเห็นว่าคิวน้อย ผมก็เลยคิดอำลาวงการภาพยนตร์เพื่อเข้าสู่วงการทีวี”
ผู้ชักนำไพรัช สังวริบุตรเข้าสู่วงการโทรทัศน์เมื่อปี พ.ศ. 2507 คือ สุวรรณา มุกดาประกร และถาวร สุวรรณ โดยสร้างทีมผลิตภาพยนตร์โทรทัศน์ด้วยการเช่าเวลาจากสถานีฯ ในการแพร่ภาพ
ปลาบู่ทอง ละครเรื่องแรก
พ.ศ. 2510 ไพรัช สังวริบุตรก่อตั้งบริษัท “ดาราฟิล์ม” ด้วยทุน 8 หมื่นบาท ผลิตภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “ปลาบู่ทอง” (พัลลภ พรพิษณุ กับ เยาวเรศ นิสากร) การทำละครพื้นบ้านโบราณก็เพื่อมาอุดช่องว่างกับหนังญี่ปุ่นที่ฮิตมากในหมู่เยาวชนในสมัยนั้น
“ถ้าเราเสนอสิ่งของโบราณ ของไทยๆ ออกไปได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ก็น่าจะพอใจแล้ว ผมก็เลยเริ่มเรื่องนิยายชาวบ้าน “ปลาบู่ทอง” ในช่วงนั้นกระแสการส่งของช่อง 7 สียังไม่แรง ก็ต้องต่อสู้กับอุปสรรคเยอะ จนกระทั่งในที่สุดก็ติด ได้สปอนเซอร์มาหมด นี่เป็นความตั้งใจของบริษัทเรา เราจึงทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะพยายามรักษาตรงนั้นไว้ เพื่อให้เยาวชนได้รู้ว่าเรื่องต่างๆของไทยก็มีสิ่งที่น่าดูเหมือนกัน”
นี่เป็นเหตุผลที่ไพรัช สังวริบุตรยืนพื้นละครประเภทนี้มานานถึง 44 ปีจวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งของละครเหล่านี้นำมาจาก “นิยายวัดเกาะ” …
นิยายวัดเกาะนี้มาจากหนังสือนิยายเล่มเล็กๆ กว่า 300 เรื่อง ที่ถูกนำมาเย็บรวมเป็นเล่มใหญ่ โดยเสด็จพระองค์ชายเล็ก (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ) ส่วนที่เพิ่มเติมคำว่า เทพ จนกลายเป็น เทพนิยายวัดเกาะ นั้น เป็นเพราะผู้แต่งนิยายวัดเกาะแต่ละท่านล้วนแต่ล่วงลับไปเป็นเทพบนสวรรค์หมดแล้ว “อาหรั่ง” จึงเรียกผลงานชั้นครูเหล่านี้ได้ว่าเป็น “เทพนิยาย” เพราะงานเหล่านี้ควรจะได้รับการดูแลไว้ไม่ให้สูญหาย
“เสด็จพระองค์ชายเล็กก่อนที่ท่านจะสิ้น ท่านได้มอบให้ผมไว้ ท่านบอกว่า เราจะได้อนุรักษ์ต่อไป แล้วตอนนี้ผมก็มอบให้กับลูกผมคือ “ลอร์ด-สยม สังวริบุตร” ต่อไป เรามีตรงนี้ เทพนิยายวัดเกาะเป็นนิยายสมัยเดิมจริงๆแล้ว เสด็จพระองค์ชายเล็กท่านเย็บเป็นเล่มไว้ เก็บวางอย่างดีในตู้ในห้องบรรทม ห้องบรรทมของท่านไม่มีใครได้ขึ้นไปได้เลย มีผมขึ้นไปได้เพราะว่ารับใช้ท่านมาตั้งแต่เด็กๆ ท่านก็กรุณายกมาให้”
เมื่อแรกบริษัท “ดาราฟิล์ม” จะหนักทางการสร้างภาพยนตร์โทรทัศน์ประเภทนิทานพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ และในระยะต่อมาได้เปลี่ยนจาก “ดาราฟิล์ม” มาเป็น “สยามฟิล์ม” ซึ่งยังเป็นภาพยนตร์โทรทัศน์ที่ใช้เสียงพากย์ และถ่ายทำแบบภาพยนตร์ 16 มม. และเมื่อการถ่ายทำเปลี่ยนจากระบบฟิล์มมาเป็นวิดีโอเทป การแสดงเปลี่ยนจากการบอกบทมาเป็นการท่องบท ก็มีการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “ดาราวิดีโอ”
ปัจจุบัน ละครพื้นบ้านดูแลการผลิตโดย “บริษัทสามเศียร” ส่วนที่เป็นแอนิเมชันนั้น ดำเนินการภายใต้บริษัท “จ๊ะทิงจา” ส่วนละครสมัยใหม่นั้น อยู่ภายใต้การผลิตของ “ดาราวิดีโอ และดีด้า”
ละครต้องเรียกความสนใจ
สมัยก่อนช่วงเวลาของละครสั้นกว่าสมัยนี้มาก แต่ปรากฏการณ์ของจำนวนตอนในละครบางเรื่องในสมัยนั้น ขอบันทึกไว้ว่า “ขุนแผนผจญภัย” มีความยาวถึง 500 ตอนติดต่อกัน ส่วน “กระสือ” ยาว 200 ตอน โดยจุดจบของกระสือเริ่มต้นที่กองสลาก กล่าวคือ วันหนึ่ง … ไพรัชต้องการจะรู้ฟีดแบ็คของคนดู เลยไปนั่งที่กองสลาก ราชดำเนิน แล้วก็ได้ยินชาวบ้านพูดกันว่า “กระสือ เมื่อไหร่จะจบสักที” ไพรัชซึ่งได้ยินประโยคนี้กับหู เมื่อกลับมาถึงบริษัทก็สั่งให้กระสือจบภายใน 2 วัน
ประสบการณ์การทำละครโทรทัศน์ สอนไพรัชให้เรียนรู้ว่า
“ละครทีวีต้องเรียกร้องความสนใจจากผู้ชม ทุกๆ 2 นาที พอ 2 นาทีคนดูจะรู้สึกเบื่อ เบื่อที่จะดูตรงไหนที่ซ้ำๆอยู่ เราจะต้องเรียกร้องความสนใจ เช่น แกล้งตะโกนขึ้นมาบ้าง แกล้งตีกันบ้าง ซึ่งบางคนก็ถามว่า ทำไมจะต้องตีกันอยู่เรื่อย แต่ว่าตบตีไม่ใช่ว่าคนจะชอบเสมอไป ถ้าตบบ่อยๆ คนก็เบื่อ ทีนี้วิธีที่ดีที่สุดคือ สร้างอะไรก็ได้ให้มันได้อารมณ์โดยไม่รู้เบื่อ ต้องหาอะไรมาล่อ ล่อเพื่อให้เขาเพลิดเพลินไป แล้วอย่าให้คนดูสะดุด”
การทำละครโดยส่วนใหญ่แล้ว นิยม “รบด้วยกำลังหลัก” กล่าวคือ ดำเนินงานไปตามขั้นตอนปกติ และอีกประเภทหนึ่งคือ “รบแบบกองโจร” ที่ไพรัช สังวริบุตรได้บุกเบิกการทำงานกับช่อง 7 สี หรือที่เรารู้จักกันว่า “ถ่ายไป ออนแอร์ไป” รวมถึงการปรับบทให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ (ยกตัวอย่าง ละครในยุคปัจจุบันที่เพิ่งผ่านสายตาไป “ในรอยรัก” มีบทที่เกี่ยวกับ “การถือศีลกินเจ - น้ำท่วม” ด้วย) นี่เป็นสิ่งที่ไพรัชได้ปูพื้นไว้จนมาถึงรุ่นลูก ละครประเภทนี้จะได้ความสดใหม่ แต่ต้องมีความชำนาญในการแก้เหตุการณ์เฉพาะหน้าเก่ง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นไม่สามารถทำละครออกอากาศได้ซึ่งคณะละครจะถูกทางสถานีปรับ
“ถ้าทำละครชนิดนี้ไม่ใช่ของง่ายเลย เพราะว่าจะต้องเตรียมงานนานมาก แต่จะไม่ได้บอกให้ใครรู้เท่านั้นเอง เหมือนกับพ่อครัวที่เขาปรุงอาหาร ต้องมีผัก มีน้ำปลา มีน้ำตาล มีสิ่งต่างๆอยู่รอบตัวพร้อมถึงจะทำได้”
การทำละครของไพรัช สังวริบุตร ยึดถือว่า
“คนเบื่ออะไร อย่าทำตรงนั้น ต้องดูว่า คนทั้งหลายเขากำลังเบื่ออะไร เหมือนกำลังใส่เสื้อแขนสั้น คนเบื่อแขนสั้น ต้องไปเอาแขนยาวมาใส่ แล้วกะเวลาล่วงหน้าจะทำให้ประสบความสำเร็จมาก”
กฎสำหรับ “ผู้เขียนบท”
“สิ่งหนึ่งที่บริษัทเราถือมากคือ การเคารพเรื่องเดิม เราจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นอกจากไปขออนุญาตผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์ ตรงนี้สำคัญจริงๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงก็จะขอ ถ้าท่านไม่อนุญาตเราก็ไม่สามารถทำได้” ไพรัช สังวริบุตรเคยกล่าวไว้เช่นนั้น
ระหว่างผู้เขียนบทโทรทัศน์กับผู้สร้างมีข้อตกลงว่า ถ้าเรื่องใดมีจุดบกพร่องด้วยเหตุผล เราจะต่อเติมตรงนั้นให้สมบูรณ์
“เราต้องมีกฎกันไว้ว่า ผู้เขียนบททำอะไรก็ได้ เรื่องอะไรก็ได้ ถ้าคุณเป็นคนเขียนบทที่เก่งจริง คุณจะต้องทำทุกเรื่องให้สนุก ถ้าเรื่องมาไม่สนุก คุณก็ต้องทำให้สนุก นั่นคือกฎเกณฑ์ที่เราตกลงกันบ่อยๆ กับผู้เขียนบท ถ้ามีเรื่องแล้วเราตีความออกมาไม่ดี เหตุผลก็ไม่ดีไปด้วย ดังนั้นทุกขั้นตอน เราจำเป็นต้องสร้างคาแรกเตอร์ให้คนตื่นเต้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งไคลแมกซ์”
10 ผลงานในดวงใจ ของไพรัช
1. ปลาบู่ทอง แสดงโดย พัลลภ พรพิษณุ เยาวเรศ นิสากร ปี พ.ศ. 2510 เป็นภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องแรก
2. แม่นาคพระโขนง แสดงโดย ชานนท์ มณีฉาย ปริศนา วงศ์ศิริ ปี พ.ศ. 2523 เป็นละครโทรทัศน์ที่ร่วมเขียนบทด้วย
3. หลวงตา (จากเรื่องสั้นชุด หลวงตา - แพรเยื่อไม้) เป็นละครสร้างสรรค์สังคม
4. คู่กรรม (บทประพันธ์ ทมยันตี) แสดงโดย ธงไชย แมคอินไตย์ โกมลชนก โกมลฐิติ ปี พ.ศ. 2533 ได้รับรางวัลทั้งโทรทัศน์ทองคำและเมขลา ฐานะผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม
5. ไผ่แดง (บทประพันธ์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) โกวิท วัฒนกุล บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ชฎาพร รัตนากร แสดงโดย ปี พ.ศ. 2534เป็นละครสร้างสรรค์สังคม
6. สายโลหิต (บทประพันธ์ โสภาค สุวรรณ) แสดงโดย ศรราม เทพพิทักษ์ สุวนันท์ คงยิ่ง ปี พ.ศ. 2538 เป็นละครที่ควบคุมการทำฉากทั้งหมด
7. รัตนโกสินทร์ (บทประพันธ์ ว. วินิจฉัยกุล) แสดงโดย เอกรัตน์ สารสุข กุลสตรี ศิริพงษ์ปรีดา ปี พ.ศ. 2539เป็นละครที่นำเสนอขนบประเพณีสมัยรัตนโกสินทร์อย่างละเอียดและถูกต้อง
8. ขุนเดช (บทประพันธ์ สุจิตต์ วงศ์เทศ) แสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ ปี พ.ศ. 2542 เป็นละครที่ชอบในเรื่องการรักษาศิลปวัตถุโบราณ
9. เปรตวัดสุทัศน์ แสดงโดย เอกรัตน์ สารสุข วรนุช วงษ์สวรรค์ (ภิรมย์ภักดี) ปี พ.ศ. 2546 เป็นผลงานประพันธ์ในนามปากกา บุราณ
10. ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แสดงโดย สเตนฟาน สันติ วีระบุญชัย สุวนันท์ คงยิ่ง ปี พ.ศ. 2550 เป็นละครที่ทั้งเป็นบทประพันธ์และแต่งเพลงนำของเรื่อง
รางวัลต่างๆ ของไพรัช สังวริบุตร ประกอบด้วย
รางวัลเพลงพื้นบ้าน ฐานผู้ประพันธ์เพลงดีเด่น จากละครโทรทัศน์เรื่อง พิกุลทอง
พ.ศ. 2505 รางวัลตุ๊กตาทอง จากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเรื่อง แสงสูรย์ และ รับพระราชทานเข็มทองยอดเพชร จาก มูลนิธิอัฏฐราชานุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิริยาภรณ์มงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
พ.ศ. 2531 รางวัลเมขลา จากละครโทรทัศน์เรื่อง แผลเก่า
พ.ศ. 2533 รางวัลเมขลาและโทรทัศน์ทองคำ ฐานะผู้กำกับการแสดงดีเด่น ละครโทรทัศน์เรื่องคู่กรรม
พ.ศ. 2542 ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2542 พ่อตัวอย่างแห่งชาติ
พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานเข็มกาชาดสมทบชั้น 1, รางวัล ดาราทอง จาก สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย และ ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม
พ.ศ. 2544 ศิลปินดีเด่นจังหวัดปทุมธานี
พ.ศ. 2545 ได้รับพระราชทานรางวัล “เทพทอง” ในฐานะเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี และบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อวงการบันเทิง โดยสมาคมนักวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2547รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงผลภาพยนตร์และละคร สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
อนึ่ง ละครโทรทัศน์เรื่อง คู่กรรม ถือเป็นละครเรื่องสุดท้ายที่ทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดง หลังจากนั้นก็เป็นเพียงที่ปรึกษาของทีมงาน ทว่าก็จะมีละครพีเรียดที่จะลงมาดูแลด้านพรี-โปรดักชั่น (Pre-production) ร่วมกับทีมงานเฉพาะกิจ (ส่วนตัวของไพรัช) เท่านั้น เช่นเรื่องสายโลหิต รัตนโกสินทร์ ฟ้าใหม่ คือหัตถาครองพิภพ ดั่งดวงหฤทัย พันหนึ่งราตรี ทวิภพ (เวอร์ชั่นแรก) ปริศนาเวตาล อีสา-รวีโชติช่วง เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็ยังคงดูแลละครพื้นบ้านจักรวงศ์จวบจนทุกวันนี้ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้ประพันธ์เพลงและโปรดิวเซอร์เพลงประจำละครพื้นบ้านและละครสมัยใหม่ในบางเพลงอีกด้วย
80 ปี ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากมายพร้อมที่จะเอื้อเฟื้อความรู้ให้กับคนรุ่นหลังอยู่เสมอ ชีวิตของทุกวันนี้ของไพรัช สังวริบุตร ยังคงมีความสุขในอาณาจักรลาดหลุมแก้วและก็ยังคงเป็นที่ปรึกษาของลูกหลานอยู่เสมอ
“ผมก็ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ อายุ 80 ปีแล้วนะ เราก็อยากอยู่สบาย ไม่ต้องทำงานอะไร แต่หากเราไม่ทำงานบ้าง สมองเราก็จะฝ่อก็เลยคอยดูแลละครพื้นบ้าน ดูเรื่องการ์ตูนบ้าง เคเบิลทีวีจ๊ะทิงจาบ้าง และเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกๆ ในบางครั้ง”
ติดตามอ่าน “สกู๊ปพิเศษ” ได้ทุกวันศุกร์ ทางละครออนไลน์